การได้อภิญญา

 
ศึกษาธรรม1
วันที่  2 พ.ค. 2556
หมายเลข  22842
อ่าน  77,293

ขอรบกวนถามท่านพระอาจารย์ครับ กระผมมีความสับสนอยู่เรื่องหนึ่ง คือ การได้มาของอภิญญา (การมีหูทิพย์ ตาทิพย์ ฯ) ได้มาจากการทำสมถะหรือวิปัสสนาครับ มีพระอาจารย์บางท่านบอกว่าได้จากการทำสมถะ บางท่านบอกว่าได้จากการทำสติปัฏฐาน ๔ (รู้ทันกาย เวทนา จิต สภาวธรรม) กระผมคิดว่าสติปัฐาน ๔ ก็คือวิปัสสนาใช่หรือเปล่าครับ หรือความจริงเป็นเช่นไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงคำอะไรก็ต้องมีความเข้าใจคำนั้นๆ ด้วย คือ คำว่า อภิญญา โดยศัพท์ อภิญญา หมายถึง ความรู้อย่างยิ่งยวด ความรู้ที่ยิ่ง ซึ่งเป็นผลจากการอบรมสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ตามควรแก่อภิญญา นั้นๆ เวลาศึกษาพระธรรมอ่านข้อความจากพระไตรปิฎก จะพบทั้งอภิญญา ๕ และ อภิญญา ๖ ซึ่งมีความแตกต่างดังนี้

อภิญญา ๕ เป็นโลกิยะอย่างเดียว ส่วนอภิญญา ๖ มีทั้งโลกิยะและโลกุตตระ ดังข้อความจาก

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ หน้าที่๖๘๒ ว่า

บทว่า ฉนฺนํ อภิญฺญานํ (อภิญญา ๖) คือ อิทธิวิธะ (แสดงฤทธิ์ได้) ๑ ทิพยโสตะ (หูทิพย์) ๑ เจโตปริยญาณ (รู้จักกำหนดใจผู้อื่น) ๑ ปุพเพนิวาสญาณ (ระลึกชาติได้) ๑ ทิพยจักขุ (ตาทิพย์) ๑ อาสวักขยญาณ (รู้จักทำอาสวะให้สิ้น) ๑


ทำให้เข้าใจได้ว่า อภิญญา ที่ ๑ - ๕ เป็นโลกิยะเท่านั้น เป็นผลของการอบรมสมถภาวนา ส่วนอภิญญา ที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ซึ่งเป็นปัญญาที่ทำให้สิ้นกิเลสที่หมักดองไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และไหลไปทุกภพภูมิได้จนหมดสิ้น เป็นโลกุตตระอย่างเดียว เพราะสามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น เป็นผลมาจากการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานก็เป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา เป็นไปเพื่อระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ดังนั้น สรุปได้ว่า การได้อภิญญา มาจากการอบรมสมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา การได้อภิญญาที่เป็นโลกิยะนั้น เป็นผลของการอบรมเจริญสมถภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการดับกิเลส แม้ก่อนสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ก็มีฤาษีที่เจริญสมถภาวนาจนได้อภิญญา ๕ แต่ก็ไม่สามารถดับกิเลส ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ยังไม่พ้นจากทุกข์

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ทรงแสดงหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ คือ การเจริญวิปัสสนา ทำให้สาวกทั้งหลายได้เข้าใจและดำเนินตามหนทางดังกล่าวนี้ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ถึงความเป็นผู้สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุด คือ บรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น แม้บางท่านจะไม่ได้ฌานด้วยก็ตาม แสดงให้เห็นว่า ประโยชน์สูงสุดที่ควรได้ คือ การดับกิเลสที่เป็นสาระสูงสุดของชีวิต ซึ่งการจะไปถึงตรงนั้นได้ ก็ต้องเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

ขอเขิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อภิญญา ๖

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง และมีหลากหลายนัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่ในเรื่องของอภิญญา ซึ่งอภิญญา คือ ความรู้ยวดยิ่งเกินกว่ามนุษย์ เป็นต้น ซึ่งตามที่ผู้ถามกล่าวว่าเป็นผลของการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาในการได้อภิญญา ซึ่งในความละเอียดของอภิญญาที่เป็นความรู้ยวดยิ่งนั้น มีหลากหลายนัย และหลายอย่าง ทั้งที่เป็นความสามารถพิเศษที่เป็นตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นต้นเหล่านี้ ก็เป็นความรู้ยวดยิ่ง ที่เกิดจากการเจริญสมถภาวนา ไม่เพียงเท่านั้น ต้องได้ฌานสูงสุดด้วย และไม่ใช่เพียงได้ฌานขั้นสูงสุด แต่จะต้องอบรมจนคล่องแคล่ว ชำนาญในการเข้าและออกจากฌาน จึงจะถึงความเป็นผู้ได้อภิญญา ซึ่งการได้อภิญญาที่เกิดจาการเจริญสมถภาวนา คือ ได้อภิญญา ๕ แต่การได้อภิญญา ๕ ไม่ได้หมายถึงการดับกิเลส เพียงแต่ทำให้เกิดความสงบจากกิเลส จนมีกำลังถึงสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เพราะอภิญญา ๕ ที่เป็นการแสดงฤทธิ์ได้ เกิดจากการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่ในความละเอียดลงไปกว่านั้น ซึ่งแสดงในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จะแสดงในส่วนที่เรียกว่า มหาอภิญญา คือ อภิญญา ๖ ที่เป็นอภิญญาที่สามารถดับกิเลสได้ด้วย ที่เป็นอาสวักขยญาณ

ซึ่งหากว่าผู้ศึกษาอ่านข้อความในพระไตรปิฎกไม่ละเอียด ย่อมสำคัญว่าการอบรมวิปัสสนา เจริญสติปัฏฐาน สามารถทำให้ได้ตาทิพย์ หูทิพย์ แต่แท้ที่จริง การเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐาน ๔ อย่างเดียว สามารถทำให้ดับกิเลส สงบจากกิเลสได้สูงสุด เพราะดับกิเลสจนหมดสิ้น ครับ แต่ไม่สามารถได้ฤทธิ์ ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ และไม่สามารถได้แม้แต่การได้ อภิญญา ๕ และ อภิญญา ๖ เพราะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาควบคู่กันไป ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวจนดับกิเลสได้ เรียกว่า พระอรหันต์สุขวิปัสสก เป็นพระอรหันต์ที่ไม่ได้อภิญญา ๕ และ ๖

อภิญญา ๕ ที่แสดงฤทธิ์ได้ แต่ไม่ได้ดับกิเลส เกิดจากการเจริญสมถภาวนาอย่างเดียว อภิญญา ๖ แสดงฤทธิ์ได้ด้วย และ ดับกิเลสได้ด้วย ไม่ใช่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว แต่เกิดการเจริญสติปัฏฐานด้วยและสมถภาวนาด้วย ครับ

ซึ่งข้อความที่จะขอยกเป็นข้อความที่ละเอียดลึกซึ้ง และ ควรพิจารณาให้ละเอียด ดังนี้

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 470

๘. โลกสูตร

ว่าด้วยผู้รู้โลก

[๗๘๕] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ครั้นท่านพระสารีบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า

[๗๘๖] ท่านพระอนุรุทธะถึงความเป็นผู้มีอภิญญามาก เพราะได้เจริญได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน. ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ผมถึงความเป็นผู้มีอภิญญามาก เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสีย. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ . .. ย่อมพิจารณา เห็นจิตในจิตอยู่ . . . ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. ดูก่อนผู้มีอายุ ผมถึงความเป็นผู้มีอภิญญามาก็เพราะได้เจริญได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล และเพราะได้เจริญ ได้ทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล ผมจึงรู้โลกได้ตั้งพัน.

จบโลกสูตรที่ ๘

จากข้อความนี้ หากอ่านเพียงเผินๆ ย่อมสำคัญว่า การจะได้ฤทธิ์ได้อภิญญา ดังเช่น ท่านพระอนุรุทธะ ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น คือ เจริญวิปัสสนา ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา เพราะข้อความในพระไตรปิฎก แสดงอย่างนั้น แต่ในความละเอียดลึกลงไป ตามที่กล่าวแล้วว่า อภิญญาไม่ใช่มีแค่การแสดงฤทธิ์ได้ ที่เป็นอภิญญา ๕ แต่ยังมีอภิญญา ๖ ที่รวมทั้งการแสดงฤทธิ์ได้และดับกิเลสด้ด้วย ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ๔ นำมาซึ่งการดับกิเลส ซึ่งท่านพระอนุรุทธะเป็นอสีติมหาสาวก ผู้เลิศในด้านหูทิพย์ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ท่านได้อภิญญา ๖ ที่เรียกว่า มหาอภิญญา ไม่ใช่อภิญญาทั่วไป เพราะอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ควบคู่กับการเจริญสมถภาวนา เพราะท่านได้ฌาน โลกุตตรฌาน ถึงการดับกิเลส พร้อมด้วยองค์ฌานที่เจริญสมถภาวนามาด้วย ท่านจึงได้อภิญญา ๖ ถึงการดับกิเลส และได้ฤทธิ์ด้วย ซึ่งการได้ฤทธิ์ มีตาทิพย์ หูทิพย์ เพราะการเจริญสมถภาวนา ส่วนการถึงการดับกิเลสได้เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ จึงถึงการได้มหาอภิญญา ที่ไม่ใช่อภิญญาธรรมดาที่เพียงได้ฤทธิ์ แต่ไม่ถึงการดับกิเลสครับ

ดังนั้น เราจะต้องแยกว่า การเจริญสติปัฏฐานทำให้ถึงการดับกิเลส ส่วนการจริญสมถภาวนาทำให้ได้ฤทธิ์ การเจริญสมถภาวนาไม่ได้ทำให้ดับกิเลส การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ทำให้ได้ฤทธิ์ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนได้ฌานสูงสุดอย่างเดียว ย่อมได้อภิญญา ๕ ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ ได้ฤทธิ์ แต่ไม่ได้ถึงการดับกิเลส ส่วนผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ก็ย่อมไม่ถึงอภิญญา ๕ และ อภิญญา ๖ เลย ได้เพียงการดับกิเลสได้ เป็นพระอรหันต์ที่เป็นสุขวิปัสสก คือ ดับกิเลสได้อย่างเดียวเท่านั้น อันนี้ เราจะต้องเข้าใจถูกว่า สติปัฏฐานอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ได้อภิญญาใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นจะเข้าใจผิดว่าถ้าเจริญสติปัฏฐานแล้ว ใครก็ตามที่เจริญจะได้อภิญญาอันนี้เข้าใจผิด ครับ

แต่ส่วนผู้ที่เจริญฌานสูงสุดด้วยพร้อมกับการเจริญวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้อภิญญา ๖ อันเป็นมหาอภิญญา ที่สามารถได้ฤทธิ์ และ ดับกิเลสได้หมดสิ้นด้วย ครับ ดังนั้น สติปัฎฐานที่เป็นไปเพื่อได้อภิญญา จะต้องเป็นสติปัฏฐานที่เจริญพร้อมกับการเจริญฌาน สมถภาวนา จนได้ฌานสูงสุด จึงจะทำให้ถึงการได้อภิญญา อันมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ทำให้ได้อภิญญา และ ที่ละเอียดลงไปอีก คือ สติปัฏฐานที่ทำให้ถึงการดับกิเลส พร้อมทั้งการได้ฌาน ย่อมทำให้ฌานมีกำลังมาก ถึงการแสดงฤทธิ์ได้มีกำลังเพราะอาศัยการละกิเลสจนหมดสิ้นแล้วด้วย ที่เป็นมหาอภิญญา สมดังที่ท่านพระอนุรุทธะกล่าว่า ท่านแสดงฤทธิ์ได้มาก มีกำลังมาก เพราะอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน แต่ในข้อความนั้น ท่านก็เจริญสมถภาวนา ได้ฌานสูงสุด ควบคู่กันไปด้วย ครับ

การอ่านข้อความในพระไตรปิฎก และ พิจารณาธรรม จึงต้องละเอียดรอบคอบอย่างยิ่ง เพราะพระธรรมละเอียดลึกซึ้ง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 2 พ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pheejad
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอสอบถามเพิ่มเติมครับ

เคยได้ยินว่า สมถภาวนา คือ การตั้งมั่นสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และ วิปัสสนาภาวนา คือการตั้งสติเพื่อติดตามความจริงหรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และที่อ่านข้างต้นบอกว่าหมายถึงสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ

จึงขอสอบถามว่าสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา และสติปัฏฐาน ๔ คือ อะไรครับ หากเป็นเรื่องละเอียดมากๆ ขอความเข้าใจคร่าวๆ ก็ได้ครับ

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Rodngoen
วันที่ 3 พ.ค. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ขอเชิญคลิกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อต่อไปนี้ ครับ

สมถะ + วิปัสสนา ในสติปัฏฐาน

สมถภาวนา กับ สติปัฏฐาน

สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา มีจุดประสงค์ต่างกันอย่างไร

สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 22842 ความคิดเห็นที่ 4 โดย pheejad สมถภาวนาไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิ และ วิปัสสนาก็ไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิ เช่นกัน แต่ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ที่ใช้คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมสิ่งที่ดี ที่เป็นกุศลธรรม ให้มีขึ้น เจริญมากขึ้น ภาวนาทั้งสองอย่างจึงเป็นเรื่องของปัญญา คือ จะต้องมีปัญญาที่รู้ว่าจะอบรมให้กุศลธรรมเจริญขึ้นอย่างไร ซึ่งสมถภาวนาเป็นไปในการเจริญขึ้นของกุศลธรรม และ ระงับอกุศลธรรม อกุศลจิต กิเลส ให้สงบระงับชั่วคราว ในขณะที่เจริญสมถภาวนาอยู่ เช่น ขณะที่ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ขณะนั้นจิตกำลังระลึกถึงคุณ เป็นกุศลจิต สงบจากกิเลสชั่วคราว เป็นสมถภาวนา เพราะสมถะ หมายถึง ความสงบ ที่สงบจากกิเลส แต่ สมถภาวนา ไม่ใช่หนทางการละกิเลส เพียงระงับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้น ส่วน วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งมีผู้เดียวที่ตรัสรู้ในเรื่องนี้ และ ทรงแสดง คือ พระพุทธเจ้า ที่แสดงหนทางการดับกิเลสได้จนหมดสิ้น คือ วิปัสสนาภาวนา หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งก็ได้ว่าอริยมรรค หรือ อีกชื่อหนึ่งก็ได้ว่า สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นหนทางการดับกิเลส เพียงแต่ใช้ชื่อที่ต่างกันเท่านั้น ครับ ซึ่งหนทางการดับกิเลสที่เป็นวิปัสสนา คือ การรู้แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จะต้องมี สติ และ ที่ขาดไม่ได้ คือ ปัญญา ที่รู้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่เรา มีแต่ธรรม โดยไม่ต้องไปนั่งสมาธิอะไรทั้งสิ้น ซึ่งจะมีปัญญาขั้นนี้ได้ จะต้องเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร ปัญญาขั้นการฟังที่ค่อยๆ สะสม ก็จะทำให้ถึงปัญญาที่เป็นวิปัสสนาได้ ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Thanapolb
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pheejad
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nopwong
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ศึกษาธรรม1
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขอรบกวนถามต่อไปด้วยครับ ถ้ากระผมต้องการได้อภิญญาแล้ว กระผมจะทำการฝึกสมาธิแบบอานาปสติด้วยวิธีกำหนดลมหายใจเข้าออก ไปเรื่อยๆ จนถึง ญาณ 4 (จตุตถญาณ) ทุกคืนทำอย่างนี้ผมจะได้อญิญญาหรือเปล่าครับ หมายความว่าทำถูกวิธีหรือเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

การศึกษาธรรมที่ถูกต้อง คือ เป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อได้ ดังนั้น การศึกษาธรรมเพื่อละคลายกิเลส ไม่ใช่การได้อภิญญา ซึ่ง ผู้ที่จะได้อภิญญา ต้องเป็นกาลสมัยอันสมควร ในสมัยพุทธกาล ที่เป็นผู้มีปัญญามาก ไม่ใช่สมัยนี้ ดังนั้น ควรฟังพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ต้องไปนั่ง ไปกำหนดลมหายใจ ขอให้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 24 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Jumzper
วันที่ 1 มี.ค. 2559

สาธุ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
peem
วันที่ 27 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Witt
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ