ทัณฑสูตร และ กุมารกสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ทัณฑสูตร
และ
กุมารกสูตร
จาก...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้า ๑๗๗, ๕๑๘
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ คณะวิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้า ๑๗๗
ทัณฑสูตร
(ว่าดวยความสุขในโลกหน้า)
[๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เด็กมากด้วยกันเอาท่อน
ไม้ตีงู อยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีและพระวิหารเชตวัน ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กเหล่านั้น เอาท่อนไม้ตีงูอยู่ในระหว่าง
พระนครสาวัตถีและพระวิหารเชตวัน.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า
"ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข
ด้วยท่อนไม้ ผู้นั้น ย่อม ไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใด แสวงหาความสุข
เพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยท่อนไม้ ผู้นั้น
ย่อมได้ความสุขในโลกหน้า".
จบทัณฑสูตรที่ ๓
อรรถกถาทัณฑสูตร
ใน ทัณฑสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:- บทว่า กุมารกา ได้แก่ เด็กทั้ง
หลาย. บทว่า อหึ ทณฺเฑน หนนฺติ ความว่า พวกเด็กติดตามงูเห่าซึ่งได้รับความ
หิวกำลังเลื้อยออกจากโพรงไม้ไปหากิน ใช้ไม้ตี.
ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังเสด็จบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เห็นเด็ก
เหล่านั้นในระหว่างทางเอาไม้ตีงู จึงตรัสถามว่า เด็กๆ ทั้งหลาย เพราะเหตุไร จึง
เอาไม้ตีงูนี้ และเมื่อเด็กกราบทูลว่า เพราะกลัวมันกัด พระเจ้าข้า จึงเกิดธรรมสังเวช
ขึ้นว่า พวกเด็กเหล่านี้ คิดจะทำความสุขให้ตน จึงตีงูนี้ จักเสวยทุกข์ในที่ที่ตน
เกิด โอ! ฉลาดในการโกง เพราะความโง่ ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล จึงทรงเปล่ง
อุทานด้วยธรรมสังเวช.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตมตฺถ วิทิตฺวา ความว่า อาจารย์พวกหนึ่ง
พรรณนาไว้อย่างนี้ว่า พระองค์ทรงทราบเนื้อความนี้ ว่า พวกเด็กเหล่านี้ ทำความ
ทุกข์ให้แก่ผู้อื่น เพื่อความสุขของตน ตนเองจักไม่ได้รับความสุขในโลกหน้า.
การที่ชนเหล่าอื่นผู้ปฏิบัติชั่วแสวงหาความสุข ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ในอนาคต
สำหรับผู้ปฏิบัติดี ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น อาจารย์
ทั้งหลายจึงกล่าวว่า พระศาสดาทรงเปล่งอุทานแม้นี้ โดยทรงโสมนัสว่า ผู้ที่พ้น
จากการเบียดเบียนผู้อื่น เป็นผู้มีส่วนแห่งความสุขโดยแท้จริงทีเดียว ชื่อว่าเป็น
การสนองโอวาทของเรา. ฝ่ายอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระองค์ทรงทราบการ
เบียดเบียนผู้อื่นที่พวกเด็กเหล่านั้นให้เป็นไปอย่างนี้ โดยมีโทษด้วยประการทั้งปวง
จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ อันประกาศโทษของการเบียดเบียนผู้อื่น และอานิสงส์แห่ง
การอนุเคราะห์ผู้อื่น ตามลำดับ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขกามานิ ได้แก่ ผู้ติดอยู่ในความสุข
เพราะปรารถนาสุขเพื่อตน โดยส่วนเดียวเท่านั้น. บทว่า ภูตานิ แปลว่าสัตว์ผู้มี
ปราณทั้งหลาย. บทว่า ทณฺเฑน ในคำว่า โย ทณฺเฑน วิหึสติ นี้ เป็นเพียง
เทศนา อธิบายว่า ด้วยท่อนไม้หรือด้วยเครื่องประหารต่างๆ เช่น ก้อนดิน ศาสตรา
และการประหารด้วยมือเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทณฺเฑน ได้แก่ ด้วยการลงโทษ.
ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า บุคคลใด เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง ผู้ใคร่ความสุข ทำ
ให้ลำบาก ให้ได้รับความทุกข์ด้วยอาญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาญาเหล่านี้
คือ อาญาทางวาจาเช่นด่า กระทบชาติเป็นต้น อาญาทางร่างกาย เช่นโบย ตี
ตัด เป็นต้น ด้วยมือค้อนและศาสตราเป็นต้น หรืออาญาทางทรัพย์เช่นปรับไหม
ร้อยหนึ่งพันหนึ่ง.
บทว่า อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส น ลภเต สุข ความว่า บุคคลนั้นเมื่อ
แสวงหา ค้นคว้า ปรารถนาสุขเพื่อตน ละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่ได้รับความ สุขทั้ง ๓
ประการ คือ มนุษยสุข ทิพยสุข นิพพานสุข ในโลกหน้า โดยที่แท้ ย่อมได้รับ
แต่ความทุกข์ด้วยอาญานั้น.
บทว่า เปจฺจ โส ลภเต สุข ความว่า บุคคลใด เพียบพร้อมด้วย
ขันติ เมตตา และความเอ็นดู คิดว่า เราปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ ฉันใด แม้
สัตว์ ทั้งปวง ก็ฉันนั้น จึงตั้งอยู่ในสัมปัตติวิรัติเป็นต้น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำสัตว์
ทั้งปวงให้ลำบาก ด้วยอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งตามนัยที่กล่าวแล้ว บุคคลนั้น
เป็นมนุษย์ในปรโลก ย่อมได้รับสุขของมนุษย์ เป็นเทวดาย่อมได้รับทิพยสุข เมื่อ
ผ่านสุขทั้งสองนั้นไป ย่อมได้รับความสุขในพระนิพพาน. ก็ในที่นี้ เพื่อจะแสดงว่า
เพราะบุคคลเช่นนั้นได้อบรมไว้อย่างแน่นอน ความสุขนั้นเป็นประหนึ่งเกิดขึ้นเฉพาะ
หน้า (เป็นปัจจุบัน) ท่านจึงกล่าวว่า ลภเต (ย่อมได้) ดังนี้. แม้ในคาถาต้นก็นัยนี้
เหมือนกัน.
จบอรรถกถาทัณฑสูตรที่ ๓.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๑๘
กุมารกสูตร
(ว่าด้วยตรัสความทุกข์ แก่เด็กหนุ่ม)
[๑๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เด็กรุ่นหนุ่มมากด้วยกัน จับ
ปลาอยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีกับพระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กรุ่นหนุ่มมากด้วยกัน จับปลาอยู่ในหว่าง
พระนครสาวัตถีกับพระวิหารเชตวัน ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปหาเด็กรุ่นหนุ่มเหล่านั้น
แล้วได้ตรัสถามว่า พ่อหนูทั้งหลาย เธอทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ความทุกข์ ไม่
เป็นที่รักของเธอทั้งหลาย มิใช่หรือ? เด็กเหล่านั้นกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า
ข้าพระองค์ทั้งหลาย กลัวต่อความทุกข์ ความทุกข์ ไม่เป็นที่รัก ของข้าพระองค์
ทั้งหลาย.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระ
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า
"ถ้าท่านทั้งหลายกลัวความทุกข์ ถ้าความทุกข์ ไม่เป็นที่รักของท่าน
ทั้งหลายไซร้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำบาปกรรม ทั้งในที่แจ้ง และ ในที่ลับเลย
ถ้าท่านทั้งหลายจักทำหรือทำอยู่ซึ่งบาปกรรมไซร้ ท่านทั้งหลายแม้จะเหาะหนี
ไป ก็ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์เลย"
จบกุมารกสูตรที่ ๔.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ทัณฑสูตร
(ว่าด้วยความสุขในโลกหน้า)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเด็กที่กำลังเอาท่อนไม้ตีงู เพราะกลัวว่างูจะกัดตน
จึงทรงเปล่งพระอุทาน แสดงถึงโทษแห่งการเบียดเบียนสัตว์ และ คุณของการเอ็นดู
ไม่เบียดเบียนสัตว์
----------------------------
ข้อความโดยสรุป
กุมารกสูตร
(ว่าด้วยตรัสความทุกข์ แก่เด็กหนุ่ม)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเด็กทั้งหลายที่กำลังจับปลา ซึ่งขณะนั้นกำลังสร้าง
เหตุที่จะทำให้ตนเองเดือดร้อน ทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้นว่า ถ้ากลัวทุกข์ ก็อย่า
ได้ทำบาปกรรมทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ เป็นต้น ดังที่ปรากฏในพระสูตร
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ผู้รักตนไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ความเข้าใจพระธรรมเป็นสาระสำคัญที่สุดในชีวิต
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การเลี้ยงมดเป็นการเบียดเบียนสัตว์ไหมค่ะเลี้ยงเพื่อการศึกษาวงจรชีวิตค่ะ.
สามีซื้อให้ลูกค่ะแต่ดิฉันบอกเด็กๆ ๆ ว่ามันเป็นการเบียดเบียนสัตว์ถูกหรือไม่ค่ะ.
ช่วยกรุณาให้ความกระจ่างหน่อยค่ะ. กราบขอบพระคุณมากค่ะ
เรียนความเห็นที่ 9 ครับ
แม้แต่มนุษย์ แม้จะถูกขังอยู่ในกรงทอง มีของ อาหารที่มีค่าแต่อยู่ในกรง ก็ไม่ชอบ
ฉันใด สัตว์ผู้ต้องการอิสระก็ฉันนั้น ดังนั้น หากสัตว์นั้นไม่ไ้ด้พิการ หรือ จะต้องเลี้ยง
เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของเขา ก็ไม่ควรนำมาเลี้ยง อันจะทำให้เขาขาดอิสระใน
การใช้ชีวิตเช่นกัน ครับ ขออนุโมทนา