ไม่เข้าใจ...ปัจจุปัฎฐาน..

 
ดวงทิพย์
วันที่  26 ก.ย. 2556
หมายเลข  23700
อ่าน  3,745

ขอนอบน้อมแค่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน หมายความว่าอย่างไรคะ เช่น ในพุทธพจน์ตอนหนึ่ง กล่าวว่า

กายลหุตา คือ ความเบาแห่งกาย
จิตตลหุตา คือ ความเบาแห่งจิต
มีความสงบความหนักกายและจิต เป็นลักษณะ
มีการกำจัดความหนักกายและจิต เป็นรส
มีความไม่ชักช้าแห่งกายและจิต เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีกายและจิต เป็นปทัฎฐาน
ขอบคุณคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจครับว่า สภาพธรรม มี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ สามัญญลักษณะ และวิเสสลักษณะ

สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะทั่วไป ปกติของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตา อันมีลักษณะเหมือนกันของสภาพธรรมทั้งหลาย

วิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะตัวของสภาพธรรม ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของสภาพธรรมที่แตกต่างกัน อย่างเช่น จิตเห็น ก็มี ลักษณะเฉพาะตัว คือ รู้สีเท่านั้นจะไปรู้เสียงก็ไม่ได้ หรือ จะมีลักษณะร้อนก็ไม่ได้ ธาตุดิน ก็มีลักษณะเฉพาะตัว คือ แข็ง จะร้อนก็ไม่ได้ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของธาตุไฟเท่านั้น ครับ

วิเสสลักษณะนี้มี ๔ ประการ คือ ลักษณะ รสะ ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ คือ ธรรมที่มีองค์ ๔ อันมีลักษณะ

- ลักษณะ (เครื่องแสดง)
- รสะ (กิจหน้าที่ของธรรม)
- ปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ)
- ปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด)

เพราะเหตุว่า วิเสสลักษณะนี้มี ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ จึงได้ชื่อว่า ลักขณาทิจตุกะ แปลว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ อันมีลักษณะ เป็นต้น ซึ่งจากคำถามที่ว่า ปัจจุปัฏฐาน คือ อะไร

ปัจจุปัฏฐาน หมายถึง อาการที่ปรากฏ แสดงออกมาของสภาพธรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น ศีล มีอาการที่ปรากฏ คือ ความสะอาดทางกาย วาจา เพราะผู้มีศีลก็ย่อมมีการแสดงออกมาทาง กาย วาจา ใจที่ดี ที่สะอาด พูดก็ดี กระทำทางกาย ก็ดี เป็นต้น นี่คือ อาการปรากฏให้รู้ได้ ของ ศีล ที่เป็น ปัจจุปัฏฐาน ครับ ส่วน ปัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด

คำว่า เหตุใกล้ให้เกิด หมายถึง เหตุที่ใกล้ที่สุด ที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นไป ตรงกับคำว่า ปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด) ยกตัวอย่าง จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้น เป็นไปนั้น ก็มีเหตุใกล้ให้เกิด คือ จะต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย เพราะจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และที่สำคัญที่เกิดของจิตเห็นก็คือ จักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นที่เกิดของจิตเห็น เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะต้องเกิดที่รูป ตรงกับ "ปทัฏฐานของจิต คือ มีนามรูปเป็นเหตุใกล้ให้เกิด" นามในที่นี้ คือ เจตสิกธรรม ส่วนรูป ก็ได้แก่ วัตถุรูปอันเป็นที่เกิดของจิต ก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ครับ และอีกตัวอย่างหนึ่ง อย่างเช่น เหตุใกล้ให้เกิดเมตตา คือ การเห็นสัตว์เป็นที่รักอย่างนี้ แสดงถึงว่าเพราะมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นเหตุใกล้ คือ เป็นเหตุที่มีกำลังที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมที่เป็นเมตตามากที่สุด ซึ่งเหตุอื่น ชื่อว่าเป็นเหตุไกล เพราะแม้ธรรมให้สภาพธรรมนั้นเกิด แต่ก็ไม่ใช่เหตุโดยตรงและมีกำลังเท่าคำว่า เหตุใกล้ ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

ปทัฏฐานของจิต

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม และมีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตประจำวันเลย อยู่กับธรรมตลอด มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตลอด แต่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ จนกว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอ่ย่างๆ โดยไม่ปะปนกัน

สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะมี ปัจจุปัฏฐาน ซึ่งหมายถึง อาการที่เป็นไป อาการ ที่ปรากฏขึ้นมาตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

อย่างที่ปรากฏในคำถาม แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง ๒ อย่าง คือ เจตสิกธรรม ๒ ประเภท ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม ได้แก่ กายลหุตา กับ จิตตลหุตา

กายลหุตา เป็นเจตสิกธรรมที่เบา ทำให้กาย (คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เบา ไม่หนักเหมือนกับอกุศล

จิตตลหุตา เป็นเจตสิกธรรมที่ทำให้จิตที่ตนเกิดร่วมด้วย เบา

นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม ทั้ง ๒ ประเภท คือ กายลหุตา คือ ความเบาแห่งกาย จิตตลหุตา คือ ความเบาแห่งจิต

อาการปรากฏของสภาพธรรม ๒ ประเภทคือ มีความไม่ชักช้าแห่งกายและจิต กล่าวคือ กายลหุตา ก็ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ไม่ชักช้าในการที่จะเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ส่วน จิตตลหุตา ก็ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยเป็นสภาพธรรมที่ไม่ชักช้าในการที่จะเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งหนักไม่เบาอย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 26 ก.ย. 2556

เหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐานคือ สัญญาความจำที่มั่นคงในเรื่องของธรรมะที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ วัตถุสิ่งของ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 28 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 28 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 28 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนา

ขอร่วมสนทนาและเรียนถามเพิ่มเติมครับ ด้วยปัญญาอันน้อยนิด ผมยังไม่เข้าใจ เท่าใดที่ว่า "กายลหุตา เป็นเจตสิกกธรรมที่เบา ทำให้กาย (คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เบา ไม่หนักเหมือนกับอกุศล" แสดงว่า คำว่า กายลหุตา จะหมายถึงกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิต ด้วยใช่ไหมครับ ต้องขอบพระคุณมาก เดิมผมเข้าใจผิดนึกว่า กายลหุตา จะหมายถึงความเบาแห่งกาย (รูปธรรม) และขอเรียนถามอีกประการครับ ถ้ากรณีเป็นอกุศลธรรม จิตที่เป็นอกุศล ขณะนั้น ขณะเดียวกันนั้น เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นอกุศลด้วย ไม่ชักช้าเลย เพียงแต่ไม่มีการกล่าวว่า เป็นปัจจุปัฏฐาน และเป็นปทัฏฐาน อย่างนั้นหรืออย่างไรครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 29 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 30 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 4 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yanong89
วันที่ 28 ธ.ค. 2560

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 17 ก.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ