ทำไมธรรมะนี้ๆ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัย ของสภาพธรรมะนี้ๆ

 
นิรมิต
วันที่  11 ก.พ. 2556
หมายเลข  22469
อ่าน  1,046

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

คือคำถามนี้อาจจะค่อนข้างสับสนวกวนและยาวพอสมควร ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ คือเกิดสงสัย เกิดสับสนขึ้นมา ในเรื่องของเหตุปัจจัยของสภาพธรรมะแต่ละอย่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยพิจารณาเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง บ่อยๆ เนืองๆ และก็ไม่เกิดสงสัย ไม่เกิดวิจิกิจฉาใดๆ มีแต่ความเข้าใจดี พอนึกทีไรปัญญาก็เกิดเข้าใจตามตลอด (ตามที่สติระลึกได้ในขณะนั้น คิดว่าเป็นอย่างนั้นครับ) ว่าเพราะเหตุนี้ๆ ผลอย่างนี้ๆ จึงปรากฏเพราะสภาพธรรมนี้คือฝ่ายเหตุ สภาพธรรมนี้คือฝ่ายผล เพราะอาศัยสภาพธรรมนี้สภาพธรรมนี้จึงเกิด โดยมีลักษณะอาการเข้าใจจริงๆ ว่าสภาพธรรมนี้ๆ เป็นปัจจัยของกันและกัน เป็นปัจจัยที่แท้จริงที่สุด โดยปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ที่จะจริงยิ่งกว่านี้ ที่จะเกินกว่านี้ ไม่มี คือสภาพธรรมที่ทรงแสดง ทั้งปฏิจสมุปบาท ปัจจัยทั้ง 24 เช่น กัมมปัจจัย ฯลฯ นั้น เป็น ของที่ถือว่าจริงที่สุด ที่ใช้คำว่าจริงที่สุดคือไม่ว่าจะอธิบายอะไรอย่างไร เอามิจฉาทิฏฐิมาพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ก็แยกย่อยลงมาอธิบายโดยปัจจัยทั้งหลายตามที่ทรงตรัสได้อย่างนี้ทั้งหมด ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านี้ นี้คือสัจจธรรมสูงสุด โดยสติเกิดระลึกเลยว่าขณะนั้นมีความเข้าใจปรากฏ เข้าใจบทที่ว่า "ข้อนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้" คือเข้าใจว่าฐานะอื่นที่จะพึงเป็นได้ยิ่งกว่านี้นั้น ไม่มี แต่คงเพราะปัญญายังไม่แก่กล้า วันดีคืนดีวิจิกิจฉาเจตสิกที่สั่งสมมานาน ได้เหตุได้ปัจจัย ก็ทำกิจสงสัยอีกแล้ว ว่า เพราะเหตุไร ปัจจัยทั้งหลายที่ทรงแสดง จึงเป็นอย่างนั้นๆ อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ มีไม่ได้หรือ? และเพราะเหตุใด อย่างเช่น วิบากจิตในขณะนี้ ก่อนหน้านี้ก็ทราบดีว่า กรรมเท่านั้นเป็นเหตุเป็ปัจจัย ให้วิบากทางปัญจทวาร และภวังค์ จุติ ปฏิสนธิ เกิด อย่างอื่นที่จะมาเป็นปัจจัยหลักให้วิบากจิตเกิด ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ แต่ก็สงสัยขึ้นมาแล้วว่า ทำไม กรรมจึงเป็นปัจจัยให้วิบากเกิด แล้วก็นึกถึงว่า ทำไมอย่างอื่นเป็นปัจจัยไม่ได้ อย่างเช่นมิจฉาทิฏฐิบางอย่าง ก็เข้าใจว่า มีคนอื่นดลบันดาลให้เราได้สุขต่างๆ ทุกข์ต่างๆ ก็สงสัยว่าทำไมเหตุนั้นจึงมีไม่ได้ ทำไมจิตอื่น จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้วิบากจิตเกิดไม่ได้ หรือทำไม วิบากเอง เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดอีกไม่ได้หรืออย่างอื่นอีก เช่น ทำไมตัณหาในปฏิจจสมุปบาท ถึงเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อย่างอื่นเป็นปัจจัยไม่ไ่ด้เหรอ เช่น จิตอื่นดลบันดาลให้อุปาทานในขณะนี้เกิด /หรือรูปเป็นปัจจัยให้อุปาทานขณะนี้เกิด หรือ ทำไมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงสามารถจะดลบันดาลให้ใครต่อใครรู้แจ้งอริยสัจได้ตามที่พระองค์ตรัสรู้ โดยใช้ปัญ ญาเจตสิกของท่านเป็นปัจจัยให้จิตอื่นรู้ตามๆ โดยไม่ต้องตรัสเทศนาหรือต้องอบรมปัญญาด้วยตน เอง อะไรทำนองนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่เข้าใจ วิจิกิจฉาก็ไม่เกิด แต่พอวิจิกิจฉาเกิดแล้ว ก็ลืมเสียหมด อาการที่เข้าใจในครั้งก่อนนี้ ก็ลืม หาย ถูกปิดบังด้วยอวิชชา นึกไม่ออก กำหนดไม่ได้ แล้วก็เลยพอจะทราบว่า ก่อนหน้านี้คงไม่ใช่ความเข้าใจแท้จริงในเรื่องเหตุปัจจัยต่างๆ ของสภาพธรรม เพียงแต่อาศัยฟัง เข้าใจตามเท่าที่ปัญญาขณะนี้จะรู้ตามได้ แต่ยังไม่ถ่องแท้ ยังกำหนดความเป็นอย่างนั้นๆ ของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไม่ได้ แต่ก็มีความเข้าใจเรื่องอนัตตาดีครับ และก็พิจารณาด้วยความเป็นอนัตตา เพราะทราบดีว่าตัวตนไม่มี มีไม่ได้ อันนี้วิจิกิจฉายังไม่สงสัย เพราะทราบว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นสภาพธรรม แต่ที่สงสัยคือ ทำไมสภาพธรรมนี้ๆ จึงเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมนี้ๆ เกิด ทำไมสภาพธรรมอันอื่นนอกนี้ เป็นปัจจัยไม่ได้ ดั่งเช่นที่ยกตัวอย่าง ทำไมกรรมจึงเป็นปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ทำให้วิบากจิตเกิด อย่างอื่นทำไมเป็นไม่ได้ เพราะเหตุใด?ก็ได้พอเข้าใจว่า เหตุย่อมสมควรแก่ผลเสมอ แต่ยังไม่แจ่มแจ้งว่า เหตุอันไหนสมควรแก่ผลอันไหน ข้อนี้ควรจะพิจารณายังไงดีครับ เป็นพุทธวิสัยหรือเปล่า? เกินวิสัยที่เราจะรู้หรือเปล่า? แล้วพระโสดาบันต้องรู้ ต้องเข้าใจละเอียดถึงเพียงนี้ ต้องประจักษ์ ถึงความเป็นอย่างนี้ๆ ของสภาพธรรมะทั้งหลายไหม? เพราะพระโสดาบันถึงกับดับวิจิกิจฉาเป็นสมุจเฉทได้ ก็คิดว่าท่านก็ควรจะเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องเหตุปัจจัยด้วยใช่ไหม ว่าทำไมเหตุนี้ๆ จึงยังผลอย่างนี้ๆ ให้เกิดได้ ทำไมเหตุอื่นไม่อาจทำได้ ไม่ใช่แค่เชื่อตามโดยอาศัยว่าผู้ตรัสคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ด้วยปัญญาตน เอง แล้วจะบรรลุจนถึงกับดับวิจิกิจฉาได้เป็นสมุจเฉท? ความเข้าใจเหตุปัจจัยตรงนี้ คือกัมมสกตาญาณใช่ไหมครับ? แล้วไม่ทราบว่า กัมมสกตาญาณนี้ เป็นปัญญาระดับไหน เป็นขั้นที่ต้องรู้ถ่องแท้ตั้งแต่จินตามยปัญญา หรือเป็นขั้นสติปัฏฐาน หรือจัดอยู่ในวิปัสสาญาณขั้นใดขั้นหนึ่ง

ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังไม่สามารถดับวิจิกิจฉาความสงสัยได้ และย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เพราะอกุศลเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสำหรับปุถุชนผู้ที่หนาด้วยกิเลส มีปัญญาน้อยมาก เพียงปัญญาขั้นการฟังเข้าใจเพียงเล็กน้อย ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงในตัวของสภาพธรรรม

แม้แต่การรู้ในความเป็นเหตุปัจจัย ไม่ใช่รู้เพียงการคิดนึก ไตร่ตรองเป็นเรื่องราว แต่การรู้ความเป็นเหตุปัจจัยจริงๆ คือ ต้องเป็นปัญญาระดับสูงมากที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ 2 ถึงจะเห็นความป็นเหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่กำลังเกิด แม้แต่ที่ผู้ถามถามว่า วิบากจิต อาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างได้ไหม ที่สงสัยในความเป็นจริงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น อาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างได้ แม้ แต่วิบากจิต ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง จึงเกิดขึ้นได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปัจจัย 24 ปัจจัย วิบากจิตอาศัยกัมมปัจจัยเป็นหลัก แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ จึงเกิดขึ้นได้ด้วย ทั้ง สหชาตปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น จึงเกิดขึ้น นี่แสดงถึงพระปัญญาคุณที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่สัตว์โลกผู้มีปัญญาน้อยไม่สามารถรู้ทั่วถึงเท่าพระองค์ได้หมด แต่รู้ได้ตามกำลังของตน เท่าที่สะสมมา โดยค่อยๆ รู้ขึ้นทีละน้อย จะรู้มากทันทีไม่ได้และจากความสงสัยที่ว่า หรืออย่างอื่นอีก เช่น ทำไมตัณหาในปฏิจจสมุปบาท ถึงเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อย่างอื่นเป็นปัจจัยไมไ่ด้เหรอ เช่น จิตอื่นดล บันดาลให้อุปาทานในขณะนี้เกิด /หรือรูป เป็นปัจจัยให้อุปาทานขณะนี้เกิด

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมีหลากหลายนัย เพื่อให้สัตว์โลกที่สะสมอุปนิสัยมาต่างๆ กันเข้าใจตามนัยของตน แม้แต่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นอุปาทาน ที่เป็นกิเลสต่างๆ ก็อาศัย ตัณหา ที่เป็นโลภะ เป็นเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดความยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นเป็นสำคัญ คือ เป็นเหตุหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาพธรรมอื่นๆ จะไม่เป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน เกิดได้ครับ แต่ไม่ใช่เหตุหลัก ปัจจัยหลัก พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงความเป็นปัจจัย โดยปฏิจจสมุปบาท โดยความเป็นเหตุปัจจัยหลัก ที่มีปัจจัยในกันและกัน ต่อสภาพธรรมแต่ละอย่าง ครับ และ ความสงสัยที่ว่า หรือ ทำไมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงสามารถจะดลบันดาลให้ใครต่อใครรู้แจ้งอริยสัจได้ ตามที่พระ องค์ตรัสรู้ โดยใช้ปัญญาเจตสิกของท่านเป็นปัจจัย ให้จิตอื่นรู้ตามๆ โดยไม่ต้องตรัสเทศนาหรือต้องอบรมปัญญาด้วยตนเอง อะไรทำนองนี้

ตนเป็นที่พึ่งของตน ความหมายคือ ปัญญาของตนเองที่จะทำให้สามารถดับกิเลสได้ ไม่ใช่ปัญญาของผู้อื่น เพราะในความเป็นจริง จิตของใครก็ของคนนั้น จะให้มาเกิดร่วมกับจิตของผู้อื่นไม่ได้ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่ชำนาญทาง ได้บอกทางกับผู้อื่น บางคนก็ไปถูก บางคนก็ไปไม่ถูก เพราะแล้วแต่ความเข้าใจของผู้ที่ได้รับบอกทางแล้วว่า จะไปถูกหรือไม่ ฉันใด เราตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทาง ส่วนใครจะรู้ความจริงดังเช่นเรา ก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคล ข้อนี้ ตถาคตจะทำอย่างไรได้ แสดงถึงปัญญาก็ต้องเป็นของแต่ละคน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทฟัง ใครจะไม่เข้าใจ เข้าใจมาก หรือ น้อย ก็ตามการสะสมของแต่ละคน สมดังพระธรรมคุณที่ว่า ธรรมพึงรู้ได้เฉพาะตน อันวิญญูชน คือ ผู้มีปัญญาพึงรู้ได้

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

เราไม่อาจปลดเปลื้องใครๆ

ส่วนประเด็นในเรื่องการเข้าใจความเป็นเหตุปัจจัย ก็พอเข้าใจได้ในขั้นเรื่องราวไปก่อน เพราะ ปัญญาขั้นแรก จะต้องรู้จักตัวธรรม ไม่ใช่รู้การเป็นเหตุปัจจัย ต่อเมื่อถึงวิปัสสนาญาณที่สองจึงรู้ได้ และที่สำคัญ การรู้ความละเอียดของสภาพธรรมก็จะต้องแตกต่างตามปัญญาของแต่ละคนที่สะสมมา และ ไม่สามารถรู้เท่าพระพุทธเจ้าได้ รู้เท่าที่รู้ ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะไม่ถูกโลภะ ความต้องการอยากรู้หลอกให้อยากรู้ ครับ

ส่วนกัมมสกตาปัญญา คือ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม ซึ่งมีหลายระดับ ทั้งขั้นการฟัง ขั้ประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นตัวกรรม มีเจตนาเจตสิก และ โดยวิปัสสนาญาณ ครับ

การศึกษาพระธรรมตามกำลังปัญญาของตน เข้าใจความเป็นอนัตตาของอกุศลที่จะเกิดขึ้นของปุถุชน ที่จะเกิดความสงสัยเป็นธรรมดา และ ก็ฟังพระธรรมต่อไป ธรรมจะทำหน้าที่เอง ไม่เดือดร้อเพราะเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจความเป็นอนัตตา ก็อบรมเหตุ คือ ศึกษาพระธรรม เข้าใจเท่าไหร่ก็เท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 11 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มีชีวิตเป็นไปตามปกติ แต่ก็มีการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความสงสัยก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง ประการสำคัญคือ การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องเบาสบาย ไม่ใช่เรื่องหนัก ไม่ใช่เรื่องเครียด เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น เพราะสิ่งที่จะต้องศึกษานั้นก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะสะสมอวิชชา ซึ่งเป็นความไม่รู้มาอย่างมากมายในสังสารวัฏฏ์ การที่จะค่อยๆ ขัดเกลาความไม่รู้ ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาเป็นอย่างมากทีเดียว ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว

ไม่มีมีใครสามารถบังคับบัญชาให้ธรรมเกิดได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ดังนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกด้วยตนเอง โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.พ. 2556

ปัญญาขั้นการฟัง ไม่ใช่ปัญญาขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของเหตุปัจจัยต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท เช่น ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ฯลฯ เรียนรู้ชื่อได้ แต่จะเข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ ของลักษณะเหตุปัจจัย ต้องเป็นปัญญาขั้นวิปัสสนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 12 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนา และกราบขอบพระคุณท่านวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Boonyavee
วันที่ 13 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 13 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
natre
วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขอให้กำลังใจสหายธรรมทุกท่านในการฟังพระธรรม ศึกษาธรรมจงเป็นปัจจัยสู่การเป็นพหูสูตและมรรคผลยิ่งๆ ขึ้นไปเทอญ....สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ตุ้ย
วันที่ 14 ก.พ. 2556

ผมมาจากธรรมปฏิบัติ ขออธิบายตามธรรมปฏิบัตินะครับ

ในทางปฏิบัติหลวงปู่ท่านไม่ได้สอนมากมายอะไร ท่านสอนเพียงว่า "สิ่งหนึ่งมีสิ่งหนึ่งจึงมี"โดยความหมายก็คือทุกสิ่งที่มีที่เกิดล้วนมีปัจจัยมาจากอีกสิ่งหนึ่งให้เกิด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีคำเรียกอันเป็นสมมติบัญญัติว่าอย่างไรก็ตาม ตามสมมติบัญญัติที่เราเรียนมันก็มีชื่อเรียกกันอย่างมากมายจำกันแทบไม่ไหวหลักเกณฑ์การรู้ในทางปฏิบัติก็มีเพียงว่า "สิ่งหนึ่งมี สิ่งหนึ่งจึงมี" ก็เท่านี้ครับ

เจริญในธรรมครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ