พันธนสูตร ... เสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๒๐ พ.ย. ๒๕๕๓
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
พันธนสูตร
(ว่าด้วยเครื่องจองจำที่มั่นคง)
... จาก ...
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ - หน้าที่ ๔๔๘ - ๔๕๐
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ -หน้าที่ ๔๔๘ - ๔๕๐
๑๐. พันธนสูตร
(ว่าด้วยเครื่องจองจำที่มั่นคง)
[๓๕๒] สมัยนั้น หมู่มหาชน ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้วบางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน. ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้วในเวลาเช้าถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ครั้นกลับจากบิณฑบาต ในเวลาหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พวกภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน.
[๓๕๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านั้นในเวลานั้นว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า (เชือก) เป็นเครื่องจองจำ ที่มั่น นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่า ความรัก ใคร่นักในแก้วมณีและกุณฑล และความ อาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย เป็นเครื่อง จองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่ หย่อนๆ แต่แก้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นออกบวช เป็นผู้ไม่ มีความอาลัย ละกามสุขเสียแล้ว.
จบ พันธนสูตรที่ ๑๐
อรรถกถาพันธนสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในพันธนสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :- ภิกษุเหล่านั้น ทูลเหตุที่พระอานนทเถระกระทำดีในมนุษย์เหล่านั้น ดังนี้ว่าอิธ ภนฺเต รญฺา. ได้ยินว่า แก้วมณี ๘ เหลี่ยม ที่ท้าวสักกะประทานแก่พระเจ้ากุสราช มาสืบๆ กัน ตามประเพณี เวลาทรงประดับ พระราชาตรัสสั่งให้นำแก้วมณีนั้นมา. มนุษย์ทั้งหลาย กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่พบในที่เก็บ พระราชาจึงให้จองจำพนักงานที่ปฏิบัติงานภายในพระราชนิเวศน์ไว้ สั่งว่า พวกเจ้าจงเสาะหาแก้วมณีนั้นมาให้ พระอานนทเถระเห็นคนเหล่านั้นแล้ว ก็ให้กั้นม่านไว้ แล้วบอกอุบายแก่พวกคนเก็บรักษา. คนเหล่านั้น ก็กราบทูลแด่พระราชา. พระราชารับสั่งว่า พระเถระเป็นบัณฑิต พวกเจ้าจงทำตามพระเถระ. พวกคนเก็บรักษา ก็ตั้งหม้อน้ำไว้ที่พระลานหลวงกั้นม่านไว้ แล้วบอกผู้คนเหล่านั้นว่า พวกท่านจงห่มผ้าแล้วไปที่นั้นจงจุ่มมือลง. คนขโมยแก้วมณีคิดว่า เราไม่อาจจำหน่ายหรือใช้สอยของของพระราชาได้กลับไปเรือน เอาแก้วมณีหนีบรักแร้ห่มผ้ามาแล้วใส่ลงในหม้อน้ำ แล้วก็หลีกไป. เมื่อมหาชนกลับไปแล้ว พวกคนของพระราชา เอามือควานในหม้อน้ำก็พบแก้วมณีแล้วนำไปถวายแด่พระราชา. ได้ยินว่า พระอานนทเถระเห็นแก้วมณี โดยนัยที่แสดงแล้ว. มหาชนก็โกลาหลแตกตื่น. ภิกษุเหล่านั้น เมื่อกราบทูลเหตุที่พระอานนท์ เถระทำดีนั้น แด่พระตถาคต จึงกราบทูลเรื่องนี้. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่อัศจรรย์เลย ที่อานนท์ให้นำแก้วมณี ที่ตกอยู่ในมือพวกมนุษย์มาได้ พวกบัณฑิตแต่ก่อน ตั้งอยู่ในญาณของตนแล้วก็ให้นำสิ่งของที่ตกอยู่ในความครอบครอง แม้ของสัตว์ดิรัจฉานซึ่งบังเกิดในอเหตุกปฏิสนธิมาถวายแด่พระราชาได้ แล้วตรัสมหาสารชาดกว่า อุกฺกุฏฺเ สูรมิจฺฉนฺติ มนฺเตสุ อกุตูหล ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิต คำแปล ในคราวคับขันต้องการคนกล้า ในคราวปรึกษาต้องการคนไม่พูดพล่าม ในคราวมีข้าวน้ำต้องการคนรัก
ในคราวเกิดคดี ต้องการบัณฑิต. บทว่า น ต ทฬฺห ความว่า ปราชญ์ทั้งหลาย ไม่กล่าวว่าเครื่องจองจำนั่นมั่นคง
บทว่า ยทายส ได้แก่ เครื่องจองจำใดทำด้วยเหล็ก
บทว่า สารตฺตรตฺตา ได้แก่ ยินดีแล้วยินดีเล่าด้วยดี หรือ ยินดีแล้ว โดยยินดีนักแล้ว อธิบายว่า ยินดีแล้ว ด้วยความสำคัญว่าสิ่งนี้เป็นสาระ
บทว่า อเปกฺขา ได้แก่ความอาลัย ความเยื่อใย
บทว่า อาหุ แปลว่ากล่าว
บทว่า โอหาริน ได้แก่ คร่าไปในอบาย ๔
บทว่า สิถิล ได้แก่ ไม่ห้ามอิริยาบถ เหมือนอย่างเครื่องจองจำมีเหล็กเป็นต้น.จริงอยู่ เหล่าคนที่ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำนั้น ย่อมไปประเทศอื่นก็ได้ ไปสมุทรอื่นก็ได้ทั้งนั้น
บทว่า ทุปฺปมุญฺจ ไ้ด้แก่ ไม่อาจแก้ได้ เว้นแต่โลกุตตรญาณ
จบอรรถกถาพันธนสูตรที่ ๑๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
พันธนสูตร *
(ว่าด้วยเครื่องจองจำที่มั่นคง)
พระภิกษุทั้งหลาย เห็นมหาชน ซึ่งเป็นบุคคลผู้ทำงานในพระราชวังรับใช้พระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำต่างๆ หลายอย่าง เช่น เชือก ขื่อคาและโซ่ตรวน อันเนื่องมาจากพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่าแก้วมณีอันเป็นเครื่องประดับของพระองค์ ได้หายไป จึงรับสั่งให้จองจำชนเหล่านั้นไว้ก่อน และต่อมาพระอานนท์เถระ ซึ่งเป็นผู้ที่ไปแสดงพระธรรมในพระราชวัง ทราบเหตุการณ์นั้น จึงได้แนะวิธีการให้พวกราชบุรุษกระทำ (ดังที่ปรากฏในพระสูตร) เพื่อที่จะให้ได้แก้วมณีดังกล่าวกลับคืนมา จนเป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิด คิดว่า แก้วมณีอันเป็นของพระราชา ซึ่งเป็นของมีค่ามาก ตนเองไม่สามารถจะนำไปขาย หรือ ใช้เองได้ ก็เลยนำมาคืนด้วยวิธีการตามที่ท่านพระอานนท์แนะนำให้พวกราชบุรุษทำ พระภิกษุเหล่านั้น ได้นำเรื่องที่มหาชนถูกจองจำมากราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า เครื่องจองจำในภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเชือก ขื่อคาหรือโซ่ตรวนก็ตาม ไม่ใช่เครื่องจองจำที่มั่นคง แต่เครื่องจองจำที่มั่นคง ได้แก่ กิเลสประการต่างๆ โดยเฉพาะโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่แก้ยากเปลื้องยาก ต้องเป็นโลกุตตรปัญญา (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโลกุตตรจิต) เท่านั้น ถึงจะเปลื้อง (ดับ) กิเลสเหล่านั้นได้.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
ยามคับขัน ต้องการผู้กล้าหาญ [อรรถกถา มหาสารชาดก]
กาม และ กิเลส เป็นเครื่องผูก [คาถาธรรมบท]
หมายเหตุ คำว่า พันธนะ หมายถึง เครื่องจองจำ หรือ เครื่องผูก ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...