สงสัยเรื่องเจตนาเจตสิก

 
ponchario
วันที่  29 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23102
อ่าน  2,193

ได้ฟังการบรรยายของอ.สุจินต์ ในจิตปรมัตถ์ มีความสงสัยในเรื่องของเจตนาเจตสิก

ใคร่สอบถามท่านอาจารย์ เนื่องจาก เจตนาเจตสิก จัดเป็นตัวกรรม เกิดกับจิตทุกดวง แสดงว่าทุกขณะที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็ต้องทำกรรมตลอดเวลา ใช่หรือไม่ แต่ในทางโลกบางทีเราก็เผลอทำบางสิ่งโดยขาดเจตนา เช่น การทำชีวิตสัตว์ให้ตกไป เป็นต้น ดูเหมือนจะขัดแย้งกับทางอภิธรรม ที่ว่าเจตนาย่อมเกิดกับจิตทุกดวง การกล่าวว่า ทำสิ่งนี้สิ่งนั้นลงไปโดยไม่เจตนาก็คงไม่ถูกต้อง การเผลอล่วงอกุศลกรรมบถโดยไม่เจตนาจัดเป็นกรรมด้วยหรือไม่ ความเป็นจริงเป็นอย่างไร รบกวนท่านอาจารย์หรือผู้รู้ ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยครับ

ขอบคุณมาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง, ตามความเป็นจริงแล้ว เจตนาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ไม่มียกเว้น ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศล จิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิต ก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็เป็นกิริยา ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับเจตนาที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก กับ ชาติกิริยา ไม่ใช่กรรมที่จะให้ผลในภายหน้า เพราะชาติวิบาก เป็นการรับผลของกรรม ส่วนชาิติกิริยาเป็นเพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้เลย

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตนาเกิดร่วมกับจิตทุกครั้ง แต่จะบอกว่าทำกรรมอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะการกระทำกรรม ต้องมุ่งหมายถึงขณะที่เป็นกุศล กับ ขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ดี เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นเจตนาที่ไม่ดี เช่น ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นอกุศล ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเหตุมีแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผลในภายหน้าได้ กล่าวคือ กุศลกรรม ให้ผลเป็นสุข ทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลกรรม แล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ

-จากประเด็นที่ว่า ... แต่ในทางโลก บางทีเราก็เผลอทำบางสิ่งโดยขาดเจตนา เช่น การทำชีวิตสัตว์ให้ตกไป เป็นต้น ดูเหมือนจะขัดแย้งกับทางอภิธรรม ที่ว่าเจตนาย่อมเกิดกับจิตทุกดวง การกล่าวว่า ทำสิ่งนี้สิ่งนั้นลงไปโดยไม่เจตนาก็คงไม่ถูกต้อง การเผลอล่วงอกุศลกรรมบถโดยไม่เจตนาจัดเป็นกรรมด้วยหรือไม่ ความเป็นจริงเป็นอย่างไร

++ความเป็นจริงของสภาพธรรม ย่อมไม่เปลี่ยนแปลง จริงอยู่ทุกขณะไม่ปราศจากเจตนา แต่ขึ้นอยู่กับว่า เป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด การเผลอไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่เจตนา เช่น การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป นั้น แสดงว่า มีเจตนา แต่ไม่ได้มีเจตนาในการฆ่า จึงไม่เป็นอกุศลกรรม เพราะการที่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมในข้อที่เป็นปาณาติบาต ได้ องค์ประการหนึ่ง คือ มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งเป็นอกุศลจิตที่เกิดพร้อมกับเจตนาที่เป็นไปในการฆ่า ดังนั้น เมื่อไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า ก็ไม่เป็นอกุศลกรรม เช่น เวลาเราเดินทางไปตามถนนหนทาง บางครั้งเหยียบมดบ้าง เหยียบแมลงบ้าง โดยที่เราไม่รู้เลย ไม่มีเจตนาฆ่าเลย เพราะมีเพียงเจตนาที่จะเดิน เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า หรือ แม้กระทั่งบางครั้งปิดประตู แต่ปรากฏว่าหนีบจิ้งจกตาย โดยไม่รู้ ไม่มีเจตนาฆ่าเลย ก็ไม่เป็นปาณาติบาต บาปย่อมไม่มี เพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่า นั่นเอง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ไม่มีเจตนาโดยตรงจะผิดบาป แค่ไหน

เจตนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

เรื่องของกรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ponchario
วันที่ 29 มิ.ย. 2556

ขอบคุณมากสำหรับคำอธิบายนะครับ ถ้าเป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น การกล่าวว่า

เจตนานั่นแหละเป็นตัวกรรม ก็ไม่จริงเสมอไป ใช่มั้ยครับ .... (คือกรณีที่ไปเกิดกับ

ชาติวิบากหรือกริยา หรือกรณีที่เกิดกับชวนจิตแต่ไม่ได้ล่วงอกุศลกรรมบถ)

อย่างนี้เข้าใจถูกหรือเปล่าครับ?

แต่ก็สงสัยอยู่ว่า เจตนาเจตสิก ในชาติวิบาก ทำกิจอะไร เพราะดูเหมือนการเกิดของ

จิตชาติวิบาก ไม่น่าต้องมีเจตนา เกิดร่วมด้วย และเจตนาเจตสิกที่เกิดกับชวนจิต

แต่ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรมบถ ไม่จัดเป็นกรรม แต่ก็มีผลเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่จิตที่

จะเกิดต่อๆ ไป อย่างนี้ใช่หรือไม่... และกล่าวได้ว่า ทางโลกที่พูดกันว่าไม่มีเจตนา

ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะจริงๆ มีเจตนา เพียงแต่ บางครั้งไม่ถึงกับทำให้เกิดผลของ

กรรมข้างหน้า อย่างนี้เข้าใจถูกต้องมั้ยครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 29 มิ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

จากคำถามที่ว่า...แต่ก็สงสัยอยู่ว่า เจตนาเจตสิก ในชาติวิบาก ทำกิจอะไร

เจตนาเจตสิก ในชาติวิบาก ไม่ได้เป็น ตัวกรรมที่จะให้ผล แต่ กรรมเป็นโดยนัยที่ทำหน้าที่ ร่วมกับจิตชาติวิบาก ในขณะนั้น ส่วน เจตนาเจตสิกที่เกิดกับ ชวนจิตที่ไม่ครบกรรมบถ เช่น โกรธ แต่ ไม่ได้ถึงกับฆ่าผู้อื่น เจตนาเจตสิกนั้น ก็เป็น กรรมเช่นกัน แต่ เป็นกรรมที่ไม่ถึงขนาดให้ผล เกิดผลในภายหน้า ครับ ก็เป็นเจตนาเจตสิกโดยนัยที่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย คือ เกิดพร้อมกัน ในขณะนั้น ครับ

ส่วนที่ผู้ถามกล่าวว่า เจตนาเจตสิกที่เกิดกับชวนจิตที่ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรามบถ เช่น โกรธในใจ มีเจตนาเจตสิก ก็สะสมเป็นอุปนิสัยให้เป็นผู้มักโกรธ ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

และ จากคำกล่าวที่ว่า

และกล่าวได้ว่า ทางโลกที่พูดกันว่าไม่มีเจตนา ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะจริงๆ มีเจตนาเพียงแต่ บางครั้งไม่ถึงกับทำให้เกิดผลของกรรมข้างหน้า อย่างนี้เข้าใจถูกต้องมั้ยครับ?

ถูกต้อง ครับ จริงๆ มีเจตนา แต่ จะต้องเข้าใจถูกว่า มีเจตนาประเภทไหนอย่างไร และ เจตนานั้นเกิดกับจิตชาติอะไร เช่น ถ้าเกิดกับจิตชาติวิบาก ที่เป็นขณะที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น ก็มีเจตนาที่เป็นกรรม แต่ เป็นกรรมที่ไม่ทำให้เกิดผล แต่ ถ้ามีเจตนาที่ทำอกุศลกรรม ก็มีเจตนาเช่นกัน แต่ เป็นเจตนาทีทำให้เกิดผลในภายหน้า ครับ

แต่ เจตนาที่เกิดกับกุศลจิต อกุศลจิตที่ไม่ครบกรรมบถ ก็เป็นกรรม แต่ เป็นกรรมที่ไม่ให้ผล แต่สะสมเป็นอุปนิสัยต่อไป ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ponchario
วันที่ 29 มิ.ย. 2556

ขอบคุณมากครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
bsomsuda
วันที่ 30 มิ.ย. 2556

"เวลาเราเดินทางไปตามถนนหนทาง บางครั้งเหยียบมดบ้าง

เหยียบแมลงบ้าง โดยที่เราไม่รู้เลย ไม่มีเจตนาฆ่าเลย

เพราะมีเพียงเจตนาที่จะเดินเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า

หรือแม้กระทั่งบางครั้งปิดประตู แต่ปรากฏว่าหนีบจิ้งจกตาย โดยไม่รู้

ไม่มีเจตนาฆ่าเลย ก็ม่เป็นปาณาติบาต บาปย่อมไม่มี เพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่า"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
guy
วันที่ 30 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ