นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ อารัพภธาตุ

 
gboy
วันที่  3 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22119
อ่าน  3,213

ความหมายของคำว่า นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ อารัพภธาตุ คืออย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกโดยตลอด ไม่ว่าจะทรงแสดงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากความเป็นธรรม (สภาพธรรมที่มีจริงๆ ) ไม่พ้นไปจากความเป็นธาตุ (สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้)

สำหรับนิกกมธาตุ ปรัมกกมธาตุ และอารัพภธาตุ กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงประการหนึ่ง คือ ความเพียร (วิริยเจตสิก) แต่มีกำลังที่แตกต่างกัน

กล่าวโดยศัพท์

นิกกมธาตุ แปลว่า ธาตุ คือ การก้าวออก

ปรักกมธาตุ แปลว่า ธาตุ คือ ความเพียรที่บากบั่น และ

อารัพภธาตุ แปลว่า ธาตุ คือ ความเพียรที่เริ่มแรก เริ่มปรารภ

ในอรรถกถาได้แสดงไว้ว่า

อารัพภธาตุ เป็นความเพียรเริ่มแรก

นิกกมธาตุ เป็นความเพียรที่มีกำลังกว่า อารัพภธาตุ เพราะเป็นการก้าวออกจากความเกียจคร้าน และ

ปรักกมธาตุ เป็นความเพียรที่มีกำลังกว่า นิกกมธาตุ เพราะเป็นความเพียรที่บากบั่น มั่นคง เป็นไปในกุศลธรรม

ทั้งหมดนั้นก็ไม่พ้นไปจากความเป็นธาตุประการหนึ่ง คือวิริยะ ความเพียร นั่นเองครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ธรรมสำหรับละถีนมิทธะ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธาตุ คือ สภาพธรรม ที่มีจริง ซึ่งหมายถึง สภาพธรรม ที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะ คือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสัจจะ เพราะฉะนั้น ธาตุ จึงกล่าวโดยกว้าง ก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม คือ ธาตุ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ และรูปธาตุ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นต้น

และเมื่อกล่าวถึง อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นธาตุ คือนามธาตุ ที่เป็นเจตสิก คือวิริยเจตสิก เป็นธาตุ เพราะมีจริงและทรงไว้ซึ่งลักษณะ คือ ความเพียร ความอุตสาหะ แต่เป็นธรรม ที่ทำหน้าที่เพียร ไม่ใช่เรา ซึ่งอารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ทั้ง ๓ อย่างนั้น แสดงถึงลักษณะของความเพียรที่มีกำลังที่แตกต่างกันไป ตามระดับของความเพียร จึงใช้ชื่อแตกต่างกันไป ๓ อย่าง และพื้นฐานพระอภิธรรม ที่ควรเข้าใจเป็นสำคัญ คือเมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย วิริยะ ความเพียร เป็นสภาพธรรม ที่มีจริง เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายๆ เจตสิก เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลจิตหรือกุศลจิตเกิดขึ้น ก็จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกสามารถเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลหรือกุศลก็ได้ แต่วิริยเจตสิกที่เป็น อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ซึ่ง ธาตุทั้ง ๓ อย่างนี้ คือความเพียรที่เป็นไปในการละอกุศล มีความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น

ความเพียรนี้จะต้องเป็นความเพียรที่เกิดกับกุศลจิต และเป็นความเพียรที่เกิดกับเจตสิกที่ดีด้วย คือเกิดพร้อมกับปัญญาเป็นสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถละอกุศลด้วยความเพียรได้เลย ดังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่สรรเสริญความเพียรทุกอย่าง และไม่ติเตียนความเพียรทุกอย่าง ความเพียรใดที่เพียรแล้วอกุศลหายไป กุศลเกิดขึ้น เราสรรเสริญความเพียรนั้น ความเพียรใดที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อกุศลเจริญขึ้น กุศลเสื่อมลง เราติเตียนความเพียรนั้น

ดังนั้น ธาตุทั้ง ๓ อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ เป็นความเพียรที่เกิดกับกุศลจิต และประกอบด้วยปัญญา จึงสามารถละกิเลสได้ ซึ่งความเพียรคือวิริยเจตสิก มีกําลังต่างกัน ธรรมเป็นเรื่องละเอียดครับ อะไรทำให้ต่างสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เกิดร่วมด้วยมีปัญญา เป็นต้น ปัญญาที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้มีกำลังที่แตกต่างกันไป สำหรับธาตุแรก คือ อารัพภธาตุ คือความเพียรครั้งแรก เริ่มแรก หมายถึง ความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญาที่เริ่มเพียร คือเกิดความเพียร วิริยเจตสิก ที่เกิดร่วมกับปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส มีความง่วงเหงาหาวนอน จึงเกิดความเพียร วิริยเจตสิก พร้อมกับเจตสิกที่ดี มีปัญญา ในขณะนั้นครั้งแรก ความเพียรครั้งแรก ที่เกิดขึ้นพร้อมกับปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส เรียกว่า อารัพภธาตุ แต่เพราะ กำลังของปัญญายังน้อย ก็เพียงบรรเทา ไม่สามารถละกิเลสได้จริง ซึ่งในอรรถกถาบางแห่ง ก็อธิบายเพิ่มเติมครับ ว่าอารัพภธาตุ คือความเพียรเริ่มแรก ที่บรรเทากิเลส แต่ยังละกิเลสไม่ได้ เพราะปัญญาที่เกิดพร้อมกับความเพียรยังไม่มีกำลังพอ ครับ

นิกกมธาตุ คือความเพียรที่มีกำลังกว่า อารัพกธาตุ คือ มากกว่าความเพียรครั้งแรกยกตัวอย่าง เช่น ความเพียรที่เกิดพร้อมขณะที่เจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมความเพียร ปัญญายังไม่มาก ทำให้ความเพียรไม่มีกำลัง เพราะเป็นเพียงครั้งแรก แต่เพราะอาศัยการเกิดขึ้นของสติปัฏฐานบ่อยๆ ก็ทำให้ความเพียรมีกำลัง เพราะปัญญามากขึ้น ทำให้ความเพียรมีกำลังที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมและละความไม่รู้ได้มากกว่าความเพียรครั้งแรก นี่แสดงให้เห็นว่า เพราะอาศัยกำลังปัญญามากกว่าปัญญาเริ่มแรก ทำให้มีความเพียรมากกว่า อารัพกธาตุ ครับ ซึ่งในอรรถกถา ก็อธิบายเพิ่มเติมครับ ว่า เป็นความเพียรที่มีกำลังมากกว่าความเพียรครั้งแรกที่จะก้าวออกจากกิเลส อกุศล เพราะกำลังความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา มีกำลังมากขึ้น ครับ

ปรักกมธาตุ คือ ความเพียรที่มีกำลังมากกว่าสองอย่างข้างต้น เพราะมีปัญญาที่มีกำลังมากนั่นเองครับ ผู้ที่อบรมปัญญามีกำลังแล้ว ย่อมสามารถเกิดปัญญาและมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย สามารถละ ถอนกิเลสได้ในขณะนั้น เป็นความเพียรที่มีกำลังมากในขณะนั้น ครับ ซึ่ง อภิธรรม ก็อธิบายเพิ่มเติมครับ ว่า เป็นความเพียรที่บากบั่น ที่สามารถถอนกิเลส ดุจเครื่องผูกได้ ครับ นี่แสดงให้เห็นกำลังของปัญญาที่ต่างกันจนทำให้มีความต่างกันของความเพียร ที่แตกต่างกันไปตามระดับของปัญญา ครับ

ดังนั้น เมื่อศึกษาธรรมแล้ว ไม่ไปติดที่ชื่อ แต่น้อมเข้ามาในตนว่าเป็นผู้มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพียรมากขึ้น พร้อมด้วยความเข้าใจพระธรรม ซึ่งขณะใดที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นเพียรแล้ว พร้อมกับปัญญาที่เกิดโดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปพยายามทําความเพียร เพียงแต่สะสมการฟัง ศึกษาพระธรรม ก็จะเป็นผู้ที่ค่อยๆ นำไปสู่ นิกกมธาตุ คือ ความเพียรที่มีปัญญามากกว่าเดิม และจนในที่สุด ถึงการละกิเลสด้วยความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา คือปรักกมธาตุ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ดีมากเลยค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
gboy
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ