ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๕๙

 
khampan.a
วันที่  7 ต.ค. 2555
หมายเลข  21853
อ่าน  1,839

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๙]

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราสามารถจะแก้เพียงตัวเราคนเดียวได้ แต่ว่าเราไม่สามารถจะแก้คนอื่นได้ นอกจากแนะนำเขาเท่าที่เขาจะฟัง แต่ว่าเราจะไปแก้ให้ทุกคนดีอย่างที่เราปรารถนาต้องการ เป็นไปไม่ได้

ความพอใจมีหลายทาง ทางตาก็ชอบสิ่งที่สวยๆ ทางหูก็ชอบเสียงเพราะๆ ทางจมูกก็ชอบกลิ่นหอมๆ ทางลิ้นก็ชอบรสอร่อยๆ ทางกายก็ชอบสัมผัสสิ่งที่สบาย ผู้ที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล เหลืออีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์

ทุกคนยังมีกิเลสมากๆ ยังเป็นสภาพของปุถุชนอยู่ จนกว่าจะศึกษาพระธรรมและเข้าใจ และเห็นโทษของอกุศลยิ่งขึ้น

บุญ คือ จิตที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะนั่นเอง ขณะใดที่จิตใจมีเมตตา ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นเป็นบุญแล้ว ขณะที่สละวัตถุให้บุคคลอื่น เห็นว่าในโลกนี้มีทั้งผู้ที่มีมากมายล้นเหลือและก็มีทั้งผู้ที่ขาดแคลนยากไร้ กำลังลำบากมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าขณะใด ประสบพบผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน และมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตที่ปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่ แล้วก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ

เวลาใดที่โกรธใครก็ตาม ขณะนั้นไม่เป็นบุญ เวลาที่ให้อภัยและเข้าใจเขาว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะโกรธ การโกรธนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลยทั้งเขาทั้งเรา เวลาที่เราโกรธ ก็ไม่ได้ทำให้คนที่เขาถูกเราโกรธ ดีขึ้น และใจของเราในขณะนั้นก็รุ่มร้อน ขณะนั้นไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเมตตาและไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นบุญ

ถ้าขณะใดเห็นสิ่งใด แม้จะฝุ่นสักเล็กน้อยตามซอกเก้าอี้ เครื่องเรือนเครื่องใช้แล้ว ก็เกิดความไม่พอใจขึ้น นั่นก็คือลักษณะของอกุศลประเภทหนึ่ง คือ โทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะ เป็นมูล)

ธรรม ไพเราะ เพราะว่าเป็นสัจจธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัยแม้ในขณะนี้ อย่างเรื่องการเห็นก็เป็นสิ่งที่มีจริง และก็เป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้นคำที่ไพเราะ คือ คำจริง ถ้าเป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ แม้เมื่อฟังดูเหมือนจะไพเราะ แต่ว่าเมื่อไม่จริงแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่คำที่มีความไพเราะ

อกุศล ที่มี รู้ความจริงไม่ได้ แต่กุศล ทีละเล็กทีละน้อย แต่ละหนึ่งก็จะสามารถสละความยึดมั่นและความเห็นแก่ตัวและกิเลสอื่นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา แม้ฟังก็เข้าใจ ก็มีความมั่นคง ว่าธรรมมีจริงในขณะนี้เป็นสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้

ขณะนี้มีธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ จิต และ มีสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ เจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ที่มีการยึดถือสภาพธรรม ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงอย่างนั้น

ถ้าจะเข้าใจธรรม ไม่ใช่เข้าใจในขณะอื่น แต่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้อื่นให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

มีชีวิตอยู่ด้วยอกุศลมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยากที่จะดับอกุศลได้

จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่มีหยุดยั้ง จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัย ให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น (จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์)

ธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ อย่าเพียงแต่จำคำ

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นเรื่องของความเข้าใจที่จะต้องสะสมต่อไป

พระธรรมทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษา เป็นคำนำ ที่จะนำมาสู่ความเข้า

ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง คือ รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๕๘ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๘

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรมด้วย ครับ

- พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เธอไม่ควรยินดีและยินร้ายเลย ในเมื่อผู้อื่นว่าเรา นี่แสดง ให้เห็นถึงพระพุทธองค์ไม่ทรงสนับสนุน สรรเสริญแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้อง จัดการทำอะไร สะสมความเข้าใจถูกก็จะเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญเข้าใจจิต ของเราเองว่าเป็นอย่างไร

- แต่ละคน ก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ เรื่องของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของคนอื่น เราควรที่จะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา และกุศลประการต่างๆ ต่อไป

- การจะเริ่มศึกษาพระอภิธรรมเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล อย่างที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอะไรได้จริงๆ และเป็นสิ่งที่ยากมากๆ ต้องเริ่มที่ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่าธรรมะคืออะไร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และบังคับบัญชาไม่ได้อย่างไร แล้วค่อยๆ สะสมความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้นๆ ตามกำลังของปัญญา

- การศึกษาธรรมนั้น ไม่ควรตั้งต้นด้วยความต้องการบรรลุธรรม อันจะนำไปสู่ความคิด และการกระทำต่างๆ ที่คิดว่าจะช่วยให้ได้รับในสิ่งที่อยากได้นั้น แต่ผู้ศึกษาควรมีความตั้งใจที่จะศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระธรรม ด้วยความศรัทธาในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยความนอบน้อมและเคารพในธรรม เมื่อเหตุสมควรแก่ผล นั่นคือ ความเข้าใจที่สะสมมามากเพียงพอเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะบรรลุธรรมได้ โดยปราศจากความต้องการใดๆ การไปปฏิบัติธรรมใดๆ ที่ไหนก็ตาม ถ้าไปแล้วจะ "ได้" นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็เพื่อละ และไม่ใช่จะละง่ายๆ เพราะในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา ก็สะสมกิเลสมาหนาแน่น ต้องค่อยๆ ฟังเพื่อละความไม่รู้ ไปช้าๆ ทีละเรื่อง ไม่ต้องรีบ ถ้ารีบเร่งรัด ก็อาจจะเป็นโลภะ เป็นตัวตนให้ยืดสังสารวัฏฏ์ออกไปเสียเปล่าๆ ถ้ามัวไปทำอะไรโดยไม่ศึกษาให้เข้าใจ ก็อาจตายก่อนจะเข้าใจธรรมะจริงๆ ก็ได้

- สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะรักหรือไม่รัก แต่สำคัญที่ว่าเมื่อได้เกิดมาในชาตินี้แล้ว และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อความเห็นถูก เข้าใจถูก ในสภาพธรรมะที่มีอยู่จริงในทุกขณะนี้ จึงจะเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

- ปุถุชนคนเราย่อมต้องขวนขวายสะสมทรัพย์ เพื่อการยังตนให้เป็นผู้ปราศจากความหิวในอาหารและน้ำ และต้องรู้จักการใช้จ่ายในการอันควร มีการให้ทานเป็นต้น การสะสมทรัพย์อันควรจึงต้องรีบทำเมื่อยังเยาว์ การจักได้มาซึ่งทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) ยิ่งต้องเร่งขวนขวาย กระทำการสะสมกุศลกรรมในทุกๆ ทาง ผู้สะสมมาดี ย่อมเป็นผู้มีโอกาสได้สะสมเพิ่มอีกในปัจจุบันชาติ ตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อย และย่อมจะเป็นผู้ได้ใช้สอย (รับผล) ผลของการสะสมนั้นในอนาคตกาลทั้งใกล้และไกล

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 7 ต.ค. 2555

การจะเริ่มศึกษาพระอภิธรรมเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล

อย่างที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอะไรได้จริงๆ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น, อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผิน
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 8 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ อย่าเพียงแต่จำคำ

พระธรรมทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษา เป็นคำนำ ที่จะนำมาสู่ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง คือ รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้.

- การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็เพื่อละ และไม่ใช่จะละง่ายๆ เพราะในแสนโกฏิกัปที่ผ่านมา ก็สะสมกิเลสมาหนาแน่น ต้องค่อยๆ ฟังเพื่อละความไม่รู้ ไปช้าๆ ทีละเรื่อง ไม่ต้องรีบ ถ้ารีบเร่งรัด ก็อาจจะเป็นโลภะ เป็นตัวตนให้ยืดสังสารวัฏฏ์ออกไปเสียเปล่าๆ ถ้ามัวไปทำอะไรโดยไม่ศึกษาให้เข้าใจ ก็อาจตายก่อนจะเข้าใจธรรมะจริงๆ ก็ได้

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ. คำปั่น, อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เจียมจิต
วันที่ 12 ม.ค. 2561

ธรรม ไพเราะเพราะว่าเป็นสัจจธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัยแม้ในขณะนี้ อย่างเรื่องการเห็นก็เป็นสิ่งที่มีจริง และก็เป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้นคำที่ไพเราะ คือ คำจริง ถ้าเป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ แม้เมื่อฟังดูเหมือนจะไพเราะ แต่ว่าเมื่อไม่จริงแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่คำที่มีความไพเราะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงและกราบอนุโมทนา. ในกุศล ผู้ที่เกื้อกูลปันธรรม.ให้ได้ศึกษาพิจารณาเพื่อความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
มกร
วันที่ 22 ต.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ