อรรถกถาจารย์

 
นิรมิต
วันที่  16 ม.ค. 2556
หมายเลข  22343
อ่าน  7,380

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตเรียนถามว่า ท่านอรรถกถาจารย์ ท่านปรากฏในยุคสมัยปี พ.ศ ที่เท่าไหร่ครับ และท่านเหล่านั้นมีจำนวนกี่รูปเหรอครับ มีอธิบายในส่วนนี้ไว้หรือเปล่า

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
นิรมิต
วันที่ 16 ม.ค. 2556

มีอีกเรื่องขออนุญาตกราบเรียนถามครับ

คือได้อ่านมาว่า พระอภิธรรมนั้น มีความละเอียด 3 ระดับ คือ มีระดับที่ละเอียดเป็นอนันต์ ระดับย่นย่อที่สุด และระดับไม่ละเอียดจนเกินไป ไม่ย่อจนเกินไป อยากทราบว่า พระอภิธรรมในโลกมนุษย์ที่มีให้ศึกษาอยู่นั้น อยู่ในระดับใดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจคำว่า อรรถกถา ก่อน ว่า คืออะไร อรรถกถา คือ เนื้อความที่อธิบายพระบาลี หรือ คำพระไตรปิฎก ให้เข้าใจขึ้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งในความเป็นจริง ในสมัยพุทธ กาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ซึ่งก็เป็นพระบาลี เป็นคำในพระไตรปิฎก และพระองค์ก็ทรงอธิบายอรรถ เนื้อความพระธรรมด้วย ซึ่งพระสารีบุตร พระอานนท์และพระอุบาลี ก็รวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหมวดหมู่ ๓ ปิฎก ให้เรียบร้อย และก็สามารถกล่าวได้ว่าพระสารีบุตร พระอานนท์ และพระอุบาลี ต่างก็เป็นพระอรรถกถาจารย์ คือ อาจารย์ที่อธิบายเนื้อความพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้แล้วนั่นเองครับ อย่างคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ที่พระสารีบุตรได้แสดง ท่านพระสารีบุตรก็แสดงด้วยปัญญาของตนเอง อันเป็นสัจจะความจริง ซึ่งก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ก็เป็นพระพุทธพจน์ด้วย และ ท่านพระสารีบุตรก็เป็นอรรถกถาจารย์ที่อธิบายพระพุทธพจน์ด้วย และพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเนื้อความที่เป็นอรรถกถาให้เข้าใจด้วย และพระสาวกก็มารวบรวมขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะ ไม่ใช่เพียงปัญญาพระสาวก จะสามารถรู้ทั้งหมด อธิบายเนื้อความได้แจ่มแจ้ง แต่ก็อาศัยนัยของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเรื่องนั้น และได้อธิบายอรรถไว้ด้วยดีแล้ว พระสาวกทั้งหลายในรุ่นหลัง ก็สามารถจะแต่ง และ รวบรวมอรรถกถาขึ้นได้ถูกต้อง คล้องจอง ตรงตามสภาพธรรมและสัจจะได้จริง ครับ

เพราะฉะนั้น พระอรรถกถาจารย์ อาจารย์ที่อธิบายเนื้อความในพระไตรปิฎก ก็มีมาในสมัยพุทธกาลแล้ว ตั้งแต่ท่านพระสารีบุตร เป็นต้น จนรุ่นต่อๆ มา ก็มี ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ที่เป็น พันปีหลังปรินิพพาน ครับ


อภิธรรม แปลโดยความ คือ ธรรมที่ละเอียดยิ่ง ละเอียดเพราะ ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะ หรือ ย่นย่อลงไปได้อีก เพราะ เป็นการแสดงลักษณะที่มีจริง เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น สภาวะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง จึงชื่อว่า ละเอียดยิ่ง ลึกซึ้งโดยสภาวธรรมนั่นเอง เพราะเห็นได้ยาก เพราะ ต้องเห็นด้วยปัญญา ซึ่งพระอภิธรรมก็แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์

๑. ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภทๆ

๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่อง แล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด

๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ

๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ

๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓

๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ

๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

ซึ่งในความเป็นจริง พระอภิธรรมไม่ว่าส่วนใด ก็ละเอียดลึกซึ้ง เข้าใจยาก เพราะการเข้าใจพระอภิธรรม ไม่ใช่แบบตำราเรียนที่สามารถจำได้ว่า จิตมีเท่าไหร่ ปัจจัยมีอะไรบ้าง แต่พระอภิธรรมละเอียด เพราะละเอียดด้วยสภาวะลักษณะที่ยากจะรู้

เพราะฉะนั้น อภิธรรมจึงละอียดลึกซึ้ง เพราะกำลังแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคล การจะเข้าใจพระอภิธรรมจริงๆ คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมี่กำลังปรากฎว่าเป็นอภิธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือ ความละเอียดของพระอภิธรรม เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า จิต คำเดียว ดูเหมือนง่าย ไม่ยากเลย แต่จิตอยู่ที่ไหน กำลังเกิด และรู้ไหมว่ากำลังเกิด เกิดอย่างไร และขณะนี้มีจิต รู้ตัวจิตที่กำลังเกิดหรือไม่ ที่สำคัญที่สุด รู้หรือไม่ว่าขณะนี้กำลังเป็นจิต เป็นเจตสิก ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคลเลย ครับ

แต่ เมื่อว่าถึงความละเอียด ความยากลงไปอีก ในส่วนของพระอภิธรรมที่แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ ส่วนที่ละเอียดลึกซึ้ง ก็คือ ความเป็นปัจจัยของสภาพธรรม ที่เป็นปัจจัยของกันและกันหลายๆ ปัจจัย และเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด อันเป็นอนัตตะ คือ ไม่มีที่สิ้นสุด สมดังที่พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งตรัสรู้ใหม่ๆ ในสัปดาห์ที่ ๕ ประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ ทรงพิจารณาคัมภีร์ปัจจัย อันลึกซึ้งสุดประมาณ และ เป็นอนันต์ ดังนั้น ความเป็นปัจจัยของกันและกันของสภาพธรรม ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่จะเข้าใจ เพราะไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจเรื่องราว แต่ต้องประจักษ์ความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะฉะนั้น อภิธรรมทั้งหมดละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งเหมือนกันหมด เพราะลึกซึ้งโดยสภาวะลักษณะ และ ยากที่จะรู้ ส่วนในความละเอียดของพระอภิธรรมในส่วนต่างๆ ก็ลึกซึ้ง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่จะเข้าใจพระพุทธพจน์ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งตรงตามความเป็นจริง ก็ต้องอาศัยพระอรรถกถาจารย์ ได้อธิบายให้เข้าใจในพระพุทธพจน์นั้นๆ ซึ่งคำว่า อรรถกถาจารย์มีความหมายว่า อาจารย์ผู้อธิบายเนื้อความแห่งธรรมที่เป็นพระพุทธพจน์ พระบาลี ให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น ถ้าอ่านหรือศึกษาเพียงพระพุทธพจน์โดยตรง อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างครบถ้วน ก็จะต้องอาศัยพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบาย ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ก็มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธกาลแล้ว และหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพระอรรถกถาจารย์หลายท่านที่ได้อธิบายพระบาลีพุทธพจน์ในส่วนที่ยากให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่

พระพุทธพจน์ และ อรรถกถา

อรรถกถา

ที่มาของอรรถกถา

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า พระอภิธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ละเอียดโดยความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่เป็นพระอภิธรรม ตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง พระอภิธรรมจึงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น นี้แหละ คือ พระอภิธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน พระอภิธรรมจึงไม่ได้อยู่ในตำรา

พระอภิธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ซึ่งรายละเอียดก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากพระอภิธรรมปิฎก เริ่มตั้งแต่ ธัมมสังคณีปกรณ์ เป็นต้นไป แต่ก็ไม่ควรลืมว่า พระอภิธรรมคือ สิ่งที่มีจริง ศึกษาพระอภิธรรม ก็คือ ศึกษาในสิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความเห็นผิดและความไม่รู้ จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรมที่มีจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า มีแต่ธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีเราแทรกอยู่ในธรรมเหล่านั้นเลย

ทุกคำในพระไตรปิฎก อันเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็มุ่งให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยพระสูตรใดก็ตาม หรือส่วนใดของพระธรรมคำสอน ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยโวหาร โดยพยัญชนะต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง อันเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง (อภิธรรม) ที่หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา อย่างแท้จริง ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ศึกษาด้วยความตั้งใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ

ประโยชน์จึงอยู่ที่การเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะศึกษาพระสูตร พระวินัย รวมไปถึงพระอภิธรรม ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นอภิธรรม จึงสำคัญอยู่ที่การเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เข้าใจ
วันที่ 17 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นิรมิต
วันที่ 17 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
muda muda
วันที่ 15 ก.ค. 2565

แจ่มแจ้งนัก ขออนุโมทนา ในกุศลจิตของ อาจารย์ ทุกท่านค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ