กลัวกำลังของกิเลส

 
papon
วันที่  22 พ.ย. 2556
หมายเลข  24056
อ่าน  1,048

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ฟังจิตตปรมัตถ์แล้ว กลัวการสะสมของกิเลสด้วยชวนวิถีเหลือเกิน เพราะทุกวันเต็มไปด้วยอกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ เพราะเมื่อกิเลสมีกำลังมากจนล่วงศีล ก็เป็นวิบากต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบียดเบียนด้วยวาจา เป็นสิ่งที่ล่วงง่ายมากเหลือเกิน การศึกษาพระธรรมเป็นทางหยุดยั้งด้วยความเข้าใจ แต่เมื่อหลงลืมสติ ในระหว่างศึกษาธรรม ควรเพียรและมีความอดทนอย่างไรครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของอกุศล จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะถ้าสะสมมากขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นการสร้างเหตุ ที่ไม่ดีให้กับตนเอง ที่จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ สำหรับในเรื่องของวาจาหรือคำพูดนั้น ก็แสดงถึงจิตใจ ในขณะนั้นได้ว่า พูดด้วยจิตอะไร ด้วยจิตที่เป็นกุศล หรือด้วยจิตที่เป็นอกุศล ถ้าจิตใจสะอาด คำพูดก็สะอาด แต่ถ้าจิตใจไม่สะอาดแล้ว คําพูดก็ไม่สะอาด

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพราะถ้าปล่อยให้ชีวิตเป็นไป กับด้วยอกุศลมากขึ้นๆ แล้วจะขัดเกลาให้เบาลงได้อย่างไร แม้แต่ในเรื่องของการพูดคำหยาบคาย ถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว ตัวเราเองก็ไม่ชอบคำหยาบคาย ไม่ชอบให้ มีคนอื่นมาว่าร้าย หรือกล่าวคำที่ไม่เหมาะสม คนอื่นเขาก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อเราไม่ชอบคำหยาบคาย ก็ไม่ควรพูดคำหยาบคายกับบุคคลอื่น ไม่ว่าคนฟังจะเป็นใครก็ตาม ควรเป็นผู้นึกถึงใจเขาใจเรา แล้วก็พูดและ กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเท่านั้น ความเมตตา ความหวังดี เป็นคุณธรรมที่ควรมี และ เป็นคุณธรรมที่ทำให้เข้าใจคนอื่นตามความเป็นจริง ทุกคนสะสมกิเลสมามาก มีทั้งส่วนที่ดี และ ส่วนไม่ดี ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงความเป็นจริงของชีวิต และ ให้พิจารณา ถึง ความดีของผู้อื่น คือ เห็นความดีของผู้อื่นเพื่ออนุโมทนา และ เห็นอกุศลของผู้อื่นเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ความหมาย คือ ความดีที่ผู้อื่นทำ ก็อนุโมทนา ชื่นชมในความดีของผู้นั้น และเห็นเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรทำ และเห็นอกุศลของคนอื่นเพื่อขัดเกลาคือ เข้าใจว่า ทุกคนก็มีอกุศล เมื่อคนอื่นเกิดอกุศล ทำสิ่งที่ไม่ดี ตัวเองก็ต้องเคยทำอย่างนั้นเช่นกัน เมื่อตนเองทำอกุศล ก็ไม่โทษตัวเอง เมื่อคนอื่นทำอกุศล ก็รู้ว่า เราก็เกิดได้ ก็ไม่ควรโทษผู้อื่น และ พิจารณาด้วยปัญญาว่า เมื่อไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม อกุศล ความไม่ดีของผู้อื่น ก็เป็นเพียง อกุศลธรรม ที่ไม่มีใครที่ไม่ดี แต่เป็นเพียงธรรม ควรหรือที่จะโกรธ เกลียดธรรม เพราะไม่มีใครให้เกลียดเลย ซึ่ง จากการที่กล่าวมานั้น ก็ต้องมีปัญญา ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะมีได้ก็ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นโทษของการเพ่งโทษผู้อื่นด้วยอกุศลจิต ครับ

ความเสียหายของคนอื่น เขาอยากจะให้คนอื่นรู้ไหม ไม่อยาก น่าเห็นใจไหม เมื่อเห็นใจในการกระทำที่พลั้งพลาดในความพลั้งพลาดของบุคคลนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงรู้ถึงบุคคลอื่น แต่ว่าควรที่จะได้ช่วยให้เขาเห็นว่า ควรที่จะประพฤติในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควรอย่างไร แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความเสียหายของบุคคลนั้นให้คนอื่นรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นความเมตตา เป็นความกรุณา เป็นความเห็นใจ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น

อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๔

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ 4

โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นได้ง่าย ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้น ย่อมโปรยโทษของบุคคลอันเหมือนบุคคลโปรยแกลบ แต่ว่า ย่อมปกปิดโทษของตน เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพ ด้วยเครื่องปกปิดฉะนั้น

อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันยก โทษเป็นนิตย์ บุคคลนั้นเป็นผู้ไกลจากความสิ้นไป แห่งอาสวะ

ซึ่ง สำหรับปุถุชนแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีเหตุที่จะล่วงทางกาย วาจาที่ไม่ดี แม้แต่พระโพธิสัตว์ ผู้สะสมปัญญามามาก ก็ยังมีเหตุที่จะล่วงศีลได้ แต่เพราะอาศัยการฟังพระธรรม การอ่าน พิจารณาพระธรรม ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้คิดถูกมากขึ้น เมื่อคิดถูก วาจาก็ถูก การกระทำทางกายก็ถูกต้องตามไปด้วย ครับ เพราะฉะนั้น ที่ได้กล่าวพระธรรมมาข้างต้นก็เพื่อให้ผู้ถามได้อ่าน และ ได้พิจารณา เมื่อเกิดปัญญา ความเข้าใจ ปัญญาก็เกิด และ ก็ทำให้ กาย วาจาดีขึ้นตามไปด้วย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังมีกิเลส ความประพฤติเป็นไปทางกายบ้าง วาจา บ้าง ก็เป็นไปตามอกุศล เป็นส่วนใหญ่ มีการพูดกระทบกระทั่ง เสียดสีบุคคลอื่น เป็นต้น ก็เพราะจิตเป็นอกุศล จึงทำให้มีการพูอย่างนั้นออกไป

การสะสมมาทุกๆ ชาติในสังสารวัฏฏ์อย่างนับไม่ถ้วน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ จึงทำให้มีความคิด มีกาย มีวาจาที่แตกต่างกันตามที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นจึงควรรู้สึกตัวว่า ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจาก็ตาม อกุศล จะเป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้เลย ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น, และไม่ใช่เพียงรู้ตัวเท่านั้น แต่ควรมีหิริ (ความละอาย) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัว) รู้ถึงโทษ รู้ถึงภัยของกุศลนั้นๆ ที่เกิดขึ้น และปรากฏทางกาย ทางวาจา ด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อมีหิริ โอตตัปปะ ก็ย่อมคิดที่จะพยายามขัดเกลากุศลของตนเอง ทางกาย ทางวาจา และที่จะมีการขัดเกลาละคลายกิเลสได้นั้น ก็ต้องอาศัยความเข้าใจพระธรรม ซึ่งเกิดจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สิ่งที่ดีงามทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 พ.ย. 2556

วาจาหยาบ เป็นวาจาที่ไม่ดี ควรมีสติ คิดก่อนพูด คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 23 พ.ย. 2556

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านครับที่ให้ปัญญา ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 24 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ