การแก้กรรม เรื่องการทำแท้ง

 
noth
วันที่  8 ม.ค. 2556
หมายเลข  22303
อ่าน  10,357

เรียนถามความคิดเห็นค่ะ ตามที่เห็นโฆษณา หรือประกาศว่ามีพิธีกรรมการแก้กรรมเรื่อง การทำแท้งหรือการแท้งบุตรนั้น โดยการบูชาหรือถวายพระพุทธรูป นั้นสามารถแก้กรรม หรือลดกรรมได้จริงหรือไม่ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากประเด็นคำถาม ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าการเจริญกุศลในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อหวังหรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่การบูชาหรือถวายพระพุทธรูป ก็ต้องถามตนเองว่าเพื่อจุดประสงค์ใด ถ้าเป็นการเคารพนอบน้อมบูชาในสิ่งที่ควรบูชาสูงสุดคือพระรัตนตรัย ด้วยจิตที่อ่อนโยนเป็นกุศล ด้วยการน้อมระลึกถึงพระคุณ ย่อมเป็นสิ่งสมควร และการมอบถวายพระพุทธรูป ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยความหวังดี ปรารถนาดีในการเกิดกุศลจิต เพื่อน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยมีพระพุทธรูปเป็นเครื่องเตือน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร แต่ไม่ใช่ว่าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ

ที่ถูกที่ควรแล้ว ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องมั่นคงแล้ว ก็จะมีที่พึ่งที่ทำให้ดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร คล้อยตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่เอนเอียงไปตามความเห็นที่ผิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว นั่นเอง ครับ

ข้อความที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติม มีดังนี้

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 267

ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์

[๑๘] ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพ (การเกิด) นี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก.

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มตกภัตตชาดก)


อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว จะแก้อย่างไร? แก้ไม่ได้เลย นอกจากสะสมกรรมดีต่อไป เพราะว่าเหตุดีต้องให้ผลที่ดี กรรมดีย่อมให้ผลที่ดี ทำอกุศลกรรมแล้วไปสะเดาะเคราะห์ อกุศลกรรมที่ทำแล้ว จะไม่ให้ผลหรืออย่างไร?

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๘

แต่ละคนมีกรรมเป็นของของตน กรรมนี้ ก็มีทั้งกรรมที่ดีเป็นกุศลกรรม และกรรมที่ไม่ดี เป็นอกุศลกรรม ซึ่งได้กระทำมาแล้ว สะสมมาแล้วอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้เท่านั้น และการที่ได้รับผลของกรรมในปัจจุบัน เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นผลของกรรมชนิดไหน ในชาติไหน แต่ที่แน่ๆ ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจนั้น เป็นผลของอกุศลกรรม ในทางตรงกันข้าม ที่ได้รับสิ่งที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจนั้น เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งแตกต่างกัน และไม่ปะปนกัน

การทำแท้ง ก็คือ การฆ่าสัตว์ มีความจงใจที่จะทำให้ผู้อื่นถึงความเป็นผู้สิ้นชีวิต เป็นปาณาติบาตที่ครบองค์ กล่าวคือ สัตว์มีชีวิต รู้ว่าสัตว์มีชีวิต มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยายามในการฆ่า และสัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น สำเร็จเป็นอกุศลกรรมที่จะเป็นเหตุให้ได้รับวิบากที่ไม่ดี และสามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาทีเดียว ว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง คือการกระทำอกุศลกรรม ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด ก็ไม่ควรทำ [ซึ่งก็มาจากการที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่นั่นเอง] เพราะทั้งนั้น จะเป็นเหตุที่ทำให้เดือดร้อนใจในภายหลัง ทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้าซึ่งจะตรงกันข้ามกันกับขณะที่ได้เจริญกุศล ได้กระทำความดีประการต่างๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะการได้เจริญกุศล ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เดือดร้อนใจ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับวิบากที่ไม่ดีเลย

แต่ถ้าเป็นกรณีที่แท้งบุตรด้วยเหตุต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการมีเจตนาฆ่า อย่างนี้ไม่เป็นปาณาติบาต สำคัญที่เจตนาจริงๆ

อกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว สำเร็จไปแล้ว ก็ไม่สามารถไปแก้อะไรได้ สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป แต่สิ่งที่สำคัญ คือเริ่มต้นใหม่ด้วยกุศลธรรม ด้วยความเป็นผู้จริงใจตั้งใจที่จะสะสมกุศลความดีประการต่างๆ ต่อไป สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดี เพราะสภาพธรรมทั้งสองอย่าง คือดีกับชั่ว จะไม่ปะปนกัน เป็นคนละส่วนกัน ดังนั้น ถ้าหากว่ารักตัวเอง ก็ต้องไม่กระทำอกุศลกรรม แต่จะต้องสะสมความดีประการต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายขัดเกลากิเลส อันเป็นต้นเหตุของการกระทำอกุศลกรรมทั้งหมด จนกว่าจะถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด หนทางมีอยู่แล้ว คือการอบรมเจริญปัญญา แต่จะดำเนินตามทางนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของผู้นั้นว่าจะเห็นประโยชน์หรือไม่เห็นประโยชน์ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กุศลใดที่จะทำให้บาปจากการทำแท้งเบาบางลงได้บ้าง

ผลกรรมที่ได้รับจากการทำแท้ง

การทำแท้งบาปแค่ไหน

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญหาสังคมไม่ว่าเรื่องใด อันเกิดจากความเชื่อที่ผิด ต้นเหตุก็มาจากความไม่รู้ คือ อวิชชา อันจะทำให้เกิดกิเลสประการต่างๆ แม้แต่ประเด็นการแก้กรรม สิ่งเหล่านี้มีได้ เพราะอาศัยความไมรู้ เมื่อไม่รู้ ย่อมเกิดโลภะ ความยินดีพอใจ ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี เมื่อยินดีแล้ว ย่อมหวงแหน ไม่อยากเสียสิ่งเหล่านี้ไป และอยากได้มาซึ่งสิ่งที่ดีๆ อีกไม่รู้จบ เพราะฉะนั้น จึงหาวิธีอะไรก็ได้ที่สำคัญว่าจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีๆ และไม่นำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีความคิดที่ไม่ถูกต้อง คือการแก้กรรม เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดี จากสิ่งที่ได้กระทำลงไป

เมื่อยังไม่รู้จักแม้แต่คำว่ากรรมคืออะไร ก็ไม่สามารถที่จะไปแก้ในสิ่งที่ไม่รู้ และเมื่อทำด้วยความไม่รู้ด้วยกิเลส แทนที่จะแก้กรรม ขณะนั้ก็ก่อกรรมใหม่คือกรรมที่ทำด้วยความเห็นผิด เพราะกรรม คือเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลจิตอกุศลจิต ขณะที่ทำกรรม คือเกิดกุศลกรรมทางกาย วาจา และใจ แต่เป็นกรรมดี ส่วนขณะที่อกุศลกรรมเกิดทางกาย วาจา และใจ ก็เป็นกรรมที่ไมดี เพราะฉะนั้น กระทำทางกาย วาจาและใจ ด้วยความเห็นผิดที่แก้กรรมก็เพิ่มอกุศลกรรม เพิ่มขยะในใจ ไม่สามารถที่จะแก้กรรมได้ กลับเพิ่มอกุศลกรรมไว้ในจิตใจ อันจะเป็นปัจจัยให้ทำบาปและได้รับผลไม่ดีต่อไปในอนาคตด้วย ครับ

ไม่มีใครแก้กรรม หนีไปจากกรรมที่ได้ทำมาได้ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิด เปรียบเหมือนสุนัขล่าเนื้อที่วิ่งไล่ตาม ทันเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น กรรมที่ได้ทำแล้ว เมื่อถึงเวลาให้ผลก็สามารถให้ได้ ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่าควรที่จะแก้ที่ปลายเหตุ คือกรรมที่ได้ทำแล้ว ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ หรือควรที่จะแก้ที่ต้นเหตุคือเหตุให้มีการทำอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่กลัวกรรมไม่ดี ก็ไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ดี แต่การจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีได้ ก็ต้องไม่มีกิเลสอันเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง

แทนที่จะแก้กรรม ก็แก้ที่ต้นเหตุคือกิเลสที่ทำให้เกิดกรรม มีการทำอกุศลกรรมด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่สามรถหลีกหนีกรรมที่พระพุทธองค์เคยทำไว้ในอดีตชาติได้ แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงและดับกิเลส ทำให้ไม่ต้องมารับกรรมอีก อันเป็นวิธีที่แก้กรรมที่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีการทำกรรมอีก เมื่อไม่มีกรรมก็ไม่ต้องทำกรรม เมื่อไม่มีการทำกรรมก็ไม่ต้องมาแก้กรรม ซึ่งการแก้กรรมก็ต้องแก้ด้วยปัญญา ด้วยการสางรกชัฎคือกิเลสด้วยปัญญาที่อบรมอย่างยาวนานจนหมดสิ้น ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ในเรื่อง กรรม ดังนี้ ครับ

จากการสนทนาธรรมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้ถามผู้ถามเรื่องการแก้กรรมว่า กรรมแก้ได้อย่างไร อาหารที่ทานไปแล้ว ใครอิ่ม ใครทานคนนั้นก็อิ่ม เขาก็บอกว่าแก้กรรมโดยการสวดมนต์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นคนไทยไม่มีบาปเลย แค่สวดมนต์ก็แก้กรรมได้ ท่านอาจารย์ถามต่อว่า ใครให้แก้กรรม เขาเป็นใคร ที่จะให้คนนี้แก้กรรม เป็นไปได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นทุกคนหมดกรรมกันหมด ต้องโทษคนที่ทำตามที่ไปเชื่อเขาเอง แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงประชวร ท่านพระโมคคัลลนะถูกทุบ แล้วใครเป็นคนให้แก้กรรม


ผู้ถาม ขณะที่เห็นขณะนี้ก็คือวิบากที่เราเคยทำมา แต่ว่าเราไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไร ทำมา ไม่สามารถที่จะพบได้ ทีนี้วิบากที่เราจะเกิดขึ้นต่อๆ ไปอีก เราสามารถที่จะคล้ายๆ ทำให้วิบากมันดี คือบางอย่าง เช่น เราไปรู้ว่าพรุ่งนี้เราจะตาย เราจะแก้วิบากที่มันจะตายพรุ่งนี้ได้ไหม ถ้าเกิดเราทำกุศลที่หนักๆ เพื่อแก้วิบาก สมมติว่ามีลางสังหรณ์ หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างทำให้รู้ว่า พรุ่งนี้คงจะเกิดอุบัติเหตุ หรือจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็เลยไปบวชดีกว่า หรือทำนองว่าทำกุศลที่มันหนักๆ ไว้ ก็อาจจะแก้ได้ ในกรณีนี้สามารถจะเป็นไปได้ไหมครับ

สุ. กรรมที่ได้ทำสำเร็จแล้ว ทำสำเร็จแล้วก่อนจะตายนานนะคะ ที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่ไปทำตอนที่จะตาย เพราะฉะนั้น จะแก้ตอนไหน เวลาไหน

ผู้ถาม ในอนาคตเราไม่รู้ว่าวิบากอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง ทีนี้เราต้องการได้วิบากทีดีๆ ตลอดเวลา

สุ. เราก็ต้องทำกุศลมากๆ

ผู้ถาม ครับ แล้วก็ต้องทำกุศลตลอด เพื่อให้วิบาก คือมีอาจารย์บางท่านสมมติว่าภูเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่งเป็นลูกอกุศล อีกลูกหนึ่งเป็นกุศล ติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราพลาดหรือเรามี คล้ายๆ ทำอกุศล ภูเขาลูกอกุศลก็จะตามทับเราทันที ในทำนองนี้จะใช้ได้ไหมครับ หมายถึงว่า..

สุ. เป็นปัจจัยที่จะทำให้เราเกิดกุศลมากๆ หรือเปล่าคะ

ผู้ถาม ครับ ทำนองนั้น

สุ. อะไรก็ตามที่จะทำให้เราเกิดสติแล้วก็เป็นกุศลมากๆ ก็จะทำให้เกิดกุศลวิบาก ตามควรแก่เหตุ

ผู้ถาม เป็นทำนองว่าหน้าที่ของกรรม กรรมหนักก็ต้องมาก่อน

สุ. ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้น กุศลที่ควรจะเจริญที่สุด คือการเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะไม่ทราบว่าเกิดมาแล้วเท่าไร แล้วจะเกิดต่อไปนานเท่าไร ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 9 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ อย่างเรื่องของพระนางโรหิณี ที่ท่านทรงเป็นโรคผิวหนัง ด้วยอกุศลวิบากจากกรรมที่เคยนำหมามุ่ยโรยใส่หญิงฟ้อนรำสมัยอดีตชาติ เมื่อท่านได้กระทำกุศลคือสร้างโรงฉัน เมื่อกุศลนั้นสำเร็จ โรคผิวหนังของพระนางก็หายเป็นปลิดทิ้ง ดังนี้ จะกล่าวได้หรือไม่ว่าเป็นการแก้กรรมหรือเปล่าอ่ะครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 9 ม.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

สำหรับความเข้าใจในการแก้กรรมในปัจจุบัน คือพยายามทำกุศล เพื่อไม่ให้กรรมที่ได้ทำให้ผล แต่สำหรับในกรณีของพระนางโรหิณีที่เป็นโรคผิวหนัง และถวายโรงฉัน หายจากโรคผิวหนัง ด้วยกุศลกรรมคือการถวายโรงฉันกับพระสงฆ์และพระพุทธเจ้า ด้วยกรรมที่มีกำลัง จึงทำให้หายโรค ซึ่งไม่ได้เรียกว่าการแก้กรรม เพราะกรรมที่ได้ทำมาแล้วคือโปรยหมามุ่ย ก็ให้ผลแล้ว คือทำให้เป็นโรคผิวหนัง แต่เพราะกุศลกรรมที่มีกำลัง จึงเรียกว่ากรรมที่เป็นกุศลกรรมตัดรอนอกุศลกรรมที่กำลังให้ผลอยู่ จึงไม่ใช่การทำด้วยความหวังด้วยโลภะที่อยากไม่ต้องรับกรรม แก้กรรม ไม่ให้กรรมให้ผล แต่เมื่อกรรมให้ผลแล้ว ก็เป็นผู้มั่นคงในการเจริญกุศลที่เป็นความดีทุกๆ ประการ และก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผล จะตัดรอน หรือไม่ตัดรอน เพราะขณะที่ทำด้วยความหวังก่อนที่จะทำกุศล อกุศลชวนะที่เป็นโลภะ สลับกับกุศล อานิสงส์ผลบุญก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะจิตไม่ได้บริสุทธิ์ตลอดในการทำกุศล ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 10 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Boonyavee
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Thaipeople
วันที่ 12 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 12 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 16 ม.ค. 2556

แก้กรรมไม่ได้ แต่ทำเหตุใหม่ได้ เจริญทุกๆ ทาง โดยเฉพาะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็ไม่ต้องมารับผลของกรรมอีก เพราะดับเหตุปัจจัยคือการเกิดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ