อริยมรรคมีองค์ ๘ คืออะไรและมีรายละเอียดอย่างไรบ้างครับ

 
papon
วันที่  31 ก.ค. 2556
หมายเลข  23275
อ่าน  191,492

อริยมรรคมีองค์ ๘ คืออะไรและมีรายละเอียดอย่างไรบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มรรค หมายถึง หนทาง ซึ่งมีทั้งทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นหนทางที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นกล่าวมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว ย่อมเป็นหนทางถูก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย

อริยมรรค หนทางของผู้ไกลจากกิเลส หนทางอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางอย่างประเสริฐ เพราะทำให้ผู้อบรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า พ้นจากความเป็นปุถุชน และพ้นจากการเกิดในอบายภูมิโดยเด็ดขาด ซึ่ง ประกอบด้วย อริยมรรค ๘ ประการดังนี้ ครับ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทก็เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น

สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง วิตกเจตสิก ที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะได้ระลึก ปัญญาจะได้ศึกษาในลักษณะของนามรูป สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ

๑. ดำริในการออกจากกาม

๒. ดำริในการไม่พยาบาท

๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน

สัมมาวาจา คำพูดชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่ง ที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการพูดปด

๒. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๓. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๔. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ การงานชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่ง ที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์

๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่ง ที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณ เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

สัมมาสติ การระลึกชอบ หมายถึง สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน

สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิด สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์คือนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน

การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ต้องดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ซึ่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในขั้นของการอบรมด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกัน และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ เป็นการอบรมมรรคอันเป็นโลกิยมรรค ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ เพราะมรรคทั้ง ๘ องค์จะประชุมพร้อมกันในขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เดินทางตามที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่มีวันถึงขณะที่มรรคจิตและผลจิต จะเกิดได้เลย

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ อริยมรรค มีองค์ ๘ นั้นเป็เรื่องที่ยาก และ ไกลมาก สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญานั้นเอง จะปรุงแต่ง และ ปฏิบัติหน้าที่ ให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้น และ ทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในที่สุด อันมีปัญญาเป็นหัวหน้านำทางไปสู่หนทางที่ดับกิเลส สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว่ว่า สัมมาทิฏฐิ ปัญญา เป็นเบื้องต้น เป็นทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลส ครับ

๗. ปฐมสุริยูปมสูตร

ว่าด้วยสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนการตรัสรู้อริยสัจ

[๑๗๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่จะขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ตามความเป็นจริง คือ สัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นเหมือนกัน อันภิกษุผู้มีความเห็นชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริง ว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก และที่สำคัญ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม การที่จะเข้าใจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธแล้ว ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ว่า ทางที่ถูก ที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ อะไร นั่นก็คือการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ ความเห็นชอบ (ปัญญา) ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ และ ความตั้งมั่นชอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นจริงๆ ที่จะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด ส่วนการจะดำเนินตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้นก็เรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ตามการสะสม

ถ้าเป็นผู้ดำเนินตามทางดังกล่าว ผลก็คือ สามารถไปถึงการดับกิเลสทั้งหลายได้ในที่สุด แต่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงหนทางที่ถูกต้องแล้ว แต่บุคคลนั้นไม่ดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ไม่เข้าใจความจริง และไม่สามารถออกไปจากวัฏฏะ ยังเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้นไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เลย เพราะฉะนั้น พระธรรม จึงไม่สาธารณะ (คือไม่ทั่วไป) กับทุกคน ผู้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้วเท่านั้นที่จะเห็นประโยชน์ และพร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

ธรรมะที่เป็นหนทาง

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 ก.ค. 2556

อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 1 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 4 ส.ค. 2556

"ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกัน"

"สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญานั้นเอง จะปรุงแต่ง และปฏิบัติหน้าที่ ให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้น และ ทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในที่สุด"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
munlita
วันที่ 30 ก.ย. 2556

กราบเรียนถามนิดนึงนะคะ จากความคิดเห็นที่ ๑

สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ

๑. ดำริในการออกจากกาม

๒. ดำริในการไม่พยาบาท

๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน

จากกระทู้ สัมมาสังกัปปะคิดเรื่องนามและรูปหรือ บอกว่า

การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่เหมือนกับการคิดเรื่องสภาพธรรมที่ดับไปแล้วสัมมาสังกัปปะ ละมิจฉาสังกัปปะซึ่งเป็นการดำริผิด

ถ้า ดำริแปลว่าคิด อาการ ๓ อย่างด้านบนจะแปลได้ว่า คิดออกจากกาม คิดไม่พยาบาท คิดไม่เบียดเบียน แล้วคิดอย่างไรจึงเป็นสัมมาสังกัปปะ คิดอย่างไรเป็นมิจฉาสังกัปปะคะ หรือว่าสัมมาสังกัปปะเป็นสภาพรู้ไม่ใช่คิด

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้มาใหม่
วันที่ 4 ต.ค. 2556

จากความคิดเห็นที่ 6

"ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกัน"

ขอเรียนถามว่า

1. ทำไม มรรคมีองค์ ๕นี้จึงเกิดได้ในขณะที่ศีลยังไม่ครบ (3 ข้อที่เหลือน่าจะจัดเป็นศีล)

2. มีเหตุผลอะไรหรือไม่ ที่เรียงมรรคจาก ปัญญา-ศีล-สมาธิ

3. สัมมาสังกัปปะ การออกจากกามนั้นหมายความว่ามีความสัมพันธ์กับคู่ครองก็ไม่ได้ใช่ไหมครับ

ขออนุโมทนา

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผู้มาใหม่
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ได้คำตอบจากการค้นกระทู้เก่าๆ ที่ว่าผู้ไม่ละเอียดมักเข้าใจผลมาก่อนเหตุ ปัญญาเกิดศีลจึงบริสุทธิ์

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
napachant
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 25 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 28 มี.ค. 2559

สาธุ สาธุ ขออนุโมทนา ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 7 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kunnigarjeed
วันที่ 20 เม.ย. 2560

อนุโมทนา สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Napong klakhaeng
วันที่ 8 เม.ย. 2562

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ