ได้ยินแล้วคิด_32
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่าน อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
เคยได้ยิน ท่าน อ. สุจินต์ แสดง "พรหมจรรย์-อพรหมจรรย์ " ได้ยินแล้วคิด หมายถึงอะไร คืออะไร ใครสำคัญต่อการอบรมเจริญความเข้าใจธรรมหรือไม่ อย่างไร
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า "พรหมจรรย์" หมายถึง การประพฤติที่ประเสริฐ มีนัยที่กว้างขวางมาก ซึ่งเมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ได้แก่ กุศลทุกประเภท ไม่ใช่อกุศล มีหลายความหมาย ดังนี้
1. การให้
2. ความขวนขวาย
3. ศีล 5
4. พรหมวิหาร
5. เมถุนวิรัติ (งดเว้นการล่วงเป็นคู่ๆ)
6. ความสันโดษ
7. ความเพียร
8. อุโบสถศีลมีองค์ 8
9. อริยมรรคมีองค์ 8
10. คำสอนในพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ขณะใดที่ จิตที่ดี จิตเป็นกุศล ขณะนั้น ชื่อว่า เป็นพรหมจรรย์ เป็นความประพฤติที่ประเสริฐทางกาย วาจา และใจ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
ส่วนคำว่า อพรหมจรรย์ คือ ความประพฤติที่ไม่ประเสริฐ โดยมาก มักใช้ความหมายที่เป็นประพฤติ ที่เสพเมถุนธรรม ชื่อว่า เป็นอพรหมจรรย์ คือ เป็นความประพฤติที่ไม่ประเสริฐ ที่เป็นของชาวบ้าน นี่กล่าวโดยนัยสมมติที่เป็นส่วนหยาบ แต่หากพิจารณาโดยละเอียด ลึกลงไปแล้ว ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ที่เกิดขึ้นในใจ ขณะนั้นเป็นอพรหมจรรย์ เป็นความประพฤติที่ไม่ประเสริฐทางใจแล้ว เพราะประเสริฐไม่ได้ เพราะความประเสริฐจะต้องเป็นความดี ครับ เพราะฉะนั้นอกุศลธรรมทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นทางกาย วาจาและใจ ชื่อว่า อพรหมจรรย์ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การประพฤติพรมจรรย์ หมายถึง การประพฤติที่ประเสริฐ บางนัยมีความหมายกว้างมาก โดยหมายรวมกุศลทุกประเภท เป็นความประพฤติที่ประเสริฐ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศล แล้ว จะไม่ประเสริฐเลย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดๆ ก็ตาม เพราะเหตุว่า เป็นสิ่งที่เศร้าหมอง มัวหมอง ไม่บริสุทธิ์ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใ่ช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนานี้ ที่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ ดับกิเลส พระผู้มีพระภาคเจ้า หมายเอามรรคพรหมจรรย์คือ การประพฤติในอริยมรรคมีองค์ ๘ (ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ความตั้งมั่นชอบ) ซึ่งรวมลงในไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา) ตามความเป็นจริงแล้ว การอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ว่า ผู้อบรมจะอยู่ในเพศใด กล่าวคือ จะเป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เมื่อปัญญาสมบูรณ์ ย่อมสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ได้ นี้คือ ผลของการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนานี้ ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน นั่นเอง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านๆ ท่านครับ