มนุษย์ แปลว่าอะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  22 ก.ค. 2556
หมายเลข  23228
อ่าน  7,760

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มนุษย์ คือ อะไรในทางธรรม ประกอบมาจากคำใด แปลว่าอะไร มนุษย์แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร ขอตัวอย่างข้อความในพระไตรปิฎกที่ปรากฏคำว่ามนุษย์ตามลักษณะต่างๆ นั้น คน คืออะไร ในทางธรรม เมื่อไรเรียกคน เมื่อไรเรียกมนุษย์

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายนะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มนุษย์ หมายถึง ผู้ที่มีใจสูง ผู้ประเสริฐ ซึ่ง มนุษย์ แบ่งได้หลากหลายนัยดังนี้

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ [เล่มที่ 48] หน้า ๓๔

จริงอยู่ ผู้ใดเกิดเป็นมนุษย์ กระทำกรรมที่ไม่ควร มีฆ่าสัตว์เป็นต้น ก็สมควรรับโทษ เมื่อได้รับโทษมีการตัดมือเป็นต้น จากพระราชา เป็นต้น ในที่นั้นๆ ย่อมเสวยทุกข์เป็นอันมาก ผู้นี้ชื่อว่า มนุษย์นรก (๑)

อีกคนหนึ่ง เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่ม เพราะกรรมที่ตนทำไว้แต่ก่อน ต้องกระหาย หิวโหย มากไปด้วยทุกข์ เมื่อไม่ได้หลักแหล่ง ก็เร่ร่อนไป ผู้นี้ชื่อว่า มนุษย์เปรต (๒)

อีกคนหนึ่ง เกิดเป็นมนุษย์ อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ต้องทำงานหนักให้เขา หรือเป็นคนขาดมรรยาท ประพฤติแต่อนาจาร (ประพฤติไม่สมควร) ถูกเขาข่มขู่ กลัวตายก็ไปอาศัยป่ารก มากไปด้วยทุกข์ ต้องซอกซอนไป ไม่รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ได้แต่บรรเทาทุกข์ คือ ความหิวโหย ด้วยการนอน เป็นต้น เป็นเบื้องหน้าผู้นี้ ชื่อว่า มนุษย์ดิรัจฉาน (๓)

ส่วนผู้ใด รู้จักประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ของตน เชื่อผลแห่งกรรม มีหิริ (ละอายบาป) โอตตัปปะ (เกรงกลัวบาป) สมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวงมากไปด้วยความสลดใจ งดเว้นอกุศลกรรมบถ ประพฤติเอื้อเฟื้อในกุศลกรรมบถบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้งหลาย ผู้นี้ตั้งอยู่ในมนุษยธรรม ชื่อว่า มนุษย์โดยปรมัตถ (มนุษย์ที่แท้จริง) (๔)


จะเห็นนะครับว่า แบ่งเป็นลักษณะของมนุษย์ ประเภทต่างๆ ทั้ง มนุษย์ที่ทำกรรมไม่ดี แล้วได้รับโทษเหมือนอยู่ในนรก จึงเรียกว่า มนุษย์นรก

มนุษย์เปรต ที่เป็นมนุษย์ที่หิวโหย อันเป็นการอุปมา ตามลักษณะการดำรงชีวิตของ มนุษย์นั้น มนุษย์ดิรัจฉาน ที่มีการใช้ชีวิตดั่งเช่น สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ ที่แท้จริงที่เป็น มนุษย์ประเสริฐ คือ ผู้ที่เป็นมนุษย์ที่ตั้งอยู่ในมนุษยธรรม คือ ตั้งอยู่ในคุณความดีประการต่างๆ และงดเว้นอกุศลกรรมประกาต่างๆ ชื่อว่าเป็นมนุษย์ อย่างแท้จริง เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เป็น มนุษย์โดยปรมัตถ ครับ


มนุษย์ ยังแบ่งเป็นอีกนัยหนึ่ง ที่เป็นมนุษย์ในแต่ละทวีปที่เกิดแตกต่างกันไป ดังนี้ มนุษย์มี ๔ จำพวก คือ

พวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป

มนุษย์ชาวอมรโคยาน

มนุษย์ชาวอุตตรกุรุ

มนุษย์ชาวปุพพวิเทหะ

สำหรับมนุษย์ในทวีปอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกนี้ ที่เป็นชมพูทวีป ไม่ได้มีโอกาสฟังธรรม อบรมปัญญา ดังเช่น ชมพูทวีป แต่ มนุษย์โลกอื่น ก็มีความสุขตามควรแก่ฐานะที่เกิด อย่างเช่น มนุษย์ อุตตรกุรุทวีป

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 130

อุตตรกุรุทวีป เป็นรมณียสถาน มีภูเขาหลวงชื่อ สิเนรุ แลดูงดงาม ตั้งอยู่ทิศใด พวกมนุษย์ซึ่งเกิดในอุตตรกุรุทวีปนั้น ไม่ยึดถือสิ่งใดว่า เป็นของตน ไม่หวงแหนกัน มนุษย์เหล่านั้นไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถออกไถ หมู่มนุษย์บริโภคข้าว สาลีอันผลิตผลในที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม เป็นเมล็ด ข้าวสารหุงในเตาอันปราศจากควัน แล้วบริโภคโภชนะแต่ที่นั้น ซึ่ง ในพระสูตรอื่นแสดงว่า ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่า ชาวอุตตรกุรุทวีป ตรงที่ สามารถอบรมปัญญา ในพระพุทธศาสนาได้ ครับ

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 790

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุ ทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ กล้า ๑ เป็นผู้มีสติ ๑ เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และพวกเทวดาชั้น ดาวดึงส์

อรรถกถาฐานสูตร

บทว่า อิธ พฺรหฺมจริยวาโส ความว่า แม้การอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์แปด (อริยมรรค มีองค์ ๘) ย่อมมีในที่นี้เท่านั้น เพราะ พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในชมพูทวีป


เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มนุสสภูมิ

ชมพูทวีป หมายถึง โลกมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่อินเดีย-เนปาล

มนุษย์ทั้ง ๔ ทวีป

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องมนุษย์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าทุกคน ที่เกิดมาในมนุษย์ภูมิ ล้วนเป็นมนุษย์ทั้งหมด แต่ว่ารู้จักมนุษย์ดีหรือยัง ทั้งๆ ที่เกิดเป็นมนุษย์ มีชีวิตอยู่ ยังไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น จนกว่าจะจากโลกนี้ไปถึง จะสิ้นสุดความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ เป็นมนุษย์จริงๆ หรือเป็นมนุษย์ประเภทไหน เพราะเหตุว่าทุกคนเกิดเป็นมนุษย์ ก็จริง แต่ว่าหลากหลายแตกต่างกันมาก ไม่มีใครเหมือนใคร ไม่มีใครซ้ำกับ ใครเลย แม้แต่ในขณะนี้ คนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็คิดอย่างหนึ่ง เป็น ความหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น มนุษย์น่าสนใจที่สุด ถ้าไม่มีมนุษย์ โลก นี้ก็คงจะไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเหตุว่าแม้จะมีภูเขาไฟระเบิด หรือว่า มีน้ำท่วม แต่ว่าไม่มีใครไปรู้ไปเห็นไปสุขไปทุกข์กับเหตุการณ์นั้นๆ ก็จะไม่มีความ เดือดร้อนเลย

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว คงจะไม่รู้ว่า ธรรมชาติถึงแม้ว่าจะก่อความพินาศต่างๆ แต่ก็ยังไม่เท่ามนุษย์ ซึ่งมนุษย์นี้เองสามารถทำได้ทั้งสิ่งที่เลวร้ายที่สุด และ สามารถที่จะทำได้ทั้งสิ่งที่ดีที่สุด จากการเป็นผู้ที่เลวที่สุดจนถึงความเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุด ถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ใครจะเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่า มนุษย์หลากหลายมาก และไม่มีใครสามารถจะไปบังคับบัญชาเปลี่ยนแปลง ให้คนนั้นๆ หรือว่าคนอื่นเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ แม้แต่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเหนือวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น คือ ความรู้เรื่องมนุษย์ นั่นเอง

มนุษย์ มีความหมายว่าอย่างไร มนุษย์ เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า มนุสฺส หมายถึง ผู้ที่มีใจสูง ใจสูงด้วยคุณธรรม สูงด้วยความดีประการต่างๆ สูงด้วยศีล ด้วยความเพียร ด้วยความประพฤติอันประเสริฐ ด้วยความมั่นคงที่จะเจริญ ซึ่งความดีประการต่างๆ และนอกจากนั้น มนุษย์ ยังหมายถึง ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และ มิใช่ประโยชน์ ด้วย เมื่อรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และ สิ่งมิใช่ประโยชน์แล้ว ก็น้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วละเว้นในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ นี้คือความหมายของมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่แท้จริงด้วย

เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม เท่านั้น แต่เพราะมีจิตที่หลากหลาย ต่างกันออกไป มีการกระทำที่แตกต่างกัน มีการได้รับผลของกรรมที่ต่างกัน มนุษย์จึงมีหลายประเภท ก็เพราะจิต นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าจิตดี เป็นกุศลจิต มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เป็นมนุษย์ที่ดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดี มีการกระทำที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ดี

ข้อสำคัญที่ทุกคนควรพิจารณา คือ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ ยากแสนยาก ก็ควรที่จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง แสวงหาประโยชน์จากการได้เกิดมา เป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจ ถูกเห็นถูกไปตามลำดับ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ประมาทในการ เจริญกุศลทุกประการ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 ก.ค. 2556

มนุษย์ที่ดี คือ รักษาศีล อบรมสติปัฏฐาน จุดมุ่งหมายเพื่อขัดเกลากิลส เพื่อละคลายอกุศล ละความเป็นตัวตน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Kalaya
วันที่ 20 ก.พ. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nui_sudto55
วันที่ 13 ต.ค. 2566

สาธุ อนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ