ศีล

 
ผู้มีกิเลส
วันที่  30 ส.ค. 2556
หมายเลข  23472
อ่าน  1,687

ศีล คืออะไร ศีลขาด เป็นอย่างไรครับ


Tag  ศีล  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องศีล ไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน ศีล มีหลากหลายนัยหมายถึง ความงดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกายและทางวาจา ก็เป็นศีลโดยนัยที่เป็นวาริตศีล ศีลหมายถึงความประพฤติที่ดีงาม ความประพฤติที่สมควรทางกาย และทางวาจา เช่น การขวนขวายช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น อย่างนี้เป็นจาริตศีล นอกจากนั้น ศีล ยังแสดงถึงความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลก ถ้าเป็นไปกับอกุศล ก็เป็นอกุศลศีล ถ้าเป็นไปกับกุศล ก็เป็นกุศลศีล และสำหรับพระอรหันต์แล้ว เป็นอัพยากตศีล แต่เมื่อกล่าวโดยศีลที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสย่อมมุ่งหมายถึงเฉพาะกุศลศีลเท่านั้น

กลับมาที่ประเด็นคำถาม ถ้ากล่าวถึงศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อยนั้น มุ่งหมายถึง ขณะที่ล่วงศีล เพราะขณะที่ล่วงศีลนั้น ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย ไม่บริสุทธิ์ โดยมีอกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าแม้ยังไม่ถึงกับล่วงศีล แต่ถ้ามีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ก็ไม่บริสุทธิ์แล้วในขณะนั้น

ธรรม เป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่ล่วงศีล ขณะที่ผิดศีล ก็เป็นขณะนหนึ่ง แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้เห็นโทษของการล่วงศีล แล้วตั้งใจที่จะเป็นผู้ถือด้วยดีที่จะไม่ล่วงละเมิด ก็เป็นอีกขณะหนึ่งแล้ว เป็นความตั้งใจที่ดี ถ้ามีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นผู้มีศีลแล้วในขณะนั้น เพราะมีเจตนาที่จะงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี และถ้ากล่าวถึงขณะที่มีความประพฤติเป็นไป ในทางที่ถูกที่ควรที่เป็นความดีประการต่างๆ ที่ควรกระทำ ขณะนั้นก็มีศีล โดยนัยที่เป็นจาริตศีล หรือ กุศลศีลแล้ว ซึ่งต้องกล่าวถึงขณะจิตเป็นสำคัญ

บุคคลผู้จะรักษาศีล ๕ ครบทุกข้อ ไม่ขาดเลยนั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันขึ้นไป แต่สำหรับปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสแล้ว จะสังเกตจากตัวเองได้ว่าบางวันก็ครบ บางวันก็ล่วงศีลไปบ้าง เนื่องจากว่ามีเหตุปัจจัยให้ล่วง ก็ย่อมจะล่วงศีลข้อใดข้อหนึ่งได้ (เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) เหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น ก็คือ เพราะยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง เพราะมีกิเลสยังมีความติดข้องยินดีพอใจ ยังมีความห่วงใยในชีวิต ในญาติ ในอวัยวะ ในทรัพย์เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้มีการล่วงศีล เนื่องจากภาวะของปุถุชนไม่มั่นคง เหมือนกับความเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) ที่เกิดจากการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีการรักษาศีลได้ดียิ่งขึ้น ทำให้การล่วงศีลลดน้อยลง จะเป็นไปเพื่อความเป็นผู้เมตตามากขึ้น มีความละอาย และความเกรงกลัวต่อบาปมากขึ้น พร้อมทั้งทำให้เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วมีความสำรวมระมัดระวังที่จะประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจต่อไป

สิ่งสำคัญเป็นเครื่องเกื้อกูลโดยตลอด คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อมีปัญญาแล้ว กุศลธรรมประการอื่นๆ ก็ย่อมจะเจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญาด้วยและเมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะไม่ล่วงศีล ๕ อีกเลย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ศีล

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีลด่าง พร้อย ขาด ทะลุ มีหลากหลายนัย ครับ ศีลที่ด่าง พร้อย ขาด ทะลุ ก็มีทั้งเพศบรรพชิตและเพศคฤหัสถ์ สำหรับเพศบรรพชิต ก็ต้องมีสิกขาบท ข้อบัญญัติ ซึ่งหากภิกษุล่วงศีล ข้อต้น หรือ เบื้องปลาย ก็ชื่อว่าขาด และหากล่วงศีลในข้อกลาง ก็ชื่อว่า ศีลทะลุ และแม้ขณะที่ล่วงศีล ก็เป็นศีลที่ด่าง พร้อย ไม่บริสุทธิ์ ครับ

สำหรับเพศคฤหัสถ์ การล่วงศีล 5 ก็ชื่อว่า ศีลขาดด้วย และด่าง พร้อย ในขณะนั้นไม่บริสุทธิ์

ศีลจะถึงความบริสุทธิ์จริงๆ ที่เป็นศีล 5 สมบูรณ์ คือ เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบันที่สำคัญ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับว่า ศีลจะบริสุทธิ์ได้เพราะอาศัยปัญญา หากไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่ถึงความบริสุทธิ์ได้เลย เพราะศาสนาอื่นก็มีการงดเว้นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม ไม่รู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา อันจะไปถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลจริงๆ ที่เป็นการบริสุทธิ์เพราะไม่ก้าวล่วงอีก และบริสุทธิ์เพราะปัญญาเจริญขึ้น ครับ

ซึ่งขณะที่ใจเป็นอกุศล แม้จะไม่ล่วงออกมาทางกาย วาจา ก็ชื่อว่า ศีลด่างพร้อยไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะอกุศล ที่เกิดขึ้น ชื่อว่า บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ครับ แต่เมื่อยังไม่ได้ฆ่ายุง ก็ไม่ครบกรรมบถที่เป็นปาณาติบาต มีการฆ่าสัตว์ ไม่ผิดศีล ข้อที่ 1 ครับ เพียงแต่ศีลไม่บริสุทธิ์เพราะเป็นอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขนาดล่วงศีล ครับ

หนทางการถึงความบริสุทธิ์แห่งศีล คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ทำให้กาย วาจาดีขึ้น ตามกำลังปัญญาที่เจริญขึ้น และเมื่อปัญญาถึงที่สุด ก็สามารถบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลจริงๆ ที่จะไม่ก้าวล่วงศีลอีกเลย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...ศีลมีที่สุด [ปริยันตศีล]

ศีลขาด

ดังนั้น ต้องเข้าใจว่าขณะเป็นศีล คือขณะจิตที่สมาทานศีล และขณะจิตที่งดเว้นจากการล่วงศีลขณะนั้นมีศีล แต่ขณะเป็นอกุศลจิต ศีลด่าง ไม่มีศีลในขณะนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 31 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nano16233
วันที่ 31 ส.ค. 2556

ศีลแปลว่าปกติ คือทำให้มันปกติ ถ้าเราไม่มีศิลมันก็ไม่ใช่คนปกติ มันจะปกติน้อย ปกติมาก ก็อยู่ว่าเรามีกี่ข้อปกติกี่ข้อเท่านั้นเอง เราย่อมรู้วิมุตด้วยกัน รักษาศีลเฉพาะตน โดยธรรมชาติ จะสมาทานหรือไม่ก็ได้หมด แต่ที่เขาสมทานคือ การตั้งสัจจะ มันก็จะเป็นแรงจูงใจให้ทำมากกว่าไม่สมาทาน เท่านั้นเอง เราย่อมเป็นผู้ทำให้ขาดสูญ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้มีกิเลส
วันที่ 2 ก.ย. 2556

ขอขอบพระคุณในความเมตตาครับ สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อิทธิบาทธรรม
วันที่ 7 ก.ย. 2556

ในความเป็นปุถุชน ย่อมมีศีลที่ด่างพร้อยเป็นธรรมดา อยู่ที่ว่ามากหรือน้อยอย่างใด ย่อมไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ นรกหรือสวรรค์ หากปฏิบัติตามมรรค 8 จนเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ย่อมมีศีลที่บริบูรณ์ ไม่ไปอบาย มีแต่ไปสู่สุคติ จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน ดับสังสารวัฏฏ์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ