ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕]
[1] การฟังพระธรรม ครั้งแรกๆ ไม่มี การฟังพระธรรมในครั้งต่อๆ ไป ก็มีไม่ได้
[2] เมื่อได้อ่าน ได้ศึกษาข้อความโดยตรงจากพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา จะเห็นถึงความละเอียดของการสะสมของแต่ละคน เช่น โธตกมาณพ ท่านเป็นผู้ ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งพระวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ปรารถนาที่จะฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แล้วแต่ละท่านเป็นอย่างนี้หรือเปล่า?
[3] รักษาตน ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพื่ออะไร เพื่อการสะสมกิเลสมากๆ หรือ เพื่อที่จะให้เป็นไปเพื่อการสะสมความดี และอบรมเจริญปัญญา?
[4] ถ้าไม่มีปัญญา รักษาได้แต่เพียงกาย แต่ไม่สามารถรักษาจิตที่หมักหมม ด้วยกิเลสมานานแสนนานได้
[5] ความจริง แม้จะมีจริงในชีวิตประจำวัน ก็ยากที่จะรู้ตามความเป็นจริง
[6] เรื่องใหญ่ คือ กิเลส
[7] ชีวิตปกติก็ดูเรียบร้อยดี ดูเหมือนว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเจอเหตุการณ์บาง เหตุการณ์ที่เป็นที่ตื่นเต้น ตกใจ ไม่พอใจ เป็นต้น ขณะนั้นก็เริ่มคุ้ยกิเลสขึ้นมา ปรุงแต่งให้เข้มข้น ให้มีกำลังขึ้น เช่น ความติดข้องยินดีพอใจ และ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น
[8] กิเลส เกิดขึ้นเป็นไป ปัญญาเท่านั้น ที่จะรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงและ สามารถดับได้
[9] สะสมแล้วทุกขณะที่เป็นกุศลกับอกุศล ในขณะที่กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นเป็นไป
[10] อะไรแน่ ที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พ้นไปจาก การสะสมความดี และศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ
[11] เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูก แล้วจะไปทำชั่วได้ไหม?
[12] ปัญญา เป็นความจริง ตรง เข้าใจในเหตุในผล ในกุศล ในอกุศล ในผลของกุศล และในผลของอกุศล
[13] วิบาก คือ ผลของกุศลกรรมและผลของอกุศลกรรม ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิต ประจำวันเลย เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ไม่เข้าใจเท่านั้นเอง
[14] ทุกขณะ เป็นธรรม จิตเกิดแล้วทุกขณะ มีจิตเกิดทุกขณะ ไม่มีเว้นเลย แม้ใน ขณะที่หลับสนิทก็มีจิตด้วย
[15] ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมได้ในที่สุด ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ มีทั้งสติพร้อมด้วยปัญญา
[16] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงสั่งสอนให้ใครสะสมอกุศลเลย
[17] ต้องเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะ สามารถบรรเทาขัดเกลาละคลายความสงสัย ความไม่รู้ ตลอดจนถึงกิเลส ประการอื่นๆ ด้วย
[18] พ่อแม่ มีคุณ สิ่งที่มีคุณ เราจะไม่นับถือหรือ?
[19] ถ้าเห็นว่า "พระพุทธศาสนา ดี ควรศึกษา" ผู้นั้นก็จะต้องศึกษาด้วย ไม่ใช่อยากให้คนอื่นศึกษา แต่ตนเองไม่ศึกษา โดยเฉพาะอยากให้เด็กศึกษา แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ศึกษา ถ้าผู้ใหญ่ไม่ศึกษา แล้วเด็กจะศึกษาจากใครล่ะ
[20] ตอนเป็นเด็ก อยู่ไม่สุข ก็เพียงเพราะเล่นซุกซน แต่พอโตมา อยู่ไม่สุขเป็นอย่างมาก มากกว่าเด็กเสียอีก ปัญหาสารพัด เพราะกิเลสที่เกิดขึ้น
[21] ถ้ากิเลสไม่มาก ไม่แน่นในจิต ก็จะเบาสบาย ไม่เดือดร้อน
[22] ที่ทะเลาะกัน ก็เพราะกิเลส
[23] ถ้าแต่ละคนมีจิตเป็นกุศล ปัญหาไม่มีแน่ แต่ที่ปัญหา มี ก็เพราะอกุศล
[24] เกิดมา เพื่อ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก สำคัญที่สุด
[25] ศรัทธาตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะเหตุว่าโลภะนี้ยอมสละให้ทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยความรัก แต่ว่าศรัทธา บริจาคจริง เป็นการสละออก ไม่ใช่เพื่อการติดข้อง
[26] การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าจะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด โดยถูกต้อง ถ้าใครศึกษาพระธรรมโดยไม่รอบคอบ หรือมีความ เข้าใจผิดในพระธรรม การขัดเกลากิเลสก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้
[27] ประโยชน์ของการฟังพระธรรม คือ การฟังพระธรรมแล้วก็พิจารณาพระมหากรุณาคุณ ที่ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก ที่จะให้เห็นโทษของอกุศลของตนเอง และจะได้เจริญ กุศลยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าอกุศลทั้งหลาย ย่อมเป็นเหตุให้เกิดภัยต่างๆ มากมาย
[28] ถ้าเป็นไปด้วยอกุศลแล้ว เป็นผู้แพ้ เพราะเหตุว่าแพ้กิเลสของตนเอง
[29] ขณะที่มีเมตตา หวังดี เกื้อกูลต่อผู้อื่น ไม่มีภัยใดๆ เลยแม้แต่น้อย ถ้าไม่พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้แล้วจะพูดอะไร
[30] ปลูกฝังความเข้าใจถูกเห็นถูกลงในจิต ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ
[31] การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ ก็ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ถ้าไม่มีกิเลสแล้ว จะไม่มีความหวั่นไหวเลย ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งใดๆ ก็ตาม สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ภาษาบาลีไม่มีคำว่าสิ่งที่มีจริงๆ แต่มีคำว่า ธมฺม (ธรรม) ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดง
[32] สะสมอกุศลมากๆ แล้วจะไปไหน? ก็ไปตามเหตุที่ไม่ดี ที่ได้กระทำไว้แล้ว เหตุไม่ดี ย่อมให้ผลที่ไม่ดี มี ทำให้เกิดในอบายภูมิ เป็นต้น
[33] เพื่อนที่ดี ก็ย่อมจะให้สิ่งที่ดีๆ ให้ความจริง ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น
[34] ได้ยิน เป็นได้ยิน ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ ธรรม คือ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้จริงๆ ความจริงในขณะนี้ สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ แล้วจะหาความรู้ความเข้าใจ จากที่ไหน ก็ต้องหาจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม จะทำให้ไม่ตกไปในฝ่ายผิด เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้อง
[35] คิด คือ ขณะนี้หรือเปล่า? ถ้าไม่คิด ก็พูดออกมาไม่ได้
[36] ตั้งต้นที่ในขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน
[37] สภาพรู้ธาตุรู้ ไม่มีรูปร่าง ที่เดือดร้อน วุ่นวาย ก็เพราะสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่สงบสุขไม่เดือดร้อน ก็เพราะสภาพรู้ ธาตุรู้ (จิต และ เจตสิก)
[38] ถ้าไม่มีจิต ความโกรธ (โทสะ) เกิดได้ไหม? ไม่ได้ เพราะเหตุว่า โทสะ ต้องเกิดกับจิต
[39] พระธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้
[40] ธรรม ทั้งหลายเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน) ใครจะสามารถ เปลี่ยนแปลงได้? ไม่มีเลย เพราะความจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
[41] ความเข้าใจยังไม่เพียงพอ ถ้าประสงค์จะรู้ถึงความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม ก็ต้องฟัง ต้องศึกษาพระธรรมต่อไปอีก
[42] ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ กำลังชำระสิ่งที่สกปรก คือ ความไม่รู้ ให้ออก ไปจากจิต
[43] ตายแน่ๆ ละจากโลกนี้ไปแน่ๆ จะจากไปโดยทำชั่ว หรือ จะจากไปโดยทำดี?
(ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกันทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อความธรรม ด้วยนะครับ)
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความย้อนหลังครั้งที่ ๑๐๔ ได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ
[1] เดี๋ยวนี้คุ้ยกิเลสหรือเปล่า กำลังเห็น
[2] บัณฑิตนั้นคำนึงถึงชาติต่อไปและโลกหน้าด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะชาตินี้ เช่น โลภมูลจิตที่ติดในลาภ สรรเสริญ ยศ สักการะ ผู้ที่เป็นบัณฑิตก็จะคิดว่า ถ้าไม่รีบละเสียตั้งแต่ในชาตินี้ ชาติต่อไปจะละยากสักแค่ไหน แต่ถ้าเป็น คนพาล ได้ลาภเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องทำทุจริตกรรมเพื่อให้ได้ลาภเพิ่มขึ้นอีก แต่ว่าสำหรับบุคคลที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมเห็นว่าอกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้น จะ สะสมสืบต่อไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย
[3] ถ้าอุปมาจิตของคน ก็เปรียบเหมือนเรือ พระอรหันต์ ย่อมมีรัตนะ สิ่งมีค่า แต่สัตว์โลก ขยะเต็มเรือ แต่แม้ว่าจะมีสิ่งมีค่ามากในเรือ แต่เป็นผู้ประมาท เรือก็รั่วได้
[4] ไม่ว่าจะได้รับกระทบจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เป็นคนเลว คนปานกลาง หรือว่า คนชั้นสูง ถ้าเป็นผู้มีปัญญาแล้ว ย่อมจะอดกลั้นคำดูหมิ่นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจาก ใครก็ตามไม่ใช่เฉพาะบางบุคคลแต่ต้องทั่วไปหมด เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิด ว่าถ้าเป็นคนชั้นสูงก็อดกลั้นได้ แต่ถ้าเป็นคนชั้นต่ำหรือเป็นคนเลวก็อดกลั้นคำพูด ของบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกบุคคลควรเป็นสิ่งที่ทำให้ขันติ บารมีเจริญขึ้น
[5] ขณะไหน เป็นทะเลที่ราบเรียบ ขณะไหน เป็นทะเลที่เต็มไปด้วยพายุ ก็คือ ขณะที่ กิเลสโผล่ออกมามากมาย
[6] การตัดสินปัญหา ความถูกต้อง ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่อาศัยความรัก และ ความชังเป็น สำคัญ แต่อยู่ที่เรื่องนั้น เหตุการณ์นั้น ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกต้อง เปรียบดั่งสภาพธรรม ที่ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ อกุศล ก็เป็นอกุศล กุศลก็เป็นกุศล ก็จะทำให้ ฝึกความ เป็นผู้ตรง เมื่อเป็นผู้ตรงแล้ว ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์กับองค์กรและส่วนรวม แต่หาก เป็นผู้ไม่ตรงแล้ว ย่อมมีโทษ กับองค์กร และส่วนรวม เพราะทำลายประโยชน์ใน ขณะนั้น
[7] ความกตัญญู คือ การรู้คุณความดี หากผู้ทีมีคุณทำไม่ดี ก็เป็นผู้กตัญญูที่จะตรงที่ รู้ว่า สิ่งนั้นไม่ดี อกุศล เป็นอกุศล จึงรู้คุณ ด้วยการกล่าวตักเตือนแนะนำ ให้เป็น ผู้ตรง และตรงต่อความดี ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญู เพราะรู้คุณความดี ตอบแทนผู้ที่มี พระคุณ ด้วยความดี ไม่ให้ไปสู่ความไม่ตรง หากแต่ว่า ผู้ที่มีคุณ ทำความไม่ดี แต่เพราะอาศัย ความรัก หรือ เพราะผู้นั้นมีพระคุณ ไม่แนะนำ ตักเตือน หรือตามใจ ช่วยในผู้มีคุณในทางที่ผิด ขณะนั้น ไม่รู้คุณความดี แม้จะช่วยผู้มีคุณแต่เป็นการ ช่วยที่ผิด จึงชื่อว่า เป็นผู้อกตัญญู คือ ไม่รู้คุณความดีในขณะนั้น
[8] ถ้าเป็นเพื่อนแท้ เพื่อนจริง คือ ให้ความจริง ให้คุณความดีในขณะนั้น ขณะที่ ไม่ให้ความจริง ไม่ให้เกิดคุณความดี ไม่ใช่เพื่อนแท้ในขณะนั้น
[9] จะเห็นได้ว่า คุณความดีก็เป็นคุณความดีแต่ถ้าพ่อแม่ไม่ดี ความตรง ก็คือว่า ความดีส่วนหนึ่ง คือ การที่เป็นพ่อ เป็นแม่ ส่วนความไม่ดี เป็นของแต่ละบุคคล ใครจะไปเปลี่ยนแปลงบุคคลนั้น ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้แต่เราจะระลึกถึง ความดี ที่คนอื่น ทำให้ต่อเรานั่นชื่อว่า เป็นผู้ที่ รู้คุณ คือ ใครที่มีความดี และ ทำความดี นั้นกับเราเราก็ รู้คุณ คือ ความดี ที่เขา ได้กระทำต่อเพราะฉะนั้น การกระทำตอบ แทนคุณ ไม่ใช้ให้ประพฤติชั่ว การตอบแทนคุณ โดยประพฤติชั่ว ไม่ใช่การตอบ แทนคุณ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ความดี คือ คุณจะตอบแทนคุณ ก็คือ ทำความดีตอบไม่ใช่ไปทำความชั่วตอบ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว อย่างที่เวลาเราบอก ว่า รู้คุณแล้วก็ แทนคุณรู้คุณ คือ รู้ความดี ถ้าเราเข้าใจผิดว่า ไม่ดีไม่ตรง ใช่ไหม? มีใครบ้าง? ที่รู้จัก คุณความดี แล้วจะไม่ทำดี? คนที่ทำความไม่ดี คือ คนที่ไม่รู้จัก คุณความดีไม่เห็นว่า ความดี มีคุณ ไม่เห็นว่า ความดี มีประโยชน์ จึงกระทำชั่ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้คุณจริงๆ ว่า คุณ คือ ความดี นำสิ่งที่ดีมาให้ ไม่สามารถที่จะไป เปลี่ยนความดี ให้เป็นความชั่วได้ถ้ารู้คุณจริงๆ ตอบแทนคุณ คือ ทำความดี แต่ถ้า ทำความชั่วไม่ใช่ตอบแทนคุณ
[10] เพราะฉะนั้น ควรผูกโกรธไหม เห็นแล้วก็ยังไม่ชอบอีก จำไว้ แต่ความเป็นมิตร หวังดี มีเมตตา ย่อมไม่ผูกโกรธเลย
[11] ไม่อยากสนิทสนม เป็นอะไร เป็นโทสะ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดถึงคำว่าเป็นเพื่อน ก็ได้แต่พร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูล
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความสั้นๆ ที่ประทับใจจากการได้ฟังการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรม เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสักเล็กน้อยดังนี้ครับ
...ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่ง ซึ่งวาจาของพระองค์...
...ฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมะ...
...ถ้าไม่มีปัญญา ไม่ใช่พระพุทธศาสนา...
ขออนุโมทนาครับ