สุญญตสมาธิ , อนิมิตตสมาธิ , อัปปณิหิตสมาธิ คืออะไรครับ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการ
ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ
สุญญตสมาธิ ๑
อนิมิตตสมาธิ ๑
อัปปณิหิตสมาธิ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพื่อกำหนดรู้ราคะฯลฯ
เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป
เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ
เพื่อความสละ เพื่อความสละคืนราคะ
จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไปรอบ
เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป
เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสละ
เพื่อความสละคืน โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา
มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ ทมะ ปมาทะ
จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ ฉะนี้แล ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากพระสูตรนี้ แสดงถึง การเจริญธรรม ๓ ประการที่จะทำให้ละกิเลส มีราคะ เป็นต้น ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่สามารถละกิเลส มีราคะได้จริงๆ จะต้องเป็น การเจริญวิปัสสนา ซึ่งธรรม ๓ ประการ คือ
สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑
สุญญตสมาธิ หมายถึง สมาธิ หรือ เอกัคคตาเจตสิก ที่เป็นความตั้งมั่น ที่เกิดกับปัญญา ขั้นวิปัสสนา หรือ ขั้นมรรคจิต ที่เห็นโดยความไม่ใช่ สัตว์ บุคคล คือ สุญญตะที่ว่างเปล่า จากความเป็น สัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นสมาธิ ที่เกิดพร้อมกับปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณหรือมรรคจิต ที่เห็นตามความเป็นจริงว่าไม่มี สัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม จึงเป็น สุญญตสมาธิ ที่สามารถละราคะได้จริงๆ ครับ
และอีกนัยหนึ่ง มรรคจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับสมาธิ เป็นสุญญตะ ว่างเปล่าจากราคะ ในขณะนั้น
อนิมิตตสมาธิ อนิมิตตะ หมายถึง สภาพธรรม ที่ไม่มีนิมิต คือ ไม่มีนิมิตที่เที่ยง เพราะฉะนั้น จึงเป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่เห็นว่าไม่เที่ยงเพราะอนิมิต เว้นจากนิมิตว่าเที่ยงนั่นเองครับ จึงเป็นปัญญาที่เกิดกับวิปัสสนาญาณและมรรคจิตที่มีสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย อันมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงในขณะนั้น ทำให้เว้นจากนิมิตว่าเที่ยงในขณะนั้น ครับ
อัปปณิหิตสมาธิ ปัญญา ขั้นวิปัสสนาญาณและมรรคจิตที่เกิดพร้อมกับสมาธิ อันเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ หาที่ตั้งไม่ได้ ชื่อว่า อัปปณิหิตสมาธิ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา