ในพระไตรปิฎกและคำสอนของพระพุทธเจ้ากับการทำสมาธิ

 
เจริญในธรรม
วันที่  27 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23095
อ่าน  17,463

ขอเรียนถามท่านผู้รู้ธรรมคำสอนทุกท่าน

1. คำสอนเรื่องการเรียนหรือฝึกสมาธิ ในพระไตรปิฎกมีสอนหรือไม่ และสอนไว้ว่าอย่างไร รบกวนหยิบยกบางตอน หรืออ้างอิงในพระไตรปิฎกว่าอยู่ในหมวดไหน เล่มไหน หน้าไหน

2. การทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิ ต่างกันอย่างไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแบบไหนในการปฏิบัติ

3. พระพุทธองค์สอนสมาธิไว้ว่าอย่างไร และปฏิบัติอย่างไร

4. ผมมีความสงสัยเห็นว่าพระสงฆ์ ที่เป็นนักปฏิบัติ หรือสายวัดว่าทำสมาธิกัน ซึ่งแต่ละที่ก็ต่างกัน เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าการทำสมาธิจะต้องมีครูบาอาจารย์หรือไม่อย่างไร

ขอบคุณล่วงหน้าและอนุโมทนาด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับกุศล เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๖๐

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น.

-ตามที่เรียนแล้วว่า สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรม แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดในหนาแน่นยิ่งขึ้น

-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ทั้งสัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ควรอบรมควรเจริญ ส่วนมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล ไม่ควรทำ สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตในทางที่ถูกเป็นกุศล สัมมาสมาธิมีหลายระดับ ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นก็มีสมาธิที่เป็น ขณิกสมาธิ ก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่โดยทั่วไปแล้วสัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็นขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะแต่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ ก็จะเป็นสัมมาสมาธิเช่นกัน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ทำให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกและละเว้นในสิ่งที่ผิด

-ถ้าไม่ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีแต่ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่สำคัญผิดว่าเป็นสิ่งที่ถูก ก็สอนในสิ่งผิดๆ ให้กับผู้อื่นเป็นการเผยแพร่ความเห็นผิด ทำให้คนอื่นประพฤติผิดตามไปด้วย เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว ที่ดีที่สุด ควรที่จะได้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ควรไปทำอะไรตามใครด้วยความไม่รู้ ครับ

ในประเด็นเรื่องสมาธิ มีหลายกระทู้ที่ควรค่าแก่การศึกษาเพิ่มเติม

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

ความแตกต่างระหว่างสัมมาสมาธิและิมิจฉาสมาธิ

ตอบคำถาม FQA เรื่อง จะไปปฏิบัติ (นั่งสมาธิ เดินจงกรม)

สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิสังเกตอย่างไรได้บ้างคะ

สัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ

มิจฉาสมาธิ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. คำสอนเรื่องการเรียนหรือฝึกสมาธิ ในพระไตรปิฎกมีสอนหรือไม่ และสอนไว้ว่าอย่างไร รบกวนหยิบยกบางตอน หรืออ้างอิงในพระไตรปิฎกว่าอยู่ในหมวดไหนเล่มไหนหน้าไหน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมไม่มีส่วนเหลือ ทั้งในฝ่ายกุศล และ อกุศล ซึ่งในฝ่ายของกุศลธรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงในฝ่ายกุศลที่มีหลายระดับ ตามระดับของกุศล ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ภาวนา ซึ่ง ภาวนา ก็ยังแบ่งเป็น สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ดังนั้นในประเด็นเรื่องของสมาธิ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง สมาธิไว้หลากหลายนัย ที่เป็นความตั้งมั่นของจิต ที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก ทรงแสดงสมาธิที่มีนัยทั้งที่ควรเจริญและ ไม่ควรจริญ

โดยมาก เมื่อเราพูดถึงสมาธิ โดยทั่วไปหากไม่ได้ศึกษาก็จะเข้าใจว่า คือ หนทางการปฏิบัติธรรม แต่เมื่อศึกษาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สมาธิมีทั้งที่เกิดกับอกุศลที่เป็นมิจฉาสมาธิ และที่เกิดกับกุศลและจิตที่ดีที่เป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งมิจฉาสมาธิที่เจริญโดยไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ ว่า ไม่ควรเจริญ ส่วน สัมมาสมาธิ ที่เป็นสมาธิที่เป็นไปในการเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนา ที่มีปัญญาเป็นสำคัญ ควรเจริญ ซึ่งจะต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกเป็นสำคัญด้วย

อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าก็ทรงแยก สัมมาสมาธิว่ามีหลายระดับ และ สัมมาสมาธิแบบใด ที่ทำให้ถึงการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นสัมมาสมาธิที่เกิดกับการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่สัมมาสมาธิที่เป็นการเจริญฌาน ครับ ซึ่ง ข้อความในพระไตรปิฎกได้แสดงเรื่องสมาธิไว้พอสังเขปดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 169

๖. สมาธิสูตร

ว่าด้วยสมาธิ

[๑๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง รู้อะไรตามความเป็นจริง. รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปทั้งหลายไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุวิญญาณไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุสัมผัสไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า สุขเวทนาทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ฯลฯ

และ

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 404

๑. สมาธิสูตร

ผู้มีใจตั้งมั่นย่อมรู้ตามความเป็นจริง

[๑๖๕๔] สาวัตถีนิทาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ย่อมรู้อะไรตามความเป็นจริง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอเชิญอ่านคำอธิบายในพระสูตรนี้ เชิญคลิก

สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา


2. การทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิ ต่างกันอย่างไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแบบใหนในการปฏิบัติ

สัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นที่ถูกต้อง จะต้องมีปัญญา ความเห็นถูก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเป็นปัญญาในระดับสมถภาวนา หรือ วิปัสสนาภาวนา เพราะหากไม่มีปัญญาก็ตั้งมั่นผิด ปฏิบัติผิด ก็เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้ามีปัญญา คือ รู้ว่าขณะใดที่สงบ คือไม่มีกิเลสในขณะนั้นเป็นอย่างไรและรู้วิธีที่จะเจริญให้สงบจากกิเลสอย่างไร นี่คือปัญญาโดยนัยสมถภาวนา ส่วนสัมมาสมาธิที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย โดยนัยวิปัสสนา คือ มีปัญญาที่เกิดพร้อมกับความตั้งมั่น ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ เพราะฉะนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า แบบไหนเป็นการปฏิบัติถูกหรือผิด ผู้้นั้นต้องรู้เอง แต่ สำคัญ คือ มีปัญญาเป็นสำคัญ และ ขณะนั้นปัญญารู้อะไร ไม่ใช่นิ่งๆ เฉยๆ แล้วจะเป็นสัมมาสมาธิ ครับ ดังนั้น มีปัญญา เป็นสัมมาสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ ครับ


3. พระพุทธองค์สอนสมาธิไว้ว่าอย่างไร และปฏิบัติอย่างไร

ตามข้อที่หนึ่งที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้นครับ ซึ่งการจะปฏิบัติ สำคัญจะต้องเริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ ซึ่งสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปทำสมาธิ เพียงแต่ว่าหากมีความเข้าใจถูก ปัญญาที่เจริญขึ้นก็เกิดพร้อมกับสมาธิ เป็นความตั้งมั่นที่ถูก กุศลก็เจริญขึ้นตามปัญญาพร้อมๆ กับ สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ครับ


4. ผมมีความสงสัยเห็นว่าพระสงฆ์ ที่เป็นนักปฏิบัติ หรือสายวัดว่าทำสมาธิกัน ซึ่งแต่ละที่ก็ต่างกัน เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าการทำสมาธิจะต้องมีครูบาอาจารย์หรือไม่อย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นใคร บุคคลใดทำ เกณฑ์ตัดสินไม่ได้อยู่ที่ใครบอก คนที่มีชื่อเสียงหรือไม่อย่างไร แต่เกณฑ์ตัดสินความถูกต้อง คือ ปัญญาความเห็นถูกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นสำคัญ เมื่อใดที่สมาธิเกิดพร้อมกับปัญญาคือ มีความเห็นถูกรู้ความจริงในขณะนั้นด้วย โดยรู้ความจริงว่าคืออะไร ไม่ใช่เพียง สงบนิ่ง นั่นเป็นสัมมาสมาธิ แต่ ถ้าทำแล้วไม่รู้อะไร สงบนิ่ง แต่ไม่รู้ ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ ดังนั้นครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุด คงไม่พ้นตนเองคือ ปัญญาที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะหากทำแล้ว ให้คนอื่นรับรองว่าใช่ นั่นก็ไม่ใช่ความเข้าใจถูกของตนเอง เพราะตนเองไม่แน่ใจว่าถูก หรือ ผิด สภาพธรรมที่เป็นปัญญาจะไม่มีทางไม่รู้ว่าถูก หรือ ผิด ครับ

เพราะฉะนั้น เครื่องตรวจสอบ คือ ปัญญาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่การนั่งปฏิบัติสมาธิโดยไม่ได้ศึกษา เมื่อได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ย่อมรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ครับ

หนทางการดับกิเลส คือ สติปัฏฐาน หรืออริยมรรค จึงเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่สมาธิ เป็นสำคัญ เพราะขณะที่รู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็มีสมาธิ ที่เป็นขณิกสมาธิ ชั่วขณะ แต่เป็นสัมมาสมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญา ซึ่งเป็นหนทางการดับกิเลสแท้จริง โดยไม่ต้องไปนั่งสมาธิด้วยความเข้าใจผิด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
worrasak
วันที่ 16 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ