อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และ นันทิราคะ [นันทโกวาทสูตร]
กราบสวัสดีอาจารย์และท่านผู้รู้ และสหายธรรมทุกท่านครับ
อยากขออนุญาตเรียนถามเกี่ยวกับข้อความบางตอนจากนันทโกวาทสูตรครับ ขออนุญาตคัดลอกข้อความส่วน ที่สงสัยมาดังนี้ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านตรงนี้
ขอเรียนถามว่าเหตุใดท่านจึงแสดงนันทิราคะว่า เปรียบเหมือนเนื้อล่ำที่เป็นเครื่องผูก ระหว่างอายตนะภายนอก (หนัง) กับอายตนะภายใน (เนื้อข้างใน) และท่านหมายถึงโลภะทุกประเภทรึเปล่าครับ หรือเฉพาะโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดเท่านั้น
และตอนท้ายที่ท่านแสดงว่าปัญญาเหมือนมีดที่ใช้ตัดกิเลสและสัญโญชน์ แสดงว่า สิ่งที่ผูกระหว่างอายตนะภายในและภายนอกไม่ได้มีแค่โลภะ แต่รวมถึงกิเลสทุกอย่างด้วยหรือไม่ครับ
และปัญญาในที่นี้ หมายถึง โลกุตตรปัญญาใช่มั้ยครับ
อีกข้อหนึ่ง ตอนที่ท่านพระนันทกะแสดงธรรมเรื่องนี้ครั้งแรกแก่พระภิกษุณี แล้วพระพุทธเจ้ากล่าวว่า เหล่าพระภิกษุณีชื่นชมธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความดำริบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์ในวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ หมายความว่าพระภิกษุณีท่านฟังเข้าใจแต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต่อมาเมื่อท่านพระนันทกะแสดงธรรมเป็นครั้งที่สอง พระภิกษุณีชื่นชมธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะ ทั้งๆ ที่มีความดำริบริบูรณ์แล้ว เหมือนพระจันทร์ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ คือฟังแล้วได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่นนี้ หรือไม่ครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอเรียนถามว่า เหตุใดท่านจึงแสดงนันทิราคะว่า เปรียบเหมือนเนื้อล่ำที่เป็นเครื่องผูกระหว่างอายตนะภายนอก (หนัง) กับอายตนะภายใน (เนื้อข้างใน) และท่านหมายถึง โลภะทุกประเภทรึเปล่าครับ หรือเฉพาะโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดเท่านั้น
นันทิราคะในที่นี้ หมายถึง โลภะทุกชนิด ทุกประเภท เพราะ โลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ซึ่งก็จะต้องติดข้อง ในอายตนะภายใน หรือ อายตนะภายนอก ไม่พ้นไปจากนี้เลย ครับ
ดังนั้น โลภะทุกประเภท ทำหน้าที่ติดข้อง จึงเป็นเครื่องผูกระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ครับ
ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่านันทิราคะ หมายถึง โลภะทุกประเภท ครับ
[๑๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด อันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยนันทิราคะ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.
และตอนท้ายที่ท่านแสดงว่า ปัญญาเหมือนมีดที่ใช้ตัด กิเลส และสัญโญชน์ แสดงว่า สิ่งที่ผูกระหว่างอายตนะภายในและภายนอกไม่ได้มีแค่โลภะ แต่รวมถึงกิเลสทุกอย่างด้วยหรือไม่ครับ
ข้อความในอรรถกถาอธิบายไว้ครับว่า
เครื่องผูกก็คือ สังโยชน์ที่เป็นกิเลสประการต่างๆ ด้วย ครับ ไม่ใช่หมายถึง โลภะเท่านั้น
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 475
คำว่า วิลิมํสมหารุ พนฺธนํ ได้แก่ เนื้อที่พอกที่ติดที่หนังทั้งหมดนั่นเอง. ท่านกล่าวหมายเอากิเลสในระหว่างทุกอย่างนั้นแหละว่า มีเครื่องผูกคือกิเลสสังโยชน์ในระหว่างดังนี้.
และปัญญาในที่นี้หมายถึงโลกุตรปัญญาใช่มั้ยครับ
- ปัญญาในระดับโพชฌงค์ ที่เป็นปัญญาระดับโลกุตตร และ คุณธรรมประการอื่นๆ ด้วยที่ช่วยปัญญา สนับสนุนปัญญาในการดับกิเลส อันเป็นโพชฌงค์ ๗ ครับ จึงจะดับกิเลสได้ ครับ
อีกข้อหนึ่ง ตอนที่ท่านพระนันทกะแสดงธรรมเรื่องนี้ครั้งแรกแก่พระภิกษุณี แล้วพระพุทธเจ้ากล่าวว่า เหล่าพระภิกษุณีชื่นชมธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความดำริบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์ในวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ หมายความว่าพระภิกษุณีท่านฟังเข้าใจแต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต่อมาเมื่อท่านพระนันทกะแสดงธรรมเป็นครั้งที่สอง พระภิกษุณีชื่นชมธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะ ทั้งๆ ที่มีความดำริบริบูรณ์แล้ว เหมือนพระจันทร์ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ คือฟังแล้วได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่นนี้หรือไม่ครับ
ใช่ครับ ครั้งแรกท่านพระนันทกะแสดงธรรมกับพระภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายมีความดำริที่จะบรรลุธรรมที่จะได้ฟังธรรม แต่ครั้งแรกยังไม่ได้บรรลุตามความคิดที่คิดไว้ก็ชื่อว่า ความดำริยังไม่บริบูรณ์ คือ ยังไม่ได้บรรลุธรรมตามที่คิดไว้ แต่ก็ยังชื่นชมการกล่าวธรรมของท่านพระนันทกะ แต่เมื่อฟังครั้งที่สอง ด้วยความดำริของภิกษุณีที่จะได้บรรลุธรรม ก็ได้บรรลุธรรมตามความดำริ ตามที่คิดไว้ จึงชื่อว่ามีความดำริบริบูรณ์แล้ว ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เข้าใจขึ้นมากครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และสิ่งที่ทรงแสดงนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ พระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านได้ตรัสรู้ความจริง ก็กล่าวธรรมตรงตามความเป็นจริงที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
เพราะความจริงเป็นความจริงโดยตลอด สำหรับความเกิดขึ้นแห่งโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ ก็เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังละโลภะไม่ได้ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ติดข้องในรูป บ้าง เสียง บ้าง กลิ่น บ้าง โผฏฐัพพะ บ้าง กระสับกระส่ายเพราะความติดข้อง ซึ่งเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเป็นไปนั้นก็หลากหลายมาก แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
และตราบใดที่ยังละกิเลสไม่ได้ ก็ยังถูกผูกไว้ ถูกคล้องไว้ในวัฏฏะ ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะไปได้ แม้ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็ไม่ปล่อยให้เป็นกุศลแล้ว
การที่จะมีปัญญาเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ล้วนต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา แม้แต่ภิกษุณีที่เป็นบริวารของพระมหาปชาบดีโคตมเถรี ทั้ง ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นผู้ที่ได้สะสมปัญญามาแล้ว เป็นเหตุให้ได้ฟังความจริง และได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ว่า กว่าที่จะปัญญาจะเจริญสมบูรณ์พร้อมได้จริงๆ ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นั่นเอง ครับ
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ. ผเดิม, คุณหมอ daris และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ...