ข้อความเตือนสติเรื่องปฐมตถาคตสูตร

 
wittawat
วันที่  28 ก.พ. 2556
หมายเลข  22548
อ่าน  2,323

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..

ปฐมตถาคตสูตร .. เสาร์ที่ ๒๔ ก.ค. ๒๕๕๓

๑. ธรรมจักร

ธรรม คือ ปัญญา

จักร คือ เป็นไปเพื่อความรู้จริง

ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีกำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ธรรมจักร เพราะธรรมจักรคือ ปัญญาที่นำไปสู่การรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้มีความจริง และเริ่มเข้าใจความจริง นี่คือ ธรรมจักร ซึ่งความหมายที่แท้จริงแล้ว ธรรมจักร ได้แก่ อริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด

๒. สัจจญาณ-กิจจญาณ-กตญาณ

สัจจญาณ คือ ปัญญาที่เห็นถูกต้องตรงตามพระธรรมที่ทรงแสดง มั่นคงว่าขณะที่ฟังเพื่อเข้าใจถูก เพื่อถึงการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง

การเข้าใจในขั้นฟัง แม้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของธรรมตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นการเริ่มเข้าใจถูกขึ้น เช่น ตา หู จมูก ขณะยังเป็นเด็ก เกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็วฉันใด ก็ไม่ใช่ขณะที่เป็นอยู่อย่างนี้ทุกๆ ขณะ ห้ามเกิดแล้วต้องตายไม่ได้ ห้ามเห็น ได้ยิน คิดนึก ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เราเกิด แต่เป็นธาตุเกิด ซึ่งต้องมีเหตุปัจจัย และดับไป การเข้าใจมั่นคงว่าเป็นธรรม แต่ละลักษณะ แต่ละหนึ่งจริงๆ จึงเป็นสัจจญาณ

ไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณ (สติปัฏฐาน) เกิดไม่ได้

ถ้าคิดว่าจะทำให้สติเกิดรู้สภาพธรรม ขณะนั้น คือ อวิชชา

สติขั้นฟัง คือ รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ต่อเมื่อใดที่กำลังรู้โดยการฟัง และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เริ่มรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ใช่คิด และไม่ใช่แม้คิดชื่อของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นคือ กิจจญาณ ที่ทำกิจเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าแทงตลอดความจริง จึงเป็นกตญาณ

การฟังเริ่มเข้าใจถูกนั้นเป็นปัจจัยให้สามารถเริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าจะแทงตลอดความจริง เป็นสัจจญาณ (ปัญญาที่เข้าใจมั่นคงว่าขณะนี้ คือ ธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละลักษณะ) หรือยัง? มั่นคงหรือยัง?

ความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยมาก เช่น ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏ รู้มากแค่ไหน? เพียงฟัง แต่กว่าจะระลึกด้วยความเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ต้องเป็นผู้มีความมั่นคง (ว่าทุกอย่างเป็นธรรม จากการฟัง) เป็นสัจจญาณ จึงมีกิจจญาณ (ปัญญาที่ทำกิจรู้ตรงลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง) และกตญาณ (ปัญญาที่แทงตลอดลักษณะของธรรม เช่น ความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรม เป็นต้น)

ปัญญาที่จะสามารถรู้ความจริงของอริยสัจจ์ ๔ ได้ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ ในอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งเป็นปัญญาหรือญาณ ที่มีวนรอบ ๓ ได้แก่ สัจจญาณ ในอริยสัจจ์ ๔ กิจจญาณในอริยสัจจ์ ๔ และ กตญาณในอริยสัจจ์ ๔ โดยที่ไม่พ้นไปจากการรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

ระลึก ไม่ใช่การคิดลักษณะ แต่เป็นการรู้ลักษณะ เช่น แข็งมีจริง รู้ตรงแข็งขณะที่แข็งนั้นปรากฏ เข้าใจความต่างของแต่ละอย่าง “แต่ละหนึ่งๆ ที่หลากหลาย” ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เช่น แข็งขณะนี้ ก็ไม่ใช่แข็งเมื่อครู่นี้ เสียงขณะนี้ก็ไม่ใช่เสียงที่ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสามารถรู้ธรรมขณะนั้น วันหนึ่งก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมนั้น

๓. ความละเอียดของความเข้าใจ

ทุกอย่างเกิดแล้วดับ แต่ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้

๔. เหตุที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

ฟังว่า “ธรรมกำลังปรากฏว่าเป็นธรรม แล้วรู้ลักษณะหนึ่งหรือไม่” ทั้งที่ฟังเรื่องของสภาพธรรมอย่างนี้ เช่น มีเสียง ได้ยิน อ่อน แข็ง คิดนึก เป็นต้น แต่ก็ไม่รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะโลภะและอวิชชา (ถ้าขณะนั้นไม่เป็นโทสะ วันหนึ่งๆ ก็เป็นโลภะโดยตลอด) แม้แต่เอื้อมมือไปก็เป็นโลภะ ให้ทราบถึงสมุทัย (เหตุ) ที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง “ตราบใดที่กำลังเป็นโลภะ ตราบนั้นไม่รู้ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ” แต่ขณะใดที่ไม่มีโลภะ โทสะ อกุศล ขณะนี้ ก็มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม

๕. เหตุที่ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์

เดี๋ยวนี้สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่รู้ว่าทุกข์ เพราะสติปัฏฐานไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับตามความเป็นจริง ความจริงเกิดดับๆ สืบต่อกันตลอดเวลา จนกระทั่งปิดบังการเกิดดับ จึงไม่เห็นทุกข์ของการเกิดดับ แล้วไม่เหลืออะไรเลย ว่างเปล่าจากสาระ เพราะฉะนั้นจากการฟัง เป็นสัจจญาณก่อน จนกว่าเป็นกิจจญาณ ด้วยความเข้าใจขึ้น จนสามารถละความถือมั่น แทงตลอดความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ

๖. เหตุที่ไม่สามารถฟังธรรมเข้าใจได้อย่างเร็ว

ความไม่รู้มีอยู่มากมาย สะสมมาแน่นลึก ให้ฟังธรรมเข้าใจทันที เป็นไปไม่ได้

๗. ธรรมหนึ่ง

ขณะนี้อะไรเป็นธรรมหนึ่ง? (เห็นเป็นธรรมหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยิน เป็นต้น)

ขันธ์ คือ แต่ละหนึ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วดับไป

๘. กำลังเห็นอะไร?

ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ขณะนี้เห็นอะไร? เป็นคน เก้าอี้ หรือว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นได้

๙. จะรู้ว่าเป็นทุกขอริยสัจจ์ได้อย่างไร?

ทุกขอริยสัจจ์ คือ ธรรมที่เกิดดับ ซึ่งไม่ต้องแสวงหา ขวนขวาย เพราะมีอยู่ทุกขณะ เพียงแต่ฟังแล้วเข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรม

ธรรมเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เป็นสอง ไม่ซ้ำกัน สิ่งที่ปรากฏ เกิดแล้วหนึ่ง แล้วก็ดับไป สิ่งที่เกิดต่อ เป็นอีกหนึ่ง ไม่ใช่อันเก่า เกิดแล้วดับ เมื่อเข้าใจเช่นนี้ จะทราบว่าความจริงแต่ละหนึ่งที่มีปัจจัยเกิดดับ เป็นทุกข์ เพราะไม่มีใครยับยั้งให้ ไม่ให้เป็นเช่นนี้ได้เลย

ถ้าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยังคงถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ถ้าสิ่งนั้นเที่ยงก็ไม่ใช่ทุกขอริยสัจจ์ เพราะเสมือนไม่ได้ดับไป (เหมือนเป็นคน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ไม่ได้ดับไป)

๑๐. สังสารวัฏฏ์คืออะไร? และความจริงที่ปรากฏในสังสารวัฏฏ์ทุกขณะที่ธรรมเกิดดับสืบต่อ คือ สังสารวัฏฏ์ เช่น ก่อนเสียงปรากฏ ไม่มีเสียง เมื่อเสียงปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ “ทุกอย่างที่มีในขณะนี้เป็นเพียงหนึ่งขณะของสังสารวัฏฏ์ที่สืบต่อ”

ถ้าจะรู้ลักษณะของธรรม หนึ่ง ต้องอาศัยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจากการฟังเป็นปัจจัยให้เข้าใจลักษณะที่ปรากฏ เริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้ตรงแข็งเมื่อใด เริ่มเข้าใจลักษณะนั้นที่ไม่เป็นลักษณะอื่น ซึ่งลักษณะอื่นไม่ได้ปรากฏเลย คือ โลกที่เป็นอย่างนี้ หายไปหมด มีแต่แข็งและธาตุที่กำลังรู้แข็งในความมืดสนิท ซึ่งกว่าที่จะรู้แต่ละธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตนทีละหนึ่งได้ ก็ต้องด้วยความเข้าใจ ว่าเป็นธรรม

๑๑. รู้ได้อย่างไรว่าจะสามารถรู้แจ้งความจริงได้?

จากการฟังก็พิจารณาเข้าใจความจริง ว่าถ้าสิ่งที่ได้ฟัง (เช่น ทุกอย่างคือธรรม ธรรมมีสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง คิดนึก เป็นต้น) เป็นจริง ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งได้ด้วยความเข้าใจถูก จากปัญญาที่เข้าใจขั้นฟังจนกระทั่งรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นจริงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง ละคลาย (ความไม่รู้) ด้วยความเข้าใจมากขึ้น จึงจะสามารถประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้

๑๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ คือ อะไร?

ขณะนี้รู้ไหมว่ากำลังมีโลภะ? (ไม่รู้ แต่ท่องได้ว่าโลภะ คือ ทุกขสมุทัย) แต่ความจริง คือ ขณะใด ไม่ว่าจะหลับตา เหลียวซ้าย แลขวา เป็นโลภะทั้งนั้น “ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภะที่ทำกริยาอาการเคลื่อนไหว ไปได้” เพราะฉะนั้นควรฟัง เพื่อที่จะละความไม่รู้ และคลายความติดข้องใน สิ่งที่ปรากฏ (ปัญญาเป็นธาตุที่ละ ซึ่งตรงข้ามกับความติดข้อง และปัญญาเป็นธาตุที่รู้ซึ่งตรงข้ามกับความไม่รู้)

๑๓. ฟังพระธรรมเพื่ออะไร?

การฟังเพื่อ “เข้าใจถูก” ไม่ใช่เพื่อทำอะไร (แค่คิดจะทำก็เป็นโลภะแล้ว)

ฟังธรรมเพื่อ “ไม่ลืมว่า ขณะนี้มีความจริงของสิ่งที่ปรากฏ” จนกว่าจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่ฟังธรรม ถึงเวลาที่จะรู้แจ้งความจริงหรือยัง? ถ้ายังไม่ถึง ก็คือ “การสะสม”ถ้าถึงเวลาเมื่อใด ก็มีปัจจัยที่จะรู้ตามลำดับขั้นของปัญญา ซึ่งละคลายความสงสัย ความไม่รู้ ไม่มีใครรู้ธรรมโดยไม่ศึกษาธรรม

ธรรมยาก ถ้าไม่เริ่มฟังแล้วเมื่อไรจะเข้าใจ

ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งในชีวิตได้ นอกจากความเป็นผู้เข้าใจธรรม

๑๔. รู้ความจริงของสภาพธรรมได้เมื่อไร?

เมื่อใดที่เริ่มเข้าใจตัวธรรม ลักษณะของธรรม กระทั่งชินในลักษณะของธรรมที่ไม่ใช่เรา การติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะค่อยๆ คลายลง ที่สุดจะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

๑๕. ตามหาธาตุ หรือ รู้ธาตุ?

ธาตุ หรือ ธรรมอย่างเดียว ในบรรดาธาตุทั้งหมดที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นต้น ไม่ใช่ฟังเพื่อคิดตามหา (ธาตุ) แต่นั่น คือ ความไม่รู้ ว่าธาตุชนิดนี้เพียงปรากฏให้รู้ว่าเป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธาตุที่กระทบจักขุปสาทรูป ปรากฏเมื่อจิตเห็นเกิด เห็นแล้วดับ

๑๖. ละสักกายะได้อย่างไร?

การจะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด (สักกายะ คือ เรา) ได้ ต้องมีความเข้าใจลักษณะของธรรมทีละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ตรงตามความเป็นจริงไม่ปะปนกัน (ถ้าเป็นผู้เข้าใจความจริง ก็จะสามารถรู้ว่าความจริงทั้งหมด ไม่ใช่เรา)

๑๗. ความจริงปรากฏกับปัญญาได้อย่างไร?

ขณะนี้แม้สภาพธรรมที่มีอยู่เป็นอย่างนี้ อวิชชาความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็นที่กำลังมี และสภาพธรรมทั้งหมด เป็นต้น ปิดบังการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรม บางคนอยากรู้แจ้งโดยไม่มีปัญญา พยายามให้แข็งปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ไม่ใช่หาว่าเมื่อไรแข็งปรากฏ แต่ความจริงขณะนั้น ไม่มีอย่างอื่นเลยนอกจากธาตุที่รู้แข็ง และแข็งเท่านั้น ไม่ใช่การคิดหา แต่เริ่มเข้าใจ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะคลายความติดข้องและความไม่รู้เพิ่มขึ้น สภาพธรรมก็สามารถปรากฏตามความเป็นจริงได้

๑๘. เป็นปัญญาที่เจริญขึ้นหรือเป็นตัวตน?

การอบรมเจริญปัญญาทั้งหมดเป็นเรื่องละ ถ้าใครอยากได้ก็ถอยกลับไปอีก เป็นตัวตน เพราะเป็นเราที่ต้องการ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 28 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 28 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ฐาณิญา
วันที่ 28 ก.พ. 2556

อนุโมทนาด้วยค่ะ สาธุๆ ๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chulalak
วันที่ 6 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 16 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
boonpoj
วันที่ 3 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jatupon
วันที่ 3 เม.ย. 2556

ธรรม คือ ปัญญา จักร คือ เป็นไปเพื่อความรู้จริง ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีกำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ธรรมจักร

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
fam
วันที่ 6 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เข้าใจ
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
panasda
วันที่ 25 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 28 เม.ย. 2556

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 20 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
s_sophon
วันที่ 11 ต.ค. 2560

ดีใจ ที่ได้เห็น และได้อ่าน ข้อความเหล่านี้ ที่ลำดับกันมา 3 links

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ