ประวัติพระพุทธศาสนาของพม่า ตอนที่ 3 [มัณฑะเลย์]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า หลังจากสมัยพุกาม ก็เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา และ เมื่อพุกามเสื่อมสลายไป พม่าก็เปลี่ยนราชธานีใหม่ ทั้ง อังวะ หงสาวดี แต่ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของประชาชนชาวพม่าก็ยังคงอยู่ ซึ่งประเพณีของกษัตริย์พม่าทั้งหลาย คือ จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนายามบ้านเมืองสงบเสมอ จึงทำให้เราเห็นคนพม่ายังคงรักษาระเบียบ ประเพณี ความเรียบร้อย ของการประพฤติในการเข้าวัดทำพิธีในพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงสภาพธรรมที่เป็นเพียงกุศลธรรมบางอย่างเท่านั้นที่เป็นเพียงศรัทธาความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส แต่ปัญญา คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ย่อมจะทำคิดถูก และ ถึงการดับกิเลสได้ อันเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง อันเป็นจุดประสงค์สูงสุดในพระพุทธศาสนา
ในสมัยพระเจ้าปดุง ในช่วงของกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 1 พระเจ้าปดุงนี้เองที่ได้ยกทัพ คือ สงครามเก้าทัพ มาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปถึงสองครั้ง พระเจ้าปดุงผู้ครองนครอมรปุระ ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะลย์ ได้ไปตีเมืองยะไข่ ที่อยู่ตอนเหนือของพม่า ติดกับบังคลาเทศ ได้อันเชิญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ คือ พระมหามัยมุณี ปัจจุบันพระมหามัยมุณีเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวพม่านับถือมากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในมหาบูชา 5 อย่างของชาวพม่า
และด้วยความเชื่อว่า พระพุทธมหามัยมุนีนี้ เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต เพราะด้วยเหตุที่ได้รับประทานพร (บางตำนานก็เล่าว่าได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า) จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย โดยทุกเช้า เวลาประมาณ 04.00 น. (ตี 4) พระมหาเถระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธา จะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบ น้ำหอมผสม และ ทำ การปิดทองพระพุทธรูป ขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น
พิธีล้างพระพักตร์ พระมหามัยมุณี
พระเจ้าปดุงเป็นผู้ทะเยอทะยาน ต้องการสร้างเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุด ทรงเกณฑ์แรงงาน ทาสจำนวนมากเพื่อมาสร้างเจดีย์มิงกุน เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุ ที่ได้มาจากพระ เจ้ากรุงจีน โดยทรงมุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ามหาเจดีย์ในพุกาม และใหญ่โตโอฬารกว่าพระปฐมเจดีย์ในสยามประเทศ ซึ่งในเวลานั้น ถือว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณ ภูมิ เกิดแรงกดดัน ส่งผลให้ข้าทาสชาวยะไข่หรือชาวอาระกันจำนวนห้าหมื่นคน หลบหนีการกดขี่แรงงานไปอยู่ในเขตเบงกอล ซึ่งเป็นดินแดนในอาณัติของอังกฤษ แล้วซ่องสุมกำลังเป็นกองโจร ลอบโจมตีกองทัพพม่าอยู่เนืองๆ โดยพม่ากล่าวหาว่าอังกฤษหนุนหลัง กลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษในเวลาต่อมา และทำให้พม่าเสียเมืองในที่สุด
เจดีย์มิงกุนที่สร้างเสร็จจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
คณะมูลนิธิจะล่องเรือ ในแม่น้ำอิระวดี ไปชม เจดีย์มิงกุน
งานก่อสร้างเจดีย์มิงกุนดำเนินไปได้เพียง 7 ปี พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคต หลังจากที่ทรงพ่ายแพ้ไทยในศึก 9 ทัพ มหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ตามความมุ่งหวังของพระองค์จึงเสร็จเพียงฐาน ถึงกระนั้นก็ยังสูงถึง 50 เมตร จะเห็นได้ว่า ความเจริญในพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ศาสนาวัตถุ แต่อยู่ใจที่มีความเข้าใจพระธรรม แต่อย่างไรก็ดี ก็แสดงให้เห็นถึงกุศลจิตไม่มากก็น้อย ที่จะสร้างเจดีย์ ศาสนาสถาน ให้เหมาะสมกับพระบรมสารีริกธาตุ อันประดิษฐานสิ่งที่เป็นตัวแทนของบุคคลที่เลิศที่สุด
พระเจ้ามินดงธรรมกษัตริยฺ์ และ เมือง มัณฑะเลย
ในสมัยยุคล่าอาณานิคม ประมาณปี พ.ศ. 2367 จักวรรดิอังกฤษสามารถยึดครองพม่าตอนล่างแถบเมืองท่าย่างกุ้งไว้ได้ ซึ่งกรุงอังวะหรือพม่าในยุคนั้น ต้องย้ายราชธา นีจากกรุงอังวะมาอยู่ที่กรุงอมรปุระ โดยมีกษัตริย์คือพระเจ้าพะคันหมิ่น ผู้มีความโลภ ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์อย่างกดขี่ รีดนาทาเร้น เข่นฆ่าประชาชนเพื่อแย่งชิงทรัพย์สมบัติเอามาไว้เป็นของตน ทำให้พระเจ้ามินดงได้รวบรวมไพร่พล เข้าทำการยึดพระราชอำนาจ แล้วทรงย้ายราชธานีไปอยู่ ณ ที่แห่งใหม่ คือ เมืองมัณฑะเลย์
พระราชวังมัณฑะเลย์ ที่ประทับของพระเจ้ามินดงธรรมกษัตริย์
พระเจ้ามินดงมีศรัทธาใพระพุทธศาสนามาก พระองค์เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และ ได้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้มีการจารึกพระไตรปิ ฎกลงในแผ่นหินอ่อน 429 แผ่น ณ เมืองมัณฑะเลย์ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. 2414 กระทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ ซึ่งวัดที่ทำสังคายนา คือ วัดกุโสดอ
วัดกุโสดอ สถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ประเทศพม่า
จารึกพระไตรปิฎก 429 แผ่นลงแผ่นหิน
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ประโยขน์ คือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ได้อยู่ที่การท่องจำได้ตามตัวหนังสือ เพราะประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม คือ เกิดกุศลจิต เกิดปัญญา ขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ ดังนั้น สถานที่จารึกพระธรรมที่ดีที่สุด คือ ใจของแต่ละคนที่เข้าใจพระธรรม จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม เก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี ไฟ น้ำ โจร ก็ไม่สามารถเอาไปได้ เพียงแต่ว่าจะเก็บสิ่งใด สิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ สำหรับในชีวิตที่เหลือน้อย ที่ยังมีพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอยู่ในโลกมนุษย์
พระพุทธศาสนา ณ ปัจจุบัน ในเมืองมัณฑะเลย์ ชาวบ้านก็ยังผูกพันและยังมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของชาวพม่าก็จะเป็นผู้ชอบเข้าวัด รักษาศีล วัดเป็นสิ่งที่ผูก พันกับชาวพม่า และ ขอลามัณฑะเลย์ ด้วย สะพานไม้อูเบ็ง เป็นสะพานที่ยาวถึง 2 กิโล เมตร ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมานทางตอนใต้ของเมืองอมรปุระ มุ่งตรงไปสู่เจดีย์เจ๊าต่อจี อยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ ที่สร้างเชื่อมต่อให้ชาวบ้านเดินสัญจร และ ไปไหว้พระ ณ อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งทางคณะจะได้มีโอกาสชมพระอาทิตย์ตก ณ สะพานไม้อูเบ็ง ครับ
ข
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมในตอนข้างต้น ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ อ. ผเดิม ครับ เป็นประโยชน์มากครับ
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ประโยขน์ คือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ได้อยู่ที่การท่องจำได้ตามตัวหนังสือ เพราะประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม คือ เกิดกุศลจิต เกิดปัญญา ขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ ดังนั้น สถานที่จารึกพระธรรมที่ดีที่สุด คือ ใจของแต่ละคน ที่เข้าใจพระธรรม จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม เก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี ไฟ น้ำ โจร ก็ไม่สามารถเอาไปได้ เพียงแต่ว่าจะเก็บสิ่งใด สิ่งที่มีประโยชน์ หรือ ไม่มีประโยชน์ สำหรับในชีวิตที่เหลือน้อย ที่ยังมีพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอยู่ในโลกมนุษย์.....ให้ประโยชน์ทั้งด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ และทั้งข้อคิดทางธรรมค่ะ
ขออนุโมทนา