ควรถอดสายอ๊อกซิเจนให้บุพการีจากไปหรือไม่ค่ะ

 
SOAMUSA
วันที่  22 ก.ค. 2554
หมายเลข  18792
อ่าน  31,686

ขอถามคำถามค่ะ โดยยกตัวอย่างเรื่องที่เกิดกันในปัจจุบันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนเป็นลูกทุกคนดังเรื่องต่อไปนี้

ถ้าสมมติ ... แม่เป็นมะเร็ง ต้องเจาะสายยางหยอดอาหารเหลว ต้องให้หมอฉีดมอร์ฟีนระงับปวดมากขึ้นทุกวัน เพราะเป็นลึกถึงฐานสมอง ในที่สุด ต้องนอนห้องไอซียู ต่อออกซิเจนเลี้ยงชีวิตอยู่ ทนทรมานมาสัปดาห์หนึ่งแล้ว หายใจขัดเป็นระยะๆ สีหน้าแสดงความเจ็บปวด น้ำตาไหลอยู่เรื่อยๆ พูดจาตอบสนองอะไรไม่ได้ พูดอะไรด้วยก็ได้แต่ปากสั่น เหมือนจะพูดแต่พูดไม่ออกมา ได้แต่น้ำตาไหลตอบทุกครั้ง ในที่สุด หมอแนะนำว่า ทำอะไรไม่ได้ ช่วยได้แค่นี้ ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ ก็จะอยู่ไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่รู้ถึงเมื่อไร อาจเป็นเดือน เป็นปี ลูกๆ เห็นแม่ทรมานเหลือเกิน ได้สอบถามดู แม่ก็พูดตอบไม่ได้ ได้แต่ส่ายหน้าจนกระทั่ง ลูกคนหนึ่งถามขึ้นว่า จะให้ถอดสายออกซิเจนไหม แม่กลับพยักหน้า ในที่สุด ลูกๆ ตัดสินใจด้วยเสียงเอกฉันท์ ขอให้หมอถอดสายออกซิเจนออก หมอตกลง ที่แท้ได้บอกใบ้ให้แล้ว แต่ด้วยจรรยาบรรณไม่อาจบอกตรงๆ ได้

การที่ลูกเห็นแม่ทรมานอย่างนั้น จึงตัดใจขอให้ถอดสายออกซิเจนออก เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คะ หรือว่าจะเป็นบาปถึงขั้นที่เป็น อนันตริยกรรม หรือไม่?

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

บาปไม่บาป หรือจะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ ดังนั้นหากมีเจตนาให้ผู้เป็นแม่จากไปอย่างสบาย ก็คือพูดง่ายๆ คือให้สิ้นชีวิตนั่นเองจะได้ไม่ทุกข์ทรมาน โดยให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่า แม้จะมีความหวังดี ดังนั้นขณะที่มีความหวังดี เป็นจิตขณะหนึ่ง แต่ขณะที่เจตนาให้ผู้เป็นแม่จากไป คือเจตนาให้สิ้นชีวิต โดยการให้ถอดเครื่องหายใจ ก็เป็นอีกขณะหนึ่งครับ ดังนั้นเมื่อมีเจตนาฆ่าและผู้เป็นมารดา บิดา ตาย เพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจ กรรมนั้นเป็นอนันตริยกรรมครับ

ดังนั้นจึงสำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ และแม้ผู้เป็นลูกได้ถามถึงความประสงค์ถึงคนไข้ว่าต้องการให้ถอดเครื่องช่วยหายใจไหม แม้คนไข้จะบอกว่าให้ถอด ก็ต้องดูเจตนาของผู้เป็นลูกว่า มีเจตนาให้แม่จากไป มีเจตนาฆ่า เมื่อบอกกับคุณหมอหรือไม่ด้วยครับ ดังนั้น เรื่องของจิตที่เกิดดับรวดเร็วละเอียดมากครับ และโดยทั่วไปแล้ว การที่อยากให้ผู้เป็นบิดา มารดา ไม่ทรมาน จากไปอย่างสบาย โดยมากแล้วก็มีเจตนาที่จะให้เขาจากไป คือสิ้นชีวิตนั่นเองครับ ดังเช่น เมื่อสัตว์เลี้ยงทรมาน หรือ ม้าบาดเจ็บมาก เมื่อสงสารม้า สัตว์เลี้ยง ก็ฆ่ามันเพื่อจะได้สบาย แม้การถอดเครื่องช่วยหายใจ รู้อยู่ว่าการถอดจะทำให้ผู้นั้นต้องตายและก็มีความประสงค์เจตนาให้เขาจากไปก็เป็นเจตนาฆ่า เมื่อกรรมสำเร็จคือ มารดาหรือบิดาสิ้นชีวิตเพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจ ก็เป็นอนันตริยกรรมครับ ดังนั้นความสงสารจิตขณะหนึ่ง เจตนาให้จากไป ก็จิตขณะหนึ่งครับ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ

บางครั้งเรามองเหตุการณ์สั้นๆ เห็นว่าเขาทรมาน แต่ในภพภูมิต่างๆ นั้น มีภพภูมิที่น่ากลัวและทรมานมากกว่านี้หลายร้อยหลายแสนเท่าครับ ดังนั้นความทรมานในโลกมนุษย์ เทียบไม่ได้กับอบายภูมิ มี นรก เป็นต้นเลยครับ ดังเช่น ในพระไตรปิฎก มีคนๆ หนึ่งอยากให้คนนั้นมีชีวิตอยู่แม้รู้ว่าเขาทรมานตอนนี้ เพราะเขารู้ว่าคนนั้นจะต้องไปนรก ซึ่งมีความทรมานมากกว่าปัจจุบันหาประมาณมิได้นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรมคืออะไร

ผู้ป่วยหนักที่รักษาไม่ได้

แพทย์ตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจคนป่วยเป็นปาณาติบาตหรือไม่ครับ

เกี่ยวกับเรื่องกายรุณยฆาต (Euthanacia)

การทำการุณยฆาต

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขออนุญาตนำความคิดเห็นที่มีประโยชน์จากสหายธรรมท่านหนึ่งในเรื่องนี้ครับ

โดย คุณ Pinyapachaya

คุณแม่ดิฉันก็จากไป เพราะสภาพเกินที่จะเยียวยาเช่นกัน แพทย์ได้ตัดสินใจว่าจะถอดเครื่องช่วยหายใจออก เพราะญาติผู้ใกล้ชิดท่านอื่นหลายท่านก็เห็นสมควรด้วย เพราะไม่อยากให้คนไข้ทรมาน พวกเขารอจังหวะที่ดิฉันหลับไปตอนตี 2 กว่า จึงบอกกับแพทย์ให้จัดการได้ ตื่นมาตอน 7 โมงเช้าดิฉันก็พบกับความพลัดพราก ใจหนึ่งก็พยายามหักห้ามใจไม่โกรธญาติ เพราะเห็นเจตนาส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการให้คนป่วยทรมาน แต่ก็รู้สึกว่าความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะผู้มีพระคุณนั้นเป็นเรื่องทรมานไม่แพ้กัน และสิ่งที่ควรคำนึงเป็นอย่างยิ่ง คือคนป่วยในภาวะที่พูดไม่ได้ เขายินดีที่จะให้หยุดการช่วยชีวิตหรือไม่ เราเองก็ไม่สามารถทราบได้ แต่ดิฉันเชื่อว่าไม่มีใครอยากตาย ดิฉันจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะหยุดการประคองชีวิตคนไข้ นี่พูดกันในแบบทางโลก ยิ่งทางหลักของพระธรรม การที่พยายามช่วยเหลือจนสุดความสามารถแม้จุดจบจะไม่สำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ก็ยังดีกว่ากระทำอกุศลกรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผลของกรรมอาจจะไม่เล็กๆ น้อยๆ อย่างที่คิด แล้วการทำให้คนไข้พ้นจากความทรมานบนโลกใบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าโลกหน้าเขาจะไม่ทรมานต่อ ก่อนสิ้นใจท่านอาจจะไม่ยอมตาย ไม่ต่างจากความรู้สึกถูกฆ่า ซึ่งอาจเป็นอารมณ์เศร้าหมองและยังหวงแหนภพนี้ นั่นก็อาจจะพาท่านไปในโลกแห่งทุคติง่ายขึ้น ที่ไม่มีใครบนโลกนี้ตามไปช่วยเหลืออะไรได้ ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพื่อเล่าประสบการณ์ที่ปวดร้าวอย่างหนึ่งในการที่ตัดสินใจแทนคนป่วยหนัก ยังไงก็ต้องขออภัยที่เล่าในเชิงความคิดเห็นน่ะค่ะ เผื่อจะเป็นประโยชน์ค่ะ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
SOAMUSA
วันที่ 22 ก.ค. 2554

กราบอนุโมทนาในธรรมทานค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

เข้าใจได้ชัดเจน และจะเผยแพร่เพื่อความเข้าใจถูกของผู้อื่นด้วยต่อไปค่ะ ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่มาก ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่บาปค่ะ

อีกทั้งเรื่องของคุณ Pinyapachaya ทำให้ได้เข้าใจได้ในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย ต้องกราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ที่ให้ความเข้าใจ เพราะอนันตริยกรรมเป็นเรื่องบาปที่หนักมาก ถ้าทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บาปกรรมใหญ่หลวงแสนสาหัสนักค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องที่ระวังยากจริงๆ และเป็นอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย อกุศลเกิดขึ้นมากกว่ากุศล แต่ละคนที่เกิดมา ล้วนต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจะปลอดภัยไม่นำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลังอันเนื่องมาจากการกระทำกรรมหนักอย่างใหญ่หลวงนั้น ก็จะต้องกระทำหน้าที่ของบุตรธิดาให้ดีที่สุด รักษาให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พระคุณที่ท่านมีต่อลูกนั้นมีมากมาย ควรดูแลตอบแทนท่านให้ถึงที่สุดเหมือนอย่างที่ท่านเลี้ยงเรามา ลูกจะเจ็บป่วยอย่างไร ท่านก็จะทำทุกวิถีทางรักษาทุกทางเพื่อให้ลูกหายป่วยและมีชีวิตรอดต่อไป ควรอย่างยิ่งที่จะคิดถึงตรงนี้ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
homenumber5
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนา ทุกความเห็นค่ะ

ดิฉันคิดว่า ตามหลักกรรมแล้ว เราต้องไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตใดๆ แม้ว่าเขาจะทุกข์ทรมานเพียงใดเพราะนั่นเป็นกฎแห่งกรรมที่เขาต้องมารับกรรม เวลาก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดลมหายใจนั้นสำคัญที่สุด ท่านควรจะได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยให้บ่อยๆ เนืองๆ ด้วยการมีทุกขเวทนาน้อยที่สุดด้วยการรับยาระงับปวดต่างๆ บรรดามี ค่ะ

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 22 ก.ค. 2554

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่อีกมากค่ะ ว่าถอดเครื่องช่วยหายใจกับคนป่วยที่ทรมานหรือกับเจ้าชายนิทรา เขาจะได้หลับสบาย แต่แท้ที่จริงแล้วแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง สิ่งที่เราทำได้คือทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ตราบเท่าที่ท่านยังอยู่ค่ะ

แต่ทั้งหมดก็เป็นธรรมะ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความไม่รู้ทำให้เข้าใจผิด เห็นผิด แล้วก็สร้างกรรมต่อ เพราะฉะนั้นชีวิตที่ยังเหลืออยู่ จึงควรศึกษาธรรมะ เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูก และไม่ประมาทต่ออกุศลแม้เพียงเล็กน้อยค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สัมภเวสี
วันที่ 23 ก.ค. 2554

ขออนุญาตชี้แจงในฐานะที่เป็นแพทย์ครับ

จากเรื่องที่ท่านผู้ตั้งกระทู้ตั้งมา จะมีศัพท์ทางการแพทย์ที่ต้องทำความเข้าใจนะครับ อาจสับสนได้ คือคำว่า Non Resuscitate (NR) เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการแพทย์ครับ หมายถึง จะไม่มีการกู้ชีพหลังจากที่สัญญาณชีพ (vital signs) ของผู้ป่วยเป็นแบบ extremely unstable ครับ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มี severe illness เช่น terminal stage cancer โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากทายาท หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และจะต้องมีการลงนามในใบยินยอมด้วยครับ หากญาติไม่ยินยอมที่จะ NR แพทย์จะต้องทำการกู้ชีพหรือศัพท์ที่ใช้กันคือ cardiopulmonary resuscitation (CPR) ผู้ป่วยทันทีตามหลักการแพทย์สากลครับ

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ หากสัญญาณชีพยังมีอยู่ จะไปหยุดการให้ (off) ออกซิเจนจาก ventilator ทั้งๆ ที่สัญญาณชีพคนไข้ยังมีอยู่ จากประสบการณ์ของผมแล้ว ไม่เคยเจอนะครับ แต่ถ้ากรณีคนไข้สมองตาย (brain death) และญาติมีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะ คงต้องมาดูหลักเกณฑ์จริยธรรมอีกทีครับ หากแพทย์ไม่ได้รับความยินยอมจากญาติ แพทย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ทำการกู้ชีพนะครับ ตรงจุดนี้ตามกฎหมายแล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของญาติครับว่าจะ NR หรือไม่ครับ และขอร่วมสนทนาธรรมสักเล็กน้อยครับ เนื่องจากเห็นข้อความในอรรถกถาสมันตปาสาทิกาขยายความพระวินัยปิฎก คัมภีร์มหาวิภังค์ ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๒ หน้าที่ 422 ดังนี้ครับ

"จริงอยู่ ถ้าแม้นพระราชาเสด็จขึ้นสู่พระที่บรรทมอันทรงสิริ เสวยสุขในราชสมบัติอยู่ เมื่อราชบุรุษกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ! โจรถูกนำมาแล้ว ตรัสทั้งที่ทรงรื่นเริงแลว่า จงไปฆ่ามันเสียเถิด พระราชานั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ตรัสด้วยพระหฤทัยอิงโทมนัสนั่นแล แต่พระหฤทัยที่อิงโทมนัสนั้น อันปุถุชนทั้งหลายรู้ได้ยาก เพราะเจือด้วยความสุขและเพราะไม่ติดต่อกัน (ในวิถีแห่งโทมนัส) ด้วยประการฉะนั้นแล"

ซึ่งข้อความนี้น่าจะอธิบายให้เห็นภาพถึงความรวดเร็วในการเกิดขึ้นและดับไปของจิตได้อย่างดีทีเดียวเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

เรียนคุณ สัมภเวสี

เป็นประโยชน์มากครับ ทำให้เข้าใจระบบในการทำงานกันของแพทย์และการรักษาครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
toh4u
วันที่ 23 ก.ค. 2554

แต่ผมก็มีข้อสงสัยในเรื่องของ สุดกำลังการรักษา ด้วยค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณ ที่มีข้อจำกัด ไม่รู้จะมาเทียบเคียงได้ไหมหากทราบว่ามีตัวยาหรือวิธีการรักษา ที่พอใจช่วยให้มีชีวิตต่อหรือยื้อชีวิตได้ แต่ทางญาติหรือโรงพยาบาลเอง ก็สุดปัญญาที่จะหาเงินมาบำบัดรักษา ไม่ได้หมายถึงปล่อยให้ตาย อย่างที่ไม่ได้ทำไรเลย ก็ให้ยา เท่าที่มี เท่านั้น แต่ก็รู้ว่ามียาตัวอื่นอยู่แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ญาติไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเงินซื้อยาพิเศษนั้นได้ ก็เลยจำใจใช้ยาเฉพาะที่มีอยู่ อาการของคนป่วยก็ทรุดลงเรื่อยๆ ญาติก็ยังคงอยู่ด้วยแต่ในใจก็ทราบดีว่า ถ้ามียาพิเศษตัวนั้นก็อาจจะช่วยชีพได้ แต่แล้วคนป่วยก็จากไป ...

--กลับมาเรื่องออกซิเจน ขณะจิตตอนนั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า ใช่หรือไม่ เปรียบเช่น เงินไม่พอที่จะให้ยา หรือให้ออกซิเจนต่อได้ หรือก็ทราบอยู่ว่า ถ้าคงระดับการรักษาไว้ในระดับนี้ อาการคนป่วยก็คงทรงอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ขณะจิตที่บอกหมอให้ถอดสายได้ก็ไม่ได้มีเจตนาให้คนป่วยจากไป แต่ก็มีเจตนากระทำแบบนั้น ที่ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้คนป่วยหายใจไม่ได้ หรืออาจจะกลับมาหายใจด้วยตัวเองเพียงชั่วขณะหนึ่ง และวินาทีที่คนป่วยจากไป ก็เป็นช่วงเวลาที่ คนป่วยพยายามจะหายใจ ยังชีพตัวเอง โดยมิได้ใช้เครื่องช่วย เพียงขณะหนึ่งใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ จะกล่าวได้หรือไม่ว่า คนป่วยก็จากไปเอง หาได้จากไปด้วย การเจตนาฆ่าของใคร ถ้าคนป่วยยังไม่ถึงเวลาที่จะจากไปได้ อาจจะยังชีพตัวเองได้ไปอีก สิบนาที ยี่สิบนาที ... แม้หมอหรือญาติพี่น้องจะ ยื้อ หรือคอยให้กำลังใจ อยู่ใกล้ๆ ยิ้มให้กับการจากไป หาได้มีเจตนาให้ผู้ป่วย ตายไปเลย แต่คนป่วยก็มิทราบว่าจะยังชีพตัวเอง โดยปราศจากเครื่องช่วยได้

--การรักษา การช่วยชีวิต แพทย์มีหน้าที่ ทำการรักษา ช่วยชีวิต จนสุดความสามารถและสุดกำลังของเครื่องมือ ... กรณี ยามีจำกัด ออกซิเจน มีจำกัด จะหมดโรงพยาบาลแล้วและยังมีคนป่วยมาเรื่อยๆ แต่คนป่วยคนนี้ได้รับการรักษาครบกระบวนเท่าที่แพทย์จะทำได้ หมดอุปกรณ์ที่แพทย์จะหามาได้ จนถึงข้อจำกัด ที่โรงพยาบาลจะหามาได้ (ค่าใช้จ่ายของญาติ) วิธีสุดท้ายคือ ให้คนป่วย คืนชีพ มาเองหรือกระบวนการบำบัดรักษาของร่ายการตัวเองนั้นก็คือ เศษเสี้ยววินาที นั้น ก็เป็นเศษเสี้ยวที่ร่างกายของคนป่วย ไม่ต้องการการพึ่งพา สิ่งใดๆ นอกจากพึ่งตัวเอง ... ญาติก็ไม่ได้มีเจตนาให้คนป่วยตาย ... ขณะจิต นั้น ก็เป็นเพียงการอนุญาตให้ถอดเครื่อง เท่านั้นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
toh4u
วันที่ 23 ก.ค. 2554

สงสัยอีกหนึ่งครับ ... กรณีที่ มีเจตนาไม่ให้อาหารสุนัข ที่ตนเลี้ยงไว้ โดยเข้าใจหรือว่าปล่อยให้มันไปหาอาหารกินเอง โดยไม่ได้มีเจตนาจะฆ่ามัน หรือให้มันตายเลย แต่สุดท้าย มันก็นอนซมหิวอาหาร จนตายไป แต่ก็ทราบโดยธรรมชาติ ว่า ถ้าไม่ให้อาหารมัน อาจจะตายหรือไม่ตายได้ ... กรณีนี้ ถือว่าเป็น ปาณาติปาต หรือเปล่า ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
toh4u
วันที่ 23 ก.ค. 2554

ในกระทู้นี้

แพทย์หยุดเครื่องช่วยหายใจ เป็นปาณาติบาตหรือไม่

คุณ สิ่งสมมติ ตอบไว้ เข้าใจ และค่อนข้างชัดเจน

ผมสรุป ว่า ถ้าถอดปุ๊บ ตายปั๊บ แพทย์รู้ ญาติรู้ อันนี้ อาจจะปาณาได้ถ้าถอด ตามความตั้งใจของคนป่วยที่จะกลับไปตายบ้าน หรือขออยู่ด้วยตัวเอง สักพัก คนถอด หรือคนบอก ก็ไม่ได้มีเจตนาฆ่า เพียงแต่ต้องการให้เขาอยู่โดยไม่ใช้เครื่อง อันนี้ อันนี้ ไม่น่าจะ ปาณาติปาต

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

แต่ผมก็มีข้อสงสัยในเรื่องของ สุดกำลังการรักษา ด้วย ค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณ ที่มีข้อจำกัด ไม่รู้จะมาเทียบเคียงได้ไหมหากทราบว่ามีตัวยาหรือวิธีการรักษา ที่พอใจช่วยให้มีชีวิตต่อหรือยื้อชีวิตได้ แต่ทางญาติหรือโรงพยาบาลเอง ก็สุดปัญญาที่จะหาเงินมาบำบัดรักษา ไม่ได้หมายถึงปล่อยให้ตาย อย่างที่ไม่ได้ทำไรเลย ก็ให้ยา เท่าที่มี เท่านั้น แต่ก็รู้ว่ามียาตัวอื่นอยู่แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ญาติไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเงินซื้อยาพิเศษนั้นได้ ก็เลยจำใจใช้ยาเฉพาะที่มีอยู่ อาการของคนป่วยก็ทรุดลงเรื่อยๆ ญาติก็ยังคงอยู่ด้วย แต่ในใจก็ทราบดีว่า ถ้ามียาพิเศษตัวนั้นก็อาจจะช่วยชีพได้ แต่แล้วคนป่วยก็จากไป

ตามที่กล่าวมาก็ไม่ได้มีเจตนาฆ่าครับ แต่เป็นเจตนาดีที่ช่วยสุดความสามารถ ตามฐานะตามความเหมาะสมนั่นเองครับ ก็ไม่ได้เป็นอนันตริยกรรม เพราะเขาตายไป ไม่ใช่เพราะเจตนาฆ่า ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

กลับมาเรื่องออกซิเจน ขณะจิตตอนนั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า ใช่หรือไม่ เปรียบเช่น เงินไม่พอที่จะให้ยา หรือให้ออกซิเจนต่อได้ หรือก็ทราบอยู่ว่า ถ้าคงระดับการรักษาไว้ในระดับนี้ อาการคนป่วยก็คงทรงอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ขณะจิตที่บอกหมอให้ถอดสายได้ ก็ไม่ได้มีเจตนาให้คนป่วยจากไป แต่ก็มีเจตนากระทำแบบนั้น ที่ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้คนป่วยหายใจไม่ได้ หรืออาจจะกลับมาหายใจด้วยตัวเองเพียงชั่วขณะหนึ่ง และวินาที ที่คนป่วยจากไป ก็เป็นช่วงเวลาที่คนป่วยพยายามจะหายใจ ยังชีพตัวเอง โดยมิได้ใช้เครื่องช่วย เพียงขณะหนึ่งใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ จะกล่าวได้หรือไม่ว่า คนป่วยก็จากไปเอง หาได้จากไปด้วยการเจตนาฆ่า ของใคร ถ้าคนป่วยยังไม่ถึงเวลาที่จะจากไปได้ อาจจะยังชีพตัวเองไปได้อีก สิบนาที ยี่สิบนาที ... แม้หมอหรือญาติพี่น้องจะ ยื้อ หรือคอยให้กำลังใจ อยู่ใกล้ๆ ยิ้มให้กับการจากไป หาได้มีเจตนาให้ผู้ป่วย ตายไปเลย แต่คนป่วยก็มิทราบว่าจะยังชีพตัวเอง โดยปราศจากเครื่องช่วยได้

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ครับ

ถ้าทราบว่าคนไข้อยู่ด้วยเครื่องหายใจ การที่ไม่อยากให้เขาทรมาน ด้วยมีเจตนาให้เขาจากไปอย่างสงบ นั่นก็คือเจตนาให้สิ้นชีวิต ก็เท่ากับเป็นเจตนาฆ่าครับ ส่วนคนไข้จะตายเลยไปอีกสักกี่นาทีก็ตาม แต่มีเจตนาฆ่าแล้วขณะที่ให้ถอด ก็ต้องเป็นเจตนาฆ่าครับ ดังเช่น เราฆ่าสัตว์ ใช้มีด แต่สัตว์นั้นยังไม่ตายทันที อีกสิบนาทีตายก็เป็นปาณาติบาตอยู่ดีครับ ดังนั้นเป็นเรื่องละเอียด จะกล่าวว่าไม่มีเจตนาไม่ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

เรียนต่อความเห็นที่ 9 ครับ

การรักษา การช่วยชีวิต แพทย์มีหน้าที่ ทำการรักษา ช่วยชีวิต จนสุดความสามารถและสุดกำลังของเครื่องมือ ... กรณี ยามีจำกัด ออกซิเจน มีจำกัด จะหมดโรงพยาบาลแล้ว และยังมีคนป่วยมาเรื่อยๆ แต่คนป่วยคนนี้ได้รับการรักษาครบกระบวนเท่าที่แพทย์จะทำได้ หมดอุปกรณ์ที่แพทย์จะหามาได้ จนถึงข้อจำกัด ที่โรงพยาบาลจะหามาได้ (ค่าใช้จ่ายของญาติ) วิธีสุดท้ายคือ ให้คนป่วย คืนชีพ มาเองหรือกระบวนการบำบัดรักษาของร่ายการตัวเองนั้นก็คือ เศษเสี้ยววินาที นั้น ก็เป็นเศษเสี้ยวที่ร่างกายของคนป่วย ไม่ต้องการการพึ่งพา สิ่งใดๆ นอกจากพึ่งตัวเอง ... ญาติก็ไม่ได้มีเจตนาให้คนป่วยตาย ... ขณะจิต นั้น ก็เป็นเพียงการอนุญาตให้ถอดเครื่อง เท่านั้นเอง

ในกรณีที่กล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ช่วยสุดความสามารถแล้วและออกซิเจนก็หมดเอง จึงถอดออกซิเจนออก นั่นคือ ออกซิเจนหมดแล้ว จึงไมได้มีเจตนาฆ่าอะไรก็เพราะออกซิเจนที่ใส่อยู่หมดแล้ว ใส่ไม่ใส่ก็มีค่าเท่ากันใช่ไหมครับจึงถอดออก ต่างกับ รู้อยู่ว่าคนไข้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยออกซิเจน และออกซิเจนก็ยังมีอยู่ การถอดก็เป็นอันทำให้คนไข้จากไป จะใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตามครับ แต่มีเจตนาให้จากไป เป็นปาณาติบาตได้ครับ เหมือนกับคนที่ฆ่าไก่เป็นอาชีพ ทำอย่างรวดเร็วแต่ละตัว แต่ละตัว ดูเหมือนไม่มีเจตนาฆ่าเลย เพราะดูไม่มีความรู้สึกอะไร เพราะทำเป็นร้อยๆ ตัวในเวลาไม่นาน แต่ขณะจิตเดียวสั้นๆ ต้องมีเจตนาฆ่าในขณะนั้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ

สงสัยอีกหนึ่งครับ ... กรณีที่ มีเจตนาไม่ให้อาหารสุนัข ที่ตนเลี้ยงไว้ โดยเข้าใจหรือว่าปล่อยให้มันไปหาอาหารกินเอง โดยไม่ได้มีเจตนาจะฆ่ามัน หรือให้มันตายเลย แต่สุดท้าย มันก็นอนซม หิวอาหาร จนตายไป แต่ก็ทราบโดยธรรมชาติ ว่า ถ้าไม่ให้อาหารมันอาจจะตายหรือไม่ตายได้ ... กรณีนี้ ถือว่าเป็น ปาณาติปาต หรือเปล่า ครับ

ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะไม่มีเจตนาฆ่า มีการกระทำทางกายและวาจาให้สัตว์ตายครับ ดังนั้นสัตว์ตายเพราะไม่ใช่เจตนาฆ่าของเรา จึงไม่เป็นปาณาติบาต แต่ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเลี้ยงสุนัขในกรณีนี้ ไม่ว่าเรื่องจะสมมติและที่เป็นจริงก็มีอยู่ในเรื่องนี้ การที่เราเลี้ยงสัตว์ สุนัขแล้ว ก็ควรทำสิ่งที่ดีกับเขา เหมือนกับที่เราเลี้ยงเขามา โดยการให้อาหารบ้าง ไม่ใช่เพียงตอนแรกดูน่ารัก เราก็เอ็นดูเขา แต่พอโตขึ้น เราก็ไม่อยากเลี้ยง ปล่อย ละเลยแม้แต่การให้อาหารครับ เขาก็มีชีวิตเหมือนเรา เขาก็ต้องการอาหารเหมือนเรา

ดังนั้น หากเลี้ยงเขาก็ควรให้อาหารเขาบ้าง แม้กรรมจะไม่เป็นปาณาติบาตแต่จิตที่ไม่คิดจะให้ ทอดทิ้งขณะนั้นก็เป็นอกุศล และไม่ใช่จารีตศีล ศีลหรือ ข้อที่ควรประพฤติทำสิ่งที่ดีในชีวิตประจำวันเลยครับ ดังนั้นควรทำเท่าที่ทำได้ ในเมื่อเลี้ยงเขาครับ ปัญหาสุนัขจรจัด ส่วนหนึ่งก็เกิดจากกรณีนี้ครับ อันทำให้เป็นปัญหาในสังคมเมืองปัจจุบัน เพราะเจ้าของทอดทิ้ง เป็นต้น ดังนั้นไม่ควรประมาทในอกุศลเล็กน้อย และไม่ควรประมาทในกุศลเล็กน้อยเช่นกัน การช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ลองคิดว่าเป็นเราโดนทำอย่างนั้นบ้าง แม้หากเราไม่ถูกฆ่าเราก็คงลำบากใช่ไหมครับ เอาใจเขาใส่ใจเราก็จะช่วยผู้อื่นได้เป็นอย่างดีครับ สังคมก็จะน่าอยู่เพราะทุกคนมีน้ำใจกันนะครับ พูดมายาวก็เพราะกระผมก็เห็นปัญหานี้เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ คงไม่ต้องถึงกับปาณาติบาตหรอกครับ แม้ไม่เป็นปาณาติบาตเขาก็ลำบากแล้ว

ดังนั้น สัตว์ก็มีกรรมเป็นของๆ ตน แต่เราทำหน้าที่ของเราและสุดความสามารถหรือยังครับ สัตว์ก็มีชีวิตและหิวเหมือนกัน และสัตว์เหล่านั้นก็เคยเป็นญาติและบิดา มารดาในอดีตชาติมาแน่นอน เพราะสังสารวัฏฏ์ยาวนานมากครับ ควรมีเมตตากันนะครับ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสมมติหรือจริงสำหรับผู้ถามอย่างไร แต่กระผมมีเจตนาดี เผื่อเป็นประโชน์กับผู้อื่นที่อ่านและทุกๆ ท่านที่ได้อ่าน นะครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 11 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

ผมสรุป ว่า ถ้าถอดปุ๊บ ตายปั๊บ แพทย์รู้ ญาติรู้ อันนี้ อาจจะปาณาได้ถ้าถอด ตามความตั้งใจของคนป่วยที่จะกลับไปตายบ้าน หรือขออยู่ด้วยตัวเอง สักพัก คนถอด หรือคนบอก ก็ไม่ได้มีเจตนาฆ่า เพียงแต่ต้องการให้เขาอยู่โดยไม่ใช้เครื่อง อันนี้ อันนี้ ไม่น่าจะ ปาณาติปาต

ถ้าตัวแพทย์เองและญาติต่างก็รู้ว่าคนไข้สามารถอยู่ได้เพราะเครื่องช่วยหายใจ ถ้าถอดก็ต้องตาย และก็มีเจตนาถอดเพื่อให้เขาจากไปจะได้ไม่ต้องทรมาน อันนี้ปาณาติบาตครับ มีเจตนาฆ่า แม้อีกซัก 10 นาทีเขาจะตาย ไม่ตายทันทีก็เป็นปาณาติบาตครับ ดังตัวอย่างเรื่องการฆ่าสัตว์ด้วยมีด มีเจตนาฆ่า แต่สัตว์ยังไม่ตายทันทีแต่อีก 10 นาที ตาย ก็ตายเพราะการฆ่านั้นนั่นและ ครับ

แต่ถ้าคนไข้คนนี้ แพทย์และญาติก็รู้ว่าถ้าถอดเขายังไม่ตาย ยังหายใจเองได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องหายใจแล้ว เมื่อถอด ไม่ได้มีเจตนาฆ่าครับ ก็ไม่เป็นปาณาติบาตครับ เพราะรู้อยู่ว่าคนไข้เริ่มหายใจเองได้นั่นเองครับ จึงถอดออกครับ แต่ในความเป็นจริงที่สั่งให้ถอดเครื่องหายใจเพราะรู้ว่าคนไข้ทรมานและไม่ไหวแล้วใช่ไหมครับ จึงให้ถอด เพราะอยู่ไปก็ทรมานนั่นเองครับ จึงเป็นเจตนาฆ่า ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ผิน
วันที่ 23 ก.ค. 2554

ดิฉันเห็นด้วยกับ คุณผเดิม และ อ.คำปั่น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
toh4u
วันที่ 23 ก.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ ขออีกสักนิดครับ ล่าสุดอาจจะเขียนไม่ชัดเจน แล้วกรณีที่คนป่วย ทราบดีว่าต้องตายด้วยโรคร้ายนั้นและปลงสังขารตัวเองแล้ว พอที่จะสื่อสารกับญาติหรือแพทย์ได้แล้วว่า ไม่เอาแล้วสังขาร นี้ ปล่อยให้เป็นไปตามสังขารนี่เถอะ อย่าได้ยื้อด้วยเครื่องช่วยอีกเลย แล้วแพทย์ ก็ขอความเห็นจากญาติ และญาติก็ทำตามเจตนาของผู้ป่วยนั้น ถอดเครื่องช่วย และกลับไปนอนรอความตายที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลนั้นแหละ ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่า ถอดเครื่องช่วยก็อาจจะทำให้เสียไปได้ ตรงนี้ต่างกันกับอีกกรณีหรือไม่ ... กรณีที่ถอดเครื่องช่วย เพราะไม่อยากให้คนป่วยทรมาน และทราบดีว่า ถอดแล้วจะต้องตาย เจตนาไม่อยากให้คนป่วยทรมาน นี้เป็นปาณาติปาต แน่นอน อันนี้เข้าใจครับกรณีที่คนป่วยต้องการให้ถอดเอง เพราะ ต้องการที่จะละ และปลงสังขารเอง และปล่อยให้จากไปด้วย โรคร้ายนั้น ... จากไปพร้อมกระบวนการทำงานของร่างกายนั้นๆ ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์แต่ประการใด และทุกคนก็ได้แต่ อุเบกขาเพราะนั้นเป็นกรรม (ต้องการถอดของเขาเอง) และเขาก็ลาสังขาร นั้น ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 17 ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาเพื่อความเข้าใจที่ละเอียดและถูกต้องครับ

จากตัวอย่างที่กล่าวมา เราจะต้องแยกประเด็น เป็น 2 อย่างก่อนนะครับ คือ การที่คนไข้อยู่ได้ด้วยเครื่องหายใจจริงๆ คือ ถ้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจแล้วจะต้องสิ้นชีวิต และญาติๆ ก็รู้อยู่ในเรื่องนี้ อันนี้เป็นประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง คือ ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ แต่ไม่สิ้นชีวิตเพราะการถอดเครื่องหายใจ คือ ถ้าถอดเครื่องช่วยหายใจก็ยังอยู่ได้ เพราะเริ่มหายใจเองได้ ซึ่งญาติก็รู้อยู่ว่าถอดแล้วไม่ตาย ต่างจากกรณีแรก ที่อยู่ได้เพียงเครื่องช่วยหายใจจริงๆ ครับ และญาติก็รู้อยู่ว่าถอดแล้วต้องตาย อันนี้ประเด็นที่สอง

ดังนั้นเราก็จะมาเข้าใจกันว่า เราพูดถึงประเด็นไหน คือ ประเด็นที่ถ้าถอดเครื่องช่วยหายใจก็ต้องตายเพราะคนไข้อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจเท่านั้นจริงๆ และญาติก็รู้ๆ อยู่ว่าถอดแล้วตาย อันนี้เรามุ่งกล่าวในประเด็นที่หนึ่ง

ซึ่งประเด็นที่สอง ไม่เป็นปาณาติบาตแน่ เพราะญาติก็รู้อยู่ว่า การถอดเครื่องช่วยหายใจไม่ทำให้เขาตาย เพราะยังพอหายใจเองได้ ชีวิตคนไข้ไม่ได้อาศัยเครื่องช่วยหายใจดำรงชีวิต การถอดนั้นก็ไม่เป็นปาณาติบาต

แต่เมื่อเราตกลงกันเป็นอันเข้าใจและรู้ว่าคนไข้จะต้องตายเพราะถอดเครื่องช่วยหายใจ เพราะคนไข้คนนี้อยู่ได้เพราะเครื่องช่วยหายใจ (ประเด็นที่หนึ่ง) ญาติถามว่าจะถอดไหม คนไข้ได้ยินและพยักหน้า (พูดไม่ได้) เป็นความประสงค์ของคนไข้ที่จะให้ถอด เพราะตัวคนไข้เองทรมานกับโรค จึงไม่อยากอยู่ทรมานอีก หรือ ด้วยเหตุผลเปลืองค่ารักษาของญาติ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามครับ ที่คนไข้พยักหน้าให้ถอด นั่นคือความคิดของคนไข้ มีความประสงค์ใช่ไหมครับ แต่กรรมที่เป็นปาณาติบาตนั้น เจตนาฆ่าอยู่ที่คนถูกฆ่าใช่หรือไม่ครับ คำตอบคือไม่ใช่ เจตนาฆ่า อยู่ที่คนกระทำ คนที่ฆ่านั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าคนไข้จะมีความประสงค์อยากตาย ไม่อยากอยู่ โดยอาศัยเครื่องช่วยหายใจประทังชีวิตและญาติก็รู้ด้วยว่า เครื่องช่วยหายใจทำให้เขามีชีวิตอยู่ ถ้าถอดก็ต้องตาย เพราะหายใจเองไม่ได้ อาจกินเวลากี่นาทีก็ตาม เมื่อญาติบอกให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ ก็เท่ากับว่า รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตคิดจะให้จากไปแน่นอนเพราะรู้อยู่แล้วว่าถอดก็ต้องตายแน่ครับ เพราะอยู่ได้ด้วยเครื่องหายใจ เมื่อมีการกระทำคือถอดเครื่องช่วยหายใจและกรรมสำเร็จ คือ คนไข้ตายก็เป็นปาณาติบาตครับ ดังนั้นความคิดของคนไข้ก็ส่วนหนึ่งที่อยากจะไม่อยู่ ส่วนเจตนาฆ่าก็ส่วนหนึ่ง เจตนาฆ่าไม่ได้อยู่ที่คนไข้ แต่อยู่ที่ญาติที่เป็นคนสั่งให้ทำ ตามประสงค์ของคนไข้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ค. 2554

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่ใช้หัวใจเทียมกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ผู้ป่วยนี้ต้องอาศัยไฟฟ้าคอยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ถ้าไม่มีไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ หัวใจก็ทำงานเองไม่ได้ ก็ต้องหยุดเต้น ก็ต้องตายครับ ซึ่งก็ต้องมีแบตเตอรี่ในเครื่องมือนี้ ซึ่งคนไข้ก็ใช้เครื่องมือนี้อยู่หลายปี ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ต่อมาคนไข้ ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เพราะป่วยโรคอื่น ต้องทรมาน หรือมีปัญหาชีวิตอะไรก็ตามครับ จึงไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว จึงบอกให้ญาติ ถอดแบตเตอรี่ที่กระตุ้นหัวใจของเขาออก ซึ่งญาติก็รู้ว่าคนไข้คนนี้อยู่ได้ด้วยแบตเตอรี่ที่กระตุ้นหัวใจเขา ถ้าไม่มีแบตเตอรี่ก็ต้องตายแน่ครับ แม้คนไข้มีความต้องการจะตายก็ตาม แต่เมื่อถอด ญาติก็รู้อยู่ว่าถอดแบตเตอรี่ก็ต้องตาย ดังนั้นการถอดก็เท่ากับมีเจตนาฆ่า เพราะทำตามความประสงค์ของคนไข้ คือ ไม่ให้มีชีวิตอยู่ การกระทำที่ให้เขาไม่มีชีวิตอยู่ จึงเป็นเจตนาฆ่าครับ และคนไข้โรคหัวใจอาจจะไม่ตายทันที หลังถอดแบตเตอรี่ หนึ่งนาทีหลังจากนั้นก็ได้ แต่ก็ตายเพราะการกระทำนั้นครับ กรรมจึงเป็นปาณาติบาตครับ อันนี้เปรียบเทียบกับเรื่อง การถอดเครื่องช่วยหายใจ ที่คนไข้อยู่ได้ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะเครื่องช่วยหายใจยังมีอยู่ ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจจึงอยู่ได้ครับ การถอดเพื่อให้เขาจากไป ตามความประสงค์ของคนไข้ เจตนาฆ่าอยู่ที่คนสั่งก็เป็นปาณาติบาตครับ

อีกกรณีหนึ่งในประเด็นที่สอง คือ คนไข้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ คือ หายใจเองได้ และญาติก็รู้ว่า แม้ถอดเขาก็ไม่ตายเพราะคนไข้ไม่ได้อาศัยเครื่องช่วยหายใจประทังชีวิต ญาติให้ถอดก็ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะไม่มีเจตนาฆ่า เพราะรู้อยู่ว่าถอดก็ไม่ตาย เพียงแต่ให้ไปรักษาตัวที่บ้าน ให้หายใจเองครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
toh4u
วันที่ 24 ก.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
homenumber5
วันที่ 24 ก.ค. 2554

เรียนท่านวิทยากร ขออนุญาตร่วมวงสนทนาค่ะ

๑. ในฐานะที่เรามีความรู้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะโดยอาชีพ โดยการค้นคว้า ถ้ารู้ว่าคุณย่าวัย ๙๐ ปี ที่ยังทานอาหารได้ จำลูกหลานได้ และเริ่มมีอาการสับสนบ้าง มีอาการบ่งบอกว่าอาจจะมีโอกาสหยุดหายใจ และเราก็คาดเดาว่า ท่านมีเวลานั้นคือหยุดหายใจ และจากไป

๑.๑ เราควรจะจะจัดสรรอุปกรณ์ที่พร้อมช่วยชีวิตท่านในบ้านที่ท่านอยู่ดีไหม หรือว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ (ญาติ และคุณย่า อยากมีชีวิตอยู่นานๆ ค่ะ) แต่ไม่ยอมไปพบแพทย์ มียารับประทานอยู่ หรือมีวิธีอื่นๆ ที่ไม่ก่อกรรมอกุศลต่อกันและกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 21 ครับ

เราเข้าใจใช่ไหมครับว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน และสัตว์ทั้งหลายก็ต้องตายเป็นธรรมดา แต่ไม่ไ่ด้หมายความว่าเมื่อมีกรรมเป็นของๆ ตนแล้ว เราจะไม่ทำอะไรเลยในการดูแลท่านและรักษาท่าน แต่เราในฐานะที่เป็นญาติกัน มีการสงเคราะห์ญาติ นั่นคือทำเต็มที่จนสุดความสามารถก่อน ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมและก็ไม่เสียใจ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่และสุดความสามารถแล้วครับ ดังนั้น เราก็ช่วยตามฐานะตามความเหมาะสมเท่าที่จะช่วยได้ครับ ไม่ว่าการหาอุปรณ์การแพทย์ ยารักษาและการช่วยเหลือดูแลท่านประการต่างๆ ครับ ดังเช่น พระมหาชนกท่านว่ายน้ำข้ามทะเล นางมณีเมขลาถามว่า ท่านจะว่ายข้ามมหาสมุทรไปทำไม ในเมื่อกว้างใหญ่และไม่สำเร็จ พระโพธิสัตว์ตรัสว่า แม้รู้ว่าไม่สำเร็จ แต่เราได้พยายามเต็มที่แล้ว ดังนั้นแม้ชนเหล่าอื่น ก็ไม่ติเตียนเรา เพราะว่าเราได้พยายามสุดความสามารถแล้ว ไม่ใช่ไม่พยายาม

ดังนั้น ในกรณีนี้ก็เช่นกัน แม้สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน แต่เราก็ทำหน้าที่ให้เต็มที่ช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การแพทย์เบื้องต้น ยารักษาและการช่วยเหลือดูแลท่านตามฐานะ ความเหมาะสม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
kon7414
วันที่ 5 ก.พ. 2564

ขอเรียนถาม คุณ Paderm หรือท่านผู้รู้ท่านอื่นๆ

ขอถามในเคสของคุณแม่ผมนะครับ แม่ได้จากไปแล้วครับ

แม่อายุ ๘๖ ปี แม่ป่วยเป็นเบาหวาน ความดัน โรคไต โรคหัวใจตีบ วันเกิดเหตุแม่แน่นหน้าอก ผมได้รีบพาส่งโรงพยาบาล แต่แม่หมดสติไปนานพอสมควร หมอได้ปั๊มหัวใจ แต่แม่ไม่ฟื้นคืนสติ หมอบอกว่าสมองขาดอ๊อกซิเจน ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ ได้มีการรักษา โดยการผ่าตัดหัวใจที่เป็นสาเหตุการแน่นหน้าอกเรียบร้อยดี ได้มีการฟอกไต ตามปกติที่เคยฟอก แต่จากที่รอดูอาการสมองขาดอ๊อกซิเจนว่าดีขึ้นหรือไม่ หมอทางสมองบอกว่า สมองเสียหายไปพอสมควร โอกาสฟื้นหรือไม่ฟื้นบอกได้ยาก

หมอเจ้าของไข้ซึ่งเป็นหมอโรคไตด้วย ท่านได้มาบอกว่า แม่อายุเยอะแล้วประกอบเป็นโรคหลายโรคทรมานมาหลายปี เลยบอกให้ไปปรึกษากันระหว่างพี่น้องว่าปกติแม่ต้องฟอกไตประมาณ ๓ - ๔ วันครั้ง หากไม่ฟอกเลยของเสียก็จะสะสมจนกระทั่งคนไข้จากไปเอง โดยคนไข้ไม่ทรมาน

ผมได้ปรึกษากัน พี่บอกแม่ก็อายุเยอะ ไม่อยากให้แม่ทรมาน ให้ปล่อยแม่ไป น้องอีกคนก็ไม่แสดงออกอะไร ส่วนผมอยากย้ายแม่ออกไปโรงพยาบาลรัฐบาลเพื่อเบิกค่ารักษาได้ แล้วไปเริ่มฟอกไต รักษาใหม่ แต่ช่วงที่อยู่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ได้บอกหมอให้ฟอกไต จนกระทั่งได้เตียงที่โรงพยาบาลรัฐ แม่ก็ได้สิ้นลมคืนก่อนที่จะได้ย้ายไปโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุมาจากที่ผมไม่ได้ฟอกไตให้แม่ ระยะเวลาทั้งหมดที่ไม่ได้ฟอกไตประมาณ ๗ - ๑๐ วัน

คำถาม คือ

๑. ผมและพี่น้อง ได้ทำอนันตริยกรรมไปแล้วใช่เปล่า ครับ

๒. หากใช่ ผมจะต้องทำอย่างไร ในชีวิตที่เหลือ ก่อนที่จะไปรับผลของกรรมนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2564

เรียน ความเห็นที่ 24 ครับ

เป็นเรื่องของเจตนา ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะรู้แต่ละคน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
kon7414
วันที่ 6 ก.พ. 2564

อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 25 โดย paderm

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
khampan.a
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ควรที่จะได้พิจารณาว่า ในฐานะที่เป็นบุตรธิดา ก็จะต้องกระทำหน้าที่ของบุตรธิดาให้ดีที่สุด ดูแลรักษาท่านให้ถึงที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ พระคุณที่ท่านมีต่อลูกนั้นมีมากมาย ควรดูแลตอบแทนท่านให้ถึงที่สุดเหมือนอย่างที่ท่านเลี้ยงเรามา ลูกจะเจ็บป่วยอย่างไรท่านก็จะทำทุกวิถีทาง รักษาทุกทางเพื่อให้ลูกหายป่วยจนกระทั่งมีชีวิตรอดต่อไป ควรอย่างยิ่งที่จะคิดถึงตรงนี้ด้วย

แน่นอนว่าทุกคนไม่สามารถรอดพ้นจากความตายไปได้เลย แต่ก็ขอให้ได้ทำให้ดีที่สุด จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง ครับ

... ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
chatchai.k
วันที่ 15 มี.ค. 2564

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม ...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
Witt
วันที่ 11 ก.พ. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ