วิถีจิต

 
ผู้มาใหม่
วันที่  16 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24187
อ่าน  1,619

เรียนท่านอาจารย์

๑. จิตที่แบ่งตามภูมิเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ไม่นับรวมจิตที่ไม่ไช่วิถีจิต (ปฎิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต) ถูกต้องไหมครับ

๒. ถ้าข้อ ๑. ถูกต้อง สัพพจิตตสาธารณเจตสิกที่ว่า เกิดกับจิตทุกดวงก็ไม่ได้เกิดร่วมกับ ปฎิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ถูกต้องไหมครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. จิตที่แบ่งตามภูมิเป็น 89 หรือ 121 ดวง ไม่นับรวมจิตที่ไม่ไช่วิถีจิต (ปฎิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต) ถูกต้องไหมครับ

ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจในความเป็นจริงของจิต ว่า จิต เป็นธรรมที่มีจริง เป็น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และ กิริยาจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางทวารใด หรือ เกิดโดยไม่อาศัยทวารใดเลย มีลักษณะเดียวคือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ที่จิตมีความหลากหลายแตก ต่างกันไป นั้นเพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เพราะอารมณ์ต่างกันเป็นต้น จะเห็น ได้ว่า ชีวิตประจำวัน ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีเป็น อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาละที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้ง พระนิพพานดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธ ปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ดับเหตุคือกิเลสที่ จะเป็นเหตุให้มีการเกิดได้แล้ว

จิต มีลักษณะเพียงรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตเป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิด ขึ้นเองลอยๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย และมีอารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง ทรงเป็นพระสัพพัญญู คือ รู้ธรรม ทั้งปวงพระองค์ทรงแสดง จิตที่มีอยู่ในสากลจักรวาลทั้งหมดทั้งจิตของปุถุชน และพระ อริยะทั้งปวง จิตของสัตว์ใน ๓๑ ภูมิทุกจักรวาล นับแล้ว ไม่นับซ้ำอีกประมวลได้ ๘๙ โดยพิสดาร ๑๒๑ ประเภท จำแนกโดยระดับขั้นมี ๔ ระดับ คือ กามมาวจรจิต ๑ รูปาว จรจิต ๑ อรูปาวจรจิต ๑ โลกุตตรจิต ๑ จำแนกโดยชาติคือการเกิด มี ๔ คือ กุศลชาติ ๑ อกุศลชาติ ๑ วิปากชาติ ๑ กิริยาชาติ ๑ ฯลฯ

จิต ๘๙ ประเภท คือ

กามาวจรจิต 54 ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

โลกุตตรจิต ๘ ดวง

จิต ๑๒๑ ประเภท คือ

กามาวจรจิต ๕๔ ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

โลกุตตรจิต ๔๐ ดวง

ซึ่ง ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และวิบากจิต รวมอยู่ใน จิต 89 หรือ 121 แล้ว ครับ ซึ่งก็ ไม่พ้นใน กามาวจรจิต รูปาวจรจิต และ อรูปาวจรจิต ครับนับรวมหมดแล้ว ครับ

2. ถ้าข้อ 1. ถูกต้อง สัพพจิตตสาธารณเจตสิกที่ว่าเกิดกับจิตทุกดวงก็ไม่ได้เกิดร่วมกับ ปฎิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต ถูกต้องไหมครับ สัพพจิตสาธารณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตมีทั้งหมดเท่าไร และอะไรบ้างครับ

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เจตสิกที่ทั่วไปแก่จิตทั้งปวง หมายถึง เจตสิก ๗ ดวง ที่เป็นสาธารณะ คือ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ก็ต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ คือ

๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์

๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้

๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์


๑. ผัสสเจตสิก ทำหน้าที่กระทบในขณะนั้น เช่น ขณะที่เห็น ผัสสเจตสิก ทำหน้าที่ กระทบอารมณ์ในขณะที่เห็นในขณะนั้น ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรม ที่กระทบ อารมณ์ ผัสสเจตสิก ไม่ใช่ จักขุปสาทรูป ที่กระทบกับ รูปารมณ์ จักขุปสาทรูป เป็น รูปธรรม รูปารมณ์เป็นรูปธรรม แต่ต้องเป็นผัสสเจตสิกที่กระทบรูปารมณ์ โดยอาศัย จักขุปสาทรูป เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมปรากฏเช่น ขณะนี้ มีการเห็น และ มี สิ่งที่ปรากฏทางตา ผัสสเจตสิก ไม่ได้ปรากฏ แต่ หมายความว่า สภาพธรรมเหล่า นี้ จะปรากฏได้ ก็ต้องมี ผัสสเจตสิก เมื่อสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏได้ ก็ แสดงว่า ขณะนี้ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดขึ้นด้วย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ผัสสเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ทำหน้าที่รู้สึก ซึ่งแบ่งเป็นความรู้สึก สุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และ ความรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่เห็น จิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้น ยังไม่สุข หรือ ทุกข์เลย เพียงเห็นขณะนั้น มีอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ทำหน้าที่รู้สึก เฉยๆ ในขณะนั้น ครับ เพราะยังไม่ยินดี ยินร้าย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

เวทนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์ ขณะที่เห็น มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จำหมายในอารมณ์นั้น เช่น จำในสี ที่กำลัง ปรากฎในขณะที่เห็นนั่นเอง

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

สัญญาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ เจตนาที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเห็น เป็นจิตชาติวิบาก เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิด ร่วมกับจิตชาติวิบาก ไม่ได้ทำหน้าที่ที่เป็นกรรมที่เป็น กุศลกรรม อกุศลกรรม แต่เป็น เพียงเจตนา ที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบากนั้น เป็น เจตนาที่จงใจตั้งใจ ที่เกิดพร้อมกับ จิตเห็นเท่านั้นครับ อันมีกรรมในอดีต เป็นปัจจัย เจตนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็น จึงไม่ให้ ผล

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

เจตนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ แม้ขณะที่เห็น จิตเห็น เกิดขึ้น ก็ต้องมี เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเอกัคคตาเจตสิก ทำหน้าที่ ตั้งมั่น ในอารมณ์นั้น คือ เป็นสมาธิ ในขณะนั้น แต่เป็นชั่วขณะจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น เกิดขึ้น เอกัคคตาเจตสิก ทำหน้าที่จดจ่อตั้งมั่นในอารมณ์นั้นในขณะที่เห็น เป็นสมาธิ ชั่วขณะที่เรียกว่า ขณิกะสมาธิ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

เอกัคคตาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดำรงรักษาสัมปยุตตธรรม ให้ดำรงชีวิตอยู่ก่อนที่จะดับไป แม้แต่นามธรรมที่เกิดขึ้น มีจิตเห็น กำลังเห็น จิตเห็นจะดำรงอยู่ได้ เพียงชั่วขณะ ก็ยังต้องอาศัยปัจจัย คือ ชีวิตินทริยเจตสิก ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น รักษาไว้ จึงดำรงอยู่ได้ ชีวิตินทริยเจตสิก จึงเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน โดยเป็น อินทริยปัจจัย คือ เป็นใหญ่ในการรักษาสัมปยุตตธรรม ที่เกิดร่วมด้วย ให้ดำรงอยู่ ชั่วขณะ ก่อนที่จะดับไป

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ชีวิตินทริยเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์ ขณะที่เห็น มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย กำลังใส่ใจ มุ่งตรงต่ออารมณ์ คือ สิ่งที่ ปรากฏทางตา คือ สี ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ....

มนสิการเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๗ เกิดร่วมกับ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิตด้วยเสมอ และ จิตทุกประเภท ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-สำคัญจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ สะสมความเข้าใจ ถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเมื่อกล่าวถึง จิต แล้ว ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย มีจิตเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ไม่เคยขาดเลย และเมื่อได้ศึกษาก็จะเข้าใจได้ว่า จิตใด ที่เป็นจิตทีกระทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจจุติ ก็ไม่พ้นจากจิต ในบรรดา ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภทนั้นเอง เช่น สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่ พิการบ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด ก็ต้องเป็นมหาวิบาก ดวงหนึ่งดวงใด ใน ๘ ดวง ที่ทำกิจทั้ง ๓ ดังกล่าวในภพนี้ชาตินี้ ซึ่งจะต้องฟังต้องศึกษาพระธรรม ต่อไป เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า จิต เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ครับ

-พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ไม่ผิดจาก ความเป็นจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เจตสิก ๗ ที่เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ก็ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่ม่เว้นเลย ตรงตามชื่อด้วย คือ เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทั้งหมด ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต เป็นจิตด้วย ก็จะต้องมี เจตสิก ๗ ที่เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดร่วมด้วย ตลอดจนถึงเจตสิกประเภทอื่นๆ ตามควรแก่จิตประเภทนั้น เกิดร่วมด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

วิถีจิต คือ จิตที่รู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิต และ เจตสิกก็ต้องเกิดเดี่ยวๆ ไม่ได้จะต้องเกิดพร้อมกับจิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้มาใหม่
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
napachant
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 มิ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ