ความรัก พันธะที่บางเบา เเต่เป็นการถูกจองจำโดยไม่รู้ตัว
ผมเคยได้ยินพระสูตรหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงแสดงอุปมัย เปรียบเทียบความรักหรือความผูกพันธ์ (ตัณหา/ โลภะ) ประมาณที่ว่าคล้ายเชือกหรือพันธนาการที่บางเบาอันคล้องคอ แต่ละคนไว้ ...เพราะความบาง เบานั้น จึงทำให้เราไม่รู้ได้ชัด ไม่รู้สึกขัดเคืองหรือทำให้เราเป็นทุกข์ แต่จริงๆ แล้วมันทำให้เรากำลังถูกจองจำอยู่โดยไม่รู้ตัว และเรากลับยินดีไปในพันธะนั้น ..ผมไม่ทราบว่าอยู่ในพระสูตรใดครับ อยู่ส่วนใดของพระไตรปิฎก รบกวนผู้มีความรู้ช่วยชี้แนะด้วยครับ ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กิเลสเป็นเครื่องจองจำภายใน ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลส ก็ยังไม่พ้นจากเครื่องจองจำไปได้ ถูกจองจำไว้ด้วยกิเลสนานาประการ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เราถูกจองจำมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่ายังไม่รู้จักเครื่องจองจำคือกิเลสที่มีอยู่ภายใน ถูกจองจำทำให้ไม่รู้สึกตัวว่าถูกจองจำ ถูกจองจำทำให้เพลิดเพลินกับสิ่งที่มี เพลิดเพลินกับสิ่งที่ได้รับ ถูกจองจำทำให้หลงลืมไปว่ากำลังถูกจองจำ กล่าวโดยสรุป คือ ถูกจองจำก็ไม่รู้ว่าถูกจองจำ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ถึงจะรู้ว่าตนเองถูกจองจำด้วยกิเลส และกิเลสที่แต่ละบุคคลมีนั้นก็มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจะไม่มีทางรู้ตัวเลยว่ามากไปด้วยกิเลสมากมายเพียงใด มีโลภะก็ไม่รู้ว่ามีโลภะ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา จึงไม่ละเลยในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องตัดซึ่งเครื่องจองจำคือกิเลสได้ เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่ท่านตัดเครื่องจองจำเหล่านี้ได้ ก็ด้วยปัญญา ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความที่กล่าวถึงเครื่องจองจำ ได้ที่นี่ ครับ
พันธนสูตร...เสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้า๒๙๖
บทว่า ทุปฺปมุญฺจ ความว่า ชื่อว่า เปลื้องได้โดยยาก ก็เพราะเครื่องผูกคือกิเลส อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความโลภแม้คราวเดียว ย่อมเป็นกิเลสอันบุคคลเปลื้องได้โดยยาก เหมือนเต่าเปลื้องจากที่เป็นที่ผูกได้ยาก ฉะนั้น
นักปราชญ์ (ผู้มีปัญญา) ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกคือกิเลสนั้น แม้อันมั่นอย่างนั้น ด้วยพระขรรค์คือญาณ (ปัญญา) เป็นผู้หมดความเยื่อใย ละกามสุขแล้ว เว้นรอบ คือ หลีกออก
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากข้อความที่ผู้ถาม ถามนั้น อยู่ใน พันธนาคารชาดก เล่มที่ 57 หน้า 275
[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓
หน้าที่275
๑. พันธนาคารชาดก
ว่าด้วยเครื่องผูก
[๒๕๑] เครื่องผูกอันใด ที่ทำด้วยเหล็กก็ดี
ทำด้วยไม้ก็ดี ทำด้วยหญ้าปล้องก็ดี
นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง
ความกำหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑลก็ดี
ความห่วงใยในบุตรและภรรยาก็ดี.
[๒๕๒] นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง
ทำให้สัตว์ตกต่ำ หย่อน แก้ได้ยาก
แม้เครื่องผูกนั้น นักปราชญ์ก็ตัดได้ไม่มีความห่วงใย
ละกามสุข หลีกออกไปได้.
จบ พันธนาคารชาดกที่ ๑
ซึ่งจะขอเล่าเรื่องนี้พอสังเขปดังนี้ ครับ
พระภิกษุจำนวนหนึ่งได้เดินบิณฑบาตในตอนเช้า ได้เห็นพวกโจรขโมยของถูกจับได้ ถูกมัดด้วยเครื่องมัด มีเชือก และ โซ่ตรวน เป็นต้น เมื่อถึงเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องนี้ว่า ข้าพระองค์ได้เห็นโจรถูกเครื่องผูกมัดหนาแน่น ไม่สามารถหลุดออกมาได้เลย มีเครื่องผูกที่มั่นคง หลุดได้ยากยิ่งกว่านี้อีกไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า เครื่องผูกเหล่านี้จะมั่นคง หลุดได้ยากได้อย่างไร เครื่องผูกเหล่านี้ไม่ได้แก้ยากเลย ยังมีเครื่องผูกที่มั่นคงแก้ได้ยากและไม่รู้เลยว่าถูกอยู่ นั่นคือ กิเลส ความพอใจ ติดข้อง ในบุตร ภรรยา ทรัพย์ เป็นต้น เหล่านี้ ที่เป็นเครื่องผูกที่แก้ได้ยากยิ่ง ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ได้ และพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ในอดีตกาล ผู้มีปัญญาก็ได้แก้เครื่องผูกที่แก้ได้ยากเหล่านี้ ทรงเล่าเรื่องในอดีตกาล
ในสมัยอดีตกาล บิดามารดาของพระโพธิสัตว์ได้หาหญิงสาวมาให้เพื่อเป็นภรรยา ต่อมาภรรยาเกิดตั้งครรภ์โดยที่พระโพธิสัตว์ไม่รู้ พระโพธิสัตว์เป็นผู้อัธยาศัยต้องการออกบวช เมื่อพระโพธิสัตว์จะออกบวช ได้บอกกับภรรยา ภรรยาจึงกล่าวว่าฉันตั้งครรภ์ ท่านรอจนลูกออกจากท้องจึงค่อยบวชเถิด พระโพธิสัตว์จึงรอ เมื่อลูกออกจากท้องแล้วก็บอกว่า ท่านอย่าเพิ่งออกบวชเลย รอจนกว่าลูกจะหย่านมก่อนเถิด พระโพธิสัตว์ก็รอ จนภรรยาท้องบุตรอีกคน พระโพธิสัตว์คิดว่า กิเลสเป็นเครื่องข้อง ทำให้ไม่พ้นจากทุกข์ จึงคิดว่า เราจะออกบวช ไม่บอกใคร จึงหนีไปบวช ได้ฌาน อภิญญา และ ได้กล่าวคาถาที่ว่า เครื่องผูก คือ เชือก โซ่ตรวน ไม่ใช่เครื่องผูกที่แท้จริง แต่เครื่องผูก คือ กิเลสที่เป็นความอาลัย ในบุตร ภรรยา ทรัพย์ เป็นเครื่องผูกที่แท้จริง เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงชาดกนี้จบ ภิกษุที่ฟังอยู่ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ครับ
จากเรื่องนี้ ควรพิจารณาความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นโลภะความติดข้องว่า เป็นเครื่องผูกอย่างไร ในความเป็นจริง เครื่องผูกที่เป็นเชือก โซ่ตรวน ไม่ใช่เครื่องผูกที่แท้จริง เพราะก็สามารถแก้เครื่องผูกนี้ได้ และ ได้ผูกตลอดไปทุกๆ ชาติ แต่กิเลสคือ โลภะ ความติดข้อง เป็นเครื่องผูกที่เบา ย่อหย่อน เพราะไม่รู้เลยว่าถูกผูกอยู่ และ ไม่บาดผิวหนังทำให้บาดเจ็บ โลภะเป็นเครื่องผูกที่ทำให้ตกต่ำและน่ากลัวเพราะ เครื่องผูก คือ โซ่ตรวน เชือก ไม่เป็นเหตุให้ตกนรก ไปอบาย แต่เครื่องผูกคือกิเลส ความติดข้อง เป็นเหตุให้ทำบาป เพราะติดข้องจึงทำบาป เมื่อทำบาปก็ต้องไปนรก ไปอบายไปสู่ที่ต่ำ ทำให้ตกไปในภูมิที่น่ากลัว กิเลส โลภะ เป็นเครื่องผูกที่แก้ได้ยากยิ่ง เพราะเมื่อไม่รู้ก็ไม่สามารถแก้เครื่องผูกได้ ดังนั้น ธรรมที่จะแก้เครื่องผูกได้จึงจะต้องด้วยศาสตรา คือ ปัญญาที่เป็นปัญญาระดับสูง ที่เป็นโลกุตตรปัญญาจึงจะแก้เครื่องผูก คือ กิเลสได้ ครับ
หนทางการละกิเลสที่ถูกต้อง คือ การไม่ใช่ไปละเครื่องผูก คือ โลภะ ความติดข้องใน รูป เสียง... เป็นต้น ก่อน แต่ต้องรู้จักโลภะ สภาพธรรมที่ติดข้อง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราละกิเลส ที่ยึดถือด้วยความเห็นผิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล เป็นสำคัญ ซึ่งการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ปัญญาที่ค่อยๆ เจริญในหนทางที่ถูกต้อง จะค่อยๆ ละกิเลสไปทีละน้อย จนละเครื่องผูก คือ กิเลสได้จนหมดสิ้น ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ไม่เพียงแต่บางเบา แต่มันหอมตลบอบอบอวน เย้ายวนให้โผเข้าหา แทบจะเป็นกันทั้งโลกธาตุนั้นละครับ
ขออนุโมทนา
แม้รู้ว่าถูกจองจำ..ตราบใดกิเลสมีกำลังก็เพลิดเพลินยินดีกับการจองจำนั้นขออนุโมทนาคะ
ข้อความสำคัญค่ะ
"หนทางการละกิเลส ที่ถูกต้อง คือ การไม่ใช่ไปละเครื่องผูก คือ โลภะ ความติดข้องในรูป เสียง.. เป็นต้น ก่อน แต่ต้องรู้จักโลภะ สภาพธรรมที่ติดข้อง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ละกิเลสที่ยึดถือด้วยความเห็นผิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล เป็นสำคัญ ซึ่งการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ปัญญาที่ค่อยๆ เจริญในหนทางที่ถูกต้อง จะค่อยๆ ละกิเลสไปทีละน้อย จนละเครื่องผูก คือ กิเลสได้จนหมดสิ้น ครับ"
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
* ขออนุญาตแจมครับ *
มันเป็นทั้งความสุขและความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ของปุถุชนคนบนโลกที่ยังข้องแวะในกาม อีกอย่าง มันก็เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะต้องมีคู่รักและแผ่พันธุ์ มันจึงเป็นเหตุที่ว่า แท้จริงแล้วมันคือสุขหรือทุกข์กันแน่ เพราะมันคละเคล้ากันอยู่ตลอดเวลาอย่างหนึ่ง เพราะใจมันรักมันจึงทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเบาบางเต็มทีครับ. ผู้ที่มีปัญญาและมีสติพร้อมในการโยนิโสมนสิการอยู่เนืองๆ เท่านั้น จึงจะรู้ว่ารักและความผูกพันธ์นั้นเป็นไฉน?
ขออนุโมทนาบุญครับ.