การอนุโมทนาสำคัญหรือไม่ อย่างไร

 
natural
วันที่  1 พ.ย. 2555
หมายเลข  21994
อ่าน  2,267

ขออนุญาตถามเกี่ยวกับการอนุโมทนา

๑. การอนุโมทนาด้วยวาจากับทางใจ (คิดในใจ ไม่ได้กล่าวออกไป) ต่างกันหรือไม่

๒. นอกจากคำว่าอนุโมทนา สาธุ ซึ่งเป็นคำที่ไม่เข้าใจความหมายและไม่ค่อยคุ้นเคย ใช้คำอื่นเช่น ดีแล้ว เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร

๓. การอนุโมทนาสำคัญหรือไม่ อย่างไร

๔. การอนุโมทนาด้วยการกล่าวตามผู้อื่นด้วยจิตที่ขณะนั้นไม่ได้รู้สึกยินดีหรือไม่ยินดีในกุศลนั้น ควรฝืนความเคยชินเพื่อกล่าวตามหรือไม่

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาที่ช่วยให้เข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกโดยตลอด ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง แม้แต่ ในเรื่องของ "อนุโมทนา" ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ในขณะนั้น ซึ่งก็จะต้องเข้าใจว่า อนุโมทนา คือ อะไร?

อนุโมทนา ไม่ใช่เพียงการกล่าวคำ ว่า "ขออนุโมทนา" แต่ต้องเป็นสภาพจิตใจที่ดีงาม ในขณะนั้น อ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ที่พลอยชื่นชมยินดี ในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ จะกล่าวหรือไม่กล่าว คำว่าอนุโมทนา ก็ได้ เพราะสำคัญที่จิตว่า ในขณะนั้น ชื่นชมยินดี ในกุศลของผู้อื่นหรือไม่

ถ้าอนุโมทนา กุศลจิตเกิด เป็นการสะสมเหตุที่ดี แต่ถ้าไม่อนุโมทนาขณะนั้น กุศลจิตก็ไม่เกิดเป็นธรรมที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเป็นบุคคลที่สะสมเหตุที่ดีมาเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม เมื่อเห็นคนอื่นหรือได้ทราบว่าคนอื่นได้กระทำในสิ่งที่ดี ก็ชื่นชมอนุโมทนา แม้ตนเองจะไม่ได้กระทำ แต่ก็เกิดกุศลจิตได้ ในขณะที่พลอยชื่นชมยินดีในกุศลของผู้อื่น

- นอกจากจะใช้คำว่า อนุโมทนา แล้ว คำอื่นๆ ก็มีความหมายเหมือนกันกับคำว่าอนุโมทนา เช่น สาธุ, โมทนา, ขออนุโมทนา หรือ จะกล่าวเป็นคำไทยก็ได้ว่า ดีแล้วๆ ก็ได้ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน แสดงถึงความเป็นผู้ชื่นชมยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ ไม่ได้จำกัดตายตัวว่า จะต้องใช้คำใด สำคัญอยู่ที่สภาพจิตเป็นสำคัญ

- ขณะที่ อนุโมทนา เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นไป ในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่สมควรทั้งนั้น มีค่าอย่างยิ่ง เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของการเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม และประการที่สำคัญ การอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำนั้น เป็นความประพฤติของคนดีทั้งหลาย เป็นการสะสมกุศล ในชีวิตประจำวันแสดงถึงความเป็นผู้ ชื่นชม นิยม ในความดี

ขณะที่กุศลเกิดขึ้น จึงเป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรม

- ไม่ได้สำคัญที่คำพูด แต่สำคัญที่สภาพจิต ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่รู้สึกชื่นชมยินดี ในกุศลของผู้อื่น ขณะนั้น ก็ไม่ใช่กุศล แม้จะกล่าวคำว่า ขออนุโมทนาก็ตาม ก็เป็นเพียงการกล่าวคำโดยไม่ใช่สภาพจิตที่ดีงามเลย ในขณะนั้น จึงสำคัญที่สภาพจิต เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าไม่รู้จักความดี ก็จะไม่ ชื่นชมในความดี แต่เพราะรู้จักความดี จึงชื่นชมในความดี ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

โมทนา และ อนุโมทนา

อนุโมทนา และ โมทนา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ย. 2555

การอนุโมทนา คือ การยินดีในกุศลของผู้อื่นที่ทำ เช่น เห็นใครไหว้พระ ใส่บาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา หรือฟังธรรม แสดงธรรม เราก็ชื่นชมยินดี ในกุศลที่คนอื่นทำ การอนุโมทนา ก็เป็นบุญหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. การอนุโมทนาด้วยวาจากับทางใจ (คิดในใจ ไม่ได้กล่าวออกไป) ต่างกันหรือไม่

- การอนุโมทนา คือกุศลจิตที่เกิดขึ้นยินดีในกุศลที่ผู้อื่นกระทำ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะต้องเป็นกุศลจิต ซึ่งจากคำถามที่ว่า การอนุโมทนาด้วยวาจากับการอนุโมทนาโดยเพียงการคิดในใจต่างกันอย่างไร

ประเด็นแรก คือ เหมือนกัน ที่เป็นกุศลจิตทั้งคู่ ครับ เพราะเมื่อพิจารณาธรรมแล้ว การเปล่งวาจาจะมีได้ ก็เพราะอาศัยจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ครับว่าจะเปล่งวาจาด้วยจิตที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่เมื่อเปล่งวาจาด้วยจิตที่อนุโมทนาที่เป็นกุศลจิต ก็มีกุศลจิตเป็นเหตุ เช่นเดียวกัน

แม้แต่การเกิดกุศลจิตอนุโมทนา แต่ไม่ได้พูดออกมา คิดในใจ ก็มีกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นพื้นฐานเช่นเดียวกัน จึงเหมือนกันโดยนัยที่มีกุศลจิตเป็นพื้นฐาน ทั้งที่เปล่งวาจาและไม่ได้เปล่งวาจา เพียงคิดในใจ

ประเด็นที่สอง ต่างกันอย่างไร ระหว่างเปล่งวาจาอนุโมทนาด้วยกุศลจิต และคิดในใจที่ไม่ได้พูด แต่อนุโมทนาในกุศลจิตของผู้อื่น

ในฝ่ายอกุศล เช่น ขณะที่โกรธ ก็มีทั้งโกรธในใจ ขุ่นใจ ไม่พูด กับ ขณะที่โกรธ ขุ่นใจ และก็พูดออกมาด้วย ต่างกันอย่างไร

ต่างกันที่กำลังของกิเลส เพราะ บางคนโกรธแต่ก็เก็บไว้ แต่บางคนโกรธจนกิเลสมีกำลัง ทนไม่ได้ ก็พูดออกมาด้วยกำลังของความโกรธ นั่นแสดงถึงกิเลสที่มีกำลังแล้ว ถึงขนาดพูด มีการด่า ว่า เป็นต้น ทางวาจา อันมีความโกรธ เป็นปัจจัย

ย้อนกลับไป ที่ในทางฝ่ายกุศล ในเรื่องการอนุโมทนา บางครั้งก็เป็นเพียงการอนุโมทนาในใจ ไม่ได้กล่าวออกไป ก็เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นในจิตใจแต่ไม่ได้เปล่งวาจา แต่บางครั้งก็เกิดมีการเปล่งวาจาออกไปด้วยกุศลจิตเป็นเหตุ ด้วยคำว่าอนุโมทนา เป็นต้น แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นเพราะกุศลที่มีกำลัง จึงมีการแสดงออกมาทางวาจา ไม่ใช่เพียงคิดไว้ในใจเท่านั้น ครับ การชื่นชมความดีที่มีการเปล่งวาจาด้วยกุศลจิต กับ การชื่นชมความดีด้วยกุศลจิตแต่ไม่ได้พูดอะไร จึงแตกต่างกันตรงกำลังของกุศล ครับ เมื่อกำลังของกุศลมีมากย่อมพูดเปล่งออกมาทางวาจาในการอนุโมทนา ไม่ใช่เพียงคิดในใจเท่านั้นครับ เหมือนกุศล เช่น การคิดจะช่วย ก็เป็นกุศล แต่เมื่อคิดแล้ว ช่วย มีการกระทำทางกาย วาจา ที่ช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็เป็นกุศลที่มีกำลังกว่าเพียงคิดในใจ แต่ไม่ได้ช่วย ซึ่งทั้งสองก็เป็นกุศลทั้งสอง แต่ต่างที่กำลังของกุศล ครับ


๒. นอกจากคำว่าอนุโมทนา สาธุ ซึ่งเป็นคำที่ไม่เข้าใจความหมายและไม่ค่อยคุ้นเคย ใช้คำอื่นเช่น ดีแล้ว เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร

- บัญญัติ เรื่องราวแตกต่างกันได้ เป็นธรรม เพราะ แล้วแต่ว่าจะใช้คำไหน แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างกันเลย และแสดงถึงเครื่องวัด คือกุศลจิตเป็นสำคัญ ที่เป็นการชื่นชมความดีของผู้อื่น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะใช้คำอะไร แต่หากสภาพจิตเป็นกุศลที่เป็นการชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่น ก็เป็นกุศลขั้นอนุโมทนามัยแล้ว ครับ เช่น ชาวต่างประเทศ อาจจะใช้คำอื่นแทนคำว่า สาธุ อนุโมทนา ที่เป็นศัพท์ภาษาต่างประเทศ แต่ก็เป็นกุศลจิตเช่นกัน ดังนั้น ชื่อต่างกันได้ บัญญัติต่างกันได้ เพราะ ไม่ใช่สัจจะ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ค่านิยม บัญญัติ แต่สัจจะแล้วไม่เปลี่ยน กุศลไม่เปลี่ยนลักษณะ

ภาษาไทยก็มีการใช้คำหลากหลาย แต่ก็ต้องพิจารณาที่สภาพจิต ดังนั้นจะเป็นกุศลอนุโมทนามัย ก็ดูที่สภาพของจิต ไม่ใช่ ภาษาหรือคำที่ใช้ แม้ใช้คำว่า อนุโมทนา พูดเหมือนกัน จิตต่างกันก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ หรือแม้ไม่ใช้คำว่า อนุโมทนา ใช้คำว่า ยอดเยี่ยม ด้วยจิตที่เป็นกุศล อนุโมทนาในความดีของผู้นั้น ก็เป็นอนุโมทนามัยแล้ว หรือใช้คำว่า ดีแล้ว ด้วยกุศลจิต ชื่นชมความดี สิ่งต่างกัน คือพยัญชนะ เรื่องราว แต่สภาพจิตไม่ต่างกัน คือเป็นกุศลจิต ก็เป็นบุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ


๓. การอนุโมทนาสำคัญหรือไม่ อย่างไร

- กุศลเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ และละคลายกิเลส การอนุโมทนา ก็เป็นกุศล ก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรเจริญ ควรมีให้มาก ถ้าไม่มีการอนุโมทนาบุญ ก็เท่ากับว่าไม่ได้ชื่นชมคุณความดี เมื่อเป็นผู้ที่ไม่ชื่นชมคุณความดี ใจก็ไหลไปในการชื่นชมความชั่วได้ง่าย

ดังนั้น การอนุโมทนาบุญ จึงมีความสำคัญที่จะเป็นไป เพื่อการขัดเกลากิเลส ทำจิตใจให้อ่อนโยน ให้เป็นผู้ที่ชื่นชมในคุณความดี ตนเองก็จะเป็นผู้ที่กระทำดีมากขึ้น เพราะเป็นผู้ชื่นชมความดีของผู้อื่น ครับ จึงมีความสำคัญมากทีเดียวสำหรับการอนุโมทนาบุญ


๔. การอนุโมทนาด้วยการกล่าวตามผู้อื่น ด้วยจิตที่ขณะนั้น ไม่ได้รู้สึกยินดีหรือไม่ยินดีในกุศลนั้น ควรฝืนความเคยชินเพื่อกล่าวตามหรือไม่

- สภาพธรรมทั้งหลาย บังคับบัญชาไม่ได้เลย ครับ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดกุศลจิตได้ เกิดอกุศลจิตก็ได้ แม้แต่การกล่าวว่าอนุโมทนา บางครั้งก็กล่าวด้วยกุศลจิต บางครั้งก็กล่าวด้วยอกุศลจิตก็ได้ หรือกล่าวด้วยกุศลจิตที่มีกำลังอ่อนก็ได้ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย จึงไม่มีตัวตนที่จะพยายาม จะบังคับ จะฝืน เพราะเมื่อถึงเวลาก็จะเกิดการพูด หรือไม่พูด หรือพูดอนุโมทนา ด้วยจิตอะไรก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ครับ

ที่สำคัญ ก็อบรมเหตุคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น สะสมมากขึ้น ปัญญานั้นเองจะทำหน้าที่ เห็นถูก ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดควรชื่นชม สิ่งใดไม่ควรชื่นชม ปัญญาที่เจริญมากขึ้น ก็จะทำหน้าที่ชื่นชมคุณความดี และก็กล่าวด้วยกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นคำใดก็ได้ครับ เพราะปัญญาเป็นหัวหน้าของกุศลธรรม ที่จะทำให้กุศลประการต่างๆ เจริญขึ้น ดังนั้นไม่ต้องไปฝืน ไปบังคับอะไรทั้งสิ้น สำคัญที่อบรมเหตุคือการฟังพระธรรม ที่เป็นเหตุให้มีความเจริญขึ้นของปัญญาเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น, คุณ Wannee.s และอาจารย์ผเดิมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 6 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 7 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ