ภิกษุผ้มีจิตตั้งมั่น

 
vinmool
วันที่  13 พ.ย. 2555
หมายเลข  22047
อ่าน  2,545

13 พ.ย. 55

เรียน ท่านวิทยากรบ้านธัมมะที่เคารพ

ในพระไตรปิฎกฉบับที่ ๑๗ สมาธิสูตร (นกุลปิตวรรค) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายเธอจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง คือ ย่อมรู้ชัดชึ่งความเกิด และความดับแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ผมขอความกรุณาขอให้ท่านวิทยากรช่วยกรุณาอธิบายคำว่า จิตตั้งมั่นด้วยครับ และผมจะมีวิธีทราบได้อย่างไรว่า ขณะนี้จิตของผมตั้งมั่น

ด้วยความเคารพ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้น เป็นการศึกษาธรรมทีละคำ ซึ่งก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจว่า "ตั้งมั่น" คืออะไร? เพราะความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น "ตั้งมั่น" เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ เอกัคคตาเจตสิก (เจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้) เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่มีเว้นเลย หรือที่เรียกว่า สมาธิ ก็คือ สภาพธรรมนี้ ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างกว้างๆ เพราะสมาธินั้น มีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นความตั้งมั่นที่เกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย แต่ถ้าเป็นการตั้งมั่นที่เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญปัญญา ที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชอบ เพราะตั้งมั่นในอารมณ์ที่สติระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง และสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งในขณะนั้น สัมมาสมาธิก็เกิดร่วมกับองค์มรรคอื่นๆ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ เพราะสัมมาสมาธิ (รวมถึงธรรมประการอื่นๆ ด้วย) ไม่ได้เกิดลำพังเพียงอย่างเดียว มีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น และจะประชุมพร้อมกันในขณะที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้น จะปราศจากปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงไม่ได้เลย เพราะจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ก็ไม่สามารถที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิด ไม่สามารถทำให้วิปัสสนาญาณเกิด จนกระทั่งถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระองค์ทรงแสดงตามอัธยาศัยของสัตว์โลก เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ได้สอนให้มีการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน พระภิกษุเคยสะสมอบรมเจริญสมาธิมาแล้ว เกิดความฟุ้งซ่านเสื่อมจากสัมมาสมาธิ แต่เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน พระองค์ก็ทรงเกื้อกูลด้วยพระสูตรนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้เจริญฌานก่อนแล้วจึงจะเจริญวิปัสสนา เพราะถึงแม้ว่าจะได้ฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ฌานก็ไม่สามารถเป็นบาทให้เกิดวิปัสสนาได้ จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูก เห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง

และการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้กระทั่งขณะที่ตั้งมั่น ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้น ซึ่งในเบื้องต้น จากการที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ขณะที่เป็นอกุศล ความตั้งมั่นในขณะนั้นก็มี แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นผิด แต่ถ้าเป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชอบ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความโดยละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ แต่เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตตั้งมั่น โดยมาก จะกล่าวถึงขณะที่ตั้งมั่น ที่แสดงถึงความเป็นสมาธิ ที่ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ที่ควรพิจารณาให้ละเอียด คือ ขณะที่มีความตั้งมั่น และ เห็นการเกิดดับได้นั้น ความตั้งมั่นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่จะต้องมีปัญญา ที่เกิดพร้อมกับ เอกัคคตาเจตสิก ที่มีกำลัง คือ เป็นความตั้งมั่นในขั้นฌาน และ มีปัญญาที่เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขั้นวิปัสสนา จึงจะทำให้เห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น คำว่า จิตตั้งมั่นในพระสูตรที่ผู้ถามยกมา จึงหมายถึง เป็นความตั้งมั่นที่มีปัญญาด้วย ครับ คือ รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ึและเป็นอนัตตา

ส่วนคำถามที่ว่า ผมจะมีวิธีทราบได้อย่างไรว่า ขณะนี้จิตของผมตั้งมั่น ครับ

ปัญญาที่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนา ครับ ที่จะรู้ว่า จิตตั้งมั่นหรือไม่ และ รู้ตามความเป็นจริงว่า แม้จิตที่กำลังตั้งมั่น ตั้งมั่นจดจ่อในขณะที่เป็นอกุศล และ จดจ่อในขณะจิตที่ เป็นกุศล ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่ใช่เรา สภาพธรรมที่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนา จะสามารถแยกออกว่า ขณะใดตั้งมั่น ขณะใดไม่ตั้งมั่น เพราะ ปัญญา และ สติ เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงในขณะนั้น ซึ่งเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครับ

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยาก และละเอียดมาก กว่าจะเข้าใจความจริง แม้แต่จิตตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น ที่สำคัญ การอบรมปัญญา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ก็มีสมาธิ ที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ ที่เป็น ขณิกสมาธิแล้ว โดยไม่ต้องไปทำสมาธิให้ตั้งมั่น แต่ขณะที่ปัญญาเกิด รู้ความจริงขณะนั้น มีความตั้งมั่นชั่วขณะที่ปัญญาเกิด ก็สามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ครับ เพราะ สมาธิ ความตั้งมั่น ไม่ใช่สภาพธรรมที่เห็นตามความเป็นจริง เป็นแต่เพียงองค์ประกอบส่งเสริมปัญญาให้ตั้งมั่นในสภาพธรรมนั้น ครับ

ปัญญา หรือ สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลาย ที่จะทำให้สมาธิ บความตั้งมั่น ที่เกิดขึ้นก็เป็น สัมมาสมาธิ ด้วยครับ

ขอให้เริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น โดยไม่ต้องไปทำสมาธิหรือทำอะไร การฟังให้เข้าใจ ทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาจะค่อยๆ ปรุงแต่ง จนในที่สุดสามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

ในการบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ครั้งหนึ่งเหมือนได้ยินว่า ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณหรือโลกุตตรจิต ขณะนั้นมีความตั้งมั่นเทียบเท่าฌานจิต (แต่ไม่แน่ใจว่าฟังมาถูกรึเปล่าครับ) ขอความกรุณาช่วยขยายความด้วยครับ

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ย. 2555

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

ขณะที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้น คือมรรคจิตและผลจิต ขณะนั้น ความสงบแนบแน่นของจิตเทียบเท่าระดับอัปปนาสมาธิขั้นปฐมฌาน เพราะ ประหารและระงับกิเลส จึงสงบอย่างยิ่ง แต่มิได้หมายถึงเป็นผู้ได้ฌาน คือ ไม่เป็นฌานลาภีบุคคล ครับ เพียงแต่ สงบแนบแน่นมากจนมีกำลังสงบเทียบเท่าปฐมฌาน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 15 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
vinmool
วันที่ 17 พ.ย. 2555

ขอขอบคุณในคำตอบของวิทยากรทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงครับ

อันที่จริงข้อความใน พระสูตรนี้ มีอยู่ด้วยกันสองตอนครับ คือ

ตอนที่ 1 ภิกษุมีจิตตั้งมั่น

ตอนที่ 2 การเกิดและดับของรูปนาม

สําหรับตอนที่สองนี้ผมได้อ่านมาหลายรอบแล้ว และใช้ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นองค์ธรรม ในการพิจารณา ก็เข้าใจได้ชัดเจนดีครับ ผมมีคำถามเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ผมพิจารณา ในเรื่องของการเกิดและการดับของรูปนาม อยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง โดยไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรกเลย ระยะเวลาครึ่งชั่งโมงนั้น จัดว่าเป็นสภาวะ จิตตั้งมั่นได้หรือเปล่าครับ

ด้วยความเคารพ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 8 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ก.ไก่
วันที่ 27 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ