กรรมที่มาเบียดเบียน,กรรมที่มาตัดรอน
ถามเรื่อง อุปปีฬกกรรม และ อุปฆาตกกรรม ให้ผลครับ
จากการอ่านกระทู้นี้
ขอเรียนถามว่า กรรมที่เบียดเบียน, กรรมที่ตัดรอน ผลของกรรม ๒ ประเภทนี้ มาจากชาติก่อนๆ ใช่มั้ยคะ
แล้วมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยถึงทำให้กรรม ๒ อย่างนี้ให้ผลในชาติปัจจุบันคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจ ในเรื่อง อุปปีฬกกรรม และ อุปฆาตกกรรม อย่างละเอียดก่อน ครับ
อุปปีฬกกรรม คือ กรรมที่เบียดเบียน เมื่อกุศลกรรมกำลังให้ผล อกุศลกรรม จะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้ (โอกาส) กุศลกรรมนั้นให้ผล. แม้เมื่ออกุศลกรรมนั้น กำลังให้ผลอยู่ กุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้ (โอกาส) อกุศลกรรมนั้นให้ผล เปรียบเหมือนกับ ต้นไม้ กอไม้ หรือเถาวัลย์ ที่กำลังเจริญงอกงาม ใครคนใดคนหนึ่งเอาไม้มาทุบ หรือเอาศาสตรามาตัด เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้นไม้ กอไม้ หรือเถาวัลย์นั้นจะต้องไม่เจริญงอกงามขึ้นฉันใด กุศลกรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกำลังให้ผล (แต่ถูก) อกุศลกรรมเบียดเบียน หรือว่า อกุศลกรรมกำลังให้ผล (แต่ถูก) กุศลกรรมบีบคั้นจะไม่สามารถให้ผลได้ในสองอย่างนั้น
อุปฆาตกกรรม หรือ อุปัจเฉทกกรรม เป็นกรรมตัดรอนกรรมอื่น ที่มีกำลังน้อยกว่า ห้ามวิบากของกรรมนั้นไว้แล้ว ทำโอกาสแก่วิบากของตน. ก็เมื่อกรรม ทำ (ให้) โอกาสอย่างนี้แล้ว กรรมนั้นเรียกว่าผลิตผลแล้ว. ซึ่ง ในเวลาที่กุศลกรรมให้ผล อกุศลกรรมอย่างหนึ่งจะตั้งขึ้น ตัดรอนกรรมนั้นให้ตกไปถึงในเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล กุศลกรรมอย่างหนึ่งก็จะตั้งขึ้น ตัดรอนกรรมนั้นแล้วให้ตกไป.
ในความแตกต่างของอุปปีฬกกรรม กับ อุปฆาตกกรรม คือ ถ้าเป็นอุปปีฬกกรรม ที่เป็นกรรมที่เบียดเบีบนกรรมอื่น นั้น คือ เพียงแต่ทำให้กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมที่กำลังให้ผล ลดลง แต่ไม่ได้หายไป ยกตัวอย่างเช่น กำลังทานอาหาร มีรสอร่อยอยู่ เกิดกัดลิ้น เจ็บปวดในขณะนั้นไม่นาน แต่ก็ได้ลิ้มรสอร่อยต่อไป นี่คือ อกุศลกรรมที่เป็นอุปปีฬกกรรมให้ผลเบียดเบียน แต่ กุศลกรรมก็ยังให้ผลต่อไปได้อีก อกุศลกรรมให้ผลไม่นาน แต่ถ้าเป็นอุปฆาตกกรรม ที่เป็นกรรมที่ตัดรอน ก็จะตัดรอนกุศลกรรมที่กำลังให้ผลทันที และไม่ได้โอกาสของกุศลให้ผลต่อ แต่ อกุศลกรรมให้ผลทันที เช่น แม้ขณะที่ทานอาหารเหมือนกัน กำลังลิ้มรสอร่อย แต่ทานของร้อนเข้าไป เกิดลิ้นขาดทันที เกิดทุกขเวทนาแสนสาหัส เพราะลิ้นขาด นี่เป็นอุปปีฬกกรรม ฝ่ายอกุศลกรรมที่ตัดรอนทันที ครับ
และจากคำถามที่ว่า
กรรมที่เบียดเบียน, กรรมที่ตัดรอน ผลของกรรม 2 ประเภทนี้ มาจากชาติก่อนๆ ใช่มั้ยคะ แล้วมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยถึงทำให้กรรม 2 อย่างนี้ให้ผลในชาติปัจจุบันคะ
การให้ผลของกรรม ทั้งที่เป็น กรรมที่เบียดเบียน และ กรรมที่ตัดรอนนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมาจากชาติก่อนๆ ที่ทำไว้ก็ได้ เพราะในขณะที่ทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมเป็น ชวนวิถี ๗ ขณะจิตนั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ สามารถให้ผลในชาติปัจจุบัน ชวนจิตดวงที่ ๗ ให้ผลในชาติถัดไป และ ชวนจิตดวงที่ ๒ ถึง ๖ ให้ผลในชาติถัดๆ ไป เรื่อยๆ จนกว่าจะไม่เกิดอีก ครับ
เพราะฉะนั้น กรรมใดก็ตามที่ทำ แม้แต่การทำกรรมในชาตินี้ ก็สามารถให้ผลในชาตินี้ก็ได้ หรือ อาจจะเป็นกรรมที่ทำแล้ว ในอดีตชาติ ให้ผล ในชาติปัจจุบันก็ได้ ตามแต่เหตุปัจจัย
ซึ่งผู้ถาม ถามว่า เป็นเพราะอะไร ถึงให้ผลในชาติปัจจุบัน ที่เป็นกรรมที่เบียดเบียน หรือ ตัดรอนให้ผล โดยมาก ก็เพราะ กรรมที่ทำนั้นเป็นกรรมหนัก มีการทำอนันตริยกรรม เป็นต้น เช่น ฆ่าบิดา ก็ทำให้ กรรมที่ทำนั้น ให้ผลในชาติปัจจุบัน คือ ตัดรอน (กุศลกรรมให้ผล) ก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรู ฆ่าพระราชบิดา เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า คือ สามัญญผลสูตร ควรที่จะบรรลุธรรม เป็นพระโสดาบัน เมื่อฟังพระธรรมจบ แต่ อกุศลกรรมที่มีกำลังในชาติปัจจุบัน คือ ทำปิตุฆาต ตัดรอน ไม่ให้กุศลกรรมให้ผล เป็นต้น
ส่วนกรรมที่ตัดรอนในฝ่ายกุศล หรือ อกุศล ก็เป็นไปได้ ทั้งกรรมที่ไม่หนักด้วย แม้ในชาตินี้ แต่เพราะเหตุปัจจัยพร้อม ก็ทำให้อกุศลกรรม ตัดรอน หรือ กุศลกรรม ตัดรอน หรือเบียดเบียนก็ได้ ครับ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกในชาติปัจจุบันด้วย เช่น กาล (กาลเวลาที่เกิด) คติ (ภพภูมิที่เกิด) อุปธิ (รูปร่างหน้าตา) และปโยคะ (ความเพียรในการทำกุศล หรืออกุศล) ที่เป็นเหตุในปัจจุบันด้วย ที่จะส่งเสริมให้เกิดกรรม คือ กรรมที่ตัดรอนและกรรมที่เบียดเบียนในปัจจุบันด้วย ครับ
จะเห็นนะครับว่า เรื่องกรรม เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง และอาศัยเหตุปัจจัย ซึ่งหากจะรู้โดยรายละเอียดลึกซึ้ง ก็ต้องเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า ครับ ซึ่งเราทั้งหลายก็สามารถเข้าใจเหตุผลพอสังเขปได้ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
ที่สำคัญ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงเรื่องกรรมประเภทต่างๆ ชนิดต่างๆ ประโยชน์ คือ เพื่อให้เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล และ ทุกอย่างมีเหตุปัจจัย ควรที่จะประกอบความดี กุศลกรรม ละเว้นความชั่ว
ซึ่ง การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เกิด เจริญขึ้น ย่อมเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล และเป็นผู้ประพฤติทางกาย วาจาและใจในทางกุศลกรรมมากขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่ติดตัวไปได้ นอกจากกุศลกรรม อกุศลกรรมที่ทำกันมา ครับ
ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านคำบรรยาย ท่านอาจารย์สุจินต์ ครับ
อุปปีฬกกรรม – อุปฆาตกกรรม
ถาม ในตัวอย่างที่อาจารย์บอกเมื่อกี้ ขณะที่กำลังทานอาหารอร่อย แล้วเคี้ยวถูกพริกเผ็ดๆ ขณะนั้นอาจารย์บอกว่าเป็นอุปปีฬกกรรม อาจจะเป็นอุปฆาตกกรรม เพราะว่ากระทำโอกาสของกรรมอื่นให้หมด และทำโอกาสของตนให้เกิดขึ้น คือขณะนั้นทำให้ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ซึ่งถ้าเป็นผลของกรรมของตัวเองก็ต้องเป็นอุปฆาตกกรรม
สุ. ถ้าลิ้นขาดไปละก็เป็นอุปฆาตกกรรมแน่ๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็เป็นเพียงอุปปีฬกกรรม ชั่วนิดชั่วหน่อยได้ไหมคะ
ถาม อุปฆาตกกรรมต้องรุนแรง ใช่ไหมครับ
สุ. ค่ะ ตัดรอนทีเดียว
ทรงเกียรติ เรื่องของทางลิ้น ขณะกำลังรับประทานปลาจาระเม็ดอร่อย แล้วเผลออย่างไรก้างติดคอ ต้องนำส่งโรงพยาบาล ถามว่าเป็นอุปปีฬกกรรม หรืออุปฆาตกกรรม
สุ. ใครตอบละคะ สภาพธรรมก็เป็นแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรแล้วแต่ท่านผู้ฟังจะวินิจฉัยด้วย ไม่ใช่ดิฉันเป็นผู้ตอบผู้เดียวได้ ทุกคนต้องวินิจฉัย เพราะเหตุว่าอุปปีฬกกรรม เป็นเพียงกรรมที่เบียดเบียน ไม่ถึงกับตัดรอน ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์
ขณะใดที่ความทุกข์กำลังเกิดเป็นเวลานาน แต่ความสุขก็เกิด ทำให้ความทุกข์นั้นลดน้อยลงไป ขณะนั้นกุศลกรรมเป็นอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนความทุกข์ซึ่งควรจะยาวนานต่อไป ให้สั้นลง แต่ว่าถ้าเป็นอุปฆาตกกรรมแล้ว กำจัดกรรมที่มีกำลังอ่อนอย่างอื่น ขัดขวางวิบากของกรรมนั้นเลย แล้วก็ทำโอกาสแก่วิบากของตน
อย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรู ควรจะได้เป็นพระอริยบุคคล เมื่อได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่อกุศลกรรมที่ได้กระทำ คือ ปิตุฆาต ตัดรอนมรรคผล ไม่ให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นอุปฆาตกกรรม
บางคน ท่านผู้ฟังอาจจะได้ทราบข่าวต่างประเทศ ที่มีคนหนึ่งตาบอดอยู่นานมากทีเดียว วันหนึ่งก็เกิดมองเห็นอันนี้ก็เป็น อุปฆาตกกรรมฝ่ายกุศล ซึ่งตัดรอนทางฝ่ายอกุศล
เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาดูเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง ก็ไม่พ้นไปจาก หลังจากที่ชนกกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ยังมีกรรมอื่นเป็นอุปถัมภกกรรม คือ อุปถัมภ์กรรมที่กำลังเป็นอยู่ให้เป็นอยู่ต่อไปนานๆ หรืออุปปีฬกกรรม คือเบียดเบียนกรรมที่กำลังให้ผลอยู่ ให้ผลน้อยลง สั้นลง อุปมาเหมือนกับ ตัดหรือทำลาย ต้นไม้ พุ่มไม้ เถาวัลย์ที่กำลังเจริญ ทำให้ต้นไม้ กอไม้ เถาวัลย์นั้นไม่อาจเจริญขึ้น นั่นคือกิจของอุปปีฬกกรรม และสำหรับอุปฆาตกกรรมก็มีทั้งที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง
ในชีวิตของแต่ละคน ก็อาจจะพิจารณาชีวิตของท่านเองได้ว่า ขณะใดเป็นกรรมใด เพราะว่าบางท่านก็คงจะมีอุปฆาตกกรรม
เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ
แต่สำหรับ อุปปีฬกกรรม เมื่อท่านกำลังสุขสบายอยู่ และมีความทุกข์เกิดคั่นแทรก ทำให้ความสุขสบายนั้นลดน้อยลง หรือว่าสั้นลง ขณะนั้น ก็เป็นเพราะอกุศลกรรมหนึ่ง เป็นอุปปีฬกกรรม ย่อมบีบคั้นหรือเบียดเบียนความสุขในขณะนั้นให้สั้นลง
เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่าคะ เคยรับประทานอาหารอร่อยๆ อาจจะเกือบทุกมื้อเลย หรือมื้อหนึ่งก็ได้ซึ่งรับประทานอาหารอร่อยมาก เป็นกุศลวิบากหรือเปล่าคะ เป็นผลของกุศลกรรมหรือเปล่าในขณะนั้น เป็น แต่เพียงคำเดียวซึ่งเคี้ยวพริกเผ็ดๆ สี่ห้าเม็ดไป ขณะนั้นกรรมอะไรคะ ตัดรอนความสุขหรือกุศลวิบากในขณะนั้นที่กำลังเกิดให้สั้นหรือว่าน้อยลง แต่คงจะไม่มีใครคิดว่า การที่เคี้ยวพริกเผ็ดๆ ไปสักคำ จะเป็นอุปปีฬกกรรม เพราะว่าในขณะนั้นกำลังมีความอร่อยมาก และการที่อกุศลวิบากจะเกิดขึ้นก็เป็นชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ สั้นเหลือเกิน แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ทำไมเกิดได้ ถ้าไม่มีอกุศลกรรม เบียดเบียนความสุข
เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ
ปวัตติกาล - อุปถัมภกกรรม - อุปปีฬกกรรม
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สำคัญที่ความเข้าใจ ว่าไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นกรรม หรือ ผลของกรรม ก็เป็นธรรม ชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจาก ๒ อย่างนี้เลย คือ อย่างหนึ่ง เป็นส่วนที่เป็นเหตุ คือ การสะสมเหตุที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่สูญหายไปไหน แต่ก็เป็นคนละส่วนกันไม่ปะปนกัน นี้คือ กล่าวถึงเฉพาะในชาตินี้ แต่ในชาติที่ผ่านๆ มา ก็กระทำกรรมมาไม่น้อยเลย ทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม โดยที่ไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด และอีกส่วนหนึ่ง เป็นการได้รับผลของกรรมที่เป็นวิบาก ไม่พ้นไปจากขณะที่ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่เกิดขึ้นเป็นไป เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย โดยที่ไม่มีใครทำให้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
การรู้เรื่องกรรมและผลของกรรม ย่อมทำให้รู้ความจริงว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้าย หรือ เรื่องดีก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้อื่นเป็นผู้กระทำให้ แต่แท้ที่จริงแล้ว เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้กระทำเหตุไว้แล้ว เหตุ ก็คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม อาจจะเป็นเหตุในชาตินี้ หรือเป็นเหตุในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา ก็ได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะล่วงรู้ได้เลย
ความเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจอย่างนี้ ย่อมจะทำให้ เป็นผู้มีความมั่นคงในเรื่อง กรรมและผลของกรรม อันจะเป็นเหตุทำให้กุศล (ความดี) ประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวันได้ กล่าวได้ว่า เป็นการสะสมเหตุใหม่ที่ดี หลีกเลี่ยงจากเหตุ ที่จะทำให้จิตใจเดือดร้อนในภายหลัง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...