ปฐมตถาคตสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖

 
มศพ.
วันที่  14 ก.ค. 2556
หมายเลข  23178
อ่าน  1,352

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปฐมตถาคตสูตร

(ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักร)

...จาก...
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๐


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๐

ธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒ ปฐมตถาคตสูตร

(ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักร)

[๑๖๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตน

มฤคทายวันกรุงพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุ

ปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดสองอย่างนี้

อันบรรพชิตไม่ควรเสพส่วนสุดสองอย่างนั้น เป็นไฉน คือ การ

ประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็น

ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วย

ประโยชน์ ๑ ข้อปฏิบัติอัน เป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒

อย่างเหล่านั้น อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็น

ไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานก็

ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น......... เป็นไฉน คือ อริยมรรคอันประกอบ

ด้วยองค์ ๘ นี้แหละ. ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ

วาจาชอบการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่น

ชอบ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว

กระทำจักษุ กระทำญาณย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ

ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

[๑๖๖๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ

ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์

ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์

ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้

สิ่งนี้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ทุกขสมุทัย

อริยสัจนี้แล คือ ตัณหา ตัณหาให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัด

ด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่

กามตัณหา ภวตัณหา วิภววัตหา ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แลคือ ความดับ

ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง

ความปล่อย ความไม่อาลัย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล

คืออริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมา

สมาธิ.

[๑๖๖๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา

แสงสว่างได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้

ทุกขอริยสัจ ฯลฯทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นเรา

กำหนดรู้แล้ว.

[๑๖๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา

แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เรา ไม่เคยฟังมาก่อน ว่า นี้

ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้น ควรละ ฯลฯ ทุกขสมุทัย

อริยสัจนั้นเราละแล้ว.

[๑๖๖๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา

แสงสว่างได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้

ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น ควรกระทำให้แจ้ง ฯลฯ

ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเรากระทำให้แจ้งแล้ว.

[๑๖๖๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา

แสงสว่างได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

นั้นควรเจริญ จักษุ ญาณปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่

เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

นั้นเราเจริญแล้ว.

[๑๖๗๐] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความ

เห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ใน

อริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณ

ตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก

มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและ

มนุษย์ เพียงนั้น ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความ

เป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ เหล่านี้ของ

เรา บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัม

มาสัมโพธิญาณในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์

พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะ ได้บังเกิด

ขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ภพใหม่

ไม่มี พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุ

ปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๑๖๗๑] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่

ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่าน

โกณฑัญญะ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้ง

มวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศ

ธรรมจักรแล้ว พวกภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม

อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุง

พาราณสีอัน สมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก

ประกาศไม่ได้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดา

แล้ว..... พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมหาราช

แล้ว.... พวกเทพชั้นยามา ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว...

พวกเทพชั้นดุสิต ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว... พวกเทพชั้น

นิมมานรดี ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว ... พวกเทพชั้นปรนิม

มิตวสวัตตีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว... พวกเทพที่นับ

เนื่องในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ได้

ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง

ประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤทายวันกรุงพาราณสี อันสมณะพราหมณ์

เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ โนโลกประกาศไม่ได้.

[๑๖๗๒] โดยขณะนั้น โดยครู่นั้น เสียงได้ระบือขึ้นไปจนถึง

พรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ก็หมื่นโลกธาตุนี้ สะเทือนสะท้านหวั่นไหว

ทั้งแสงสว่างอันยิ่งหาประมาณมิได้ได้ ปรากฎแล้วในโลกล่วงเทวานุภาพ

ของพวกเทพดาทั้งหลาย.

[๑๖๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงเปล่งอุทานว่า

โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำ

ว่า อัญญาโกณฑัญ-ญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ด้วยประการ

ฉะนี้แล.

จบปฐมตถาคตสูตรที่ ๑.


ข้อความจากอรรถกถา ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่ อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร [มหาวารวรรค]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุปปฐมตถาคตสูตร

(ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักร)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ว่าด้วยส่วนสุด ๒ ประการ ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค (การประกอบตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในความสุขในกาม) และ อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบตนให้ได้รับความลำบาก) และทรงแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ซึ่งเป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ต่อจากนั้น ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค, ทรงแสดงว่า ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ มีวนรอบ ๓ มีอาการ๑๒ คือ รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์, ทุกข์ ควรรู้, ทุกข์ ได้รู้แล้ว รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ สมุทัย, สมุทัย ควรละ, สมุทัย ละได้แล้ว รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ นิโรธ, นิโรธ ควรกระทำให้แจ้ง,นิโรธ ได้กระทำให้แจ้งแล้ว รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ มรรค, มรรค ควรเจริญ, มรรค ได้เจริญแล้ว เมื่อญาณทัสสนะในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ยังไม่บริสุทธิ์อยู่ตราบใด พระองค์ก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แต่เมื่อญาณทัสสนะในอริยสัจจ์ ๔ บริสุทธิ์ดีแล้ว พระองค์จึงได้ปฏิญาณตนว่าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง ท่านโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ. ขอเชิญคลิกศึกษาเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ รอบ ๓ อาการ ๑๒ ดวงตาเห็นธรรม ย้อนรำลึกเหตุการณ์วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา

ธรรมะที่เป็นหนทาง

เจตสิกที่เป็นสัมมามรรคมี ๘

สัมมาทิฏฐิไม่มี มรรคองค์อื่นก็เจริญไม่ได้เลย

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 20 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ