ธาตุรู้

 
yuyuori
วันที่  16 ม.ค. 2556
หมายเลข  22347
อ่าน  5,122

ธาตุรู้ คืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธาตุ คือ สภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งหมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะคือ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสัจจะ เพราะฉะนั้น ธาตุ จึงกล่าวโดยกว้าง ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ ธาตุที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ และ รูปธาตุ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นต้น

ธาตุรู้ คือ สภาพธรรมที่ทำหน้าที่รู้ นั่นคือ จิตและเจตสิก จิตเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ ส่วนเจตสิกทำหน้าที่ต่างๆ และปรุงแต่งจิต และทำหน้าที่รู้อารมณ์เดียวกับจิต

ซึ่งจากคำถามที่ว่า ธาตุรู้เกิดขึ้นจากอะไร ธาตุรู้ คือ จิต เจตสิก เกิดขึ้นได้ โดยเหตุใกล้ คือ เพราะอาศัยสภาพธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น คือ จิต อาศัยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จึงเกิดขึ้น และ เจตสิกก็อาศัยจิต จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นธาตุรู้ เกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยปัจจัย คือ อาศัยปัจจัยเกื้อหนุนกันและกันเกิดขึ้นประการที่หนึ่ง และจิต เจตสิกที่เป็นธาตุรู้ก็เกิดขึ้นได้โดยอาศัยปัจจัยอื่นอีกมากมาย คือ อาศัยธาตุไม่รู้อะไรเลย คือ อาศัยรูปที่เป็นที่เกิดของธาตุรู้ คือ จิต เจตสิกอาศัยรูป เช่น จิตเห็น ก็ต้องอาศัย จักขุปสาทรูป (ตา) จึงเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นธาตุรู้ อาศัยรูป จึงเกิดขึ้นได้ นี่ก็อีกนัยหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ คือ จิต เจตสิก อาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการจึงเกิดขึ้น อาศัยการปรุงแต่งของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่อาศัยกัน ประชุมรวมกัน จึงเกิดขึ้นได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้รู้ตามความเป็นจริงด้วย สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด สิ่งที่มีจริง เมื่อประมวลแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็น นามธรรม กับ รูปธรรม

นามธรรม มี ๒ ประเภท คือ นามธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ น้อมไปรู้อารมณ์ (อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้) หรือตรงกับคำถามที่ท่านผู้ถามได้ถามคือ เป็นธาตุรู้ รู้โดยกิจหน้าที่ของตนๆ ได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และเจตสิก (ธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) นอกจากนั้นก็มีนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง แต่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงคือ พระนิพพาน นี้คือ กล่าวในส่วนที่เป็นนามธรรม

ธรรมที่มีจริงอีกอย่างหนึ่ง คือ รูปธรรม เป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร แต่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

สภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย นี่ก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จิตไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ เจตสิกไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น มีที่เกิด มีอารมณ์ เป็นต้น และถ้าจะพิจารณาไตร่ตรองแล้ว จะเข้าใจได้ว่า ที่มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ก็เพราะยังมีกิเลสที่เป็นเหตุสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา (ความไม่รู้) และ ตัณหา ความติดข้อง จึงทำให้มีเกิดในภพต่างๆ ทำให้มีสภาพธรรมเกิดสืบต่อเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย

ประโยชน์จริงๆ คือ การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะการฟังพระธรรมจะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น จนสามารถรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ตามความเป็นจริง จึงต้องไม่ขาดการฟังพระธรรม เพราะขึ้นชื่อว่าสาวกแล้ว ไม่มีใครสามารถเข้าใจธรรมได้ โดยไม่ฟัง เพราะต้องฟังพระธรรมด้วยกันทั้งนั้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
doungjai
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ตอนนี้กำลังสับสนในรูปธรรม อยากได้ความเข้าใจมากว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่เช่นนาย ก. (คน) หากไม่มีจิตรู้และเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใช่รูปธรรมหรือไม่ และอยากได้ตัวอย่างรูปธรรมอื่นๆ ด้วยค่ะ เช่นโต๊ะ เก้าอี้ พระอาทิตย์ ภูเขา ใช่รูปธรรมหรือไม่ หรือไม่ใช่รูปธรรม

ขอเรียนถามท่านสมาชิกผู้รู้ด้วยคะ ขอบคุณคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 5 ครับ

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งมาก ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย (ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ใช้คำที่น่ารักมาก ว่า เก็บเล็กผสมน้อย) ครับ

ที่มีการสมมติเรียกว่า เป็นนาย ก. หรือเป็นใครก็ตาม ก็เพราะมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป มีนามธรรมเกิดขึ้น มีรูปธรรมเกิดขึ้น เป็นไป นั่นเอง นามธรรม เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น นี้คือ ตัวอย่างของนามธรรม ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ส่วน รูปธรรม ก็เป็นธรรมที่มีจริง เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เป็นรูปธรรม เพราะไม่สามารถรู้อะไรได้ รูปเป็นรูป สี ไม่ได้รู้อะไร เสียง ไม่ได้รู้อะไร แต่สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ก็คือ นามธรรม ที่เป็นจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่านั้น

ประเด็นที่น่าพิจารณาเพิ่มเติม คือ โต๊ะ เก้าอี้ พระอาทิตย์ ภูเขา ตลอดจนถึงธรรมชาติต่างๆ ที่มีได้ ก็เพราะมีรูปที่มาประชุมรวมกัน จึงบัญญัติเรียกว่า เป็นโต๊ะ เก้าอี้ พระอาทิตย์ ภูเขา ที่มีการบัญญัติเรียกอย่างนั้นๆ ก็เพราะมีรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าเห็นก็เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าจับต้องก็เป็นเพียงสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่เป็นสภาพเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

นามธรรมรูปธรรม

เมื่อเริ่มศึกษา ๔ ...รูปธรรมและนามธรรม

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน [นามธรรมและรูปธรรม]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 17 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

สำหรับ นาย ก ที่สมมติว่ามีชีวิต เพราะมีการเกิดขึ้น ประชุมรวมกันของจิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งถ้านาย ก ไม่มีจิต เจตสิก นาย ก ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต แต่เป็นเพียงรูปธรรมคือ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมรวมกันเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากซากศพ และไม่ต่างจากก้อนหิน อิฐ ดินที่เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น และที่สำคัญ ภูเขา ต้นไม้ เหล่านี้เป็นชื่อที่สมมติขึ้น อันสมมติมาจากสิ่งที่มีจริง คือ รูปธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นธรรมชาติที่มีจริง จึงมีสองอย่างเท่านั้น คือ นามธรรม และ รูปธรรม ไม่ใช่ธรรมชาติที่เป็นต้นไม้ ภูเขา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 18 ม.ค. 2556
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nopwong
วันที่ 18 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 3 ส.ค. 2560

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขอเชิญรับฟังเพิ่มเติม...

ธาตุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ