อกุศลจิต ๑๒ ดวงมีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้างครับ
อกุศลจิต ๑๒ ดวงมีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้างครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภมูลจิต จิตที่มีโลภเจตสิกเป็นมูล หมายถึง อกุศลจิตที่ความติดข้องต้องการ เพราะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นไปในอาการหลายอย่าง เช่น ความกำหนัด ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความรักใคร่ ความทะยานอยาก ความผูกพัน ความห่วงใย ความอาลัย ฯลฯ
โลภมูลจิตมี ๘ ดวง เพราะความต่างกันของสภาพธรรม ๓ อย่าง คือ เวทนา ๑ สัมปยุตต์ ๑ สังขาร ๑ ได้แก่
๑. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ -โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๒. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๓. โสมนสฺสสหคตํ ทิฎฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๔. โสมนสฺสสหคตํ ทิฎฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฎฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฎฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
โทสมูลจิต จิตที่มีโทสเจตสิกเป็นมูล หมายถึง อกุศลจิตที่มีความประทุษร้ายอารมณ์ มีการเป็นไปหลายอย่าง เช่น โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ขุ่นเคือง อาฆาตแค้น หงุดหงิด ไม่พอใจ ประหม่า หรือในขณะที่กลัว โทสมูลจิตมี ๒ ดวง มีความต่างกันที่เป็นจิตมีกำลัง (อสังขาริก) หรือเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (สสังขาริก) ได้แก่ ...
๑. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โทสมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเสียใจ (ไม่แช่มชื่น) ประกอบกับความกระทบกระทั่ง (โทสเจตสิก) เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่ต้องมีการชักชวน)
๒. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โทสมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเสียใจ (ไม่แช่มชื่น) ประกอบกับความกระทบกระทั่ง (โทสเจตสิก) เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
โมหมูลจิต จิตที่มีโมหเจตสิกเป็นมูล หมายถึง จิตที่มีความหลงลืม หรือไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปในอาการหลายอย่าง เช่น ขณะที่คิดไม่ออก หลงลืม ตื่นอยู่แต่อารมณ์ไม่ปรากฏ หรือขณะที่สงสัยเพราะไม่รู้ความจริง โมหมูลจิตมี ๒ ดวง แตกต่างกันที่สัมปยุตต์ คือ
๑. อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ - โมหมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยความสงสัยลังเลใจ
๒. อุเปกฺขาสหคต อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ - โมหมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยความฟุ้งซ่านในอารมณ์ (จับอารมณ์ไม่มั่นคง ไม่ตั้งมั่นในอารมณ์)
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
โลภมูลจิต คือ จิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย
โทสมูลจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับปฎิฆะ
โทสมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับโทสเจตสิก
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ มี ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ความไม่สงบ และ ความไม่รู้ เป็นต้น เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น จึงทำให้จิตเป็นอกุศล เมื่อมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว อกุศลจิต และ เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมด เป็นอกุศล ไม่ได้อยู่ในตำราเลย แต่มีจริงๆ ในขณะนี้ เนื่องจากแต่ละคนแต่ละท่านได้สะสมอกุศลมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์นับชาติไม่ถ้วน
เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาโกรธ ไม่สบายใจ ไม่พอใจ ถ้าโกรธมาก ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมโทสะมาแล้ว เวลาโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ แต่เมื่อได้มาตามที่ต้องการแล้ว ก็ต้องรักษาไว้อย่างดี กลัวสูญหาย ซึ่งเป็นเรื่องหนัก เป็นเรื่องเหนื่อยอย่างยิ่ง
ที่เป็นคนโลภมาก ติดข้องมาก เห็นอะไร ก็อยากได้ไปหมด ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ตลอดจนถึงที่เป็นคนมีโทสะมาก เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจไปทุกเรื่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอกุศล เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นี้คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง และทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล จะมีโมหะ (ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ในชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าต่อไป ก็สะสมเป็นบุคคลอย่างนี้ ทำให้เป็นผู้เต็มไปด้วยอกุศลมากยิ่งขึ้น และถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้นถึงขั้นกระทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์เบียดเบียนบุคคลอื่น เป็นต้น การกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ นั้น ก็เป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ คือ ภูมิที่ไม่มีความเจริญในธรรม อันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และ สัตว์ดิรัจฉาน ได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอกุศล ทั้งหมด ซึ่งจะต่างกันกับขณะที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้เข้าใจได้ว่า อกุศลทุกประการ น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดการฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเองต่อไป ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะขจัดอกุศลให้ห่างไกลจากจิตได้ ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...