สนทนาธรรมกับเพื่อน

 
daeng
วันที่  30 ก.ค. 2556
หมายเลข  23273
อ่าน  1,383

วันนี้ได้สนทนากับเพื่อน เรื่องศีลข้อมุสา มีข้อสงสัยว่าการพูดเท็จ พูดนินทา พูดส่อเสียด

หรือพูดเพ้อเจ้อ มีโทสะเกิดร่วมด้วยใช่หรือไม่ คือเพื่อนบอกว่าได้ฟังธรรมมาแล้วพระท่าน

อธิบายให้ฟังว่าการพูดเท็จหรือศีลข้อมุสานี้อยู่ในกลุ่มของโทสะ คือมีโทสะเกิดร่วมด้วย

แต่ก็ยังไม่เข้าใจ (เพราะฟังจากซีดี อธิบายยังไม่ละเอียดพอ) เพื่อนก็เลยสงสัยว่า ศีลข้อ

นี้ทำไมจึงมีโทสะเกิดร่วมด้วย หรืออย่างไร มีความเข้าใจผิดหรือไม่ ท่านผู้รู้กรุณาให้

ความกระจ่างด้วยครับ

ขอขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพูดเท็จ กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผิดศีลข้อ ๔ คือ ข้อมุสาวาท

ส่วนการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่ได้รวมอยู่ในศีลข้อ ๔ แต่เป็นวจี

ทุจริต ซึ่งวจีทุจริตก็รวมถึงมุสาวาทด้วย การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

เป็นคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ ก็ควรที่จะได้ละเว้น เช่นเดียวกันกับการกล่าวเท็จ

-การพูดเท็จ หมายถึง การพูดคำที่ไม่จริงด้วยเจตนาที่จะให้ผู้อื่นรู้ในสิ่งไม่จริง การ

พูดเท็จ เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถผิดศีล ๕ ด้วย เมื่อสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถที่

ครบองค์แล้ว ย่อมทำให้ผลที่ไม่ดีเกิดขึ้น กล่าวคือ ผลอย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบาย

ภูมิ ได้รับความทุกข์ทรมานมากมาย ถ้าเป็นผลอย่างเบา เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อม

ทำให้ได้รับคำพูดที่ไม่จริงจากผู้อื่น จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน มุสาวาท ได้ทำลาย

ประโยชน์ของผู้อื่นมากมายทีเดียว ตามความเป็นจริงแล้ว คำจริง หรือ ความจริง น่าจะ

พูดได้ง่ายกว่าคำเท็จ แต่บุคคลผู้สะสมมาอย่างนี้กลับไม่พูดความจริง พูดแต่คำเท็จ คน

พูดเท็จจึงน่ากลัวมาก เพราะเขาสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซึ่งตรงกับความจริงที่

ว่าบุคคลผู้มักพูดเท็จ ที่จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่น เป็นไม่มี เพราะเหตุว่าไม่มี

ประโยชน์อะไรเลยที่จะต้องพูดเท็จ เขายังพูดได้จึงไม่ต้องพูดถึงอกุศลกรรมอย่างอื่นที่

เขาจะไม่ทำ

-คำพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) เพื่อให้ผู้อื่นแตกแยกกัน หรือ คำพูดส่อเสียด

เพื่อมุ่งที่จะทำให้ตนเป็นที่รัก เป็นที่ไว้วางใจ นั้น เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถ

เมื่อถึงคราวให้ผล อย่างหนักย่อมทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ อย่างเบาเมื่อได้เกิดมา

เป็นมนุษย์ ย่อมทำให้แตกจากมิตร คบกับใคร ไม่นานก็แตกแยกกัน โดยมูลแล้ว

การพูดส่อเสียด เกิดจากโลภะ (ความโลภ ติดข้อง ยินดี พอใจ) บ้าง เกิดจาก

โทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่

อย่างแท้จริง

-การกล่าวคำหยาบ โดยปกติ เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ตราบใดที่ยังไม่

สามารถดับได้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้กล่าววาจาหยาบออกมาได้ เพราะผู้ที่จะดับการ

กล่าววาจาหยาบคายได้อย่างเด็ดขาด ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้น

พระอนาคามี, ที่มีวาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นอกุศลจิต

แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะแต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ

-การพูดเพ้อเจ้อ หมายถึง อกุศลเจตนาที่จงใจพูดในเรื่องที่ไม่มีประโยชน์แก่ผู้อื่น

การพูดเพ้อเจ้อ มีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ มุ่งที่จะพูดคำที่ไร้ประโยชน์ และ มีการ

กล่าวถ้อยคำเช่นนั้นออกไป ซึ่งเกิดจากอกุศลจิต นั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายรวมความ

ว่าการพูดเรื่องทั่วไปแล้วจะเป็นการพูดเพ้อเจ้อทั้งหมด เพราะเหตุว่าพระธรรมเป็น

เรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง และพิจารณาที่สภาพจิตเป็นสำคัญ เช่น การพูดกับผู้อื่นด้วย

เมตตาจิต ถามถึงสุขทุกข์ และการพูดแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตแก่

ผู้อื่นด้วยกุศลจิต ครูอาจารย์สั่งสอนศิลปะวิทยาเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับประกอบ

อาชีพที่สุจริตในภายภาคหน้า แก่ศิษย์ อย่างนี้ไม่เป็นการพูดเพ้อเจ้อ ดังนั้นการจะผิด

อกุศลกรรมบถข้อการพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นวจีทุจริต นั้น ต้องหมายถึงเฉพาะการพูดด้วย

อกุศลเจตนาให้ผู้อื่นรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เท่านั้น และยังมีข้อที่ควรพิจารณาอีก

คือ การพูดเรื่องเดียวกัน แต่จิตอาจจะต่างกันก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่า จะพูดด้วยกุศล

หรือ ด้วยอกุศล เพราะวาจาก็เป็นไปตามจิต

จึงพิจารณาได้ว่า ที่มีการกล่าวคำพูดที่ไม่ดีออกไป ในลักษณะต่างๆ นั้น เป็น

เพราะอกุศลธรรม เท่านั้น เพราะถ้าเป็นกุศลแล้ว จะไม่พูดคำพูดที่ไม่ดีเหล่านั้นเลย

นอกจากจะเป็นโทษกับตนเองแล้วคือสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเองแล้ว

คำพูดเหล่านั้นยังทำร้ายผู้อื่นด้วย

เพราะโลภะ ความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงทำให้พูดในคำที่ไม่จริง ไม่เป็น

ประโยชน์ ก็ได้ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์จากการพูดนั้น หรือเพราะความโกรธ

ความขุ่นเคืองใจ จึงทำให้มีการพูดเท็จ พูดนินทา พูดถึงคนอื่นในทางที่ไม่ดี พูดให้

เขาแตกแยกกัน เป็นต้น และทุกขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะไม่ปราศจาก

โมหะ ซึ่งเป็นความไม่รู้เลย

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่ได้จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในส่วนของอกุศล

ธรรม นั้น ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรม แล้วถอย

กลับจากอกุศลธรรม แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะเหตุว่า ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่อง

เล็กน้อย ก็จะเป็นผู้ประมาท ในที่สุดแล้วก็จะเป็นอกุศลที่มีมาก มีกำลังล่วงจนกระทั่ง

ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

วจีทุจริต

คำพูดสามารถพลิกชีวิตคนได้..........

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออธิบาย ศัพท์เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงก่อน ครับ

ในสภาพธรรมที่เป็น โลภะ โทสะ โมหะ

โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ผูกพัน ยินดีพอใจ ชอบใจ ในชีวิตประจำวันเรามีโลภะเป็นปกติ โลภะมีทั้งระดับที่เกิดขึ้นพอใจชอบใจเป็นปกติ และมีทั้งระดับที่มีกำลังแรง

กล้าถึงขั้นที่ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน,โลภะเป็นอกุศลธรรม

ต่างกันกับอโลภะซึ่งเป็นกุศลธรรม เราไม่สามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิดขึ้นได้ เพราะว่า

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ถ้าเป็นผู้มี

ปกติอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดขึ้นปรากฏได้ ครับ

โทสะ เป็นสภาพที่ประทุษร้าย ขุ่นเคือง ไม่พอใจ โกรธ หงุดหงิด น้อยใจ เสียใจกลัว ทั้งหมดเป็นลักษณะของโทสะ โทสะมีหลายระดับขั้น ในชีวิตประจำวันโทสะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นในขณะที่โกรธไม่พอใจบุคคลบางคนแล้ว กล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับบุคคลนั้นออกไป ขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นโทสะ นอกจากนั้นแล้วขณะที่น้อยใจเสียใจ หรือกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวภัยในชีวิต กลัวอันตรายต่างๆ กลัวความเจ็บป่วยเป็นต้น ก็เป็นกิเลสประเภทโทสะ เพราะเป็นลักษณะที่ไม่ชอบในอารมณ์ หนทางที่จะดับโทสะได้ คือ อบรมเจริญปัญญาเท่านั้น จึงจะดับโทสะให้หมดสิ้นไปได้

โมหะ เป็นความหลง เป็นความไม่รู้ ขณะที่โมหะเกิดขึ้นย่อมเป็นความมืดบอดเป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจกุศลไม่เข้าใจอกุศล ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรม ไม่เข้าใจหนทางที่จะเป็นไปเพื่อ

การดับกิเลส พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าโมหะ (หรืออวิชชา) เป็นมูลรากของอกุศล

ธรรมทั้งหลาย

พระธรรม มีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่เหตุ ของการกระทำในแต่ละอย่าง ก็มีเหตุ

ต่างกัน มีปัจจัยต่างๆ กันไป ซึ่งขออธิบาย มูลเหตุของการพูดที่ไม่ดี ที่เป็นการกระทำ

ทุจริตทางวาจา แต่ละข้อ ว่ามีเหตุจากอะไรบ้างดังนี้ ซึ่งขอยกข้อความในพระไตรปิฎก

โดยตรง ที่เป็นพระพุทธพจน์ดังนี้ ครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 557

แก้อกุศลมูล

บทว่า มูลโต ความว่า ปาณาติบาต มีอกุศล ๒ อย่างเป็นมูล

ด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะ. อทินนาทาน (มีอกุศล ๒ อย่างเป็น

มูล) ด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะ หรือด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ

มิจฉาจาร (มีอกุศล ๒ อย่างเป็นมูล) ด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ.

มุสาวาท ด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะหรือโลภะและโมหะ. ปิสุณาวาจา

และสัมผัปปลาปะก็เหมือนกัน (กับมุสาวาท) . ผรุสวาจา ด้วยอำนาจ

แห่งโทสะและโมหะ. อภิชฌา มีอกุศลอย่างเดียวเป็นมูล ด้วยอำนาจแห่ง

โมหะ. พยาบาทก็เหมือนกัน (กับอภิชฌา) . (แต่) มิจฉาทิฏฐิ มีอกุศล

๒ อย่างเป็นมูล ด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ ดังนี้แล.

--------------------------------------------------------

ซึ่งประเด็นคำถามที่ว่า

เรื่องศีลข้อมุสา มีข้อสงสัยว่า การพูดเท็จ พูดนินทา พูดส่อเสียดหรือพูดเพ้อเจ้อ มี

โทสะเกิดร่วมด้วยใช่หรือไม่ คือเพื่อนบอกว่าได้ฟังธรรมมาแล้วพระท่านอธิบายให้

ฟังว่าการพูดเท็จหรือศีลข้อมุสานี้อยู่ในกลุ่มของโทสะ คือมีโทสะเกิดร่วมด้วยแต่ก็

ยังไม่เข้าใจ

--------------------------------------------------

ข้อมุสาวาท การพูดเท็จ จากข้อความในพระไตรปิฎก ที่ยกมานั้น แสดงถึง เหตุ

มูลที่มีการพูดเท็จด้วยอกุศลจิต ด้วย เหตุ คือ โลภะ กับ โมหะ คือ กล่าวเท็จ เพราะ

ความติดข้อง เช่น การพูดคำไม่จริง ด้วยความสนุก เช่น เล่าเรื่องที่ไม่จริง เพื่อ

ให้ตลก ขณะนั้นพูดด้วยความติดข้องอันมีโลภะ เป็นมูล เป็นเหตุ และ ทำไมถึงพูด

ได้ ถ้ารู้ ก็ต้องไม่พูดแน่นอน แต่เพราะมีความไม่รู้ จึงพูด พูดเท็จ แม้เหตุแห่งการ

หัวเราะกันเล่น

สมดังที่พระพุทะเจ้าตรัสไว้ว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 265 ดูก่อนราหุล เรากล่าวว่าบุคคล ผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นแหละราหุลเธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูก่อนราหุล

เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.

---------------------------------------------

ดังนั้น การกล่าวคำเท็จ ไม่จำเป็นจะต้องมีโทสะ เกิดร่วมด้วยเสมอไป ตามที่

ผู้ถามได้ถามมา เกิด เฉพาะ โลภะ และ โมหะที่เกิดร่วมด้วยเท่านั้นก็ได้ ครับ

มุสาวาท คำเท็จ เกิด เพราะ โทสะ และ โมหะ เป็นมูล เป็นเหตุ คือ การกล่าว

คำเท็จ เพราะ มีความโกรธจึงกล่าวคำเท็จไป เพื่อที่จะทำลายผู้อื่น เป็นต้นก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ไม่ชอบคนนี้ จึงกล่าวคำเท็จ ด้วยจิตที่เป็นโทสะ เพื่อทำลายผู้นั้น

การกล่าวคำเท็จนั้น มีโทสะ เกิด เป็นเหตุ และ มีโมหะ ที่เป็นความไม่รู้ในขณะนั้น

โดยไม่ได้มีโลภะ ความติดข้องที่จะกล่าว แต่กล่าวด้วยโทสะก็ได้ ครับ

ตามข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวยกมาก่อนหน้านี้ ที่แสดงว่า มุสาวาท มีเหตุจาก

โทสะ และ โมหะก็ได้

ซึ่ง ตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่ชัดเจน อย่างเช่น วัสสการพราหมณ์ เป็นผู้มีอำนาจ

ตัดสินคนดี ในเมือง มคธ โกรธ อุตตรสามเณร เนื่องด้วย ก่อนที่ท่านจะบวชนั้น

วัสสการพราหมณ์ ได้พยายามยกบุตรสาวให้ แต่ อุตตรมาณพ ปฏิเสธ ไม่รับเพราะมี

อุปนิสัยที่จะบรรลุ และ ต้องบวช เพราะฉะนั้น วัสสการพราหมณ์จึงฝังใจ ผูกใจโกรธ

เมื่อได้ช่อง ได้โอกาส คือ มีคนเอาเงินมาวาง ที่โจรขโมยมา คนพบเงินที่ใกล้กับที่

ท่านอยู่ จึงจับท่าน หาว่าเป็นโจร วัสสการพราหมณ์ เป็นผู้เป็นใหญ่ตัดสินคดี จำอุตต

รสามเณรได้ จึงตัดสิน กล่าวคำไม่จริง ว่าท่านเป็นคนทำ ทั้งที่ไม่ได้ทำ

เป็นการกล่าวเท็จ เพราะ โทสะเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น และ จับท่านไปเสียบ

หลาว พระพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ แสดงธรรม ต่อหน้าพระอุตตรสามเณร ท่านบรรลุ

เป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น และ เหาะไปที่อื่น

นี่ก็เป็นตัวอย่างของอกุศลที่มีกำลัง ถึงกับกล่าวเท็จทั้งที่รู้ด้วยโทสะได้เป็นธรรมดา

ปิสุณาวาจา การพูดส่อเสียด ซึ่ง ตามที่ได้ยกข้อความในพระไตรฏกนั้น ก็

แสดงไว้ชัดเจนว่า เกิดได้ทั้งโลภะ และโทสะ ไม่ใช่เพียง โลภะ อย่างเดียวเท่านั้น

และ ไม่ใช่เพียงโทสะอย่างเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่าง การพูดส่อเสียด ซึ่ง การพูดส่อ

เสียด มี 2 อย่าง คือ

1.การพูดให้เขาแตกแยกกัน โดยการเอาความข้างนี้ ไปบอกความอีกข้างหนึ่ง

2.การกล่าวคำเพื่อให้ตนเป็นที่รัก คนอื่นไม่เป็นที่รักของคนนั้น

ซึ่ง การพูดให้เขาแตกกันนั้นด้วยโลภะ ที่เกิดร่วมกับโมหะ โดยไม่มีโทสะก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น พูดให้ตนเองเป็นที่รัก เพราะ ยินดีพอใจในตนเอง ก็พยายามพูด

ด้วยความพอใจ ติดข้องให้ตนเป็นที่รัก ขณะนั้นพูดด้วยโลภะ แต่ ด้วยเจตนาให้เขา

แตกกันในขณะนั้น ครับ

และ การพูดส่อเสียด ด้วยจิตที่เป็นโทสะ ก็เพราะ ให้เขาแตกกัน จึงพูดด้วยอกุศล

ด้วยความขุ่นใจ ไปบอกความอีกคนหนึ่ง เพื่อให้แตกกันก็ได้ ครับ

ผรุสวาจา พูดคำหยาบ เป็นการพูดคำหยาบออกมา คือ หยาบเพราะ จิตที่หยาบ

ด้วย อกุศล คือ โทสะ ในขณะะนั้น แต่ การพูดคำหยาบ คือ เจตนาว่าคนอื่นนั้นไม่ใช่

ด้วยโลภะ คือ ไม่มีทางที่จะเกิดโลภะ เกิดร่วมด้วยในขณะะที่มีเจตนาด่าว่า แม้จะใช้

คำสุภาพ แต่ เจตนาว่าเขา ก็เพราะจิตที่ขุ่นใจ ไม่สบายใจ เป็นโทสะที่เกิดร่วมด้วยใน

ขณะนั้น อันมี โมหะเกิดร่วมด้วย ครับ เช่น ท่านพระโกกาลิกะ ที่ด่า ว่าพระอัครสาวก

ก็ด้วย จิตที่เป็นโทสะ มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เป็นสำคัญ

สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อ ตามที่ยกข้อความในพระไตรปิฎกมานั้น แสดงถึง

เหตุของการพูดเพ้อเจ้อ ด้วยโลภะ ก็ได้ โทสะก็ได้ ครับ โดยมีโมหะเกิดร่วมด้วย ซึ่ง

โดยมาก เรามักคิดว่า การพูดเพ้อเจ้อด้วยโลภะ เช่น ยินดีพอใจ ติดข้องในเรื่องนั้น

พุดเพ้อเจ้อในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ไปเรื่อย แต่ สามารถเกิดโทสะที่จะพูดเพ้อเจ้อ

ได้ คนที่โกรธมากๆ ก็บ่นไปเรื่อยด้วยความขุ่นใจ ก็เป็นการพูดเพ้อเจ้อด้วย โทสะ

ก็ได้ นี่คือความละเอียดของพระธรรม ครับ

--------------------------------------------------------

การพูดวาจาที่ไม่ดี หากหาต้นเหตุที่แท้จริงแล้ว มาจาก ความไม่รู้ อวิชชา เพราะ

ถ้ารู้ ย่อมไม่พูด ดังนั้น เมื่อยังมีความไม่รู้ ก็เป็นเหตุให้พูดวาจาที่ไม่ดีได้เป็นธรรมดา

หากแต่ว่า เมื่อเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ย่อมทำหน้าที่ปรับปรุง

จิตใจ ปรับปรุงกาย วาจาไปทีละน้อย เห็นโทษของการพูด การกระทำที่ไม่ดีบ้างใน

บางเวลา แม้จะยังละไม่ได้ แต่ก็ค่อยๆ เห็นโทษ และสำรวมขัดเกลาตามกำลังปัญญา

ที่เจริญขึ้น ครับ นี่คุณของพระธรรม และ ประโยชน์ควรจะได้จากการศึกษาพระธรรม

ที่ถูกต้อง ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daeng
วันที่ 31 ก.ค. 2556

นี้คือประโยชน์ของการได้ศึกษาพระธรรม หากไม่ได้มีการศึกษาก็ไม่อาจที่จะ

เข้าใจได้เลย แม้ล่วงเลยมาเป็นเวลาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ที่มีความรู้

ความเข้าใจในพระธรรมที่สามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้เข้าใจในพระธรรมได้

เป็นประโยชน์อย่างมากในการเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ละเอียดครบถ้วนมากครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 1 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 9 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ