ขอคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องสัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง

 
Suth.
วันที่  8 ต.ค. 2556
หมายเลข  23803
อ่าน  1,756

คัดลอกมาจาก ส่วนของการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า 237

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมองย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นประภัสสรแต่ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลสทั้งหลายจรมา

จิตนั้นแหละชื่อว่า ปัณฑระ เพราะอรรถว่า บริสุทธิ์. คำว่า ปัณฑระ นี้ หมายเอาภวังคจิต เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้ประภัสสร แต่จิตนั้นแลเศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลสที่จรมา ดังนี้ อนึ่งแม้กุศลก็ตรัสเรียกว่า ปัณฑระเหมือนกัน เพราะออกจากจิตนั้น เหมือนแม่น้ำคงคาไหลมาจากแม่น้ำคงคา

ความคิดเห็นที่ 1 วันที่ 6 ต.ค. 2556 22:43

ใคร่ขอคำอธิบายเพิ่มเติมจากข้อความที่ว่า "คำว่า ปัณฑระ นี้ หมายเอาภวังคจิต..." และจากที่เคยทราบมาว่า "จิตทุกดวงมีอารมณ์ ฉะนั้นภวังคจิตก็ต้องมีอารมณ์ด้วย" อยากทราบว่าอารมณ์ที่ภวังคจิตรู้นั้น ในกรณีไหนที่เป็น "ปัณฑระ" และกรณีที่กล่าวว่าภวังคจิตเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต นั้น ภวังคจิตที่กล่าวตอนหลังนี้เป็น ปัณฑระ ด้วยหรือไม่

กรุณาให้ความกระจ่างด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ การศึกษาปรมัตถธรรมนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อที่จะจดจำว่ามีจิตกี่ดวง มีเจตสิกกี่ดวง เจตสิกใดเกิดกับจิตประเภทใดได้บ้าง แต่ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อปรุงแต่งเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย ว่า เป็นสัตว์บุคคล ตัวตนได้ ไม่ใช่ไปติดที่คำ หรือไปติดที่ชื่อ

-คำว่า ปัณฑระ หมายถึง ขาว, บริสุทธิ์ เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต เป็นไวพจน์ของจิต เพราะมีคำหลายคำที่หมายถึงจิต ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ถ้ากล่าวถึงจิตโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้น จิตทุกประเภท เป็นปัณฑระ คือ ขาว

แม้แต่อกุศลจิต ก็เป็นปัณฑระ ตามข้อความที่ว่า "เพราะจิตมีลักษณะรู้อารมณ์ จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมอง โดยสภาวะเป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วยอุปกิเลส จิตจึงเศร้าหมอง แม้เพราะเหตุนั้น จึงควรเพื่อกล่าวว่า ปัณฑระ (ขาว) "

เพราะฉะนั้น ภวังคจิต แม้จะมีอารมณ์อย่างไรก็ตาม ก็ชือ่ เป็น ปัณฑระ เพราะ เหตุ ว่า ขาว บริสุทธิ์ ที่มุ่งหมาย ถึง ที่สภาพธรรมที่เป็นจิตเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายถึง สภาพ ธรรมท่เป็น เจตสิก ครับ และ จิตอื่นๆ ทั้งหมด ก็ชือ่เป็น ปัณฑระ ด้วย เพราะ แม้ อกุศลจิต เมื่อมุ่งหมายถึง จิตเท่านั้น จิตนั้น ขาว บริสุทธิ์ เรพาะ ไม่ไดกล่าวถึง เจตสิกทีเ่กิด่วมด้วย ครับ

ซึ่ง ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้กล่าวในประเด็นนี้อย่างละเอียด เชิญอ่าน ครับ

ผู้ถาม ตอนนี้เรารู้จักคำว่า “จิต” คือปฏิสนธิจิตและภวังค์ เรียนถามว่าจิตที่ชื่อว่า “จิต เพราะ ปัณฑระ” หมายความว่าอย่างไร ต่างกับ “ภวังค์” และ “ปภัสสร” อย่างไร

สุ. ก็เป็นชื่อของจิตตามสภาพของจิต เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะ ถ้าเราเข้าใจ ลักษณะของธรรมะก่อนแล้วก็รู้ชื่อนั้นๆ ก็จะดีกว่าการที่เราได้ยินชื่อก่อน แล้วก็หาดูว่า ได้แก่จิตอะไร

เพราะฉะนั้นสำหรับคำถามของคุณสุรีย์เราได้ยินคำว่า “ปภัสสร” หรือ “ปภัส สรํ” หรือ “ปัณฑระ” ๒ ชื่อ แล้วก็จิตด้วย เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริง เราก็จะมีคำที่ ทำให้เราเข้าใจความต่างของจิตแต่ละประเภท หรือจิตแต่ละขณะ เช่น จิตใดก็ตามที่ เกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกก็ไม่ใช่จิต แยกกัน สำหรับคำว่า “ปัณฑระ” เป็นชื่อของจิตซึ่งแสดงว่าขณะนั้นได้กล่าวถึงเฉพาะสภาพรู้ เท่านั้น ไม่รวมถึงสภาพของเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราศึกษาธรรมะจะแยกจิตกับเจตสิกอย่างไร จิตเป็นสภาพที่ เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จิตไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ เจตสิกต่างๆ ทำกิจ ของเจตสิกนั้นๆ ที่เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น แต่สำหรับตัวจิตเองเป็นสภาพที่เป็น ใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์อย่างเดียวจึงใช้คำว่า “ปัณฑระ” หมายความว่า เป็นลักษณะของจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตาม ลักษณะของจิต เฉพาะจิตเป็น สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต คือ ปัณฑระ อันนี้มีข้อสงสัยไหม

จิตทุกประเภทเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นเวลากล่าว ถึงลักษณะของจิตโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะเศร้าหมองหรือ ผ่องใสยังไม่ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ถ้าเป็นความติดข้องเป็นลักษณะของเจตสิก ถ้าเป็นความขุ่นเคืองขณะนั้นก็เป็นลักษณะ ของเจตสิก เพราะว่าตัวจิตไม่ได้ขุ่นข้องและก็ไม่ได้ติดข้อง แต่จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะนั้นเมื่อกล่าวเฉพาะจิตจึงใช้คำว่า “ปัณฑระ”

ผู้ถาม อาจารย์หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

สุ. มิได้ ถึงมีก็ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวถึงเฉพาะจิตล้วนๆ เฉพาะจิตเท่านั้นว่า จิตเอง ไม่ได้เศร้าหมองหรือผ่องใส แต่ว่าอาศัย เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทำให้จิตนั้นมีลักษณะ ต่างๆ

เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตจริงๆ เป็นปัณฑระ คือ ไม่มีกิเลสใดๆ เฉพาะจิต เท่านั้น ขาวสะอาด ถ้าพูดถึงอกุศลจิตหมายความว่าจิตนั้นมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นอกุศลจิต แต่ตัวจิตไม่ว่าจะเมื่อไรยังไงก็ตามเป็นปัณฑระ เพราะเหตุว่าไม่ได้ กล่าวถึงลักษณะของเจตสิกต่างๆ ฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี แต่กล่าวถึงเฉพาะลักษณะสภาพ ของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้า พูดถึงปัณฑระ จิตทุกประเภท อกุศลจิต ตัวจิตเป็นปัณฑระ กุศลจิต ตัวจิตก็เป็นปัณฑระ เพราะเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ วิบากจิต ตัวจิตก็เป็นปัณฑระ กิริยาจิต ตัวจิตก็เป็นปัณ ฑระ เพราะเหตุว่ากล่าวถึงลักษณะของจิตเพื่อให้เห็นความต่างของจิตและเจตสิก เมื่อ เจตสิกแต่ละอย่าง มีลักษณะ มีกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ ลักษณะของจิตก็มีลักษณะ เฉพาะของจิต คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นอารมณ์นั่นเอง นี่คือความหมายของปัณฑระ


ขอเพิ่มเติมคำว่า ประภัสสร ครับ

คำว่า ประภัสสร หมายถึง ผ่องใส จิตจะผ่องใสได้ก็ต่อเมื่อเป็นกุศลจิต เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิก (เจตสิกฝ่ายดี) มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้นเกิดร่วมด้วย จึงผ่องใส และอีกประการหนึ่ง ขณะที่เป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้อยู่ อารมณ์ของโลกนี้ไม่ปรากฏ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรสไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงชั่วขณะที่จิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจนั้น ไม่มีกิเลสประการต่างๆ เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ ดังนั้น ขณะที่เป็นภวังคจิต จึงกล่าวว่า เป็นจิตประภัสสร ด้วย

-อกุศลเจตสิก เป็นสภาพธรรม (ที่ไม่ดี) ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นชาติกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น อกุศล-เจตสิกเกิดร่วมกับจิตแล้ว จิตจึงเศร้าหมองเพราะอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ดังนั้น อกุศลเจตสิก ไม่บริสุทธิ์ แต่ตัวจิต เป็นปัณฑระ (ขาว) ครับ

เชิญอ่านคำบรรยาย เรื่องประภัสสร โดยท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ส่วนอีกคำหนึ่งคือ “ปภัสสร” หรือ “ปภัสสรํ” หรือ “ปภัสสระ” หมายถึงภวังคจิต และกุศลจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิตของคน ของเทพ ของสัตว์เดรัจฉาน อกุศลจิตไม่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตหรือภวังคจิตเลย แต่ ภวังคจิตทุกประเภท ทุกภูมิเป็นประภัสสรทั้งหมด เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีอกุศล เจตสิกเกิดร่วมด้วย


เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ที่จิตชื่อว่า ปัณฑระ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพ ธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เท่านั้น [อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้] โดยสภาพของจิตแล้ว เป็น ปัณฑระ คือ ขาว แต่ที่จะเป็นจิตที่เศร้าหมอง (เป็นอกุศล) หรือ ผ่องใส (เป็นกุศล) นั้นขึ้นอยู่กับสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจิต มีโลภะ เกิดร่วมด้วย ก็เป็นอกุศลจิต เป็นจิตที่เศร้าหมองแล้ว เพราะกิเลสได้แก่ อกุศลเจตสิกประการต่างๆ นั้น เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจตสิกฝ่ายดี มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เกิดร่วมกับจิต ก็ทำให้จิตนั้น ผ่องใส เป็นกุศล ผ่องใส (ประภัสสร) ไม่เศร้าหมอง เลย เมื่อจิตเศร้าหมองด้วยกิเลส สะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะกิเลส บุคคลที่ทำแต่สิ่งไม่ดี ไม่ได้ทำความดีอะไรไว้เลย เป็นผู้ประมาทมัวเมา ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เมื่อตายไปย่อมมีโอกาสไปเกิดในอบายภูมิสูงมาก ประตูอบายเปิดรอคอยอยู่แล้ว แต่ถ้า จิต ไม่-เศร้าหมอง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ความประพฤติเป็นไปทางกาย วาจา และ ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน (ไม่เดือดร้อนเพราะอกุศล) เมื่อละจากโลกนี้แล้ว ย่อมไปสู่สุคติ เหตุ ย่อมสมควรแก่ผล การฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น นี้แหละ จะเป็นที่พึ่่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะช่วยบรรเทาจิตที่เศร้าหมองให้ลดน้อยลง เพราะสภาพธรรมที่ดีงาม ย่อมคล้อยไปตามความเข้าใจพระธรรม จนกว่าจะดับเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์, บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรม ซึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างนี้ เพราะธรรมไม่ได้สาธารณะกับทุกคนจริงๆ ความเข้าใจพระธรรม จำกัดไว้เฉพาะผู้ที่เห็นประโยชน์ มีศรัทธา ที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อความใจอย่างถูกต้อง เท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 8 ต.ค. 2556

จิตเศร้าหมองเพราะมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง เช่น การติดในวัตถุสิ่งของที่ดี ไม่ได้ดั่งปรารถนา ทำให้เศร้าโศกเสียใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Suth.
วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขอบคุณทุกท่านที่ให้คำตอบครับ

ผมอ่านเที่ยวหนึ่งก่อนแต่จะกลับมาอ่านอีกหลายเที่ยวเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 9 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sea
วันที่ 3 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ