มิจฉาสมาธิ
ขอเรียนถามท่านอาจารย์ทุกท่านค่ะ การนั่งสมาธิของตนเองนี้คิดว่าเป็นมิจฉาสมาธิเพราะประกอบด้วยโลภะ แต่สงสัยว่าเมื่อนั่งๆ ไปแล้ว จะเปลี่ยนไปเป็นสัมมาสมาธิได้หรือเปล่าคะ เพราะจิตก็เกิดดับตลอดเวลา แล้วรบกวนสอบถามเพิ่มเติมว่ามีระบุไว้ในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนเลยหรือเปล่าคะ (ว่ามิจฉาสมาธิสามารถเปลี่ยนหรือไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสัมมาสมาธิได้) หรือระบุว่าอย่างไรคะ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกๆ ท่านอย่างมากที่สุดค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี สัมมาสมาธิ เป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต คือจิตที่ดีงาม สัมมาสมาธิไม่ได้อยู่ที่คำที่ใช้ เพราะว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ อยู่ที่ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นกุศล แม้ไม่ใช้คำอะไรเลย ก็เป็นสัมมาสมาธิ ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว สัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็น ขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะที่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นสัมมาสมาธิโดยตรงอยู่แล้ว และการอบรมเจริญสมถภาวนาก็เป็นสัมมาสมาธิ ที่น่าพิจารณาคือ ถ้ามีความติดข้องในมิจฉาสมาธิ ติดข้องในความรู้สึกที่เป็นสุข มีการไปนั่งไปทำอย่างนั้น ไม่ใช่หนทางที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรม และปัญญาเลย ถ้าไม่ถอยกลับมาตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ตั้งแต่ในขณะนี้แล้ว ก็ยากที่จะพ้นไปจากมิจฉาสมาธิดังกล่าวนั้น เพราะการปฏิบัติผิด มีแต่จะทำให้ความเห็นผิด ความไม่รู้ เพิ่มมากขึ้น ครับ ในสมัยพุทธกาลพระอริยสาวกบางท่าน ก่อนที่จะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็เคยปฏิบัติผิดมาก่อน แต่เพราะเหตุที่ดีที่ท่านได้สะสมมา จึงเป็นเหตุให้ท่านได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรมจากพระองค์ ผลจากการฟังพระธรรมซึ่งเป็นความจริง นั้น ทำให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ
ไม่ควรเห็นว่า การปฏิบัติผิด ไม่มีโทษ เพราะถ้าเห็นอย่างนี้แสดงว่ากำลังชื่นชมในสิ่งที่ผิด ชื่นชมในความไม่รู้ และมีแต่จะทำให้กิเลสอกุศลธรรมพอกพูนยิ่งขึ้นทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก ที่สำคัญที่สุดคือ กลับมาที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย การไปทำอะไรในสิ่งผิดๆ นั้น ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญ ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
สมาธินั้น...แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องของเหตุ และ ผล เหตุถูก ผลย่อมถูก สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ในเรื่องเหตุ และ ผลอย่างถูกต้องว่า เมื่อบุคคลปลูกข้าวสาลี ย่อมได้ข้าวสาลี ไม่ใช่ได้ ผลสะเดา แต่ เมื่อบุคคล ปลูกต้นสะเดาย่อมได้ สะเดา ไม่ใช่ การได้ข้าวสาลี เพราะฉะนั้น เหตุเป็นอย่างไร ผลก็ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งอุปมานี้ เป็นการยกตัวอย่างของ กฎแห่งกรรม ที่เป็นไปในทางกุศลและอกุศล คือเมื่อกุศลกรรมเกิดขึ้น ผลย่อมเป็นสุข ดี ไม่สามารถให้ผล เป็นความไม่สุข ไม่ดี ที่เป็นผลของอกุศลกรรมได้เลย และอกุศลกรรมเมื่อเกิดขึ้นย่อมนำมาซึ่งความไม่ดี ซึ่งเป็นไปตามเหตุ และ ผล อย่างถูกต้องครับ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจึงเป็นเรื่องของเหตุ และ ผลที่ถูกต้อง ตรงกัน เสมอ
ซึ่งการไปนั่งสมาธิ ที่สำคัญว่า เป็นสัมมาสมาธิ แท้ที่จริงเป็นมิจฉาสมาธินั้น คำถามมีว่า จากที่ทำ เป็นมิจฉาสมาธิ จะเปลี่ยนเป็น สัมมาสมาธิได้ไหม
- ก็ต้องพิจารณาตามเหตุผล และ ผล อย่างละเอียดจริงๆ จึงจะได้คำตอบ ครับ
มิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล เพราะ ตั้งมั่นในอกุศล มีการจดจ่ออยู่ในอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใด แต่ ไม่เกิดปัญญารู้อะไรเลย ดังนั้น ตามที่กล่าวไว้ในข้อความข้างต้น เหตุกับผลต้องตรงกัน เมื่อเป็นอกุศล คือ มิจฉาสมาธิ ผล คือ ความไม่รู้ ผล คือ อกุศลเพิ่มขึ้น นี่คือ ผลของ มิจฉาสมาธิ ที่เป็นเหตุและผลที่ตรงกัน ส่วน มิจฉาสมาธิ จะทำให้เกิดสัมมาสมาธิได้ไหม คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นในกุศลธรรม ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนา เกิดจากเหตุที่ถูกคือ เกิดจากกุศลธรรมที่เริ่มจากปัญญา กุศลในขั้นการฟังพระธรรมให้เข้าใจในหนทางที่ถูกต้อง แต่สัมมาสมาธิไม่ได้เกิดจาก อกุศลธรรม ไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ ไม่ได้เกิดจากอกุศลเป็นเหตุ ครับ
เหตุให้เกิดมิจฉาสมาธิ คือ ความไม่รู้ และ ความเห็นผิด และ ผลของมิจฉาสมาธิ คือ ความเจริญในความไม่รู้ ความเห็นผิด และ กิเลสประการต่างๆ
เหตุให้เกิดสัมมาสมาธิ คือ ปัญญาขั้นการฟัง อันเกิดจากการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในหนทางที่ถูกต้อง จึงเกิดจากกุศลธรรมเป็นสำคัญ และผลของสัมมาสมาธิ คือ การเจริญขึ้นของกุศลธรรม ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาและผลอีกประการ คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมและถึงการดับกิเลส อันเป็นสัมมาสมาธิ ที่เกิดกับปัญญาในขั้นวิปัสสนาภาวนา ครับ
----------------------------------------------
จากคำถามที่ว่า
ในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนเลยหรือเปล่าคะ (ว่ามิจฉาสมาธิสามารถเปลี่ยนหรือไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสัมมาสมาธิได้)
- ในพระไตรปิฎก มีแสดงชัดเจนครับว่า มิจฉาสมาธิ นำมาซึ่งทุกข์ โทษ อกุศลประการต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะนำมาซึ่ง สัมมาสมาธิไม่ได้เลย เพราะ มิจฉาสมาธิเป็นอกุศล ครับ
ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกดังต่อไปนี้
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 381
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากแห่งมิจฉาสมาธิ เป็นสิ่งที่ชั่วช้าทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมิจฉาสมาธิ ย่อมปลงบาปจากมิจฉาสมาธิ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงชัดเจนครับว่า มิจฉาสมาธิ ชั่วช้า เป็นอกุศลธรรม นำมาซึ่งทุกข์ในโลกนี้ และ โลกหน้า และ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญา แล้ว ย่อมละมิจฉาสมาธิ ดังนั้น การจะเห็นมิจฉาสมาธิ ก็ด้วย ปัญญาที่เกิดขึ้น จึงจะรู้ได้ แต่หากไม่สะสมเหตุ คือ การฟัง ศึกษาพระธรรม เห็นโทษของมิจฉาสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด ก็ยังอบรม มิจฉาสมาธิต่อไป ก็นำมาซึ่งทุกข์ และ โทษ ครับ
ขอยกข้อความในพระไตรปิฎก อีกข้อความหนึ่ง ครับ
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 29
ภิกษุรู้จักสัมมาสมาธิว่าเป็นสัมมาสมาธิ,
ภิกษุรู้จักมิจฉาสมาธิว่าเป็นมิจฉาสมาธิ. ความรู้
ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ.
จากข้อความนี้ แสดงให้เห็นว่า พึงรู้จัก เห็นอกุศลตามความเป็นจริง การรู้จักเช่นนี้ ก็ด้วยปัญญา แต่ขณะที่อบรมมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล ขณะที่อกุศลเกิด ย่อมไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่ใช่ปัญญา มิจฉาสมาธิ จึงไม่ใช่ การรู้ตามความเป็นจริง แต่เมื่อได้ อบรมปัญญาในขั้นการฟัง และ เห็นโทษของการอบรมมิจฉาสมาธิ และรู้ตามความเป็นจริง ว่า มิจฉาสมาธิเป็นอกุศล ความรู้ว่า อกุศล คือ มิจฉาสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ คือ เป็นอกุศล ความรู้นั้นเป็น สัมมาทิฏฐิ จะเห็นนะครับว่า ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ ปัญญา ความเห็นถูกเป็นสำคัญ จึงจะรู้ และเปลี่ยนจากมิจฉาสมาธิเป็นสัมมาสมาธิได้ ครับ เพราะฉะนั้น แทนที่จะอบรมมิจฉาสมาธิต่อ ก็ควรฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อเห็นตามความเป็นจริงว่า มิจฉาสมาธิ มีโทษ กลับมาสู่ความเห็นถูก ในการอบรมปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ เลย ครับ
ขออนุโมทนา