สภาพเศรษฐกิจ และ ธรรมมะในชีวิต ประจำวัน

 
peeraphon
วันที่  2 ต.ค. 2556
หมายเลข  23749
อ่าน  1,070

อยากจะขอแชร์ประสบการณ์ ที่ได้พบได้เจอมาในชีวิตประจำวันนะครับ

สภาพเศรษฐกิจ ในปีนี้ เป็นปีที่แย่ลงจากปีที่แล้วอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศ ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำการค้าขายกับอเมริกา และ ยุโรป. และพึ่งสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้เลย รัฐบาลอเมริกาประกาศ US Government Shutdown ปลดคนงาน ชั่วคราว/ถาวร ที่ทำงานกับรัฐบาล (แม้แต่พนักงานดูแลท่าเรือตำแหน่งเล็กๆ ก็ปลด) ซึ่งส่อเค้ามาว่าจะปลดมาหลายเดือนแล้ว คนงานตกงานมากกว่า 800,000 คน ซึ่งจะกระทบไปทั้งระบบ แม้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นก็ตาม แต่ ผลกระทบนี้จะเป็นระยะยาว ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไรในปีนี้และปีหน้า. ส่วนธุรกิจที่ทำอยู่ในไทย ก็อาการเริ่มแย่ เพราะน้ำท่วม และ เรื่องของการขาดดุลการค้า คนเริ่มซื้อของน้อยลง อันที่จริงแล้วธุรกิจที่ทำอยู่ เริ่มส่อเค้าว่าจะอยู่ขาลง ตั้งแต่เดือนก่อน และมาหนักเอาช่วงนี้เพราะเหตุการณ์นี้ และคาดว่าจะดิ่งลงเรื่อยๆ จนกว่าจะมีข่าวดี.

เดือนที่ผ่านมาวุ่นวาย และกลุ้มใจ มาก ได้ฟังธรรมอยู่เป็นประจำ แต่ฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ แม้จะมีตัวตนไปบังคับ ให้จดจ่อ ตั้งใจฟัง เอาลำโพงมาจ่อหู ฟังได้แค่ไม่กี่นาทีก็คิดเรื่องอื่นต่อ และในขณะที่คิดเรื่องอื่นก็ไม่ได้มีการฟัง ไม่เข้าใจพระธรรมเลย. แต่เนื่องจากกุศลที่เคยทำมาในอดีตชาติ หรืออะไรก็ตาม พอนึกถึงเรื่องใดๆ ก่อนหน้าฟังธรรม พอมาเปิด MP3 ท่านอาจารย์สุจินต์ ก็จะได้ฟังเรื่องที่คิดอยู่พอดีทุกครั้งไป เหมือนกับว่าสงสัยในเรื่องไหนก็ตาม จะได้ฟังเรื่องนั้น เพื่อพิจารณาตามทันที ก็เป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง

ได้ฟังตอนหนึ่งจากท่านอาจารย์ มีอยู่ว่า ความกลุ้มใจ หรือ ความเครียด ก็เป็นสภาพธรรม ชนิดหนึ่งที่เป็นอกุศล แต่อันที่จริงแล้ว ขณะที่กลุ้มใจ กายไม่ได้เดือดร้อนใดๆ เลย เพียงแต่จิตคิด คิดไปตามเรื่อง บัญญัติ คิดตามสิ่งที่ได้เห็นได้ยินได้จำมาเท่านั้น. เพราะขณะที่ กลุ้มใจ/เครียด ร่างกายไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ปวดอะไร ไม่มีใครมาทำร้าย ไม่ได้เสียทรัพย์ ใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่เห็นเกิด หรือสิ่งที่ปรากฎทางตาปรากฎ จะมีความกลุ้มใจไม่ได้เลย เช่นเดียวกับขณะที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ปรากฎ หรือสภาพธรรมที่ปรากฎทางทวารอื่นๆ แต่ความเครียด ความกลุ้มใจ หรือ โทสะ ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีเหตุมีปัจจัย ก็ปรากฎ เกิดขึ้น แต่ จะดูเหมือนว่าสภาพธรรมเหล่านี้ไม่เคยได้ดับไป จนกว่าสติจะเกิดระลึก ถึงสภาพธรรม ณ ขณะนั้น ว่ามีลักษณะขุ่นเคืองใจ ร้อนใจ ไม่สบาย. แต่สติ ก็ไม่ได้ตั้งอยู่นานเช่นกัน หลังจากนั้น ความที่โทสะมีกำลัง ก็กลับมาเครียดต่ออีก

นี้แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา และ เหตุปัจจัย ที่ปัญญายังไม่มีกำลังมากพอที่จะไปดับอะไรได้ แค่มีสติเกิดขึ้นนิดหน่อย จะไปทำอะไร เจ้าตัวร้ายนี้ได้. เพียงแต่ต้องเพียรพยายามในการฟังธรรมมะ พิจารณา เข้าใจ เพื่อขัดเกลา เพื่อเพิ่มพูนกำลังให้ปัญญา เพื่อให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นสภาพธรรมจริงๆ กำจัดตัวลูกน้องของ อกุศลเหตุ ให้ได้เสียก่อน ที่จะไปทำอย่างอื่น. สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะทำงานใดๆ ก็ตาม จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือไม่ก็ตาม อย่าขาดการฟังธรรม และ พิจารณา ธรรมครับ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมที่ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวไว้ ตอนหนึ่งน่าพิจารณาทีเดียว ว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ หน้า ๒๗๗

“บุคคลผู้มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา”

ในอรรถกถาแก้ไว้ว่า

บุคคลผู้มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ คือ ถึงทรัพย์จะหมดสิ้นไป แต่ก็ยังมีปัญญา สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เลี้ยงชีวิตด้วยการงานที่ปราศจากโทษอย่างเดียว นี้ ชื่อว่า ชีวิตของบุคคลผู้มีปัญญา. (จาก ... ขุททกนิกาย เถรคาถา มหากัจจายนเถรคาถา และอรรถกถา) จากธรรม บทนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงจะมีทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าใด แต่ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่พอย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ เพราะฉะนั้นจะเป็นสุขไม่ได้อย่างแน่นอน ยังเต็มไปด้วยทุกข์ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญา ถึงแม้จะสิ้นทรัพย์ก็เป็นอยู่ได้ คือ ยังเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ และเลี้ยงชีวิตด้วยการงานที่ปราศจากโทษอย่างเดียว ตามวิถีของผู้ที่มีปัญญา เป็นปกติธรรมดา ตราบใดที่ยังมีการเกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละภพในแต่ละชาติ อันเนื่องมาจากยังมีเหตุที่ทำให้เกิด นั่น ก็คือ กิเลส อยู่ นั้น ก็ยากที่พ้นไปจาก ความเลื่อมประการต่างๆ มี เสื่อมจากลาภ สิ่งที่ที่เคยได้เคยมี เป็นต้น โดยไม่มี ใครทำให้เลย เพราะต้องเป็นผลของอดีตอกุศลกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้ว เพราะเป็นกรรมที่ตนเองได้กระทำแล้ว ผลจะไปเกิดขึ้นกับคนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับ ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมได้ฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะมีความเข้าใจ ถูกเห็นถูก มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมว่าเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นผู้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง พร้อมกับมีความ มั่นคงที่จะสะสมแต่คุณความดี ประกอบอาชีพที่สุจริต เมื่อมีทุกข์แล้ว ก็ไม่ทำเหตุ แห่งทุกข์ให้เพิ่มขึ้น จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นของผู้เขียน ที่ว่า " ไม่ว่าคุณ จะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะทำงานใดๆ ก็ตาม จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือไม่ก็ ตาม อย่าขาดการฟังธรรม และ พิจารณา ธรรม"

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กามชาดก ... วันเสาร์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๕

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณพีรพล และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะทำงานใดๆ ก็ตาม จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือไม่ก็ตาม อย่าขาดการฟังธรรม และ พิจารณา ธรรมครับ


เป็นข้อความเตือนใจได้ดีเป็นอย่างยิ่ง ครับ

ทุกคน ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังจะต้องมีความทุกข์ ทั้งทุกข์กาย และ ทุกข์ใจ แต่ เมื่อได้ศึกษาธรรม เห็นคุณค่าของกุศละรรม และ ปัญญา จึงมีคำที่ไพเราะ และ น่าพิจารณาเป้นอย่างยิ่ง คือ บัณฑิต แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ทิ้งธรรม ซึ่งขออธิบาย เพือ่ให้ได้พิจารณา และ เห็นถึงความจริง และ คุณค่าของพระธรรม ดังนี้ ครับ

บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม

บัณฑิต คือ ผู้มีปัญญา มีคุณธรรม แม้ประสบทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ หมายถึง ทุกข์ที่เป็น ความทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือ ทุกข์ใจ และ รวมถึง ความทุกข์กาย มีการเจ็บปวด ได้รับกระทบสัมผัสที่ไม่ดี จะมุ่งหมายถึงทุกข์ 2 อย่างนี้ แต่โดยนัยความละเอียดแล้ว ก็สามารถอธิบายได้ ถึง ความทุกข์ที่หมายถึง ทุกขอริยสัจจะที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป เป็นทุกข์โดยนัยนี้ก็ได้ ซึ่งจะอธิบายต่อไป ครับ

คำว่า ไม่ทิ้งธรรม ธรรมในที่นี้หมายถึง ธรรม คือ กุศลธรรรม ประการต่างๆ มีบุญกิริยา วัตถุ 10 เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายถึง อกุศลธรรม และธรรมอื่นๆ ครับ

สัตว์โลก เมื่อมีการเกิด คือ มีขันธ์ 5 ที่ เป็น จิต เจตสิก รูปย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ ทุกข์ทางกาย แม้พระพุทธเจ้าก็ต้องได้รับความทุกข์ทาง กาย แต่โดยมากของปุถุชน ผู้ไม่มีปัญญา ไม่ใช่บัณฑิต เมือประสบทุกข์ทางกาย เพราะ ความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล จึงสำคัญว่าเราทุกข์และเดือดร้อนกับความทุกข์ ทางกายที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจของกิเลสที่สะสมมา เพราะฉะนั้น เมื่อประสบทุกข์ทาง กาย ย่อมทิ้งธรรม คือ ทิ้งกุศลธรรมในขณะนั้น เพราะ จิตเป็นอกุศล เดือดร้อนกับความ ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีปัญญา ไม่ใช่บัณฑิต เปรียบเหมือน เมื่อถูกลูกศรดอกแรกเข้า ที่ร่างกาย และก็ถูกยิงที่แผลเดิมด้วยลูกศรอีกดอก ย่อมเกิดความทุกข์มากมาย ปุถุชน ผู้ไม่มีปัญญา เมื่อได้รับความทุกข์ทางกาย ย่อมเดือดร้อนใจ เป็นอกุศล ทิ้งธรรม คือ ทิ้งกุศลธรรม ด้วยจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น หรือ แม้แต่เกิดความทุกข์ใจ ก็ไม่เข้าใจ ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม และเมื่อทุกข์ใจก็หาวิธีการต่างๆ ด้วยอกุศล มีการดื่ม สุรา เป็นต้น ขณะนั้น เมื่อประสบทุกข์ มี ทุกข์ใจเพราะความพลัดพราก เป็นต้น ก็ทิ้ง ธรรม คือ ทิ้งกุศลธรรม แต่หันไปทำอกุศล เป็นอกุศลจิตแทนในขณะนั้น ครับ

ส่วน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม

บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีคุณธรรม เมื่อประสบกับทุกข์กาย ก็เข้าใจความจริงถึงความ เป็นธรรมดา อย่างนั้น ด้วยปัญญา แทนที่จะเดือดร้อน ก็เป็นกุศลจิต ด้วยปัญญา ขณะ นั้น จิตเป็นกุศลด้วยความเห็นถูก ก็ไม่ทิ้งธรรม คือ เป็นกุศลธรรม ไม่ทิ้งธรรม คือ กุศล ธรรมครับ และเมื่อทุกข์กาย ก็ไม่ทำชั่ว แต่ ทำความดีประการต่างๆ ก็ชื่อว่าไม่ทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม เพราะทำความดี ครับ และแม้บัณฑิตผู้มีปัญญา เกิดความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามี เมื่อบัณฑิตเกิดความทุกข์ ย่อม ไม่กระทำบาป ทำอกุศล มีการดื่มสุรา เป็นต้น แต่ มั่นคง อบรมความดีต่อไป เพราะรู้ว่า ทุกข์ใจมาจากกิเลส และหากทำเหตุที่ไม่ดีอีก ก็ต้องเป็นปัจจัยให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี และ เมื่อทำไม่ดี ก็เพิ่มกิเลส ทำให้กิเลสมากขึ้น จะดับกิเลสได้อย่างไร เมื่อทุกข์ใจ จึง พิจารณาด้วยปัญญา ไม่ทำบาป ก็คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม และพิจารณาถูกต้อง เป็นกุศล จิตในขณะนั้น ชื่อว่า ไม่ทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม เพราะเป็นกุศลจิตในขณะนั้น ครับ

และก็มั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพิ่มพูนความดี ไม่ทำอกุศลธรรมแม้จะประสบ ความทุกข์ใจ มีการพลัดพราก เป็นต้น ครับ และ การพิจารณาด้วยปัญญาสูงสุด คือ เมื่อ ทุกข์ใจ หรือ ทุกข์กายเกิดขึ้น บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมพิจารณาในลักษณะของสภาพ ธรรมทีเกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นสติปัฏฐานที่เป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญาเกิดในขณะนั้น ชื่อว่า ไม่ทิ้งธรรม คือ เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา แม้ประสบทุกข์ในขณะนั้น ครับ และโดยนัยละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปอีก ครับว่า แม้สภาพ ธรรมในขณะนี้ทีเกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ แม้ไม่ได้ประสบทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ขณะ ที่เห็น ขณะที่ชอบ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง ขณะนี้กำลังประสบทุกข์กันทุกคนโดยไม่รู้เลย เพราะกำลังมีสภาพธรรม ต่างๆ ที่กำลังปรากฎ เป็นทุกข์ เมื่อผู้มีปัญญา ประสบสภาพธรรมทีเป็นทุกข์อยู่แล้วใน ชีวิตประจำวัน คือ เห็น ได้ยิน เป็นต้นที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ ย่อมไม่ทิ้งธรรม คือ สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะทีเห็นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ไม่ทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม คือ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ดังนั้น บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ทิ้งธรรม ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอ.สุจินต์ ดังนี้ ครับ

ถ้าจะอุปมาเหมือนกับภพภูมิข้างหน้าเป็นอบายภูมิ พระธรรมและกุศลทั้ง หลายในชาตินี้ เหมือนเชือกที่ทุกท่านกำลังจับอยู่ ที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเอง ตกลงไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้ากำลังที่จับนั้นอ่อนลง จนกระทั่งปล่อยมือจากพระ- ธรรม ก็เป็นการแน่นอนที่ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม และอกุศลธรรมที่ได้ กระทำแล้วก็มีโอกาสทำให้ตกไปสู่อบายภูมิได้ โดยเฉพาะตกไปสู่เหวของ อวิชชา ซึ่งยากแสนยากที่จะขึ้นมาได้ เพราะว่าเป็นเหวลึก


เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ขออย่างเดียวอย่าขาดการฟังธรรมค่ะ - บ้านธัมมะ

ขออนุโมทนในคำเตือน ทั้งเตือนตนเอง และผู้อื่น ให้ไม่ขาดการฟัง ศึกษาพระธรรม

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 3 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ