เจตนาฆ่า
กราบสวัสดีท่านวิทยากร และมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
คือเคยอ่านและเข้าใจว่า การฆ่าจะด้วยเจตนาอย่างไรก็ตาม ถ้ามีเจตนา คือ ยังชีวิตสัตว์นั้นให้สิ้นไป ก็คือองค์ของปาณาติบาตแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีในก่อนหน้านี้ อย่างเช่น ผู้ที่เห็นผิดคิดว่าการบูชายัญแล้วจะทำให้ผู้ตายไปสู่สวรรค์ หรือการฆ่าด้วยเหตุผลอื่นๆ อันมีที่ตั้งมาจากมิจฉาทิฏฐิ แม้จะมีเจตนาดีในช่วงต้นก็ตาม ถือเป็นปาณาติบาตทั้งสิ้น (เรียนถามเพิ่มเติม เจตนาดีในส่วนนี้ คือเจตนา ปรารถนาให้เป็นสุข ขณะที่มีเจตนาอย่างนั้น ไม่ทราบเจตนาตัวนี้ถือเป็นกุศลหรืออกุศลครับ เพราะหลังจากนั้น ก็เป็นความเห็นผิดแล้ว เจตนาดีเกิดร่วมกับอกุศลจิตได้บ้างหรือไม่ครับ)
แต่ได้ไปอ่านข้อความจากที่หนึ่ง ท่านกล่าวว่า อย่างการถอดหน้ากากช่วยหายใจของผู้ป่วยออกด้วยเจตนาให้ผู้นั้นไม่ทุกข์ คือปรารถนาให้ผู้นั้นเป็นสุข ไม่ชื่อว่าปาณาติบาต เพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่า
ข้อนี้จะพิจารณาโดยแยบคายอย่างไร เพราะถ้าพิจารณาตามแค่พยัญชนะ ก็อาจเห็นตามจริงอย่างนั้นว่าก็ไม่ได้มีเจตนาฆ่า เพราะก็ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้ป่วยตายอยู่ก่อนแล้ว แต่เพราะทนเห็นผู้ป่วยทรมานไม่ได้ ก็มีเจตนาให้ผู้ป่วยเป็นสุข ก็ดูเหมือนตรงดูเหมือนไม่มีเจตนาฆ่าแล้วก็อาจถูกเปรียบเทียบ กับการให้ชีวิตเป็นทานของพระโพธิสัตว์ ว่าไม่มีเจตนาฆ่าตัวตายเหมือนกัน เพราะมีเจตนาช่วยให้ผู้อื่นเป็นสุข เท่านั้น
อีกประการหนึ่ง อยากทราบว่า เจตนามีกี่ประเภท เหมือนเคยได้ยินว่ามี ๓ ประเภท แล้วเจตนาตัวไหนชื่อเป็นกรรมครับ
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งการพิจารณาธรรม จะต้องพิจารณาทีละขณะจิตซึ่งจิตที่เป็นกุศลจิต ก็เกิดดับสลับกับอกุศลจิตอย่างรวดเร็ว
แม้แต่ตัวอย่างที่ผู้ถามยกมานั้น ในการฆ่าบูชายัญ เพราะปรารถนาให้ผู้ที่ถูกฆ่ามีความสุข ได้ไปสวรรค์นั้น ก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิตเป็นสำคัญ ครับ ขณะใดที่ปรารถนาดี อยากให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นกุศลจิตในขณะนั้น แต่เพราะอาศัยความเห็นผิดเป็นปัจจัย ขณะที่เห็นผิดสําคัญว่าการฆ่าผู้อื่นจะทำให้ผู้นั้นไปสวรรค์ ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดที่เกิดกับอกุศลจิต ขณะนั้นมีเจตนา แต่เป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ไม่ดีในขณะนั้น ครับ ส่วนขณะที่มีเจตนาที่จะฆ่าเพื่อบูชายัญ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เจตนาฆ่ามีแล้ว และเมื่อกรรมสำเร็จ คือผู้นั้นตายเพราะการฆ่าบูชายัญ กรรมสำเร็จเป็นปาณาติบาต เพราะฉะนั้นขณะที่หวังดี ก็เป็นจิตขณะหนึ่ง ขณะที่เห็นผิดก็เป็นจิตขณะหนึ่ง และขณะที่มีเจตนาฆ่า ก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่งที่มีเจตนาฆ่า จึงไม่สามารถที่จะเอามาปนกันได้ครับ
และ จากคำถามที่ว่า เจตนาที่ดี เกิดร่วมกับอกุศลจิตได้บ้างไหม
คำตอบ คือ ไม่ได้ ครับ เจตนาที่ดี คือเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต จะไม่ไปเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิต เพียงแต่ว่า เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตประเภทใด ชาติใด ก็เป็นเจตนาเจตสิกประเภทนั้น ชาตินั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศล มีความหวังดี เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นเจตนาเจตสิกที่เป็นชาติกุศล เป็นเจตนาที่ดี ส่วนเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ไม่ดี อกุศลจิต มีขณะที่เห็นผิดหรือคิดจะฆ่า เจตนานั้นก็เป็นชาติอกุศล ซึ่งเจตนาที่ไม่ดีจะเกิดกับจิตที่ดีไม่ได้ครับ
จากคำถามที่ว่า
แต่ได้ไปอ่านข้อความจากที่หนึ่ง ท่านกล่าวว่า อย่างการถอดหน้ากากช่วยหายใจของผู้ป่วยออก ด้วยเจตนาให้ผู้นั้นไม่ทุกข์ คือปรารถนาให้ผู้นั้นเป็นสุข ไม่ชื่อว่าปาณาติบาต เพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่า
การถอดหน้ากากออกซิเจน ด้วยเจตนาที่จะให้เขามีความสุข คือให้พ้นจากการทรมาน คือ ให้จากไปนั่นเอง ก็คือมีเจตนาฆ่าแล้ว เจตนาให้จากไป ไม่อยากให้ผู้นั้นทรมาน ก็เป็นเจตนาฆ่า เป็นปาณาติบาตได้ ครับ ขณะที่หวังดี อยากให้พ้นทุกข์เป็นจิตขณะหนึ่ง แต่ขณะที่อยากให้จากไป แล้วก็ถอดออกซิเจนก็เป็นเจตนาฆ่าในขณะนั้น ครับ จึงต้องแยกกันในจิตแต่ละขณะ ปนกันไม่ได้ ครับ เหมือนดังเช่น สัตว์ มีม้า เป็นต้น ทรมานเพราะโรคหรือบาดเจ็บหนัก ทรมานอยู่ มีเจตนาสงสาร อยากให้สัตว์พ้นทุกข์ก็ด้วยจิตขณะหนึ่ง แต่ขณะที่มีเจตนาฆ่า คือต้องการให้สัตว์ตายเพื่อจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เป็นเจตนาที่ไม่ดีเป็นอกุศล ครับ ดังนั้นต้องแยกพิจารณาทีละขณะจิตเป็นสำคัญ ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
ควรถอดสายออกซิเจนให้บุพการีจากไปหรือไม่คะ
จากคำถามที่ว่า
อีกประการหนึ่ง อยากทราบว่า เจตนามีกี่ประเภท เหมือนเคยได้ยินว่ามี ๓ ประเภท แล้ว เจตนาตัวไหนชื่อเป็นกรรมครับ
เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ซึ่งเจตนาสามารถแบ่งได้หลายนัย ครับ แบ่งเป็น ๓ คือ
ปุพพเจตนา (เจตนาก่อนให้)
มุญจนเจตนา (เจตนาขณะให้)
อปรเจตนา (เจตนาหลังให้)
ซึ่งเป็นเจตนาที่เป็นไปในทางกุศลขั้นทาน ก็จัดว่าเป็นกรรมทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ ดังนั้นเจตนาที่ชื่อว่าเป็นกรรม โดยมากหมายถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่กรรมจะให้ผลหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ อีก ครับ
ส่วนเจตนา ยังแบ่งเป็น ๒ นัย คือ
นานักขณิกกัมมปัจจัย คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็น กุศล อกุศล ซึ่งสามารถให้ผลได้ในขณะต่อๆ ไป
สหชาตกัมมปัจจัย คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตชาติวิบาก เป็นต้น ที่ไม่สามารถให้ผลเป็นกรรมซึ่งไม่สามารถให้ผลได้ ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่มีใครที่จะอยากถูกฆ่า แต่ละคนก็รักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครฆ่าก็เป็นอกุศลกรรมบถ เป็นการสะสมกรรมที่ไม่ดีให้กับตนเองทั้งนั้น
ประเด็นที่คุณนิรมิต ได้ถามนั้น มีปรากฏในกระดานสนทนาค่อนข้างมาก จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่มีความหวังดีก็เป็นจิตขณะหนึ่ง ขณะที่มีเจตนาที่จะให้ผู้ป่วยจากไปด้วยการถอดเครื่องช่วยหายใจก็เป็นอีกขณะหนึ่ง ซึ่งขณะที่ถอดเครื่องช่วยหายใจนั้นมีเจตนาที่จะฆ่า ถ้าผู้ป่วยจากไปก็เป็นการฆ่า เป็นปาณาติบาต ไม่พ้นไปจากความจงใจ ตั้งใจที่จะกระทำ ทั้งก่อนหน้านั้น ทั้งในขณะที่กระทำและหลังจากที่กระทำไปแล้ว อกุศลก็เกิดขึ้นอีก เป็นความเศร้าโศกเสียใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น สืบเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าวนั้น
ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด ก็คือ ตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด รักษาหน้าที่อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
รบกวนถามอีกปัญหาหนึ่งครับ
ในกรณีที่ เรามีเจตนา ปรารถนาให้ผู้ใดผู้หนึ่งตายหรือมีเจตนาอยากจะฆ่าเขาอยู่แล้ว แล้วมีเหตุใดเหตุหนึ่งให้เขาผู้นั้นมีอันจะต้องเสียชีวิต ซึ่งเราถูกขอความช่วยเหลือ และเราก็สามารถช่วยได้ ถ้าช่วย เขาก็ไม่ตาย แต่ก็เลือกไม่ช่วย ด้วยเจตนาปรารถนาให้ผู้นั้นตาย ผลคือ เขาก็ตายของเขาเอง เราไม่ได้กระทำกรรมไรๆ เลย ไม่ได้ลงมือฆ่า ไม่ได้ใช้ให้ใครฆ่า เขาก็ตายของเขาเอง เพราะเราไม่ได้เข้าไปช่วย
ในกรณีนี้ ชื่อว่าปาณาติบาตหรือไม่ อย่างไร
ขอบพระคุณครับ
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
ในองค์ของปาณาติบาตข้อหนึ่งที่ว่า มีความพยายามที่จะฆ่า เพราะฉะนั้นการไม่ช่วย ไม่ทำอะไรเลย และเขาก็ตายเพราะการไม่ช่วย แม้ปรารถนาให้เขาตาย ก็ไม่สำเร็จเป็นปาณาติบาต เพราะไม่มีความพยายามฆ่าด้วยกาย วาจาที่ไหวไปที่จะฆ่า ครับ
ดังเช่นกรณี คนตกน้ำ เราอยู่ในเหตุการณ์ เห็นคนนั้นตกน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น เราว่ายน้ำเป็น ถ้าไม่ช่วยเขาก็ตายแน่ และก็มีความอยากให้เขาตาย จึงไม่ช่วยและเขาก็จมน้ำตาย การตายของคนคนนั้น ตายเพราะการกระทำของเราหรือไม่ ไม่ เพราะ ยังไม่มีการกระทำของเราออกมาทางกาย วาจาเลย เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความพยายามที่จะฆ่า จึงไม่เป็นปาณาติบาต ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา