คำอธิฐานที่ถูกต้อง

 
sornpitak
วันที่  21 ม.ค. 2556
หมายเลข  22369
อ่าน  38,185

กราบเรียนถาม คนทั่วไปเมื่อทำบุญ เช่น ใส่ซองกฐิน แล้วอธิฐานขอให้ ร่ำรวย รอดพ้นจากภัยอันตราย ให้หายจากป่วยไข้ ให้มีอายุยืน คำอธิฐานนี้ถูกต้องหรือไม่ ที่ถูกต้องควรอธิฐานอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐานในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ จากความคิดเห็น ของอาจารย์ คำปั่น อักษรวิลัย

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในการที่จะสะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวันแต่ถ้าเป็นขอ อยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ

ดังนั้น การทำกุศลประการต่างๆ ไม่ใช่เพื่อลาภ ยศ สิ่งที่ใดๆ เลย แต่ทำกุศลด้วย เหตุ 2 ประการ คือ 1. อนุเคราะห์ผู้อื่น 2.เพื่อบูชาผู้อื่น บูชาคุณความดี เพราะฉะนั้นทำกุศล เพราะเป็นกุศล ส่วนผลมีอยู่แล้ว เพราะกุศลเมื่อสำเร็จ ย่อมให้ผลที่ดี แม้จะไม่ขอเลย ซึ่งกุศลจะมีผลมาก เพราะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ ไม่มีอกุศล คือ โลภะ ความต้องการอยากไดบุญเกิดสลับขั้น ครับ

ทำความดี เพราะเป็นความดีเมื่อไม่หวังผล อยากได้ผล ก็ย่อมทำความดีสม่ำเสมอ เพราะผู้ที่หวังผล อยากได้ เมื่อไม่ได้ ย่อมเลิกทำคุณความดี แต่ผู้ที่เห็นว่า ความดี เป็นสิ่งที่ีดี จึงมั่นคงในการทำความดี ดังนั้น แทนที่จะทำความดีแล้วขอ อธิษฐาน เพราะผลมีอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ขอ แต่ก็ทำความดี เห็นประโยชน์ของการทำความดี การสะสมอุปนิสัยที่ดี โดยการทำความดี สำคัญกว่าผลที่ได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
sornpitak
วันที่ 21 ม.ค. 2556

หมายความว่า ทำด้วยจิตบริสุทธิ์ มีความศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งมั่น แล้วเราต้องควรกรวดน้ำแผ่กุศลหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

กุศลทุกๆ ประการ สามารถอุทิศได้ ครับโดยการนึกคิด หรือ กล่าววาจา แม้ไม่มีน้ำ โดยเจตนาอุทิศส่วนกุศล โดยนึกคิดว่า ขอกุศลที่ได้ทำนี้ ขออุทิศให้ญาติทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น ครับ หากญาติอยู่ในฐานะที่รู้ได้ ก็สามารถเกิดกุศลจิต และ ได้ส่วนของกุศลที่ญาติอุทิศมาให้ เพราะฉะนั้น กุศลทุกประการสามารถอุทิศกุศลที่ ได้ทำ ไม่ว่าประการใดประการหนึ่งได้ ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

การกรวดน้ำ อุทิศผลบุญ ความเป็นมาอย่างไร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 21 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sornpitak
วันที่ 21 ม.ค. 2556

มีโอกาสจะไปร่วมฟังธรรมที่มูลนิธิฯ

ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 21 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ไปทำอะไร ด้วยความไม่รู้ ด้วยความติดข้องต้องการ เนื่องจากมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว แม้แต่ในเรื่องของอธิษฐาน ถ้าได้ศึกษาแล้ว จะเข้าใจว่า ไม่ใช่การขอ ไม่ใช่ความติด ข้องต้องการ แต่เป็นความตั้งใจมั่นไม่หวั่นไหว อันเป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นไปใน ธรรมที่ไม่มีโทษเป็นไปเพื่อขัดเกลาและดับกิเลส เป็นการตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ทุกประการเพราะเห็นโทษของอกุศลและเห็นคุณของกุศล ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็น ไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป และสำหรับกุศลที่ตนเองได้เจริญแล้ว ก็สามารถอุทิศ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นที่สามารถจะรับรู้และเกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้ เป็นการเจริญกุศลอีกอย่างหนึ่ง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 21 ม.ค. 2556

ถ้าทำความดี ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม ผลของกุศลนำมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอยู่แล้ว โดยไม่ต้องขอ และถ้าจะอธิษฐาน ก็อธิษฐานว่าด้วยผล ของกุศลนี้ ขอให้เป็นปัจจัยให้ได้ขัดเกลากิเลส ให้มีปัญญาออกจากวัฏฏะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตกราบเรียนถามเพิ่มเติมครับ พอดีมีความสงสัยในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน เกี่ยวกับเรื่องการขอ ของบุคคลในครั้งพุทธกาล ตรงนี้ ขออนุญาติใช้ศัพท์ว่า "ขอ" นะครับ เพราะไม่น่าจะใช่การอธิษฐานแต่อย่างใด ผิดกับที่ผมเคยกราบเรียนถามในกระทู้ก่อนๆ เกี่ยวกับเรื่องการอธิษฐานจิตถึงพระ นิพพาน ที่เป็นกุศลจิตเพื่อหลุดพ้นกิเลส

คือสงสัยว่า อย่างเช่นท่านอุบลวรรณา ที่ในอดีตชาติกาลก่อนท่านได้ทำกุศลกับ พระปัจเจกพุทธเจ้า และท่านก็ขอ ว่าขอผลบุญนี้ ทำให้ไม่ว่าท่านเกิดที่ไรๆ ขอให้ เป็นผู้ไม่ปราศจากดอกอุบล แล้วท่านก็บังเกิดในเทวโลก มีดอกอุบลผุดขึ้นทุกๆ ก้าวย่าง ภายหลังพอมาเกิดในมนุษย์ในชาติที่ท่านถือกำเนิดในดอกบัว กุศลนั้นก็ยัง ติดตามให้ผลให้ทุกๆ ที่ที่ท่านเดินก็มีดอกบัวผุดขึ้นจากปฐพี พอท่านได้กระทำกุศลอีก ก็กล่าวขอให้ท่านมีวรรณะดั่งดอกบัวขาบ พอถือกำเนิดในชาติสุดท้าย ผิวพรรณท่าน จึงผุดผ่องดั่งดอกบัวขาบ

อีกท่านหนึ่งคือท่านที่ได้กระทำกุศลกับพระปักเจกพุทธเจ้าเช่นกัน (กระผมจำชื่อ ท่านไม่ไ่ด้) ที่ท่านได้ขอว่าด้วยกุศลนี้ ขอให้หญิงใดก็ตามเมื่อเห็นท่านแล้วจงเกิด ความกำหนัด พอมาชาติสุดท้ายในสมัยพุทธกาล ท่านก็เป็นบุคคลมีรูปงามชวน หลงใหล หญิงใดๆ เห็นก็เกิดรักใคร่ทุกคน จนได้ภรรยามากมายเพราะไม่ว่าหญิง ใดเห็นก็กำหนัดรักใคร่ จนภายหลังได้บรรลุพระโสดาบันจึงได้เลิกผิดศีลข้อสาม

จึงสงสัยว่า ในกรณีนี้ ท่านเหล่านั้นกระทำกุศล แล้วมีการกล่าวขอ มีอกุศลที่เป็นโลภะ ในการกล่าวขอผลบุญให้ส่งผลเนื่องด้วยกามคุณ ให้ส่งผลเป็นอิฏฐารมณ์ในลักษณะ ต่างๆ ดั่งที่อัธยาศัยของท่านนั้นๆ ต้องการ เช่นขอให้เป็นผู้ไม่ปราศจากดอกอุบล หรือขอให้หญิงใดเห็นก็จงเกิดความกำหนัด

เหล่านี้ ไม่ทราบว่า ได้เพราะการ "กล่าวขอ" หรือไม่ คือ การ "กล่าวขอ" นั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ผลของกุศลวิบากนั้น เป็นอย่างนั้นๆ ดั่งที่ขอ ได้หรือ หรือเพราะกุศลนั้น มีกำลังมาก (เนื่องจากเป็นกุศลที่ได้ทำกับพระปัจเจกพุทธเจ้า) เมื่อกุศลมีกำลังมาก จึงกล่าวขอให้ผลนั้นเป็นดั่งโลภะต้องการได้

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 8 ครับ

เพราะอาศัยกุศลที่มีกำลังมากๆ คือ ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า และ อาศัย จิตที่ตั้งใจ ให้ได้ผล แม้จะมีอกุศลสลับ แต่ กุศลนั้นมีกำลังมากจึงเป็นไปตามที่ปรารถนาได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Boonyavee
วันที่ 23 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
isme404
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
สุภัทรา
วันที่ 24 ม.ค. 2556

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pamali
วันที่ 24 ม.ค. 2556
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 10 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
isme404
วันที่ 14 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ