มโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนทางปัญจทวาร

 
papon
วันที่  3 ต.ค. 2556
หมายเลข  23760
อ่าน  2,210

ขอคำอธิบายเกี่ยวกับ มโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้น ทำโวฏฐัพพนทางปัญจทวาร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชื่ออาจจะทำให้งง แต่ถ้าได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่งงกับคำที่ได้ยินได้ฟัง จากการศึกษาก็เข้าใจว่า จิตแต่ละขณะๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ล้วนกระทำกิจหน้าที่ของตนๆ จิตบางประเภททำได้กิจเดียว บางประเภทก็ทำ ๒ กิจ เป็นต้น ซึ่งก็จะต้องค่อยๆ ศึกษาไป พร้อมกับอ่านทบทวนในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปฯ ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้บรรยายไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับมโนทวาราวัชชนจิต นั้น ทำได้ ๒ กิจ ได้แก่ ทำกิจโวฏฐัพพนะคือ ตัดสินอารมณ์ตามการสะสมในอดีตทางปัญจทวาร หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดขึ้้นกระทำทางให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น (จิตขณะต่อไปที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตนั้น เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศบ้าง สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ต้องเป็นกิริยาจิต) และทำกิจอาวัชชนะทางมโนทวาร ด้วย ตามความเป็นจริงของจิตนั่นเอง โดยไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิด แต่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำกิจของตนๆ แล้วก็ดับไป

ดังนั้น จากประเด็นคำถามก็สรุปได้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตนั้น ทำกิจ ๒ กิจ คือ ทำกิจโวฏฐัพพนะ ทางปัญจทวาร [ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย] และทำกิจอาวัชชนะ ทางมโนทวาร ซึ่งกิจ ๒ กิจนี้ เป็นการกระทำกิจก่อนที่ชวนจิตจะเกิดขึ้น ทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวาร และบางครั้งก็เรียกชื่อจิตตามกิจก็ได้ เช่น เรียกว่า โวฏฐัพพนจิต ซึ่งก็คือ มโนทวาราวัชชนจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารนั่นเอง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

โวฏฐัพพนกิจ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 4 ต.ค. 2556

เรียน อาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน

กระผมยังไม่เข้าใจในคำบรรยายของ อ.คำปั่น ครับ ขอเรียนถามว่า

๑. มโนทวารทำหน้าที่อาวัชชนกิจและทำโวฏฐัพพนกิจพร้อมกันเลยหรือครับ อย่างไรครับ

๒. วิถีจิตเริ่มจากรูปที่มากระทบทางปัญจทวารๆ ทำหน้ากิจอาวัชชน จิตเห็นที่เป็นกุศลหรืออกุศล สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ตอนนี้เป็นวิถีจิตทางไหนต่อครับ จะเป็นมโนทวารเข้ามาร่วมเลย หรือปัญจทวารทำกิจต่อ หรือหมดกิจของปัญจทวารแล้ว มโนทวารทำกิจโวฏฐัพพนะจนถึงชวน ตฑาลัมพนเลยครับ

๓. ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณายกตัวอย่างตั้งแต่รูปที่มากระทบทางตา จนถึงการสะสมกุศลและอกุศลเลยนะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 4 ต.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ ๒ ครับ

๑. มโนทวารทำหน้าที่อาวัชชนกิจและทำโวฏฐัพพนกิจพร้อมกันเลยหรือครับอย่างไรครับ

มโนทวาราวชนจิต ไม่ได้ทำหน้าที่ โวฏฐัพพนกิจ และอาวัชนกิจพร้อมกัน ครับ คือทำกิจทีละอย่าง ทีละทวาร ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ก่อนที่ชวนจิตเกิด ก็มีโวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตรงนี้เอง ที่มโนทวาราวัชนจิต ทำกิจหน้าที่ โวฏฐัพพนกิจ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ อาวัชนกิจ แต่เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารดับไป มโนทวารวิถีเกิดต่อ มโนทวาราวัชนจิตที่เกิดทางมโนทวาร ทำอาวัชนกิจ ครับ ดังนั้น จึงกล่าวสรุปได้ว่า มโนทวาราวัชนจิต ทำกิจสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องทีละอย่างในแต่ละวิถีจิต ครับ

๒. วิถีจิตเริ่มจากรูปที่มากระทบทางปัญจทวารๆ ทำหน้าที่กิจอาวัชชน จิตเห็นที่เป็นกุศลหรืออกุศล สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ตอนนี้เป็นวิถีจิตทางไหนต่อครับ จะเป็นมโนทวารเข้ามาร่วมเลยหรือปัญจทวารทำกิจต่อหรือหมดกิจของปัญจทวารแล้ว มโนทวาร ทำกิจโวฏฐัพพนะจนถึงชวน ตฑาลัมพนเลยครับ

จิตเห็นที่เป็นกุศลหรืออกุศล สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ดับไป ก็เป็นโวฎฐัพพนจิต และเกิด ชวนจิต เจ็ดขณะ และตทาลัมพณจิต สองขณะ และมีภวังคจิตขั้นก่อน สองขณะ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดวิถีจิตทางมโนทวาร มีมโนทวาราวัชนจิต และเกิดชวนจิต เจ็ดขณะ และตทาลัมพนะ สองขณะ เพราะฉะนั้น จะต้องมีจิตอื่นๆ เกิดต่อก่อน ทางปัญจทวาร จนวิถีจิตทางปัญจทวารดับไป วิถีจิตทางปัญจทวารจะเกิดซ้ำต่อไม่ได้ แต่จะต้องเป็น วิถีจิตทางมโนทวารวาระแรกที่เกิดต่อทันที ครับ

๓. ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณายกตัวอย่างตั้งแต่รูปที่มากระทบทางตา จนถึงการสะสมกุศลและอกุศลเลยนะครับ

วิถีจิตทางปัญจทวารมี ๗ วิถี

วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ ปัญจทวารวัชชนจิต รำพึงรู้ว่า รูปมากระทบ ตา

วิถีจิตที่ ๒ คือ ทวิปัญจวิญญาณจิตดวงหนึ่งดวงใด คือ จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกาย วิญญาณ

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ จิตดวงหนึ่งดวงใดที่ดับไป

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจกระทำทางให้ กุศลจิตหรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่างเร็วในอารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์)

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้น กระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไปเพราะรูปๆ หนึ่ง มีอายุ ๑๗ ขณะจิต คือนี่เป็นวิถีทางปัญจทวาร ที่ถึงการสะสม ที่เป็นชวนจิต ตามที่ผู้ถาม ถามมา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 4 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มโนทวารทำหน้าที่อาวัชชนกิจและทำโวฏฐัพพนกิจพร้อมกันเลยหรือครับอย่างไรครับ
(ไม่พร้อมกันครับ เพราะเป็นจิตที่กระทำหน้าที่คนละทวาร จะพร้อมกันไม่ได้ แม้แต่ในทาง ๕ ทวารเอง ก็ต้องเป็นแต่ละทวาร ไม่ปะปนกัน และเวลากล่าวก็ต้องกล่าวให้เต็มว่า มโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่เพียงแค่ มโนทวาร เพราะมโนทวาร ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต ครับ)

๒. วิถีจิตเริ่มจากรูปที่มากระทบทางปัญจทวารๆ ทำหน้าที่กิจอาวัชชน จิตเห็นที่เป็นกุศลหรืออกุศล สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ตอนนี้เป็นวิถีจิตทางไหนต่อครับ จะเป็นมโนทวารเข้ามาร่วมเลยหรือปัญจทวารทำกิจต่อหรือหมดกิจของปัญจทวารแล้ว มโนทวารทำกิจโวฏฐัพพนะจนถึงชวน ตฑาลัมพนเลยครับ

(จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย และเป็นลำดับด้วยดี ไม่สับลำดับกัน วิถีจิตคือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ในการรู้แจ้งอารมณ์ จะไม่เกิดพร้อมกันๆ ในหลายๆ ทวาร นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม ขณะที่เป็นวิถีจิตทางตาแล้ว จิตทางทวารอื่น ก็ไม่เกิดขึ้น ครับ)

๓. ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณายกตัวอย่างตั้งแต่รูปที่มากระทบทางตา จนถึงการสะสมกุศลและอกุศลเลยนะครับ

(ขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาให้พิจารณาดังนี้ ครับ

การเกิดขึ้นเป็นไปของวิถีจิตตามลำดับแต่ละขณะที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเป็นจิตนิยาม เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

วิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับไป ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย

วิถีจิตที่ ๒ คือ ปัญจวิญญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๖ คือ โลกิยกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือมหากิริยาจิตเกิดขึ้นทำชวนกิจ ๗ ขณะ ก็เป็นไปตามปัจจัย ที่ชวนวิถีสั่งสมสันดานตนเพราะเป็นวิถีจิตที่เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น จิตที่ทำชวนกิจเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้นแล้วจึงไม่มีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต ฉะนั้น มหากิริยาจิตจึงทำชวนกิจ เมื่อพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต พระอรหันต์จึงมีแต่วิบากจิตและกิริยาจิต กิริยาจิตมีหลายประเภท วาระใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพารมณ์ และคิดนึก ชวนวิถีของพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต คือ เป็นจิตที่รู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และถ้าอายุของรูปยังไม่ดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพพนจิตเกิดสืบต่อรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต ครับ)

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 4 ต.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ ๒ ครับ

๑. กระผมยังเข้าใจไม่มาก กระผมขอสมมติเหตุการณ์นะครับ โดยเริ่มจากการที่วิบากทำให้จิตเห็นรูปๆ หนึ่ง ขณะนั้นเริ่มจากการเห็นสีของรูปตอนนั้นเริ่มจากภวังคจรนะและภวังคุปัจเฉทะโดยสีเริ่มรู้จากวิถีจิตแรกคือ ปัญจทวาราวัชชน และเกิดเป็นสิ่งที่พอใจหรือไม่ ทางวิถีจิตที่ ๒ และคือ จักขุวิญญาณ วิถีที่ ๓ สัมปฏิจฉันนะ วิถีที่ ๔ สันตีรณะ พิจารณารูป วิถีที่ ๕ โวฏฐัพพนะ ทำทางกุศล อกุศล เพื่อส่งต่อให้ วิถีที่ ๖ ชวนะ เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต จนถึงวิถีที่ ๗ ตฑาลัมพนะ จนหมดวาระของจิต ๑๗ ขณะแล้ว กว่าจะรู้เรื่องราวว่า เป็นนิมิตและบัญญัติ สัญญาเจตสิกจะเข้ามาเกิดร่วมด้วยในวาระของมโนทวารวิถีใช่หรือไม่อย่างไรครับ

๒. ถ้าเป็นลำดับตามข้อ ๑. กว่าจะรู้เป็นนิมิตก็ต้องใช้ขณะจิตทั้งหมด ๒๗ ขณะ ซึ่งหมายรวมเข้าระหว่างปัญจทวารและมโนทวารหรือครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 14 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ