ท่านอาจารย์มักเน้นบ่อยๆว่าต้องเป็นคนตรง
เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
กระผมฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายอย่างตั้งใจมาเกือบ 2 ปี (ก่อนหน้านั้น ฟังตอนมีทุกข์มา 20 กว่าปี เพิ่งจะเข้าใจความหมายของนาม รูป เมื่อปีก่อน 2555) ท่านอาจารย์จะเน้นคำว่าต้องเป็นคนตรง กระผมไม่เข้าใจว่าท่านหมายถึงอย่างไร ขอความ อนุเคราะห์ด้วย ครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็เข้าใจคำว่า ตรง ก่อน เมื่อว่าโดยสัจจะ ความจริง คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ของ จิต เจตสิกดังนั้นความตรง และ ความไม่ตรงที่คด ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก ที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น ขณะใดที่ไม่ตรง คือ คด ขณะนั้น เป็นอกุศลจิตอกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจาและใจ ขณะนั้น ชื่อว่าคดแล้ว ดังเช่น คันธนูที่โก่งคด ไม่ตรงอกุศลทีเกิดขึ้นก็คด ไม่ตรงตามความเป็นจริงเช่นกันครับ แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ตรง ไม่คดด้วยอกุศลที่เกิดขึ้น
ส่วนความเป็นผู้ตรง ก็คือ สภาพธรรมที่ตรง ด้วย กุศลธรรมที่เกิดขึ้น จิต เจตสิกทีเกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้น เป็นผู้ตรง ตรงต่อธรรม และ มีธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่ตรง ที่เป็น จิตที่ดีเกิดขึ้นในขณะนั้น ครับ
ซึ่งตรง เป็นการ ไม่คด ไม่งอ ตรง จึงหมายถึง ตรงตามหลักพระธรรมคำสอนเป็นผู้ที่มีสัจจะ มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสและเจริญกุศลประการต่างๆ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละกิเลส ดังนั้น ในการศึกษาฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ความเป็นผู้ตรงจึงควรที่จะมีเป็นอย่างยิ่ง คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละคลายความไม่รู้ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริงไม่ใช่ศึกษาเพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะสรรเสริญหรือแม้เพียงเพื่อหวังคำยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น
การเจริญอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส จึงจะต้องเป็นผู้ที่ตรง ตรงต่อสภาพธรรม ว่าอกุศล เป็นอกุศล กุศล เป็นกุศล เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และ ขณะใดที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้น กำลังดำเนินหนทางที่ตรง คือ สติปัฏฐาน ๔ ที่จะถึงการบรรลุ มรรค ผลนิพพาน ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศล ยังเป็นผู้ไม่ตรงทางกาย วาจาและใจเป็นปกติ แต่หนทางการอบรบให้เป็นผู้ที่ตรงยิ่งขึ้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมขณะที่เข้าใจก็ค่อยๆ ตรงทีละน้อย เหมือนค่อยๆ ดัดไม้ที่โก่งงอ แต่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเป็นผู้ตรงที่สุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ ความเข้าใจพระธรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นเครื่องดัดศรให้ตรง ดัดอุปนิสัย ที่เต็มไปด้วยกิเลส ให้ตรงด้วยปัญญา ครับ
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 340
ข้อความบางตอนจาก
เมตตสูตร
ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (สมถภาวนา) และลักขณูปนิชฌาน (วิปัสสนาภาวนา)
เชิญคลิกอ่านที่นี่
ความเป็นผู้ซื่อตรง และ อ่อนโยน
ตรง ผู้ตรง...ไม่ลืมพิจารณาตนเอง
ซึ่งต้องเป็นผู้ตรง ตามที่ท่านอาจารย์บรรยาย หมายถึง ตรงที่จะรู้ว่ายังไม่รู้ ก็ยังไม่รู้ รู้ก็คือรู้ และ ตรงที่จะรู้ว่ามีกิเลสมาก และตรงว่าหนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมนี้ เป็นหนทางเดียวและตรงต่อสภาพธรรมที่เป็นปัญญาที่เป็นสภาพธรรมที่ตรง ที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เพราะมากไปด้วยความไม่รู้ เนื่องจากสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์จึงฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ขาดการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ตรงต่อตัวเอง ที่ยังไม่รู้ความจริง จะรู้ก็ต่อเมื่อมีศรัทธาเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจสิ่งที่จริงๆ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลย ทีเดียว ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...