ปฐมธนสูตร - ทุติยธนสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖

 
มศพ.
วันที่  7 ก.ค. 2556
หมายเลข  23142
อ่าน  1,593

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปฐมธนสูตร และ ทุติยธนสูตร

(ว่าด้วยทรัพย์ ๗ ประการ)

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๑๐

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๑๐

๕. ปฐมธนสูตร

[๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลายทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการ เป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล.

ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีลหิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มี แก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียก ผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวตของผู้นั้นไม่เปล่า- ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พึงประกอบ ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม.

จบ ปฐมธนสูตรที่ ๕

อรรถกถาปฐมธนสูตรที่ ๕

ปฐมธนสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ธนานิ ได้แก่ชื่อว่าทรัพย์เพราะอรรถว่า เพราะบุคคล ผู้ไม่ยากจนทำได้.

จบ อรรถกถาปฐมธนสูตรที่ ๕

๖. ทุติยธนสูตร

[๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการ เป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มี พระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ทรงเป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว ทรงเป็นผู้รู้ โลกอย่างแจ่มแจ้ง ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใคร ยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศีลเป็นไฉน ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการ ลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอาย ต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรม อันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูก ต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นไฉน ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย อริยะสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ. ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลายก็ทรัพย์คือจาคะเป็นไฉน ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ. ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นปัญญา คือ ประกอบด้วย ปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล.

ทรัพย์คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มี แก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้ นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่า- ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึง ประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็น ธรรม.

จบ ทุติยธนสูตรที่ ๖.

... ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป ปฐมธนสูตร และ ทุติยธนสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๗ ประการ)

ในปฐมธนสูตร และ ทุติยธนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงทรัพย์ ๗ ประการ คือ ทรัพย์คือศรัทธา (ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย) ทรัพย์ คือ ศีล (เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น) ทรัพย์คือหิริ (ความละอายต่ออกุศลธรรม) ทรัพย์คือโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) ทรัพย์คือสุตะ (การสดับตรับฟังพระธรรม) ทรัพย์ คือ จาคะ (การลสะความตระหนี่ การสละกิเลส) ทรัพย์ คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม)

ผู้มีทรัพย์ ๗ ประการนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ไม่ขัดสน และเป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

อริยทรัพย์ภายใน

อริยทรัพย์?

ต้องเร่งขวนขวายสะสมอริยทรัพย์

ทรัพย์ภายใน กับ ทรัพย์ภายนอก

สิ่งที่มีค่าที่แท้จริง

สิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือปัญญา

ประโยชน์จริงๆ ของการฟังพระธรรม

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2556

กราบอนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nongnooch
วันที่ 8 ก.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 8 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 8 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 11 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jans
วันที่ 13 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 8 ก.ค. 2566

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลทุกประการค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ