สติ และสติสัมปชัญญะ แตกต่างกันอย่างไร ?

 
nippana
วันที่  25 ต.ค. 2556
หมายเลข  23917
อ่าน  29,704

ขอรบกวนความรู้จากอาจารย์เพื่อความกระจ่างครับ "สติ และสติสัมปชัญญะ" มีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร และต้องปฏิบัติอย่างไรที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ครับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจนจริงๆ ก่อนอื่นก็ต้องกล่าวถึง สติ กับ สัมปชัญญะ ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภทไม่มีเว้น ส่วนสัมปชัญญะ เป็นอีกชื่อหนึ่งของปัญญา เป็นความไม่หลง เป็นความรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง (ปัญญาเจตสิก) สติสัมปชัญญะ มักจะเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญความสงบของจิต ที่เป็นสมถภาวนา และ การอบรมปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา หรือ สติปัฏฐาน เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สติเกิด โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะเกิดก็จะต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด เมื่ออาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเริ่มเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้นว่า ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นได้โดยที่สติทำกิจระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง และปัญญาทำกิจรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สติเป็นสติ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเป็นปัญญาไม่ใช่สติ สรุปได้ว่า

สติ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เกิดกับจิตที่ดีงาม สัมปชัญญะ เป็นอโมหเจตสิกหรือปัญญา สติสัมปชัญญะ มักเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมภาวนา ขั้นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) สติเกิด โดยไม่มี สัมปชัญญะ (ปัญญา) ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดจะต้องมีสติ เกิดด้วยเสมอ เพราะสติ เป็นสภาพธัมมะที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเสมอ แต่ปัญญา ไม่เสมอไปครับ เมื่อเราพิจารณาคำนี้ จะทำให้เข้าใจเรื่องการอบรมวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) ว่าเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ (มีสัมปชัญญะ) และต้องรู้ว่า สติระลึกอะไร สัมปชัญญะ (ปัญญา) รู้อะไร ก็รู้สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้เองครับ ว่าเป็นธัมมะ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องของปัญญา มิใช่ขั้นทาน และศีลเท่านั้น

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ ต้องแยกกันเจ้าค่ะ เวลาที่กล่าวถึงสติสัมปชัญญะ และลักษณะของสติสัมปชัญญะ จะแยกเลยว่า ลักษณะของสติ เป็นอย่างไร กิจของสติ เป็นอย่างไร อาการปรากฏของสติ เป็นอย่างไร และ ลักษณะของสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร กิจของสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร แต่เวลาที่พูดรวมกัน สติสัมปชัญญะ ต้องหมายความถึง สติเจตสิก และ ปัญญาเจตสิก เจ้าค่ะ ซึ่งขณะใดที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่มีแต่สติเจตสิกเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณาในเหตุผล และมีความเข้าใจ ในขณะนั้นก็ต้องเป็น สติสัมปชัญญะ คือต้องมี ปัญญาเจตสิก ซึ่งเป็น สัมปชัญญะ เกิดร่วมกับ สติ นั้นด้วย

พระภิกษุ ถ้าอย่างนั้นในการเจริญสติปัฏฐาน ที่สติเกิดแต่ละครั้ง ในขณะที่พิจารณา รูปธรรม หรือนามธรรมก็ดี ในขณะนั้น ชื่อว่ามี สัมปชัญญะ ด้วยใช่ไหม

ท่านอาจารย์ เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน ธรรมดาแล้วจะต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่พิจารณา สังเกตลักษณะ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่า ลักษณะของปัญญา ยังไม่ปรากฏชัด แต่ที่ปัญญา จะเจริญได้ ต้องเริ่มจากการสังเกต พิจารณา ศึกษา ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญา ก็เกื้อกูลเป็นลำดับขั้น เจ้าค่ะ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

สติปัฏฐานและสติสัมปชัญญะ

สติปัฏฐานกับสติสัมปชัญญะ

สติสัมปชัญญะคือสติเจตสิกใช่ไหมครับ

เรื่องของสติปัญญา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nippana
วันที่ 25 ต.ค. 2556

กราบขอบคุณท่านอาจารย์อย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ปัญญาเกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ของปัญญา จะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เกิดเมื่อใดก็ทำกิจหน้าที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ปัญญามีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น จนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ซึ่งตามการศึกษาก็พอที่จะเข้าใจถึงปัญญาที่เป็นระดับต่างๆ จนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ตามระดับขั้นของปัญญา

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่กุศลจิตเกิด ย่อมไม่ปราศจากสติ และ สภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น แต่สภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้ เพราะเป็นธรรมคนละประเภทกันตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

สติเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติจึงมีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นไปในทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เป็นไปในศีล คือ การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ เมื่อสติเกิดขึ้นก็ทำให้งดเว้นจากอกุศลธรรม สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนา อบรมความสงบของจิต และสติที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

สติเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ปัญญาเกิดต้องมีสติเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ดังนั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นนั้น ต้องเป็นสติและปัญญา ที่เป็นไปในการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง (วิปัสสนาภาวนา) เท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 26 ต.ค. 2556

สติ หมายถึง ความระลึกที่เป็นไปในกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ส่วนสติสัมปชัญญะ เช่น ขณะที่สติปัฎฐานเกิด ขณะนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nippana
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกๆ ท่านครับที่เมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 27 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เฉลิมพร
วันที่ 12 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ