พระโสดาบันกับอัตตสัญญา

 
นิรมิต
วันที่  24 มี.ค. 2556
หมายเลข  22675
อ่าน  1,301

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตเรียนถามดังนี้ครับ

พระโสดาบันยังมีอัตตสัญญา ทรงจำว่ามีร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าอยู่ไหมครับ โดยที่ไม่ได้สำคัญว่าเป็นของๆ เรา แต่ทรงจำไว้ ว่ายังมีแขน มีขา มีมือ มีเท้า มีอวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆ เหมือนเวลาเห็นเก้าอี้ ก็จำว่านี่คือเก้าอี้ หรือเห็นโต๊ะ เห็นดอกไม้ ก็จำว่านี่โต๊ะ นี่ดอกไม้ โดยที่ไมไ่ด้มีความเห็นจริงๆ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ที่เป็นตัวตน แต่ยังทรงจำไว้ ว่ามีสิ่งนั้นๆ เรียกชื่ออย่างนั้นๆ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่า อัตตสัญญา คืออะไร? อัตตสัญญา คือ ความจำผิดว่ามีสัตว์ บุคคลมีตัวตน มีเราจริงๆ จะต้องเกิดร่วมกับความเห็นผิด จะเห็นได้ว่า พระโสดาบันท่านดับความเห็นผิดได้ทุกประเภท ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์บุคคล ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย อัตตสัญญาจึงไม่มีกับพระอริยบุคคล แต่การหมายรู้ว่าเป็นคนนั้น คนนี้ เป็นเก้าอี้ เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ด้วยความความจำผิดก็ได้ เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า เพราะมีการประชุมกันของสภาพธรรม จึงมีการสมมุตบัญญัติว่าเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นแขน เป็นขา เป็นเก้าอี้ เป็นต้น ด้วยความเข้าใจถูกตามความเป็นจริง ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แม้จะเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม

พระสัมมามาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอริยสาวกทั้งหลาย ก็รู้ว่าใครเป็นใคร รู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อัตตสัญญา จึงจะต้องเป็นความจำที่ผิด คือ จำว่ามีสัตว์ บุคคล มีเรา ที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกที่เป็นความเห็นผิด ซึ่งพระอริยบุคคล ไม่มีแล้ว เพราะดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อัตตสัญญา คือ การจำว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ซึ่งพระโสดาบันละได้แล้ว คือ ละสัญญาวิปลาส ละการจำผิดว่า มีเรา มีสัตว์บุคคล เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบันและแม้พระพุทธเจ้าและปุถุชน เมื่อเห็นสิ่งที่ปรากฎทางตาแล้ว จะต้องคิดนึกต่อเป็นรูปร่างสัณฐาน หมายรู้ว่าเป็นใคร เป็นพระสารีบุตร เป็นโต๊ะ เก้าอี้ แต่พระโสดาบันและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่เกิดการจำผิดว่า เป็นเราเป็นสัตว์บุคคลจริงๆ ในขณะนั้น แต่ก็ยังเป็นเป็นสัตว์ บุคคล และมีสัญญา ความจำที่จำในรูปร่าง สัณฐานนั้น แต่จำ ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด และ ไม่ใช่อัตตสัญญา ที่จำผิดว่ามีสัตว์ บุคคลจริงๆ เพียงแต่จำ ในนิมิตสัณฐานนั้น ตามสภาพธรรมที่เป็นอย่างนั้น เพื่อหมายรู้ว่า เมื่อเห็นต่อไปก็จำลักษณะนี้ได้ว่าเป็นใคร สิ่งใด แต่การรู้ว่าเป็นสิ่งใดหรือว่าเห็นว่าเป็นใคร ไม่ได้หมายถึง จะต้องมีอัตตสัญญา เพราะ พระอริยเจ้าทั้งหลายก็เห็นอย่างนั้น รู้ว่าเป็นใคร สิ่งใดเช่นกัน

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 25 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 25 มี.ค. 2556

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

๑. อัตตสัญญากับสักกายทิฏฐิ ต่างกันอย่างไรครับ เข้าใจว่าเป็นคนละองค์ธรรม แต่ต้อง เกิดร่วมกันใช่หรือไม่ครับ

๒. ในชีวิตประจำวัน เราพอจะสังเกตลักษณะของอัตตสัญญา กับ สักกายทิฏฐิ ได้หรือไม่ และอย่างไรครับ ว่าเป็นขณะไหน

๓. การเพิกอิริยาบถ มีความเกี่ยวข้องกับ อัตตสัญญาหรือสักกายทิฏฐิ อย่างไรครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอนอบนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นของคุณหมอ daris ครับ

- สักกายทิฏฐิ กับ อัตตสัญญา ก็ต้องเข้าใจไปทีละคำ คือ สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เห็นผิดว่ามีเรา ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ส่วนอัตตสัญญา เป็นความจำผิด ที่เป็นไปกับด้วยความเห็นผิดว่า มีเรา มีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่สัญญาเจตสิก แต่เป็นสัญญาที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

เพราะตามความเป็นจริงแล้ว จิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ขณะที่ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย รวมทั้งสัญญา ก็เกิดร่วมด้วย ซึ่งทำกิจหน้าที่จำ แต่เมื่อเป็นความเห็นผิดเกิดขึ้น สัญญาก็จำผิด คือ จำว่ามีเรา จำว่ามีอัตตา มีตัว มีตนด้วยอัตตสัญญา แต่ทั้งสองประเภทนั้นไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ แต่เกิดร่วมกัน

- ขณะใดที่มีความยึดถือจริงๆ ด้วยความเข้าใจผิดเห็นผิดว่า มีเรา มีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคล จริงๆ ขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นสักกายทิฏฐิ พร้อมกับสัญญาที่จำผิดด้วย ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ แต่ละขณะ จึงจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

- ขณะที่เพิกอิริยาบถ คือ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลัง ปรากฏตามความเป็นจริง โดยไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน แต่อย่างใด เพราะขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ขณะใดก็ตาม ขณะนั้น เป็นกุศลธรรม แต่สักกายทิฏฐิ กับ อัตตสัญญา เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกันกับกุศลธรรมอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อกุศลทุกชนิดไม่เกิดขึ้น รวมทั้งสักกายทิฏฐิ กับ อัตตสัญญา ด้วย ครับ

ผมได้กลับไปอ่านทบทวนในหัวข้อที่คุณหมอ เคยถามไว้ คือ ....

ขอความเข้าใจเกี่ยวกับสักกายทิฏฐิครับ

เป็นประโยชน์มาก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 26 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นครับ เข้าใจขึ้นมากครับแต่คงต้องค่อยๆ ศึกษาพิจารณาต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 26 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 5 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ