การเพ่งโทษผู้อื่น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่สุดคือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ น้อมประพฤติตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจธรรม จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง
แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำและคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตนสัตว์บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เท่านั้น
ทั้งเขาทั้งเราก็มีส่วนที่ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด จึงควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจคนที่มีกิเลสด้วยกัน ยิ่งถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจแล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ได้ และควรที่จะพิจารณาว่า การที่บุคคลนั้นจะมีความเห็นและพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจเห็นใจ แล้วก็ช่วยแก้ไขเท่าที่สามารถจะช่วยได้ ตามกำลังปัญญาของตนเอง ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เพราะความโกรธ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ ไม่ลืมที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่งด้วย
กิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่เกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น จึงจะค่อยๆ ละคลายไปตามลำดับได้ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การดับกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเมตตา ความหวังดี เป็นคุณธรรมที่ควรมี และ เป็นคุณธรรมที่ทำให้เข้าใจคนอื่นตามความเป็นจริง ทุกคนสะสมกิเลสมามาก มีทั้งส่วนที่ดี และ ส่วนไม่ดี ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงความเป็นจริงของชีวิต และ ให้พิจารณา ถึง ความดีของผู้อื่น คือ เห็นความดีของผู้อื่นเพื่ออนุโมทนา และ เห็นอกุศลของผู้อื่นเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ความหมาย คือ ความดีที่ผู้อื่นทำ ก็อนุโมทนา ชื่นชมในความดีของผู้นั้น และ เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ควรทำ และ เห็นอกุศลของคนอื่นเพื่อขัดเกลา คือ เข้าใจว่า ทุกคนก็มีอกุศล เมื่อคนอื่นเกิดอกุศล ทำสิ่งที่ไม่ดี ตัวเองก็ต้องเคยทำอย่างนั้นเช่นกัน เมื่อตนเองทำอกุศล ก็ไม่โทษตัวเอง เมื่อคนอื่นทำอกุศล ก็รู้ว่า เราก็เกิดได้ ก็ไม่ควรโทษผู้อื่น และพิจารณาด้วยปัญญาว่า เมื่อไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม อกุศล ความไม่ดีของผู้อื่น ก็เป็นเพียง อกุศลธรรม ที่ไม่มีใครที่ไม่ดี แต่เป็นเพียงธรรม ควรหรือที่จะโกรธ เกลียดธรรม เพราะไม่มีใครให้เกลียดเลย ซึ่งจากการที่กล่าวมานั้น ก็ต้องมีปัญญา ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะมีได้ก็ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นโทษของการเพ่งโทษผู้อื่นด้วยอกุศลจิต ครับ
ความเสียหายของคนอื่น เขาอยากจะให้คนอื่นรู้ไหม ไม่อยาก น่าเห็นใจไหม เมื่อเห็นใจในการกระทำที่พลั้งพลาดในความพลั้งพลาดของบุคคลนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงรู้ถึงบุคคลอื่น แต่ว่าควรที่จะได้ช่วยให้เขาเห็นว่า ควรที่จะประพฤติในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควรอย่างไร แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความเสียหายของบุคคลนั้นให้คนอื่นรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นความเมตตา เป็นความกรุณาเป็นความเห็นใจ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น
อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๔
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้าที่ ๔
โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นได้ง่าย ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้น ย่อมโปรยโทษของบุคคลอันเหมือนบุคคลโปรยแกลบ แต่ว่า ย่อมปกปิดโทษของตน เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพ ด้วยเครื่องปกปิดฉะนั้น
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์ บุคคลนั้นเป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ
ขออนุโมทนา ครับ