ภัยของความอิจฉา

 
สิริพรรณ
วันที่  10 ต.ค. 2556
หมายเลข  23826
อ่าน  5,209

1. จิตที่อิจฉาประกอบด้วยเจตสิกอะไร เป็นจิตชาตใด วิบากของจิตนั้นจะได้ผลอย่างไร

2. หากยังไม่มีการกระทำทางกายเพื่อส่งผลต่อผู้ที่ไม่ชอบ แต่การสะสมจิตที่อิจฉา ไม่พอใจฝ่ายนั้นฝ่ายนี้อยู่บ่อยๆ จะมีผลต่อจิตต่อๆ ไปอย่างไร

3. จิตที่มีความยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นประกอบด้วยเจตสิกใด เป็นจิตชาติอะไร วิบากของจิตนั้นจะได้ผลอย่างไร

4. การมีใจยินดีกับความสุขของผู้อื่น กับการแสดงออกทางกายในความยินดีนั้น ให้ผลต่างกันในวิบากหรือไม่ อย่างไร

ขอรบกวนท่านอาจารย์และผู้รู้ชี้แนะด้วยนะคะ
กราบขอบพระคุณมากค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. จิตที่อิจฉาประกอบด้วยเจตสิกอะไร เป็นจิตชาตใด วิบากของจิตนั้นจะได้ผลอย่างไร

ความอิจฉาริษยา ในภาษาธรรมเรียกว่า อิสสา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพธรรมฝ่ายไม่ดีครับ เป็นสภาพธรรมที่เป็นฝักฝ่ายของโทสะ เพราะขณะที่เกิดความริษยาในสมบัติของผู้อื่น สมบัติในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เพียงทรัเพย์สินเงินทองเท่านั้นครับ รวมถึงสิ่งที่ดีๆ ที่บุคคลอื่นๆ ได้ เช่น การเคารพ สักการะ หรือการได้รับสิ่งที่ดีๆ เมื่อริษยาเกิดก็เกิดความขุ่นใจ ไม่พอใจในสิ่งที่บุคคลอื่นได้ จึงเป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายโทสะ คือความไม่พอใจ ขุ่นใจในขณะนั้นด้วยครับ ลักษณะของความอิจฉาริษยา หรืออิสสานั้น คือ ขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการไหว้และบูชา กล่าวได้ว่า เห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความริษยา (ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) ความริษยา จึงมีความไม่พอใจ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่ดี เป็นลักษณะของความริษยา ครับ ดังนั้น อิจสาเจตสิก จึงเป็นเจตสิก ที่เกิดกับ โทสมูลจิต เป็นฝักผ่ายโทสะ ซึ่งอิจสาเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิต หากมีกำลังมาก คือ ทำทุจริตทางกาย วาจา มีการว่าผู้อื่น เพราะความริษยาคนนั้น หรือมีการทำร้าย ทำให้ถึงกับชีวิต กรรมย่อมถึงกรรมบถ ย่อมทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ครับ แต่หากเกิดความริษยาในใจ ก็ไม่เกิดวิบาก แต่สะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี ที่มีความริษยาได้ง่ายขึ้น ครับ

2. หากยังไม่มีการกระทำทางกายเพื่อส่งผลต่อผู้ที่ไม่ชอบ แต่การสะสมจิตที่อิจฉา ไม่พอใจฝ่ายนั้นฝ่ายนี้อยู่บ่อยๆ จะมีผลต่อจิตต่อๆ ไปอย่างไร

ก็สะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี ครับ ที่จะริษยาในผู้อื่นมากขึ้น ครับ

3. จิตที่มีความยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นประกอบด้วยเจตสิกใด เป็นจิตชาติอะไร วิบากของจิตนั้น จะได้ผลอย่างไร

(ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) เป็น มุทิตาเจตสิก ครับ ซึ่ง มุทิตาเจตสิก ความพลอยยินดี สามารถเกิดกับจิตได้ กับ จิตที่เป็นกุศลจิต หรือ กิริยาจิตก็ได้ ครับ

มุทิตา เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับ ความริษยา เมื่ออาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ มีเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับของความเข้าใจด้วย มุทิตา ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่มีมุทิตา ขณะนั้นมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนกับบุคคลนั้น แต่ขณะใดที่ริษยา ขณะนั้นเราไม่ใช่เพื่อนของเขาอย่างแน่อนน เมื่อมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน เป็นพื้นฐานของจิตใจแล้ว มุทิตาก็สามารถที่จะเกิดขึ้นแทนที่จะเป็นริษยาได้ ซึ่งก็จะต้องค่อยเป็นค่อยไป ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง

4. การมีใจยินดีกับความสุขของผู้อื่น กับการแสดงออกทางกายในความยินดีนั้น ให้ผลต่างกันในวิบากหรือไม่ อย่างไร

การที่แสดงออกมาด้วย กาย วาจา ย่อมแสดงถึง จิตที่มีกำลังมากกว่า การคิดในใจที่ยินดีในใจ เพราะฉะนั้น การแสดงออกด้วย วาจาที่ดี และกายที่ดีต่อผู้อื่น สิ่งแรกเลย คือ การสะสมอุปนิสัยที่ดี ทั้งทางกาย และวาจา และก็จะทำให้เกิดวิบากที่ดี คือ เกิดในสวรรค์ สุคติได้ เพราะ การกระทำที่ดีทางกาย และวาจาต่อผู้อื่น ครับ แต่การคิดในใจ เพียงการชื่นชม พลอยยินดี แต่ ไม่มีการแสดงออกมา ที่ถึงกุศลกรรมบถ ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยที่ดี ที่จะพลอยยินดีในความสุขของผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ครับ ซึ่งข้อคิดในเรื่อง ความริษยา มีดังนี้ ครับ

พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปดับความริษยาได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีความริษยาอีกเลย ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นไม่ควรที่จะไปริษยาบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย เพราะถึงแม้ว่าจิตของเราจะเร่าร้อน เพราะความริษยาสักเท่าไร บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข เพราะกรรมดีที่ได้กระทำมาแล้ว ก็มีเหตุที่จะทำให้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น อุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรที่จะให้จิตเป็นอกุศลที่ริษยาในบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็ควรทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ควรจะละให้หมดสิ้นไป นี้คือความเป็นจริงที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่จะไม่เกิดความอิจฉา ริษยาอีกเลย คือ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นต้น ก็จะไม่เกิดความอิจฉา ริษยา แต่ในเมื่อยังเป็นปุถุชน ความอิจฉา ริษยาก็เกิดได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หนทางละ คือ เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะเราไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะมีตัวเรา สำคัญว่า มีเรานั่นเอง ก็ทำให้เกิดความอิจฉา ริษยา เพราะในความเป็นจริง การที่ใครจะได้ดี มีความสุข ไม่ใช่เขาที่ได้ แต่เพราะกรรมดีให้ผล ทำให้บุคคลนั้นได้ ดังนั้น เพราะกรรมดีเป็นเหตุ จึงทำให้มีความสุข ได้รับสิ่งที่ดี ทาง ตา คือ การเห็นที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น ครับ เพราะไม่เข้าใจความจริงว่า อิจฉา ริษยาเป็นธรรมที่จะต้องเกิดเป็นธรรมดา กับปุถุชน แม้แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วก็ตาม ครับ แต่เพราะสำคัญผิดว่ามีเรา จึงเดือดร้อนกับความเป็นเรา ว่าเราไม่ดี เราอิจฉา ริษยา ทั้งๆ ที่ความจริงก็เป็นเพียง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิต มีความอิจฉา ริษยา โดยที่ไม่ใช่เราที่อิจฉา ริษยาเลย เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นไป และเกิดแล้ว ดังนั้น หนทางละ คือ ไม่ใช่หนทางที่จะไม่ให้อิจฉา ริษยาเกิด เพราะเป็นไปไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิด แต่หนทางละจริงๆ คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดว่า คืออะไร เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป และไม่ใช่เราที่อิจฉา ริษยา แม้ความเข้าใจเพียงขั้นการฟังเช่นนี้ ว่าไม่ใช่เรา และเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิด เพราะรู้ เข้าใจเบื้องต้นว่า ไม่มีเราที่อิจฉา เพราะหากเข้าใจผิด ก็เป็นอกุศลซ้อน อกุศล คือ อิจฉา เกิด ก็เดือดร้อน (เกิดโทสะ) ว่า เป็นเราที่ไม่ดี ไม่อยากให้เกิด ลืมไปว่า ต้องเกิดแน่ และไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และไม่มีเราที่ไม่ดี มีแต่ธรรมที่เป็นไป ครับ การเข้าใจถูกเบื้องต้นเช่นนี้ คือ เริ่มจากความเข้าใจธรรม แม้ยังไม่สามารถละอิจฉาได้ แต่นี่เป็นหนทางที่ถูกต้อง ที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงของอิจฉา ว่าคืออะไร คือ เป็นแต่เพียงธรรม การเข้าใจแบบนี้ คือ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม อบรมปัญญาไปเรื่อยๆ อนาคตกาล ก็ย่อมถึงการดับกิเลส บรรลุเป็นพระโสดาบัน ถึงตอนนั้นความอิจฉา ริษยา ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ครับ การศึกษาธรรม จึงไม่ใช่ เป็นยาที่กินแล้วจะหายโรคทันที หรือสนิมที่เกาะที่เหล็กจะทำความสะอาดเพียงครั้งเดียว ให้สนิมออกจากเหล็กจนหมด ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ ซึ่งโรคใจคือกิเลส สะสมมามาก ต้องค่อยๆ สะสมปัญญา และค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะค่อยๆ ละคลายทีละน้อย ตามกำลังปัญญาที่เกิดขึ้นทีละน้อยจากการศึกษาพระธรรม ครับ

หนทางที่ถูก คือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมต่อไป ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมเห็นโทษของกิเลส อกุศลก็จะเกิดน้อยลงตามปัญญาที่เจริญขึ้น แต่หากจะให้บอกวิธี และทำได้ทันที นั่นไม่ใช่หนทางที่จะละกิเลสได้จริงๆ เพราะมีแต่เราที่จะพยายามทำ ไม่ใช่ปัญญาทำหน้าที่ ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ความอิจฉา

อิจฉาหมั่นไส้เพื่อนตัวเอง

ทำอย่างไรหนูจึงจะไม่อิจฉาเพื่อน

ขอฟังข้อธรรมที่เกี่ยวข้องกับความริษยาค่ะ

เหตุใกล้ให้เกิดมุทิตาจิต และการพิจารณาเพื่อลดความอิจฉาริษยา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความริษยา (ภาษาบาลี คือ อิสฺสา) เป็นอกุศลเจตสิกประการหนึ่ง ที่ทนไม่ได้ที่ผู้อื่นได้ดีมีความสุข เวลาเกิดก็ต้องเกิดกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ประกอบด้วยเวทนาที่เป็นโทมนัสเวทนา แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ริษยาผู้อื่นนั้น ไม่สบายใจอย่างแน่นอน และต้องประกอบด้วยอกุศลเจตสิกประการต่างๆ เช่น ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ความไม่สงบแห่งจิต เป็นต้น ความริษยา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ดับความริษยาอย่างเด็ดขาดไม่ได้ แต่ละบุคคลย่อมมีตามการสะสม บางคนอาจจะมีมาก บางคนอาจจะมีน้อย จึงควรที่จะพิจารณาตนเองว่ามีความริษยาบ้างไหมในชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะไม่ริษยาในเมื่อผู้อื่นได้วัตถุสิ่งของต่างๆ แต่อาจจะมีความริษยาในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ของบุคคลอื่นก็ได้ นี้เป็นความจริงของกิเลสที่สะสมมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ก็สะสมความไม่ดี ยิ่งถ้ามีกำลังก็ถึงกับประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นได้ ขณะนั้นเป็นการกระทำกรรมที่ไม่ดีแล้ว ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า แต่ถ้าเพียงเกิดขึ้นแล้วไม่ได้มีการล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม เช่น ขุ่นเคืองใจผู้อื่น แต่ไม่ได้ว่าร้าย ไม่ได้ประทุษร้ายด้วยกาย ก็ยังไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากในภายหน้า แต่จะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย เพราะอกุศลที่เกิดขึ้นมีกำลังมากๆ ได้ ก็เพราะมาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นี่เอง

เมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข อันเป็นผลของกรรมอดีตกุศลกรรมที่ผู้นั้นได้กระทำแล้ว ก็ควรที่จะได้ชื่นชมยินดี ไม่ริษยา ขณะมีความชื่นชมยินดีในความสุขของผู้อื่นนั้น เป็นมุทิตา ตรงกันข้ามกับความริษยาอย่างสิ้นเชิง ขึ้นชื่อว่ากุศลแล้ว เป็นประโยชน์โดยส่วนเดียว ไม่เคยนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้เลย ขณะที่พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข นั้น คือ มุทิตา เกิดขึ้น มุทิตาเจตสิก เกิดขึ้นก็เกิดกับจิตฝ่ายดีเท่านั้น พร้อมกับเจตสิกประการอื่นๆ ตามควรแก่สภาพธรรมที่ดีงามนั้นๆ จะไม่เกิดกับชาติอกุศลเลย

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะค่อยๆ เข้าใจได้ว่า การที่บุคคลจะได้ในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ใครเป็นผู้นำมาให้ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีเหตุ คือ กุศลกรรม ที่เขาได้กระทำมาแล้วในอดีต ผลที่น่าปรารถนาก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ละคนก็เกิดมานับชาติไม่ถ้วน ทำกรรมมามาก ทั้งที่เป็นอกุศลกรรมและกุศลกรรม เมื่อกุศลกรรมที่ทำแล้วในอดีตถึงคราวให้ผล ผลที่ดีก็เกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนานั้น ก็ต้องมั่นคงในเรื่องเหตุและผลจริงๆ ว่าเหตุที่ไม่ดีจะให้ผลที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้เลย เหตุดีเท่านั้นที่จะทำให้ผลดีเกิดขึ้น ขณะที่มีความเป็นไปอย่างนี้ คือ มุทิตาเกิดขึ้น เป็นประโยชน์ ความประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ก็ย่อมเกิดขึ้น ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ความริษยา ทำให้เร่าร้อน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ตนเองไม่มีความสุข นี้เป็นอกุศล เป็นธรรมที่ไม่ฉลาดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านและผู้ถามมากครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 10 ต.ค. 2556

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองและกัลยาณมิตรเป็นอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Lamphun
วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เข้าใจ
วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
guy
วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
worrasak
วันที่ 25 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ