มิจฉาทิฏฐิ

 
natural
วันที่  19 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24206
อ่าน  6,433

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 14

[๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น

คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด.ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความฉิบหายบ้าง แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเองหรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น

มิจฉาทิฏฐินั้น มีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโยนิโส อภินิเวสลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา) มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุฏฺฐานา) มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสนกามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง.

จากพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี

ขอความกรุณาเรียนถามว่า

๑. จากข้อความ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเองหรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น แตกต่างอย่างไร

๒. จากข้อความ มิจฉาทิฏฐินั้น … พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง หมายความว่าอย่างไร

๓. จากการฟัง เข้าใจว่าทิฏฐิเป็นความเห็นผิดว่ามีตัวตน มานะมีความสำคัญตนด้วยความมีตัวตน เหตุใดเมื่อละความเห็นผิด แล้วความสำคัญตนจึงยังเกิดขึ้นได้คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความเห็นผิด หรือ มิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์แสดงไว้ว่า มีโทษมาก อันตรายเพราะ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เมื่อเกิดขึ้น ย่อมทำให้คิดผิด (มิจฉาสังกัปปะ คือคิดติดข้องในสิ่งต่างๆ (กามวิตก) คิดเบียดเบียนผู้อื่น (วิหิงสาวิตก) คิดปองร้ายผู้อื่น (พยาบาทวิตก) เมื่อคิดผิด ก็ทำให้ มีวาจาที่ผิด (มิจฉาวาจา) คือ พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียดและพูดเพ้อเจ้อ และเพราะเห็นผิด การกระทำทางกายก็ผิด (มิจฉากัมมันตะ) คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น และทำให้มีอาชีพที่ผิด (มิจฉาอาชีวะ) มีความเพียร ที่ผิด ที่เป็นไปในอกุศล (มิจฉาวายามะ) มีความระลึกผิด มีความตั้งมั่นผิดและทำให้สิ่งต่างๆ และอกุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้น เพราะมีความเห็นผิดครับ

ความเห็นผิด จึงมีโทษมาก เพราะไม่สามารถทำให้สัตว์หลุดพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์และนำมาซึ่งทุกข์โทษประการต่างๆ มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้นครับ หากเราเข้าใจความจริงว่า ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรม ไม่ว่าเกิดกับใครก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่ไม่มีใคร หรือ บุคคลใดที่เห็นผิด แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปทำหน้าที่ ให้ไม่รู้ความจริงและเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อเข้าใจดังนี้จึงเห็นใจและเข้าใจ ในสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความเห็นผิดที่เกิดกับใครก็ตาม และอนุเคราะห์เท่าที่ทำได้ แต่ไม่เสพคุ้นครับ

ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียง มิจฉาทิฏฐิที่ทำให้มีการทำอกุศลกรรมประการต่างๆ อกุศลธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มานะ อคติ (ความลำเอียง) และอกุศลธรรมประการต่างๆ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้การกระทำทางกาย วาจา และใจ ไม่ตรงตามความเป็นจริง และเป็นไปในอกุศลธรรม ผู้ที่เห็นโทษของกิเลส จึงศึกษา อบรมปัญญาและเมื่อปัญญาเจริญขึ้น กาย วาจาและใจก็น้อมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะมีความเห็นถูกเป็นปัจจัยสำคัญครับ ซึ่งจะมีความเห็นถูกได้ ก็้ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความแยบคายและด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้องครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

หากศึกษาไม่ละเอียด จะทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้

มิจฉาทิฏฐิมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

มานะ คือ ความสำคัญตน สำคัญว่าดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา ขณะที่เปรียบเทียบมีการสำคัญตนเช่นนี้ ขณะนั้นมีมานะเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตครับ พระอรหันต์เท่านั้น ที่สามารถดับมานะได้จนหมดสิ้น เป็นสมุจเฉท

ซึ่งแม้จะดับความเห็นผิดได้ แต่ก็ยังมีการเปรียบเทียบว่าเราต่ำกว่าสูงกว่าด้วยมานะ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ จึงไม่มานะ การเปรียบเทียบ ครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้ตนเองยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น คือ ตกไปสู่อบายภูมิ ยากที่ข้ามพ้นได้ ทั้งหมด ล้วนสืบเนื่องมาจากความเห็นผิด ทั้งนั้น ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรม ที่อันตรายและมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง

เวลาที่มิจฉาทิฏฐิเกิด ก็เกิดร่วมกับโลภมูลจิต และ เวลาที่มานะเกิด ก็เกิดร่วมกับโลภมูลจิต เช่นเดียวกันแต่ทั้งคู่ คือมิจฉาทิฏฐิ และมานะ จะไม่เกิดพร้อมกัน เพราะในขณะที่เห็นผิดนั้น ไม่ได้มีการสำคัญตน ไม่ได้มีความสำคัญตนแต่อย่างใด แต่จะเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง เท่านั้น ทั้งมิจฉาทิฏฐิ และมานะนั้น เป็นอกุศลเจตสิก ที่จะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่อถึงถึงความเป็นพระอริยบุคคล กล่าวคือ ความเห็นผิด พระโสดาบันดับได้ ส่วนมานะ พระอรหันต์ดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นที่ผิด ที่ไม่ตรง ได้ในที่สุด เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าโอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้วเวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ความเห็นผิดละได้เมื่อเป็นพระโสดาบัน แต่ยังมีมานะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 ก.ย. 2558

สาธุ อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 2 มี.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Dechachot
วันที่ 4 มี.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
มกร
วันที่ 10 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Kalaya
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
supatsornjindathai
วันที่ 27 ก.ย. 2567

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ