พระโสดาบัน มีครอบครัว และเสพกาม

 
ไก่บ้าน
วันที่  25 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22232
อ่าน  43,806

เห็นนางวิสาขา ครองเรือนมีครอบครัวได้แล้วเป็นโสดาบัน จะไปมีอะไรกับคู่ครอง แล้วมีลูกได้ไหม (แบบพระ นิกายวัชรยาน) ถามแค่นี้ครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ก็มีความแตกต่างกันที่ระดับปัญญาและกิเลสที่ละได้แล้ว ซึ่งพระอริยเจ้า มี ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์ ครับ

สำหรับ พระโสดาบัน และพระสกทาคามี ท่านละกิเลสได้บางส่วน คือ ความเห็นผิด ความลังเลสงสัย และข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด เป็นต้น แต่ยังมีโลภะที่พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ยังละไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความจริงว่าเมื่อยังมีกิเลส ยังมีโลภะ ก็ยังเป็นผู้อยู่ครองเรือน มีครอบครัว มีบุตร ภรรยาได้เป็นธรรมดา ส่วนพระอนาคามี และพระอรหันต์ ละความยินดีพอใจ ในรูป เสียง เป็นต้นได้แล้ว จึงไม่เป็นผู้ครองเรือน ไม่มีครอบครัว นี่แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า กิเลสจะต้องละเป็นลำดับ และปัญญาก็มีหลายระดับ พระอริยบุคคลก็จะต้องมีหลายระดับ ชีวิตความประพฤติเป็นไปก็ย่อมจะแตกต่างตามกิเลสที่ละได้และปัญญาที่แตกต่างกันด้วย ครับ

ดังนั้น การมีครอบครัว มีบุตร ภรรยา ของพระโสดาบันและพระสกทาคามี มุ่งหมายถึง เพศฆราวาสที่ไม่ใช่เพศบรรพชิตเป็นสำคัญครับ แต่ตามที่ผู้ถามยกมาว่า พระในนิกายอื่น มีครอบครัวได้ อันนี้ไม่ถูกต้องครับ เพราะเราจะต้องแยกประเด็นระหว่างเพศบรรพชิตและเพศคฤหัสถ์ว่า แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพศบรรพชิตสละทุกอย่างที่จะเป็นอย่างฆราวาสแล้ว จึงไม่สมควรมีครอบครัวประพฤติเสพเมถุนธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น แม้ปุถุชนผู้ที่บวชในศาสนานี้ก็ไม่ควรที่จะมีครอบครัว ไม่ต้องกล่าวถึงพระอริยเจ้ามีพระโสดาบัน พระสกทาคามีในเพศบรรพชิต ท่านย่อมรักษาพระธรรมวินัยแม้เหตุด้วยชีวิต ไม่ประพฤติการเสพเมถุนธรรมและการมีครอบครัวเลยครับ

ประโยชน์ของคำถามนี้ จึงเห็นถึงความสำคัญของการอบรมปัญญา ว่าไม่ใช่การก้าวกระโดดที่จะไม่พอใจ ไม่ยินดีติดข้องในสิ่งต่างๆ แต่กิเลสจะต้องละเป็นลำดับ ปัญญาจะต้องละเป็นลำดับ การอบรมปัญญาจึงเป็นการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันที่เป็นปกติ ใช้ชีวิตเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนเป็นผิดปกติที่จะต้องหลีกเร้นหาสถานที่ หรือแต่งชุดสีขาว เป็นต้น เพื่อละกิเลส แต่กิเลสจะละได้ ต้องเป็นไปตามลำดับและด้วยปัญญา ซึ่งจะต้องละความเห็นผิดถึงความเป็นพระโสดาบันก่อน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ใช้ชีวิตเป็นปกติที่เคยเป็นมาแต่เริ่มมีความเห็นถูก เข้าใจชีวิตขึ้นตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล นี่คือ ข้อปฏิบัติสายกลาง กลางเพราะมีปัญญา ไม่สุดโต่ง จึงถึงการดับกิเลสได้ในที่สุดครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 26 ธ.ค. 2555

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตอนอายุ ๗ ขวบ การมีครอบครัวและเสพกามเป็นข้อห้ามตามพระวินัยเฉพาะเพศบรรพชิต ถึงแม้ไม่เป็นพระโสดาบัน ...

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 26 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เป็นไป ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ขาดธรรมเลย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา ความเป็นไปของแต่ละบุคคลก็ตามควรแก่เพศของแต่ละบุคคล จะให้บรรพชิตเป็นอย่างคฤหัสถ์ก็ไม่ได้ หรือจะให้คฤหัสถ์มีชีวิตอย่างบรรพชิตก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ถ้ามีพระธรรมเป็นที่พึ่งน้อมประพฤติตามพระธรรม ย่อมไม่เป็นเหตุที่ทำให้ตนเองเดือดร้อนใจในภายหลังเลย เพราะไม่ได้กระทำอะไรที่ผิด บรรพชิตเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนมุ่งสู่เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ ก็จะต้องมีความประพฤติที่เหมาะสมกับเพศของตน โดยเว้นไม่กระทำในสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้าม และประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจจริงๆ ก็อาจจะเป็นเหตุให้ตนเองล่วงละเมิดพระวินัย มีโทษสำหรับตนเองโดยส่วนเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาบัติเพียงเล็กน้อยหรืออาบัติหนัก ล้วนมีโทษด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในเรื่องเสพกาม เป็นอาบัติหนักขาดความเป็นบรรพชิตทันที

สำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ ก็มีชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์ มีหน้าที่ต่างๆ มีกิจต่างๆ ที่จะต้องกระทำตามควรแก่เพศของตนๆ ประเด็นเรื่องการมีครอบครัวสำหรับคฤหัสถ์ เป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ที่ยังไม่สามารถดับความยินดีพอใจกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ได้ การมีครอบครัวไม่ได้ผิดศีล ๕ แม้จะเป็นพระโสดาบันแล้ว การมีครอบครัวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติเพราะท่านยังมีโลภะอยู่ แต่โลภะที่ท่านมีก็ไม่เป็นเหตุให้ท่านกระทำทุจริตกรรมใดๆ ได้เลย เพราะท่านดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ

ดังนั้น แม้จะเป็นพระโสดาบันก็มีครอบครัวเป็นธรรมดา อย่างเช่น นางวิสาขา เป็นต้น ซึ่งการมีครอบครัวมุ่งหมายถึงเฉพาะเพศคฤหัสถ์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเพศบรรพชิต ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 26 ธ.ค. 2555

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ได้บวช ท่านเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่เพศบรรพชิต ท่านจึงมีครอบครัวได้ ส่วนเพศบรรชิตแม้ว่าจะเป็นพระปุถุชน ไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็ไ่ม่สามารถมีครอบครัวได้ เป็นพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูง ที่บวชเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อจุดประสงค์ออกจากวัฏฏะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 26 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Nop.p
วันที่ 27 ธ.ค. 2555

ธรรมชาติของปุถุชนย่อมมีกิเลสเป็นตัวเชื่อม แต่อริยชนแล้วเป็นไปตามเหตุและปัจจัย การกระทำขึ้นอยู่ที่เหตุ ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ปัญญาที่ทำ?

อนุโมทนาธรรม ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 28 ธ.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

อยากทราบมานานแล้วว่า พระสกทาคามีที่ท่านมี โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางกว่าพระโสดาบัน คำว่าเบาบางนี่แค่ไหนครับ (อย่างเช่น ผมเคยได้ยินว่า พระสกทาคามีท่านละโลภะอย่างหยาบลง เช่น ท่านไม่เสพเมถุน แต่พระโสดาบันยังมีการเสพเมถุนอยู่) แต่ตามที่อาจารย์ผเดิมอธิบายว่าพระสกทาคามีท่านก็ยังครองเรือนอยู่ แสดงว่าท่านก็ยังมีการเสพเมถุนอยู่ แล้วความต่างของพระโสดาบันกับพระสกทาคามี ในแง่ของความเบาบางของกิเลสเป็นโดยลักษณะอย่างไรครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

ความต่างของกำลังกิเลส ก็ต่างกันไป ดังเช่น เฉดของสีที่แตกต่างกันไปอย่างละเอียด พระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังครองเรือน ยังเสพเมถุน แต่การยินดีพอใจของท่านเมื่อเทียบกับปุถุชน ย่อมไม่มีกำลังเท่าปุถุชนแน่นอน และความต่างของกำลังกิเลสของพระโสดาบันและพระสกทาคามีก็ย่อมต่างกัน พระสกทาคามีทำกิเลส คือโลภะ โทสะ ให้เบาบางกว่า พระโสดาบัน เพราะฉะนั้น กำลังความติดข้องของพระโสดาบันย่อมมากกว่าพระสกทาคามี และกำลังความโกรธของพระโสดาบันย่อมมีกำลังกว่าพระสกทาคามี และแม้แต่ท่านทั้งสองจะครองเรือน แต่ความติดข้องในกามก็ย่อมมีกำลังต่างกันทั้งพระโสดาบันและพระสกทาคามีด้วย แต่ก็ยังมีโลภะ ก็ทำให้ยังมีการครองเรือนได้ทั้งพระอริยบุคคลทั้งสอง แตกต่างที่ระดับความติดข้องที่แตกต่างกันครับ แต่เทียบไม่ได้กับระดับของปุถุชน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
daris
วันที่ 29 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 3 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
panasda
วันที่ 15 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
mdossklp
วันที่ 11 ธ.ค. 2559

สาธุ ... ผมได้เพิ่มปัญญาตนแต่เช้า

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 เม.ย. 2560

ยามใดได้อ่านข้อความพระธรรม ได้สนทนาธรรม ได้อยู่ใกล้บัณฑิต ยามนั้นปัญญาเจริญ

ขออนุโมทนา

ขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
อรจันทร์
วันที่ 16 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
นเดช
วันที่ 1 ต.ค. 2564

พระโสดาบันที่เป็นปุถุชน (ฆราวาส) ยังเสพกามและยังยินดีในกาม อยู่ใช่มั้ยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2564

เรียนความเห็น 17 ครับ

พระโสดาบันไม่ใช่ปุถุชน ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอริยะบุคคล บางท่านยังเป็นฆราวาส และมีครอบครัวได้ ครับ

ข้อความบางตอนจาก...

ความเห็น 1

การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ก็มีความแตกต่างกันที่ระดับปัญญาและกิเลสที่ละได้แล้ว ซึ่งพระอริยเจ้า มี ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์ ครับ

สำหรับ พระโสดาบัน และพระสกทาคามี ท่านละกิเลสได้บางส่วน คือ ความเห็นผิด ความลังเลสงสัย และข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด เป็นต้น แต่ยังมีโลภะที่พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ยังละไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความจริงว่าเมื่อยังมีกิเลส ยังมีโลภะ ก็ยังเป็นผู้อยู่ครองเรือน มีครอบครัว มีบุตร ภรรยาได้เป็นธรรมดา


ข้อความบางตอนจาก...

ความเห็น 3

การมีครอบครัวไม่ได้ผิดศีล ๕ แม้จะเป็นพระโสดาบันแล้ว การมีครอบครัวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะท่านยังมีโลภะอยู่ แต่โลภะที่ท่านมีก็ไม่เป็นเหตุให้ท่านกระทำทุจริตกรรมใดๆ ได้เลย เพราะท่านดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ

ดังนั้น แม้จะเป็นพระโสดาบันก็มีครอบครัวเป็นธรรมดา อย่างเช่น นางวิสาขา เป็นต้น ซึ่งการมีครอบครัวมุ่งหมายถึงเฉพาะเพศคฤหัสถ์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเพศบรรพชิต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2564

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ