ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๘๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๘๗]
--- ชีวิตของบรรพชิตท่านยังมีกิจ แล้วฆราวาสก็ยังต้องเพิ่มกิจมากกว่านั้นมาก ทีเดียว ตามวิสัยของฆราวาส แต่ไม่พ้นวิสัยของการที่จะเจริญสติที่จะรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ถ้าพ้นวิสัย อุบาสกอุบาสิกาจะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุที่ไม่พ้นวิสัย อุบาสกอุบาสิกาจึงเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็บรรลุมรรคผล นิพพานได้
--- ถ้าจะพึ่งพระผู้มีพระภาค พึ่งโดยอย่างไร สมัยนี้พึ่งได้ไหม? หรือว่าพึ่งไม่ได้ แล้ว? ยังพึ่งได้ ถ้าศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ ตามธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วย เพราะเหตุว่า อะไรจะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงในชีวิต จะพึ่งอะไรได้ พึ่งทรัพย์สมบัติได้ไหม พึ่งบุคคลอื่นได้ไหม อย่าลืมว่าถ้าคิดจะพึ่ง อย่างอื่น ก็ขอให้ระลึกถึงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคที่ว่า มีตนเป็นเกาะ มีตน เป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
--- การที่ตนจะเป็นที่พึ่งได้นั้น ก็ต้องเป็นการเจริญกุศลที่เป็นประโยชน์ที่จะเป็น ที่พึ่งได้จริงๆ เพราะเหตุว่ากุศลก็มีหลายระดับขั้น แต่กุศลที่จะเป็นประโยชน์ เป็นที่ พึ่งได้จริงๆ นั้นก็คือ การระลึกรู้สภาพธรรม มีปัญญาละความเห็นผิด จนกระทั่งหมด กิเลสในที่สุดได้
--- ไม่มีใครทราบจริงๆ ในเรื่องของภพภูมิต่อไป การที่มีโอกาสได้อยู่ในภพภูมินี้ และมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นสิ่งที่ ประเสริฐที่สุด
--- ความไม่ประมาทนั้น จะเป็นในเรื่องของการเจริญกุศล ไม่ใช่ในเรื่องของอกุศล ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพธรรมที่เป็นสภาพ ธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม ไม่มี ของเราหรือของใคร แม้นามธรรมก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจสภาพ ธรรมตามความเป็นจริง ท่านจะมีตนเสมอกับบุคคลอื่น เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจใน ความต้องการของคนอื่น มีความเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น มีความเข้าใจว่า กาย วาจาอย่างไร คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ในเมื่อท่านก็ทราบว่า กาย วาจาอย่างนั้น ท่าน รู้สึกอย่างนั้น
--- ท่านมีกิเลสมากมายเพียงไร แม้แต่ในเรื่องของการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม หรือต่อสภาพธรรมที่ควรอ่อนน้อม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ถ้าสติเกิด ท่าน ทราบได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นยกตนข่มบุคคลอื่นหรือไม่ หรือว่ามีความเคารพน้อยเหลือ เกินในสิ่งที่ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง
--- สาวกที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมไม่ขาดธรรมทั้งในขณะที่ฟัง ธรรม สนทนาธรรม หรือแม้ธรรมปฏิสันถาร ข้อสำคัญก็คือว่า ควรจะเป็นธรรมจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพร้อมทั้งเหตุผลในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นการคิด หรือคาดคะเนเอาเอง
--- ถ้ายังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของสภาพ ธรรมที่ปรากฏ จะทำให้ความเห็นผิดเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดจะ ปรากฏเป็นความเห็นผิดที่ใหญ่หลวง หรือเป็นโทษ เป็นอันตรายมาก
--- ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง ไม่ว่าท่านจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะกระทบสัมผัส เป็นสุข เป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านไม่มีกรรมของท่านที่ได้กระทำ แล้ว เป็นเหตุเป็นปัจจัยแล้ว สภาพธรรมต่างๆ เหล่านั้นไม่สามารถจะเกิดกับท่านได้
--- แต่ละบุคคลในวันหนึ่งๆ ก็มีสุข มีทุกข์ต่างกันไป มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย คือ กรรมของแต่ละท่านซึ่งได้ กระทำไว้แล้วในอดีต เป็นปัจจัยที่พร้อมที่จะให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะต่างๆ กันไป แล้วแต่กรรมของท่านเอง
--- แม้ในมนุษย์ในโลกนี้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ กุศลกรรมนั้นก็ย่อม ให้ผล เช่นเดียวกับอกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว ท่านก็ได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เป็นเพราะ อดีตอกุศลกรรมของท่านเอง ส่วนที่จะมีใครช่วยได้หรือช่วยไม่ได้นั้น ก็แล้วแต่กุศล กรรมของท่านอีก ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้ทำกุศลกรรมไว้ ก็มีผู้ที่จะช่วยได้
--- บุญเหมือนญาติสนิท ซึ่งจะติดตามไปคุ้มครองรักษา หรือช่วยแก้ไขเหตุการณ์ ต่างๆ ให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ได้
--- ฟังพระธรรมเข้าใจขึ้น ขณะนั้นก็ละความต้องการแล้ว ยามทุกข์ ยามยาก ยามเดือดร้อน ถ้ามีความเข้าใจถูก ก็ย่อมพ้นภัย ความเข้าใจธรรม เป็นที่พึ่งได้เสมอ
--- ขณะนี้ ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่มีจริงได้ แต่ถ้าไม่ได้ฟัง พระธรรม ย่อมหมดทาง ไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้
--- ถ้าเห็นโทษของความโกรธ ความคิดร้าย ความพยาบาท ความปองร้ายซึ่งเป็น อกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้เริ่มเจริญเมตตา แม้ในขณะนี้ได้
--- การสละความเห็นแก่ตัวขั้นอภัยทาน ทำให้สละความคิดร้าย สละความแค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น
--- เมตตา มีคุณมากมากมาย พร้อมทั้งอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมอื่นๆ เจริญ ขึ้นด้วย จึงควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำมาซึ่ง ประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นอย่างแท้จริง
--- พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้เกิดกุศล ไม่ใช่อกุศล เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ และเพื่อสะสม ปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก ต่อไป
--- ทำไม ถึงไม่ค่อยได้คิดกันว่า ในที่สุดแล้วเราก็จะต้องตาย? (อะไร ที่ควรจะ สะสมให้มีขึ้น ก่อนที่วันนั้นจะมาถึงซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด ก็คือ ความดี และ ความเข้าใจธรรม)
--- ต้องรู้ความจริง จึงจะละคลายความไม่รู้ ความติดข้อง และความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคล
--- เป็นบุญแล้ว ที่ได้เห็นว่า อกุศล น่ากลัว เพราะไม่รู้ จึงทำชั่ว ขณะนั้นไม่สงบ หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล
--- ไม่มีอกุศลแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่ขัดขวางความดี เพราะอกุศล ทุกประเภท เป็นสิ่งที่ขัดขวางความดี ความดีเกิดขึ้นไม่ได้เลยในขณะที่เป็นอกุศล
--- ฟังพระธรรม เพื่ออะไร? เพื่อเข้าใจธรรม เพราะแต่ก่อนไม่เข้าใจ จึงได้ฟัง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่ฟังเลย แล้วจะให้มีความเข้าใจ ถูกเห็นถูก ย่อมเป็นไปไม่ได้
--- กล่าวได้ไหมว่า ไม่รู้อะไรเลย ตั้งแต่เกิดมา จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๘๖ ได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๘๖
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ
- พระธรรมจะอนุเคราะห์ให้พิจารณา เห็นโทษของอกุศลและ ความโกรธ ซึ่งถ้าไม่ เห็นโทษก็จะไม่ขัดเกลาและละคลายเลย ฉะนั้น ผู้มีทุกข์ควร พิจารณาทุกข์ซึ่งเป็น ความโศกเศร้า เสียใจ น้อยใจ กลัดกลุ้ม โกรธเคือง ขุ่นใจ ไม่แช่มชื่นว่าเป็นลักษณะ ของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายจิตโดยประการต่างๆ ตามที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงไว้อย่างไรบ้าง และมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาละคลายความโกรธ หรือโทสะนั้นแล้วหรือยัง ซึ่งก็จะต้องเห็นโทษและเห็นความละเอียดของความโกรธ เสียก่อน
- การมีความรู้เรื่องกรรม เป็นการได้เข้าใจ" ความจริงอันประเสริฐยิ่ง " ความจริงที่ แม้ยากจะรู้ตาม เห็นตามได้ แต่ก็สามารถจะพิจารณาและไตร่ตรองให้เข้าใจตามหลัก ของเหตุและผลได้ การรู้เรื่องกรรมทำให้เรารู้ความจริงว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ เรา ไม่ว่าดีหรือร้ายก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นกระทำ แต่ เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้กระทำเหตุไว้แล้วในชาตินี้หรือในอดีตชาติ
- ถ้าจะอยู่ไปโดยไม่รู้ว่าวันไหนจะมีความทุกข์อย่างมาก จะป่วยเจ็บไข้ อย่างหนัก จะพิการ จะสูญสิ้นทรัพย์สมบัติหมด เมื่อไม่รู้สาเหตุ ความทุกข์ก็ย่อมมากทีเดียว แต่ ถ้าสามารถเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลโดยละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเห็นพระคุณของ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดทุกประการ เพื่อให้ผู้ฟังเกิด ปัญญา สามารถที่จะรู้จักตนเอง ตามความเป็นจริงทุกขณะตั้งแต่ตื่นจนหลับทุกวัน ซึ่งถ้าเข้าใจเรื่องปรมัตธรรมก็จะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย ท่านที่สะสมปัจจัยที่จะได้เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี กระทบ สัมผัสสิ่งที่ดี ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเพียง ชั่วกาล ชั่วขณะ เพราะเหตุว่าไม่มีอะไร ที่เที่ยงแท้แน่นอน
- เราควรมีเมตตาแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้เพื่อนฝูงหรือญาติมิตรเพื่อให้เขาได้รับ ประโยชน์ ไม่ใช่เพราะหวังประโยชน์ตอบแทน เราควรมีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เพราะจิตที่อ่อนน้อมเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ใช่อ่อนน้อมเพราะหวังประจบ การทำ ความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน (ลาภ ยศ สรรเสริญ) เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะขณะ ที่ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นเป็นขณะที่กุศลจิตมีกำลัง กุศลกรรมในขณะ นั้นทำให้อกุศลกรรมระงับไป ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นพิจารณาจิตของตน ว่าในแต่ ละวันจิตเป็นอกุศลหรือกุศลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นการเจริญกุศลอย่างยิ่งประการ หนึ่ง อีกทั้งเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขความเจริญทั้งในชาติปัจจุบันและชาติต่อๆ ไป
- การที่ผู้ใดจะได้ลาภ ได้ยศ ไม่ได้เกิดจากความอยาก ทุกคนย่อมปรารถนาอยาก ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนและผู้ที่ตนรักใคร่ผูกพัน แต่จะมีสักกี่คนที่สมหวัง กรรมดีที่ ได้กระทำไว้ดีแล้วเท่านั้นเป็นเหตุให้ได้รับสิ่งต่างๆ ที่ดี ที่น่าปรารถนา เพราะ เหตุนั้น ย่อมสมควรแก่ ผล เสมอ กล่าวคือ เมื่อทำเหตุมาดีย่อมได้รับผลที่ดี เมื่อทำเหตุไว้ ไม่ดีหรือดีไม่พอ จะหวังหรืออยากอย่างไรก็ไร้ผล
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
และ ขออนุญาตร่วมปันธรรม ที่มีความประทับใจจากการฟังการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในช่วงเช้าของวันนี้ ดังนี้ครับ
...เมื่อไหร่ จะฟัง จนระลึกได้ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้...
...การฟังแต่ละครั้ง เป็นการ "ละ" ความต้องการ เพราะรู้ว่า ลึกซึ้ง....
...เมื่อความไม่รู้ค่อยๆ น้อยลง สภาพธรรมะก็จะค่อยๆ ปรากฏ ตามความเป็นจริง...
...การฟังทั้งหมด เพื่อละ ความไม่รู้...
...มิฉะนั้น เราจะฟังธรรมะทำไม? ถ้าไม่สามารถเข้าใจขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย...
....ไม่ใช่เพราะคิด แต่กำลังเข้าใจ ลักษณะ ของสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ...
...อยากจะรู้ชื่อ หรือ อยากจะเข้าใจธรรมะ?...
+++ ถ้ายังมีความเห็นผิดความเข้าใจผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของสภาพ ธรรมที่ปรากฏ จะทำให้ความเห็นผิดเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดจะ ปรากฏเป็นความเห็นผิดที่ใหญ่หลวง หรือเป็นโทษ เป็นอันตรายมาก
+++ บุญเหมือนญาติสนิทซึ่งจะติดตามไปคุ้มครองรักษา หรือช่วยแก้ไขเหตุการณ์ ต่างๆ ให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ได้
+++ ต้องรู้ความจริง จึงจะละคลายความไม่รู้ ความติดข้อง และความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคล
+++ การมีความรู้เรื่องกรรม เป็นการได้เข้าใจ "ความจริงอันประเสริฐยิ่ง" ความจริงที่แม้ยากจะรู้ตาม เห็นตามได้ แต่ก็สามารถจะพิจารณาและไตร่ตรองให้เข้าใจตามหลัก ของเหตุและผลได้ การรู้เรื่องกรรมทำให้เรารู้ความจริงว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ เรา ไม่ว่าดีหรือร้ายก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นกระทำ แต่ เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้กระทำเหตุไว้แล้วในชาตินี้หรือในอดีตชาติ
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.เผดิม และ
คุณวันชัย ภู่งาม ที่แบ่งปันธรรม ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.เผดิม
และทุกๆ ท่าน ที่แบ่งปันธรรม ค่ะ
สาวกที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมไม่ขาดธรรมทั้งในขณะที่ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือแม้ธรรมปฏิสันถาร ข้อสำคัญก็คือว่า ควรจะเป็นธรรมจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพร้อมทั้งเหตุผลในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นการคิดหรือคาดคะเนเอาเอง
น้อมกราบอนุโมทนาสาธู สาธุ สาธุ ขอรับ