พระอรหันต์กับการครองเรือน

 
nongnooch
วันที่  25 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23090
อ่าน  10,287

เนื่องจากว่าดิฉันเคยร่วมสนทนากับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับสภาพธรรม มีอยู่เนื้อความหนึ่ง เขากล่าวว่า
1. พวกเราที่ได้ศึกษาคือผู้ที่รอเป็นพระโพธิสัตว์ จริงหรือ
2. ผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สามารถอยู่ครองเรือนได้ จริงหรือ

ขอเรียนถามค่ะ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1) พวกเราที่ได้ศึกษาคือผู้ที่รอเป็นพระโพธิสัตว์ จริงหรือ

คำว่า โพธิสัตว์ หมายถึง สัตว์ แปลว่า ผู้ข้อง โพธิ คือ การตรัสรู้ โพธิสัตว์ ความหมาย คือ ผู้ที่ข้องอยู่ เพื่อการตรัสรู้ หรือ พูดง่ายๆ คือ ผู้ที่จะตรัสรู้ในอนาคต ครับ

ดังนั้น โพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะตรัสรู้ในอนาคต จึงมี 3 ประเภท คือ สาวกโพธิสัตว์ ปัจเจกโพธิสัตว์ และ สัมมาสัมพุทธโพธิสัตว์ ทั้ง 3 ประเภท นี้ คือ สัตว์ที่จะตรัสรู้ในอนาคต สัพพัญญูโพธิสัตว์ หรือสัมมาสัมพุทธโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่บำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วสอนให้ผู้อื่นได้รู้ตาม

ปัจเจกโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่บำเพ็ญพระบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้สภาพธรรมได้ด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้ สาวกโพธิสัตว์หรืออนุพุทธโพธิสัตว์ คือ ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้ธรรม เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมและไม่ได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่จะเป็นโพธิสัตว์ที่เป็น สาวกโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า คือ ข้องที่จะตรัสรู้ในอนาคต แต่ที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างถูกต้อง ครับ จึงจะถึงการเป็นสาวกที่บรรลุธรรมในอนาคต

2) ผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สามารถอยู่ครองเรือนได้ จริงหรือ

พระอรหันต์ คือ ผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว พระอรหันต์ เมื่อดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ย่อมไม่ประพฤติดังเช่น คฤหัสถ์ที่ยินดีพอใจในการครองเรือน ดังนั้นพระอรหันต์ย่อมไม่ครองเรือน ดังเช่นคฤหัสถ์ เพราะด้วยคุณธรรมของท่านเอง แม้เพียงพระอนาคามีท่านก็ไม่ครองเรือนแล้ว ดั่งเช่นคฤหบดีท่านหนึ่ง บรรลุเป็นพระอนาคามี ท่านมีภรรยาหลายท่าน ท่านก็บอกภรรยาแต่ละคน ให้ไปอยู่ครองเรือนใหม่ได้ ส่วนตัวท่านไม่ครองเรือนแล้ว เพราะท่านดับกิเลสที่เป็นความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่เป็นกามคุณ หมดสิ้นแล้ว ครับ ส่วนในกรณีที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

สำหรับในภพภูมิมนุษย์ ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศคฤหัสถ์ หากไม่บวชในวันนั้น แม้จะไม่ครองเรือน เป็นเพียงเพศคฤหัสถ์ก็ต้องปริพพานในวันนั้นเลยครับ แต่ถ้าจะมีชีวิตดำรงต่อไปได้ ก็ด้วยการบวชเป็นเพศบรรพชิตครับในวันนั้น ซึ่งตัวอย่างของบุคคลที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศคฤหัสถ์ เช่น ท่านสันตติมหาอำมาตย์ แต่ท่านไม่บวชในวันนั้น ท่านก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเองครับ

ซึ่งเหตุผลดังนี้ครับ การบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นคุณธรรมที่สูงสุุด ดังนั้นเพศที่รองรับคุณธรรมก็ต้องเหมาะกับการรองรับคุณธรรมนี้ คือ เพศบรรพชิตในภพภูมิมนุษย์ครับ

ส่วนเพศฆราวาสเป็นเพศที่ต่ำไม่สามารถรองรับคุณธรรมคือความเป็นพระอรหันต์ได้ครับ เปรียบเหมือนว่าหญ้า ไม่สามารถรองรับก้อนหินใหญ่ได้ฉันใด แม้เพศคฤหัสถ์ก็ไม่สามารถรองรับคุณธรรมคือความเป็นพระอรหันต์ได้ เปรียบเหมือนคนที่มีบุญน้อย แต่ได้ปราบดาได้เป็นกษัตริย์ เพราะความที่ตนมีบุญน้อย ไม่มีความสามารถก็ไม่สามารถปกครองราชสมบัติและเกิดความเดือดร้อนตามมามากมาย จะโทษสมบัติก็ไม่ได้ ต้องโทษความที่ตนมีบุญน้อย ฉันใดผู้ที่มีเพศต่ำคือคฤหัสถ์ไม่สามารถรองรับคุณธรรมคือความเป็นพระอรหันต์ หากไม่บวชก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น จะโทษความเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะเพศนั้นคือเป็นเพศคฤหัสถ์ไม่เพียงพอที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงได้ครับ ดังนั้นผู้ที่ไม่บวชเมื่อเป็นมนุษย์แล้วย่อมปรินิพพานในวันนั้น แต่ถ้าบวชก็สามารถดำรง มีชีวิตอยู่ได้เพราะเพศบรรพชิต สามารถดำรงคุณธรรมความเป็นพระอรหันต์ได้ครับ ซึ่งตัวอย่างผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในพศฆราวาสแล้ว ไม่ได้บวชปรินิพพานในวันนั้นก็เป็นท่านสันตติมหาอำมาตย์ ส่วนผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศฆราวาสแล้วบวช สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น พระภัททชิเถระครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ฆราวาสได้เป็นพระอรหัตหากไม่บวชต้องเข้าสู่พระนิพพาน [มิลินทปัญหา]

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑- หน้าที่ 445
บทว่า นตฺถิ โข วจฺฉ ดูก่อนวัจฉะ ไม่มีเลย คือ ผู้ยังไม่ละคิหิสังโยชน์ ชื่อว่าจะทำที่สุดทุกข์ย่อมไม่มี. แม้บุคคลเหล่าใดดำรงเพศคฤหัสถ์ คือ สันตติมหาอำมาตย์ อุคคเสนะ เศรษฐีบุตร วีตโสกธารกะ ก็บรรลุพระอรหัตได้. แม้บุคคลเหล่านั้น ก็ยังความใคร่ในสังขารทั้งปวงให้แห้งไปด้วยมรรคแล้วบรรลุได้. แต่เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ตั้งอยู่ด้วยเพศนั้น. ชื่อว่าเพศคฤหัสถ์นี้เลว ไม่สามารถทรงคุณอันสูงสุดไว้ได้. เพราะฉะนั้น ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์นั้นบรรลุพระอรหัตแล้วย่อมบวช หรือปรินิพพานในวันนั้นเอง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nopwong
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nongnooch
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

กระจ่างแจ้งค่ะ ขอบพระคุณที่ร่วมสนทนาค่ะ ท่าน อ .ผเดิม

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ต้องรอการเป็น (สาวก) โพธิสัตว์ ถ้ามีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ นี้แหละคือการเป็นสาวกโพธิสัตว์ ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในขีวิตประจำวันไม่ได้เลย เพราะการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อม ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้วในชีวิตประจำวัน ชีวิตของผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ท่านจะไม่ว่างเว้นจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเลย

พระอรหันต์เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้ทำลายข้าศึก คือกิเลสได้หมดสิ้น เป็นผู้ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป หลังจากที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก จึงเป็นผู้ดับวัฏฏะได้อย่างเด็ดขาด การบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระโสดาบันบุคคล ถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น ต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมเจริญปัญญา สะสมการสดับตรับฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และต้องเป็นผู้ดำเนินตามทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การอบรมเจริญอริยมรรค ถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้เลย เมื่อได้ศึกษาพระธรรมทางพระพุทธศาสนา ก็จะพบข้อความที่แสดงถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ว่า เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศคฤหัสถ์แล้ว จะต้องบวช เมื่อไม่ได้บวชก็จะต้องปรินิพพานในวันนั้น เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่สามารถรองรับคุณธรรมอันสูงยิ่งนี้ไว้ได้ จะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาล ท่านพระยสกุลบุตร เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่เป็นคฤหัสถ์ และได้อุปสมบทในวันนั้นและอีกหลายท่าน เช่น ภัททชิกุมาร (ตามที่ปรากฏใน ภัททชิเถรคาถา) เป็นต้น ก็ต้องได้อุปสมบทในวันนั้น
ส่วนผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศคฤหัสถ์แล้ว ไม่ได้บวช และปรินิพพานในวันนั้น ซึ่งมีหลายท่านด้วยกัน มีสันตติมหาอำมาตย์ เป็นต้น เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้น แม้แต่ความเป็นอรหันต์ ก็เพราะมีความเจริญขึ้นของปัญญาจนกระทั่งถึงขณะที่อรหัตตมัคคจิตเกิดขึ้นดับไป แล้วเป็นปัจจัยให้อรหัตตผลจิตเกิดขึ้น สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างไม่มีเหลือ เมื่อได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ความเป็นไปของท่านก็ดำเนินไปตามปกติของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แต่ไม่มีจิตและเจตสิกที่เป็นไปกับด้วยกิเลสเกิดขึ้นอีกเลย จนกว่าจะถึงการดับขันธปรินิพพาน เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้ขันธ์หรือสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

พระอนาคามี ท่านไม่ครองเรือนแล้ว ส่วนพระอรหันต์ดับกิเลสหมด ก็ไม่ได้ครองเรือน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วรกัญญา
วันที่ 28 มิ.ย. 2556

วันเข้าพรรษามีกิจกรรมที่บ้านธรรมะหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Boonyavee
วันที่ 28 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ponchario
วันที่ 29 มิ.ย. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 23090 ความคิดเห็นที่ 5 โดย wannee.s

พระอนาคามี ท่านไม่ครองเรือนแล้ว ส่วนพระอรหันต์ดับกิเลสหมด ก็ไม่ได้ครองเรือน ค่ะ

ที่กล่าวว่าพระอนาคามี ไม่ครองเรือนแล้ว นี่ หมายความว่าอย่างไรครับ? ต้องออกบวช เช่นเดียวกับพระอรหันต์ที่เป็นฆราวาสหรือ? ไม่ทราบมีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกบ้างหรือไม่

ถ้าหากท่านเคยมีครอบครัว จำเป็นต้องทิ้งครอบครัวมาอยู่โดดเดี่ยวหรือ?

หรือถ้าท่านไม่เคยแต่งงาน จำเป็นต้องออกบวชด้วยหรือ?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ก.ค. 2556

เรียนถาม

คำว่า ไม่ครองเรือน หมายความว่า ไม่แต่งงาน หรืออย่างไรคะ ถ้าการอยู่คนเดียว ไม่มีภรรยา ไม่มีบุตร เรียกว่า ไม่ครองเรื่อนได้หรือไม่คะ ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 23090 ความคิดเห็นที่ 9 โดย ponchario
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 23090 ความคิดเห็นที่ 5 โดย wannee.s

พระอนาคามี ท่านไม่ครองเรือนแล้ว ส่วนพระอรหันต์ดับกิเลสหมด ก็ไม่ได้ครองเรือน ค่ะ

ที่กล่าวว่าพระอนาคามี ไม่ครองเรือนแล้ว นี่ หมายความว่าอย่างไรครับ? ต้องออกบวช เช่นเดียวกับพระอรหันต์ที่เป็นฆราวาสหรือ? ไม่ทราบมีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกบ้างหรือไม่

ถ้าหากท่านเคยมีครอบครัว จำเป็นต้องทิ้งครอบครัวมาอยู่โดดเดี่ยวหรือ?

หรือถ้าท่านไม่เคยแต่งงาน จำเป็นต้องออกบวชด้วยหรือ?

การไม่ครองเรือนของพระอนาคามี ไม่ได้หมายถึง จะต้องออกบวช แต่ ไม่อยู่กินแบบสามี ภรรยา ชือ่ว่า ไม่ครองเรือน ครับ และ ก้ไม่จำเป็นต้องทิ้งครอบครัวก็ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 23090 ความคิดเห็นที่ 10 โดย วิริยะ

เรียนถาม

คำว่า ไม่ครองเรือน หมายความว่า ไม่แต่งงาน หรืออย่างไรคะ ถ้าการอยู่คนเดียว

ไม่มีภรรยา ไม่มีบุตร เรียกว่า ไม่ครองเรื่อนได้หรือไม่คะ ขอบคุณค่ะ

การไม่ครองเรือน คือ ไม่แต่งงาน หรือ แต่งงานแล้ว ก็ไม่อยู่กิน แบบสามี ภรรยาอีก ก็ชื่ว่า ไม่ครองเรือน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

วันเข้าพรรษา ไม่มีกิจกรรม ครับ มีแต่ วัน อาสาฬหบูชา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
surat
วันที่ 21 ก.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
papon
วันที่ 13 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
orawan.c
วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ