พระอริยบุคคล - พระโสดาบัน กับ พระสกทาคามี

 
nasza
วันที่  6 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22136
อ่าน  4,533

อยากทราบว่าพระโสดาบัน กับ พระสกทาคามี แตกต่างกันอย่างไร

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอริยบุคคล เป็นผู้ที่ประเสริฐ สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ

ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงคำใด ก็ควรที่จะได้เข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจนด้วย พระโสดาบันคือผู้ที่ถึงพระนิพพาน เป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ที่ได้ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง ดับกิเลสได้เพียงบางส่วนตามสมควรควรแก่มรรคที่ท่านได้ ยังไม่สามารถดับได้ทั้งหมด พระโสดาบันดับความเห็นผิดทุกประการ ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความตระหนี่ ดับความริษยา ดับกิเลสอย่างหยาบ ที่จะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะพระโสดาบันเป็นผู้ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป ท่านเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ เป็นผู้แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงๆ ขึ้นไป กล่าวคือ บรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

พระสกทาคามี เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่สอง ดับความเห็นผิด ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรมได้ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นผู้กระทำราคะและโทสะให้เบาบางลง เป็นผู้ที่มาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วสามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

พระสกคามีบุคคล เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่สูงกว่าพระโสดาบัน เพราะเป็นผู้มีราคะและโทสะเบาบางกว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบัน

การเป็นพระอริยบุคคล เป็นได้ด้วยปํญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

ปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือชาตินี้ ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีก เป็นเวลาอันยาวนาน (จิรกาลภาวนา) ซึ่งมีข้ออุปมาเหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการสะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อได้ฟังพระธรรม ได้สะสมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ยิ่งขึ้น ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมไ้ด้ที่นี่ครับ

พระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่หนึ่ง และ ขั้นที่สอง จะขอกล่าวถึงความเหมือนกัน และ ความต่างกัน ดังนี้

ความเหมือนกันของพระโสดาบัน และ พระสกทาคามี

๑. ไม่ไปอบายภูมิ

๒. มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยไม่เปลี่ยนแปลง

๓. เป็นผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ในอนาคตแน่นอน

๔. ไม่เป็นผู้มีความเห็นผิดเกิดขึ้น

๕. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว

๖. ละสังโยชน์ คือ ความเห็นผิด ข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด และ ความสงสัยได้เหมือนกัน

๗. เป็นผู้มีศีล ห้า สมบูรณ์เหมือนกัน ไม่ล่วงศีลห้าอีกเลย

๘. เป็นผู้ไม่ทำอนันตริยกรรมอีกแล้ว

ความต่างกันของพระโสดาบัน และ พระสกทาคามี

๑. พระโสดาบัน โดยทั่วไป เกิดไม่เกิน เจ็ดชาติ แต่ พระสกทาคามี เกิดอีกเพียงชาติเดียว

๒. พระโสดาบันประจักษ์พระนิพพาน มรรคจิตเกิด หนึ่งครั้ง พระสกทาคามี ประจักษ์พระนิพพาน เกิดมรรคจิตสองครั้ง

๓. พระสกทาคามี ละกิเลส คือ ราคะ และ โทสะ ได้เบาบางกว่า พระโสดาบัน

๔. พระสกทาคามี มีอินทรีย์ห้า คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา มากกว่าพระโสดาบัน

เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคลแต่ละขั้น ก็แตกต่างกัน เพราะ ความแตกต่าง ของคุณธรรม คือ ปัญญา เป็นต้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สุดท้าย เมื่อถึงที่สุด ก็ไม่ต่างกันคือ ถึง วิมุตติ ความหลุดพ้น ซึ่งไม่ต่างกันในข้อนี้ ซึ่งกว่าจะถึง ความเป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอริยบุคคล ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และ ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะทำให้ถึง ความเป็นพระอริยบุคคล เพราะ ปัญญาทำหน้าที่ ไม่มีเรา ที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล แต่ความเห็นถูก จะทำให้ถึงความเป็นพรอริยบุคคล

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๕๗

ลักษณะพระโสดาบัน

บทว่า ธุวสีโล แปลว่า ผู้มีศีลประจำ

บทว่า ตสีโล แปลว่า ผู้มีศีลมั่นคง

บทว่า โสตาปนฺโน ได้แก่ ผู้เข้าถึงผล ด้วยมรรคที่เรียกว่า โสตะ

บทว่า อวินิปาตธมฺโม ได้แก่ มีอันไม่ตกไปในอบาย ๔ เป็นสภาพ

บทว่า นิยโต ได้แก่ ผู้เที่ยงด้วยคุณธรรมเครื่องกำหนด คือ โสดาปัตติมรรค

บทว่า สมฺโพธิปรายโน ได้แก่มีปัญญา เครื่องตรัสรู้พร้อม คือ มรรค ๓ เบื้องสูง ที่เป็นไปในเบื้องหน้า

ลักษณะพระสกทาคามี

บทว่า ตนุตฺตา แปลว่า เพราะ (กิเลสทั้งหลาย) เบาบาง อธิบายว่า กิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น ของพระสกทาคามี เบาบาง ไม่แน่นหนา เปรียบเหมือนชั้นแผ่นเมฆ และเปรียบเหมือนปีกแมลงวัน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Graabphra
วันที่ 7 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 8 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ