ทำไมปัญญาจึงรู้ได้ด้วยการสนทนา

 
ดรุณี
วันที่  27 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23093
อ่าน  6,914

ขอกราบเรียนถามท่านวิทยากรนะคะ

ทำไมปัญญาจึงรู้ได้ด้วยการสนทนาคะ ทั้งปัญญาทางธรรมและทางโลกเลยหรือเปล่า บางคนกล่าวว่า ให้ดูที่การกระทำ การกระทำหมายถึงอะไรคะ จริงหรือที่การกระทำสำคัญกว่าคำพูด ในเมื่อคำพูดก็เป็นกรรมเช่นกันคือ วจีกรรม หรือว่ากายกรรมสำคัญกว่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะเป็นในระดับใดความเป็นจริงของปัญญา ก็จะไม่เปลี่ยน คือ เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ปัญญามีหลายระดับ ทั้งในความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องกรรมและผลของกรรม

ปัญญาในขั้นของการฟัง ปัญญาที่เป็นไปกับการอบรมเจริญความสงบของจิต ปัญญาในขั้นสติปัฏฐานระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาในระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ปัญญาในขั้นที่เป็นโลกุตตระ ที่เกิดร่วมกับมรรคจิตและผลจิต นี้ คือ ความเป็นจริงของปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เหตุสำคัญที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

จากประเด็นคำถามนั้น มุ่งหมายถึงปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง จากข้อความที่ว่า ปัญญา พึงรู้ได้ ด้วยการสนทนา มีคำอธิบายว่า บุคคลผู้ที่มีปัญญา ย่อมสามารถรู้ถึงความลึกซึ้งของปัญญาของผู้ที่ตนสนทนาด้วยได้ โดยพิจารณาจากการถามปัญหา การอ้างบทธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง สามารถอธิบายจำแนกเปิดเผยทั้งโดยย่อและโดยละเอียดได้ ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลผู้มีปัญญา ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนาน มีการใส่ใจด้วย จึงจะสามารถรู้ได้

-ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ หรือคำพูด ก็เป็นสิ่งที่สำคัญทั้งนั้น ซึ่งมาจากจิต ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นไปกับด้วยกุศล หรือ อกุศล ถ้ากุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น กาย วาจา ก็เป็นไปในทางที่ดี เว้นจากความประพฤติที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจาพร้อมทั้งมีการช่วยเหลือเกื้อกูล สงเคราะห์ผู้อื่น กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้คำแนะนำในสิ่้งที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ตักเตือนให้เห็นโทษของความประพฤติที่ไม่เหมาะสมประการต่างๆ แก่ผู้อื่น และที่สำคัญที่สุด ก็คือ การได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็เป็นเพราะกุศลจิตเกิดขึ้น มีศรัทธาเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวงอย่างแท้จริง ในทางตรงกันข้าม ถ้าถูกอกุศลครอบงำแล้วกาย วาจา ที่เคยดี ก็เป็นไม่ดี มีการกระทำและมีการพูด ที่ไม่เหมาะสม เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ความประพฤติเป็นไของแต่ละบุคคล ก็เป็นไปตามการสะสม แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ในชีวิตประจำวัน ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีการคิด การกระทำและคำพูด เป็นไปในทางที่ดี ที่ถูกที่ควร ไม่เป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นการขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศล ของตนเอง ต่อไป ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ฐานะ ๔ ที่พึงรู้ด้วยฐานะ ๔ [ฐานสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนากัน

หากพิจารณาโดยพื้นฐานทั่วไป หากว่าไม่พูดเลย ก็ย่อมไม่รู้ว่า บุคคลนั้น มีความรู้ความเข้าใจอะไร มากน้อยเพียงไหน เพราะหากจะพิจารณาให้ละเอียด ปัญญา ที่เป็นความเห็นถูก ที่เป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญา คือ เจตสิกที่เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพียงดูภายนอกเท่านั้น แต่เมื่อมีปัญญา ก็คือเกิดกับจิต และ เจตสิกที่เป็นปัญญาเกิดร่วมด้วย ย่อมแสดงออกมาทาง วาจา คำพูดที่แสดงถึงความคิดของบุคคลนั้น เมื่อพูด คำใด คำหนึ่ง การพูดขึ้นมา ก็เป็นการพูดที่อาศัยจิตประเภทใดประเภทหนึ่งเกิดขึ้น การคิดถูก เมื่อมีการคิดถูกที่เป็นปัญญาแล้ว ก็ย่อมมีการพูด แสดงออกมาทางวาจา อันเป็นคำพูด ซึ่งผู้มีปัญญา ก็สามารถรู้ได้ว่า การพูดของบุคคลนั้น พูดในสิ่งที่เป็นจริง หรือ ไม่เป็นจริง ดังนั้น ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ทั้งปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรม ด้วย ครับ ซึ่งแม้เพียงแค่การกระทำ ที่แสดงออกทางกาย แต่ ไม่ใช่เพียงคำพูด ไม่สามารถทราบความคิดของบุคคลนั้นได้โดยละเอียด เพราะไม่ได้พูดออกมาเป็นความคิดที่ที่คิดในใจให้รับรู้ ครับ ดังนั้นปัญญาจึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ไม่ใช่ด้วยการกระทำทางกาย ครับ

ซึ่งปัญญาจะรู้ด้วยการสนทนานั้น ผู้ที่จะรู้ได้ ก็ต้องมีปัญญาด้วย และก็ต้องอาศัยระยะเวลาในการสนทนา ไม่ใช่เพียงชั่วครู่ เพราะ การพูด สนทนานั้น อาจเป็นการจำมา แต่ ไม่ใช่เป็นลักษณะที่เข้าใจก็ได้ การได้สนทนากันบ่อยๆ ย่อมรู้ถึงความละเอียดในความคิดของบุคคลที่ร่วมสนทนา ว่ามีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ หรือไม่ ซึ่งผู้มีปัญญา ย่อมรู้ว่าคำพูดของผู้ที่ร่วมสนทนา เป็นอย่างไร คือ ถ้ามีหลักฐานไม่เลื่อนลอย ไม่ใช่เพราะอาศัยการคิดเอง ที่เป็นความเข้าใจผิด แต่ มีความเข้าใจถูกต้อง และยกพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วย ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญาแต่ถ้าเป็นผู้ที่กล่าว พูด โดยคิดเอาเอง ซึ่งโดยมากสัตว์โลกมากไปด้วยความไม่รู้ และอวิชชา เมื่อคิดก็คิดเอง ตามอวิชชา และ ความเห็นผิด อันไม่ได้ตรัสรู้ธรรมดั่งเช่นพระพุทธเจ้า เมื่อคิดเอง และพูดออกมาตามความคิดเอง ย่อมผิด ตามกิเลสที่คิดผู้นั้นก็ชื่อว่า ไม่มีปัญญา เพราะ ไม่มีความเห็นถูก เพราะคิดเองตามอำนาจอวิชชา ความไม่รู้ ครับ ดังข้อความอรรถกถา อธิบาย ในเรื่องปัญญาพึงรู้ได้วยสนทนา ที่ว่า

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒- หน้าที่ 458

บทว่า สากจฺฉาย ได้แก่ การสนาทนากัน. จริงอยู่ ถ้อยคำของคนทรามปัญญา ย่อมเลื่อนลอย เหมือนลูกยางลอยน้ำ ปฎิภาณของผู้มีปัญญาพูดไม่มีที่สิ้นสุด. เป็นความจริง โดยอาการที่น้ำไหว เขาก็รู้ได้ว่า ปลาตัวเล็กหรือตัวโต.

ส่วนคำถามที่ว่า การกระทำ คือ อะไร การกระทำ ก็คือ ความตั้งใจ ที่เป็นเจตนาเจตสิก ที่เป็นไปทางกาย วาจา ซึ่ง ในความหมายทางโลกกล่าวว่า ให้ดูที่การกระทำ มุ่งหมายถึง การกระทำทางกาย ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่ ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อกล่าวถึง คำว่า การกระทำ สัจจะ คือ เจตนาเจตสิก ทั้งที่เป็นการกระทำทางกายวาจา เป็นสำคัญ

ส่วนคำพูดที่ว่า การกระทำ สำคัญกว่าคำพูด ในคำพูดทางโลกนี้ หมายถึง การกระทำทางกาย สำคัญกว่า คำพูด คือ บางคนเอาแต่พูด แต่ ไม่ทำ ก็ไมได้งานสำเร็จอะไร แต่ คนที่ทำทางกาย แม้ไม่พูด งานนั้นก็สำเร็จ การกระทำ จึงสำคัญกว่าคำพูด นี้โดยความหมายของชาวโลกที่อธิบายคำนี้ไว้ แต่ สำหรับในทางธรรมแล้ว การกระทำทางกาย ไม่จำเป็นจะต้องสำคัญกว่าคำพูด เพราะ การกระทำทางกาย ก็คือ กายกรรม และ การกระทำทางวาจา ก็คือ วจีกรรมล้วนแล้วแต่ เป็นการกระทำที่เกิดจากจิต จากใจที่ดี หรือ ไม่ดี ดังนั้น ในทางพระพุทธศาสนา ให้ความหมาย คำว่า สำคัญน้อย สำคัญมาก ที่ กำลังของกรรม การกระทำนั้นว่า การกระทำอะไร มีผลมากกว่ากัน

ซึ่งหากกล่าวโดยนัยของกรรม แล้ว ในฝ่ายอกุศลกรรม กรรมที่หนักที่สุด ไม่ใช่การกระทำทางกาย แต่ เป็นการกระทำทางวาจา คือ การทำสังฆเภท ด้วยการพูดให้สงฆ์แตกกัน มีกำลังมากกว่า แม้การฆ่าบิดา มารดา พระอรหันต์ด้วยการกระทำทางกายคือ บาปหนักว่า นี่แสดงว่า วจิกีกรรมฝ่ายอกุศลกรรมมีกำลังมากกว่า การกระทำทางกาย ครับ

แต่เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว การกระทำทางกาย วาจา จะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตใจที่ตรึก นึกคิดเป็นกุศล อกุศล เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา การกระทำทางใจ ที่เรียกว่า มโนกรรมนั้น มีกำลังมากที่สุด มากกว่า การะทำทางกาย วาจา ทั้งฝ่ายกุศลและ อกุศล ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับใจในขณะนั้น แม้กาย วาจา ภายนอกจะดูดี ไม่ดีอย่างไร แต่สำคัญที่ใจเป็นสำคัญ ที่เป็นมโนกรรม และผลของกรรมก็มากกว่า ทั้งทางกาย และ วาจาด้วย ทั้งในฝ่ายของกุศล และ อกุศล ครับ

ในอรรถกถา อุปาลิวาทสูตร ได้อธิบายในเรื่องของมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่าทางฝ่ายกายกรรมและวจีกรรม ในฝ่ายกุศล มโนกรรมก็ชื่อว่ามีคุณมากกว่า กุศลกรรมทางกายกรรมและวจีกรรม เช่น เจตนา (กรรม) ที่เป็นไปในขณะมรรคจิตนั้นสามารถดับกิเลสได้ มโนกรรมฝ่ายกุศลจึงชื่อว่าเป็นใหญ่ มีคุณกว่ากายกรรมและวจีกรรม

มโนกรรมมีโทษมากกว่ากายกรรมและวจีกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลอนันตริยกรรม มีการฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น ย่อมสำเร็จด้วยกายกรรม ส่วนวจีกรรม ย่อมสามารถทำสังฆเภทให้ตกนรกตลอดกัป ดูเหมือนว่ากายกรรมและวจีกรรมจะมีโทษมากแต่มโนกรรมที่มีโทษมากกว่าคือความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ เช่น ไม่เชื่อว่าบาป บุญมีจริง เป็นต้น มโนกรรมนี้มีโทษมากกว่าเพราะกายกรรม และวจีกรรมที่เป็นอกุศลยังสามารถกำหนดอายุของการรับผลของกรรมได้ และสามารถบรรลุในภายหลังได้แต่มิจฉาทิฏฐิไม่สามารถออกจากวัฏฏะได้เลย (ตอวัฏฏะ) และยังเป็นเหตุให้ที่ทำบาปกรรมต่างๆ มากมายด้วยมีอนันตริยกรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้น มโนกรรมฝ่ายอกุศลจึงมีโทษมากกว่ากายกรรมและวจีกรรม

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่..

มโนกรรมมีโทษมากที่สุด [ อรรถกถา อุปาลิวาทสูตร ]

มิจฉาทิฎฐิมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

แสดงให้เห็นถึงความละเอียด แม้แต่ละคำ แม้คำว่า การกระทำ คำว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ว่ามีความละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งจะรู้ละเอียดขึ้นได้ด้วยการฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ละเอียดลึกซึ้งเพราะตรัสรู้ด้วพระปัญญา ที่แสดงให้เห็นความละเอียดของสภาพธรรม เพราะละเอียดด้วย

สภาวะที่เป็นามธรรม รูปธรรมที่รู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่รู้ด้วยอย่างอื่น การศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นประโยชน์กับทุกคนที่ศึกษาด้วยความเคารพ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ดรุณี
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ดรุณี
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขออนุญาตกราบเรียนถามต่อนะคะ

ถ้าเป็นเช่นนั้น การที่ใครก็ตาม มีคำพูดเป็นวจีกรรม ประเภทวจีทุจริต แล้วกล่าวว่าไม่ได้ตั้งใจ เป็นการพูดตรงๆ เป็นคนตรงๆ จัดว่าซื่อสัตย์ จึงไม่บาป ก็แสดงว่าผู้นั้นมีวจีทุจริตเป็นปกติ และเข้าใจว่าเป็นความดี จึงไม่รู้สึกว่าบาปใช่มั้ยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ดรุณี
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

หรือในอีกแง่ของคำถามข้างต้น การจะพูดอะไร ที่คนทางโลกกล่าวว่า พูดไม่คิด แล้วอ้างว่าไม่มีเจตนา (ตัวกรรม) เป็นไปได้หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 และ 5 ครับ

การพูด ที่กระทำทางวาจา จะปราศจาก เจตนาไม่ได้ เพราะ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ ขึ้นอยู่กับว่า การพูดนั้น พูดด้วยกุศล หรือ อกุศลจิต ซึ่งมีเจตนาความตั้งใจ อยู่แล้วในขณะนั้น ดังนั้น หากมีการพูดด้วยวาจาที่ไม่ดี ที่เป็น วจีทุจริต 4 คือ พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่พูดด้วยอกุศลจิตนั้น มีเจตนาแล้ว ที่เป็น เจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต จะรู้ หรือ ไม่รู้ก็ตาม ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจพูด เป็นคนพูดตรงๆ หรือไม่ได้มีเจตนา ในความเป็นจริง ก็คือ เป็นคนพูดวจีทุจริตเป็นปกติตามที่ผู้ถามเข้าใจถูกแล้ว จึงพูดได้ง่าย และ ได้เร็ว โดยไม่ได้คิดก่อนพูดก่อน จึงทำให้คิดว่า ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งๆ ที่ตั้งใจ มีเจตนาพูด แต่เพราะสะสมมามาก ทำให้พูดไดง่ายและรวดเร็วไม่ได้คิดก่อนพูด จึงกล่าวว่าไม่ได้ตั้งใจ ครับ ซึ่งเมื่อพูดวาจาที่ไม่ดีแล้ว จะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม ก็เป็นบาปแล้วในขณะนั้น ครับ

การพูดไม่คิด ขณะที่พูดก็มีเจตนา ขณะที่ไม่ได้คิด ก็เป็นอีกจิตขณะหนึ่ง ไม่สามารถเอามาปนกับขณะที่พูดไม่ดีได้ ครับ เพราะฉะนั้น ขณะที่พูดไม่ดี ก็มีเจตนาพูดไม่ดี ครับ ซึ่ง ไม่ได้คิดพิจารณาใคร่ครวญก่อนพูด ครับ เพราะถ้าคิดดี มีเจตนาดี ย่อมจะพูดดี ไม่พูดดีแน่นอน ครับ

สิ่งที่น่าคิด สำหรับ ที่กล่าวว่า เป็นคนพูดตรง ซื่อสัตย์ ก็คือ ความไม่ดี อกุศลจิตจะกล่าวว่า ตรง ซื่อสัตย์ไม่ได้ เพราะ สภาพธรรมที่ไม่ดี อกุศลจิต ชื่อว่า คด ไม่ตรงเลย ดังนั้น เป็นคนตรงจริงๆ คือ ตรงด้วยกุศลธรรม ไม่ใช่ว่า คิดอะไรก็พูด ก็จะเป็นตรง คนจริงใจ แต่ ถ้าพูดด้วยจิตเป็นอกุศล จะพูดจากใจที่คิด คือ ไม่ได้กล่าวเท็จ แต่ ก็เป็นคำพูดที่เป็นอกุศลประเภทอื่นที่ไม่ดี ก็ได้ ก็ไม่ชื่อว่า เป็นคนตรง ซื่อสัตย์

ดังนั้น ความเป็นผู้ตรง ซื่อสัตย์ จึงหมายถึง กุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจ แม้ไม่พูดแต่เกิดจิตที่ดี หรือ พูด ด้วยจิตที่ดี ก็ชื่อว่า ตรง ด้วย คำพูดที่ตรง เพราะจิตที่ตรงด้วย กุศลธรรม ครับ พูดด้วยคำที่ดี ด้วยกุศล ก็ชื่อว่า เป็นคนตรงได้เช่นกันลักษณะของผู้ตรงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาเมตตสูตรมีว่า

[๑๐] กิจนั้นใด อันพระอริยะบรรลุบทอันสงบ ทำแล้ว กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ กุลบุตรนั้น พึงเป็นผู้อาจหาญ ตรงและตรงด้วยดี พึงเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจน้อย ประพฤติเบากายจิต.....

อรรถกถาขยายความบางตอนดังนี้ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะไม่มีมายา. หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง.....

วาจาที่ควรพูด

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๓๙

๘. วาจาสูตร

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน

องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
raynu.p
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ดรุณี
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องคำพูด ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นต่อ ครับ

เรื่องคำพูด ก็เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ เพราะเป็นชีวิตประจำวัน เพราะจะมีการพูด มีการสนทนากันอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นแล้ว เครื่องเตือนที่ดี จึงไม่พ้นไปจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ที่ทรงแสดงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ว่าคำใด ควรพูด คำใด ไม่ควรพูด จึงไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเกิดอกุศลเลยแม้เพียงเล็กน้อย คำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด การพูดเหน็บแนบ กระทบกระเทียบผู้อื่น เป็นต้น ล้วนมาจากจิตที่เป็นอกุศล ย่อมไม่ควรโดยประการทั้งปวง ถ้าจิตเป็นกุศลแล้ว จะพูดคำเหล่านั้นไม่ได้เลย

แต่เพราะอาศัยพระธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา จะทำให้พิจารณาเห็นได้ว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็สามารถที่จะเว้นไม่พูดในขณะนั้นได้ โดยนึกถึงผู้ฟังเป็นสำคัญ ที่มุ่งถึงการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เพราะโดยปกติของทุกคนแล้ว ย่อมชอบคำจริง คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เป็นต้น ไม่ชอบคำเท็จ ไม่ชอบคำหลอกลวง ไม่ชอบคำหยาบคาย ควรที่จะได้พิจารณาว่า แม้เราก็ไม่ชอบคำที่ไม่น่าฟัง จึงไม่ควรที่จะพูดคำอย่างนั้นๆ ออกไปให้คนอื่นได้ยิน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ปัญญารู้ได้ด้วยการสนทนาธรรม คนที่จะรู้ว่าคนนั้นมีปัญญาหรือเปล่า คนนั้นก็จะต้องมีปัญญาก่อน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
natural
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
bsomsuda
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ดรุณี
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ตั้งแต่เกิดมา ก็เพิ่งเข้าใจเรื่องกรรมจากที่บ้านธัมมะค่ะ

เพิ่งเข้าใจว่า วจีกรรม คือ "การกระทำ"ทางวาจา

แต่ก่อนดิฉันก็สับสนมาตลอดว่าทำไมทางโลกถึงไปให้น้ำหนักหรือความสำคัญทางการกระทำกันมากกว่า นึกว่าการกระทำคือกายกรรมเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนมักจะทะเลาะ วิวาทถึงกับรบราฆ่าฟันกันตาย เพราะเรื่องวาจาหรือการเจรจาขัดคอกันเป็นส่วนใหญ่ ที่แท้คือกรรมหรือการกระทำทั้งหมด คือการกระทำของเจตนาเจตสิกนั่นเอง ตั้งแต่มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ด้วยความไม่เข้าใจธรรมะนี่เอง ที่ทำให้เข้าใจผิดอยู่นาน และเผลอล่วงวจีกรรมไป เพราะไม่คิดว่าจะสำคัญหรือหนักหนาอะไรเท่ากายกรรม ยิ่งยุคที่สื่อสารถึงกันง่าย ก็ยิ่งล่วงเกินกันง่าย ด้วยการกระทำทางวาจา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ดรุณี
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ส่วนเรื่องการพูดตรง พูดแบบขวานผ่าซาก ไม่แคร์ความรู้สึกคนฟัง แล้วอ้างว่าเป็นความซื่อสัตย์ (ต่อความรู้สึกตัวเอง) ส่วนใหญ่การกระทำทางวาจาแบบนี้ เป็นสิ่งที่คนสมัยนี้นิยมกันค่ะ อาจจะติดมาจากบุคคลในสื่ออีกที เวลาที่เผลอพูดดูหมิ่นหรือเสียดสีใครไป แล้วก็อ้างเรื่องความซื่อสัตย์ พูดตรงกะความรู้สึกตัวเอง มาทำให้ดูไม่ผิดบาปใดๆ วันนี้ก็ได้ทราบคำอธิบายชัดเจนว่า ความซื่อสัตย์ หรือ ความเป็นคนตรง คือ ความตรงที่เป็นกุศล ไม่ใช่แปลว่า พูดตรงตามใจ แล้วจะหมายถึงซื่อสัตย์หรือเป็นคนตรงเสมอไป

ขอบพระคุณมากค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 11 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ