บอกความทุกข์แก่ผู้ที่ควรบอก [ทูตชาดก]

 
khampan.a
วันที่  15 พ.ค. 2556
หมายเลข  22908
อ่าน  1,038

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖- หน้าที่ ๒๕๕

๕. ทูตชาดก

ว่าด้วยการบอกความทุกข์แก่ผู้ที่ควรบอก

[๑๗๗๗] ดูก่อนพราหมณ์ เราส่งทูตทั้งหลายมาเพื่อท่านผู้เพ่งอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ทูตเหล่านั้นถามท่าน ท่านก็มิได้บอกให้แจ่มแจ้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ท่านนั้น เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ.

[๑๗๗๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องพระองค์จากทุกข์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่ผู้นั้น.

[๑๗๗๙] ผู้ใดพึงเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้.

[ ๑๗๘๐] ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น.

[๑๗๘๑] อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้.

[๑๗๘๒] ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตนย่อมบอกในกาลอันไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ยินดีร่วมทุกข์ด้วย.

[๑๗๘๓] บุคคลรู้กาลอันควร และรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญาว่าใจร่วมกัน แล้วพึงบอความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคลผู้เป็นนั้น นักปราชญ์พึงบอกความทุกข์ร้อนแก่ผู้อื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์.

[๑๗๘๔] อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตตัปปะอันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น.

[๑๗๘๕] ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระองค์ต้องการจะหาทรัพย์ให้อาจารย์ จึงเที่ยวไปทั่วแว่นแคว้นนิคม และราชธานีทั้งหลาย.

[๑๗๘๖] ขอกะคฤหบดี ราชบุรุษ และพราหมณ์มหาศาลได้ทองคำ ๗ ลิ่ม ทองคำ ๗ ลิ่มของข้าพระองค์นั้นหายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก.

[๑๗๘๗] ข้าแต่พระมหาบุรุษ บุรุษผู้เป็นทูตของพระองค์เหล่านั้น ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า ไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่บอกแก่บุรุษเหล่านั้น.

[๑๗๘๘] ข้าแต่พระมหาราชา ส่วนพระองค์ ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า พระองค์สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ.

[๑๗๘๙] พระราชาผู้บำรุงรัฐกาสีให้เจริญ มีพระหฤทัยเลื่อมใส ได้พระราชทานทองคำ ๑๔ แท่ง แก่พระโพธิสัตว์นั้น.

จบทูตชาดกที่ ๕

ขอเชิญเปิดฟัง ... ทูตชาดก

อรรถกถา ทูตชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการสรรเสริญปัญญาของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทูเต เต พฺรหฺเม ปาเหสึ ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันถึงถ้อยคำปรารภพระคุณของพระศาสดาในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูความเป็นผู้ฉลาดในอุบายของพระทศพลเถิด พระองค์แสดงนางอัปสรทั้งหลาย แก่นันทกุลบุตร แล้วประทานพระอรหัต ทรงประทานผ้าเก่าแก่พระจุลปันถกะ แล้วประทานพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทรงประทานดอกปทุมแก่นายช่างทอง แล้วประทานพระอรหัต พระองค์ทรงแนะสัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายต่างๆ อย่างนี้

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น ที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบายโดยรู้อุบายว่า นี้เป็นดังนี้ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ชนบทไม่มีเงินใช้ เพราะพระเจ้าพรหมทัตทรงบีบบังคับชาวชนบทขนเอาทรัพย์ไปหมด. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกคาม ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ไปเมืองตักกศิลา กล่าวกะอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าจักเที่ยวขอเขาโดยธรรม แล้วจักนำเอาทรัพย์มาให้อาจารย์ภายหลัง แล้วเริ่มเรียนศิลปศาสตร์

ครั้นเรียนสำเร็จสอบไล่ได้แล้ว จึงบอกอาจารย์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมจักไปนำทรัพย์ค่าจ้างสอนมาให้ท่าน แล้วออกเที่ยวไปตามชนบทแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทองคำเจ็ดลิ่ม จึงไปด้วยคิดว่าจักให้อาจารย์ ในระหว่างทางได้ลงสู่เรือเพื่อข้ามแม่น้ำคงคา เรือโคลงไปมาในแม่น้ำนั้น ทองคำของพระโพธิสัตว์ก็ตกน้ำ พระโพธิสัตว์คิดว่า เงินเป็นของหายาก เมื่อเราจะเที่ยวแสวงหาทรัพย์ค่าจ้างสอนตามชนบท ก็จักเนิ่นช้า

อย่ากระนั้นเลย เราควรนั่งอดอาหาร อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี่แหละ พระราชาจักทรงทราบความที่เรานั่งอยู่โดยลำดับ ก็จักส่งพวกอำมาตย์มา เราจักไม่พูดจากับพวกอำมาตย์เหล่านั้น ลำดับนั้น พระราชาก็จักเสด็จมาเอง เราจักได้ทรัพย์ค่าจ้างสอนในสำนักของพระราชาด้วยอุบายนี้ คิดดังนี้แล้ว ห่มผ้าสาฎกเฉวียงบ่า เอายัญและสายสิญจน์วงไว้โดยรอบ นั่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ประดุจรูปปฏิมาทองคำบนพื้นทราย ซึ่งมีสีดังแผ่นเงินฉะนั้น.

มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอดอาหารอยู่ จึงถามว่า ท่านนั่งเพื่ออะไร. พระโพธิสัตว์มิได้กล่าวแก่ใครๆ วันรุ่งขึ้น ผู้ที่อยู่บ้านใกล้ประตูพระนครได้ฟังว่า พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่นั้น จึงพากันไปถาม. พระโพธิสัตว์ก็มิได้กล่าวแม้แก่ชนเหล่านั้น.

ชนเหล่านั้นเห็นความลำบากของพระโพธิสัตว์ ก็พากันคร่ำครวญหลีกไป. ในวันที่ ๓ ชาวพระนครพากันมา ในวันที่ ๔ อิสรชนพากันมาจากพระนคร ในวันที่ ๕ ราชบุรุษพากันมา ในวันที่ ๖ พระราชาทรงส่งพวกอำมาตย์มา พระโพธิสัตว์ก็มิได้กล่าวแม้แก่ชนเหล่านั้น. ในวันที่ ๗ พระราชาทรงกลัวภัย จึงเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า

ดูก่อนพราหมณ์ เราส่งทูตทั้งหลายมาเพื่อท่านผู้เพ่งอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ทูตเหล่านั้นถามท่าน ท่านก็มิได้บอกให้แจ่มแจ้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ท่านนั้น เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุยฺหํ มตํ นุ เต ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ความทุกข์ซึ่งเกิดแก่ท่านนั้น เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ ท่านจึงไม่บอกแก่คนอื่น.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์จะบอกแก่ผู้ที่สามารถจะนำทุกข์ไปได้เท่านั้น ไม่บอกแก่ผู้อื่น แล้วกล่าวคาถา ๗ คาถาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องทุกข์จากพระองค์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่ผู้นั้น. ผู้ใดพึงเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้.

ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น.

อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้. ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตน ย่อมบอกในกาลไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ยินดีร่วมทุกข์ด้วย.

บุคคลรู้กาลอันควร และรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญา มีใจร่วมกันแล้ว พึงบอกความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคลผู้เช่นนั้น นักปราชญ์พึงบอกความทุกข์ร้อนแก่บุคคลอื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์.

อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตัปปะอันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า อุปฺปชฺเช ความว่า ถ้าความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่พระองค์.

บทว่า มา อกฺขาหิ แปลว่า จงอย่าบอก.

บทว่า ทุพฺพิชานครํ ความว่า ถ้อยคำของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่าถ้อยคำของสัตว์ดิรัจฉาน เพราะเหตุนั้น คือเพราะไม่รู้โดยถ่องแท้ ไม่พึงบอกทุกข์ของตน ซึ่งไม่สามารถจะนำไปได้.

บทว่า อปิ เจ ความว่า เพราะท่านกล่าวไว้ในคาถาแล้ว.

บทว่า อนานุปุฏฺโฐ แปลว่า ถูกถามบ่อยๆ .

บทว่า ปเวทเย แปลว่า ย่อมกล่าว.

บทว่า อกาลรูเป แปลว่า ในกาลอันไม่สมควร.

บทว่า กาล ความว่า ตลอดกาลที่พูดถึงความลับของตน.

บทว่า ตถาวิธสฺส ความว่า รู้จักบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ว่าผู้ใดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตนแล้ว พึงบอกแก่บุคคลเช่นนั้น.

บทว่า ติปฺปานิ แปลว่า ทุกข์.

บทว่า สเจ ความว่า ถ้าว่าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ พึงรู้ว่าเป็นน่าที่ของตน ในเมื่อเรี่ยวแรงแห่งชาติชายตนหรือของผู้อื่นมีอยู่.

บทว่า นีติ ความว่า ประเพณีโลกเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า โลกธรรม ๘. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า ถ้าประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราเท่านั้นไม่ได้ ขึ้นชื่อว่า ผู้จะพ้นไปจากโลกธรรมทั้ง ๘ ประการที่เกิดขึ้นแล้วย่อมไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ นักปราชญ์ผู้ปรารถนาแต่ความสุข เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ไม่พึงทำกรรมที่ชื่อว่ายกทุกข์ให้แก่ผู้อื่น และเราก็มีหิริและโอตตัปปะ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์เมื่อเพ่งหิริโอตตัปปะในตนซึ่งเป็นของมีจริง ไม่พึงบอกแก่บุคคลอื่น พึงนอนปรับทุกข์อยู่แต่ผู้เดียว.

พระมหาสัตว์ครั้นแสดงธรรมถวายพระราชาด้วยคาถา ๗ คาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนแสวงหาทรัพย์เพื่ออาจารย์ได้กล่าวคาถา ๔ คาถา ว่า

ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์ต้องการจะหาทรัพย์ให้อาจารย์ จึงเที่ยวไปทั่วแว่นแคว้นนิคม และราชธานีทั้งหลาย. ขอกะคฤหบดี ราชบุรุษและพราหมณ์มหาศาล ได้ทองคำ ๗ ลิ่ม ทองคำ ๗ ลิ่มของพระองค์นั้นหายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก.

ข้าแต่พระมหาราช บุรุษผู้เป็นทูตของพระองค์เหล่านั้น ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า ไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่บอกแก่บุรุษเหล่านั้น.

ข้าแต่พระมหาราช ส่วนพระองค์ ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า พระองค์สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขมาโน ความว่า ขออยู่กะคฤหบดี เป็นต้นเหล่านั้น.

บทว่า เต เม ความว่า เมื่อข้าพระองค์ข้ามแม่น้ำคงคา ทองของข้าพระองค์ ๗ ลิ่มหายเสียแล้ว คือตกไปในแม่น้ำคงคา.

บทว่า ปุริสา เต ความว่า ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้เป็นทูตของพระองค์.

บทว่า มนสานุวิจินฺติตา ความว่า ข้าพระองค์รู้ว่าคนเหล่านั้น ไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์ให้พ้นจากทุกข์ได้.

บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่บอกทุกข์ของตนแก่เขาเหล่านั้น.

บทว่า ปเวทยึ แปลว่า ได้แจ้งไว้แล้ว.

พระศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า

พระราชาผู้บำรุงรัฐกาสีใหญ่ มีพระหฤทัยเลื่อมใส ได้พระราชทานทองคำ ๑๔ แท่ง แก่พระโพธิสัตว์นั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาตรูปมเย ความว่า ได้ทรงพระราชทานทองคำ ๑๔ แท่งแก่พระโพธิสัตว์นั้น. พระมหาสัตว์ถวายโอวาทแก่พระราชาแล้ว ให้ทรัพย์แก่อาจารย์ บำเพ็ญกุศล มีทานเป็นต้น แม้พระราชากดำรงอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ ครองราชสมบัติโดยธรรม แล้วชนทั้งสองก็ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย แม้ในกาลก่อนตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ อาจารย์ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนมาณพ คือเราตถาคตนั่นแล.

จบอรรถกถา ทูตชาดก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 30 พ.ค. 2556

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nopwong
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Wisaka
วันที่ 11 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ศิริกัญญา
วันที่ 10 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ ได้ข้อธรรมข้อนี้

ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตัปปะ อันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น.

เรารู้สึกดีขึ้น แค่อุปทานที่สั่งสมมาเท่านั้น ทำให้เรารู้สึกไม่ดี ทุกข์ สุข อยู่ที่ตัวเองจะมองมุมมอง แล้วหาปัญญาในการมองให้ถูกต้องสัมมาทิฏฐิ สัมมาธิ

ขอนุโมทนา ในกัลยาณมิตรของท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ